จดข่าววันละบรรทัด


วิธีเรียนรู้สังคมวันละ 5 นาที

เกือบสิบปีมานี้ ผมหัดนิสัยจดข่าววันละบรรทัด

แต่ยังไม่ถึงขั้นตั้งสัจจะวันละบาทหรอกครับ

อย่างเช่น วันเสาร์-อาทิตย์ มักไม่มีข่าว ก็เว้นไป

บางช่วง บ้่านเมืองร่มเย็น ก็ไม่รู้จะจดอะไร บางครั้งผ่านไปเป็นเดือน ไม่รู้จะจดอะไร

หรือบางช่วง วันหนึ่ง ๆ อาจมีข่าวใหญ่หลายข่าว ก็ใช้วิธีโปะข้ามวัน คือข่าวเกิดเมื่อวาน ก็อาจโปะไปให้วันข้างเคียงที่ว่างอยู่ พร้อมหมายเหตุ

จดแบบนี้ แทบจะไม่ต้องใช้เวลา เพราะข่าวอาจผ่านตาได้โดยไม่ต้องตั้งใจติดตามมาก

จดแล้วได้อะไร ?

สิ่งที่ผมได้ คือ หลังจากจดผ่านไปเป็นแรมปีแล้ว จึงได้เห็นการที่ จิ๊กซอว์ข่าว เริ่มเข้ามาประกอบตัวเองเป็นภาพใหญ่ขึ้น เห็นแนวโน้มใหญ่ว่ากำลังไปในทางไหน

จดไปหลายปี จะทำให้ไวต่อการแยกแยะว่า ข่าวไหน จบในเรื่อง ข่าวไหน น่าจะเป็นปฐมบทของเรื่องยาวหลายภาคจบ

หรือบางครั้ง กลับมาดูข่าวเก่า จะเห็นภาพบางอย่างที่เรามองข้ามไป ซึ่งถ้าอ่านแต่ข่าวใหม่ จะมองไม่เห็น เพราะอ่านแต่ข่าวใหม่ เราจะเห็นสิ่งที่สื่อมวลชนอยากให้เราเห็น อ่านข่าวเก่า จะทำให้เราเห็นในสิ่งที่มันเป็น 

อ่านแต่ข่าวใหม่ ยิ่งอ่านมาก ยิ่งเกิดปรากฎการณ์ "เข้าป่าไม่เห็นไพรพฤกษ์ ขึ้นโขดเขาไม่เห็นภูดอย"

ตามข่าวแบบอิน-เทรนด์นั้นก็ดีอยู่แหละครับ แต่มันอาจไม่มีประโยชน์ เพราะทำให้เหนื่อย เครียด ห่างออกมาสักหน่อย อาจทำให้เห็นชัดกว่า และตามดูได้ต่อเนื่องโดยไม่เหนื่อย

เพราะข่าวที่แท้จริง มักเป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ที่ใหญ่กว่า ที่มักต้องใช้เวลานานในการคลี่บานออกมาเป็นภาพเต็ม ดังเช่น การยุบ ศอบต (17 กค 44) ที่กว่าจะมาถึงขั้นเป็น วิกฤติใต้ (มค 47) ก็ผ่านเวลาไปพอสมควร ทั้งที่ระหว่างนั้น อาจมีสิ่งที่เหมือนกับ "ดูแปลก" แทรกมาเป็นระยะ เช่น ข่าวองคมนตรีใหม่ (18 กค 44) หรือการปล้นปืนวันที่ 11 กค 45 นานนับปีก่อนการเปิดตัวของ"โจรกระจอก" อย่างเป็นทางการ

หรือกรณีที่เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์เมื่อเดือนที่แล้ว จริง ๆ มีข่าวมาตั้งแต่ปี 2545 ว่าผู้เชี่ยวชาญอังกฤษประเมินว่าเกาหลีเหนือจะสร้างระเบิดดังกล่าวเสร็จใน 1 เดือน นี่ก็ชี้ว่าการข่าวของอังกฤษดีใช้ได้ระดับหนึ่ง ที่อ่านทิศทางสถานการณ์ออก แม้จะมีข้อมูลทางเทคนิคไม่ครบก็ตาม

หากคนที่สนใจด้านธุรกิจ-เศรษฐกิจ ที่ต้องเกาะติดกลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะช่วยให้เข้าใจคำว่า ธรรมาภิบาลภาคทฤษฎี และ ธรรมาภิบาลภาคปฎิบัติ ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ว่าเป็นคนละวิชากัน ไม่ได้นำมา'ตัดเกรด'ด้วยกัน เพราะจะมีข่าวบริษัทเหล่านี้ออกมาเป็นระยะที่ถ้ามองไปข้างหน้า เราจะเห็นเป็นกิจกรรมเอกเทศจากกัน แต่มองย้อนหลัง จะเห็นความ'แปลก'โผล่ขึ้นมา

เช่น เมื่อตอนวิกฤติน้ำภาคตะวันออกเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่าต่างประเทศเตือนนักลงทุนของเขาว่าอย่าลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในไทย เพราะไทยมีปัญหาน้ำรุนแรง ซึ่งเป็นข่าวที่เห็นแล้วสะดุดตาว่าเอ๊ะ ทำไมตัวเองเป็นคนไทยไม่เคยได้ยินเรื่องปัญหาเรื่องภัยแล้งมาก่อน

(ข่าวนี้ออกมาก่อนสื่อมวลชนไทยเริ่มสนใจว่าเกิดภัยแล้งครับ ผมอยู่ภาคใต้ ไม่เห็นข่าวมาก่อน ก็จะไม่รู้ว่าภาคอื่นมีภัยแล้ง) 

แต่พอค้นข่าวย้อนหลังไปหนึ่งหรือสองเดือน มีแต่ข่าวว่าหุ้นกลุ่มนี้ลงมาแรงมากเพราะอุตสาหกรรมกลุ่มนี้กำลังวิตกเรื่องค่าเงินหยวนและการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน

แต่ข่าวเรื่องเงินหยวนจะหายวับไปทันทีที่มีข่าวภัยแล้งออกมา

ซึ่งเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากวิกฤติน้ำ เรายังมีวิกฤติการข่าว และวิกฤติธรรมาภิบาลด้วย

หากอ่านโดยไม่บันทึก ข่าวล่าสุด จะแยกขาดออกจากข่าวก่อนหน้าในอดีต กลายเป็นคนละข่าวกัน

และข่าวจะเป็นเพียงข่าว ไม่ใช่ตัวแทนของปรากฎการณ์ที่เป็นจริง อีกต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 59963เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
น่าคิดเหมือนกันครับ ข่าวสารทุกวันนี้ มากมายจนตามไม่ทัน ไม่รู้ที่มาที่ไป

จดไว้วันละบรรทัดเองหรือครับ
  • ใช่แล้วครับ วันละ 1 บรรทัด
  • เฉลี่ยบรรทัดละ 60 ตัวอักษร สูงสุดยาวไม่เกิน 120 ตัวอักษรต่อบรรทัด
อ่านบันทึกนี้แล้วตัดกระดาษข้อความมาทำแผนที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ได้ทันทีนะครับ
  • ผมยังไม่เคยคิดไปถึงขั้นทำแผนภูมิโยง เป็นอะไรที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ทำแบบมืออาชีพ เพราะอาจจะพบอะไรที่น่าสนใจให้สานต่อได้เร็ว ซึ่งอาจปรับใช้โปรแกรมประเภทช่วยทำ mind maps จะได้ไม่ต้องลำบากเวลาข้อมูลเยอะขึ้น
  • แต่สำหรับมือสมัครเล่น (อย่างผมเป็นต้น) คิดว่าถ้าจะทำให้ยั่งยืน น่าจะทำให้ง่ายเข้าไว้ เช่น ผมใช้วิธีพ่วงไปกับแฟ้มบันทึกข้อมูลรายวันที่เป็นอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ผมค้นข้อมูลกลับมาได้ง่ายเพราะอยู่เป็นฐานข้อมูลอยู่แล้ว (เงื่อนไขเฉพาะตัวครับ คนอื่นถ้าจะทำ อาจทำในกระดาษทดอิเลกทรอนิกส์ จะสะดวกกว่า)
  • ทำอะไรที่ต้องการความต่อเนื่อง ผมเชื่อว่า "ทำให้ใหญ่มักล้ม ทำให้เล็กมักไปได้ไกล" ครับ
เข้าใจแล้วครับ สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน น่าจะทำได้ดีกว่า เหมือนการทำสิ่งที่เ็ป็นทางการ กับสิ่งที่ทำด้วยความรู้สึกที่อยากทำ ผลลัพธ์ต่างกัน
  • เห็นด้วยครับ ผมจดข่าวเริ่มแรก เพียงแต่อยากเก็บเป็นข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ส่วนตัว เช่น สมมติตอนแก่ตัวมาก ๆ เกิดนึกอยากเล่าเรื่องในอดีตให้เด็ก ๆ ฟัง จะได้มีวัตถุดิบที่ตรงใจตัวเองมาเล่าประกอบ เพราะการบันทึกเองตามใจชอบ เป็นการฝึกการกลั่นกรองทางความคิด กลั่นกรองทางภาษา กลั่นกรองเชิงเนื้อหา แสดงว่าเรามองว่าเรื่องนั้นสำคัญในมุมมองของเรา แสดงว่าเราเล็งแล้วว่าสักวันหนึ่งเราอาจหยิบตรงนี้มาใช้อ้างอิง แต่ต่อให้ไม่ใช้อ้างอิง นานทีปีหนย้อนกลับมาอ่าน ก็จะทำให้เราได้มีมรณานุสติ ว่าเวลาผ่านไปเร็วกระไรปานนั้น
  • หากขยันบันทึกยาวกว่านี้ก็ไม่แปลกครับ
  • สถิติที่ผมบันทึกว่ายาวกี่ตัวอักษร เป็นสิ่งที่มาวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังเพราะบังเอิญเป็นข้อมูลเก็บในคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีเจตนาว่าควรทำตามนี้
  • เจตนาผมคือ การจดแบบนี้ เป็นวิธีฝึกตนเองในหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน (สังคม+ภาษา+การวิเคราะห์สถานการณ์+การหัดบันทึก) โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ไม่ต้องใช้เวลามาก และแทบจะไม่สิ้นเปลืองอะไรเลย เป็นกุศโลบายที่ตัวเองคิดว่าทำง่ายและคุ้ม (ต้นทุนประมาณศูนย์ ทำแล้ได้เท่าไหร่ก็เป็นกำไรล้วน ๆ แหละครับ)
  • ก็เลยเล่าต่อ เผื่อจุดประกายความคิดให้คนอื่นลองปรับใช้ในเรื่องอื่น...

อ่านก็เข้าใจแล้วค่ะ ดูตัวอย่างได้อ่านง่ายๆ จดข่าวข้อมูลให้มาจะเป็นการเรียนการสอนเพื่อที่จะทำได้ข่าวให้ทางปฎิบัติตามการทำงานต่อให้มาหาข่าวโทรศัพท์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท