ตถตา : ด้วยเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นเอง


ความสุข

ตถตา : ด้วยเหตุที่มันเป็นเช่นนั้นเอง

โดย “พุทธทาสภิกขุ”

ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า สอนว่า คนทั่วไปสามารถเรียนรู้พุทธศาสนาได้ภายใน ๑๕ นาที. นี้มันมีข้อเท็จจริงอย่างไรครับ?

ตอบ : มันเป็นการเล่นลิ้น เพื่อจะด่าเรา, ก่อนนี้เราเคยบอกว่า คนสามารถเรียนพุทธศาสนาได้ใน ๑๕ นาที, และดูเหมือนนายปุ่น ก็นำไปกล่าว. แต่เราจะกล่าวให้ยิ่งกว่านั้นว่า พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียว, ถ้าผู้นั้นมีอุปนิสัยถึงขนาด, และเหตุปัจจัยทั้งหลายสมบูรณ์ทุกประการ; ๑๕ นาทียังนานนัก. แต่ว่าพุทธศาสนานั้น ถ้าจะให้เรียนกันภายใน ๑๕ นาที ก็เรียนได้ โดยเรียนอย่างนี้ ๆ. ถ้าจะให้เรียนกันในพริบตาเดียวก็ได้ ให้เรียนกันอย่างนี้ ๆ, คือให้เรียนรู้ “เช่นนั้นเอง”, รู้ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” พูดได้ด้วยคำเพียง ๓ พยางค์ว่า “เช่นนั้นเอง” รู้ “เช่นนั้นเอง” ถึง “เช่นนั้นเอง” นี้คือรู้พุทธศาสนาหมดสิ้น.

          หลักปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนากี่ระบบ ก็ไปรวมอยู่ที่จุดปลาย ว่ารู้ความเป็นเช่นนั้นเอง, คือเป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ - รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ว่า เอ้า! มัน เช่น นั้นเอง. ที่แจกเป็นรายละเอียดก็คือปฏิจจสมุปบาทอันยืดยาวนั่นแหละไปดูเถอะ แล้วมันก็รู้เช่นนั้นเอง ๆ ๆ ๆ จนถึงอันสุดท้าย.

          เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา ซึ่งครอบโลกนั่นมันสรุปเหลืออยู่เพียงว่า ตถตา - เป็นอย่างนั้น, อวิตถตา - ไม่ผิด ไปจากความเป็นอย่างนั้น, อนัญญถตา - ไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น, ธัมมัฏฐิตตา - เป็นความตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ, ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมดา; อย่างนี้มันยุ่งยากลำบากมากเรื่อง ไม่ต้องจำก็ได้ อย่าไปจำเลย. จำคำว่า “ตถตา” ไว้คำเดียวก็พอ แปลว่า เป็นเช่นนั้น - เป็นเช่นนั้นเอง.

          การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ คือ เห็นเช่นนั้นเอง; หรือจะแยกออกไปเป็นว่า มันปรุงแต่งกันออกไปเป็นสายยาว เป็นปฏิจจสมุปบาท กระทั่งว่ามีอายตนะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีทุกข์ มันก็คือเช่นนั้นเอง. ที่ต้องทุกข์ก็เพราะว่าเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น. ขณะใดไม่ต้องทุกข์ก็เพราะว่า มันเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น. ฉะนั้น เรามี เช่นนั้นเอง ไว้เป็นเครื่องดับทุกข์เถอะ. อะไรเกิดขึ้นมาก็เห็นเป็นเช่นนั้นเอง ไว้ก่อน, แล้วก็จะไม่รัก จะไม่เกลียด จะไม่โกรธ จะไม่กลัว ไม่วิตกกังวลอะไรหมด เพราะมันเช่นนั้นเอง

          ถ้ามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็เห็นเช่นนั้นเอง ของความทุกข์, แล้วก็หาเช่นนั้นเอง ของความดับทุกข์ที่มันเป็นคู่ปรปักษ์กัน เข้ามาซี่; “เช่นนั้นเอง” อย่างนี้มันเป็นทุกข์ “เช่นนั้นเอง” ที่มันดับทุกข์ก็เอาเข้ามา มาฟัดกันกับ “เช่นนั้นเอง”; เช่นนั้นเองกับเช่นนั้นเองมันก็ฆ่ากันเอง; ในที่สุดความทุกข์มันก็ดับไป เพราะเรามีเช่นนั้นเอง ฝ่ายดับทุกข์ หรือฝ่ายพระนิพพาน. นี่ พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวก็ด้วยคำว่า “เช่นนั้นเอง”.

          ถ้าจะไปแจกเป็นอริยสัจจ์สี่ เป็นเรื่องอนัตตา เป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องอะไร มันก็กินเวลาตั้ง ๑๕ นาที หรือกว่านั้น. การที่เอามาพูดใน ๑๕ นาที นั่นเอามาแต่หัวใจ หรือจะตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเราอยากจะเรียนพุทธศาสนาใน ๑๕ นาที เราจะเรียนอะไร ? เรียนอย่างไร ? ก็บอกอย่างนี้ : เรียนหลักเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องพระนิพพาน.

          ถ้าเราจะเรียนในพริบตาเดียว ในชั่วอึดใจเดียวนี้ ก็เรียนเรื่อง “เช่นนั้นเอง”, ถึงความเป็นเช่นนั้นเอง, รู้เรื่องความเป็นเช่นนั้นเอง มันก็จบพุทธศาสนาทั้งหมด. กล้าบอกกล้ายืนยันว่า ท่านทั้งหลายช่วยจำไว้ว่า หัวใจของพุทธศาสนา ถ้าจะเอาให้เข้มข้นกันที่สุด กว่าที่เคยพูดกันมาก่อน ๆ แล้ว ก็จะมาพูดใหม่เดี๋ยวนี้ว่า หัวใจของพุทธศาสนาคือคำว่า “เช่นนั้นเอง” ๓ พยางค์, ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นเช่นนั้นเอง : ทางวัตถุก็เช่นนั้นเอง, ทางจิตทางนามธรรมก็เช่นนั้นเอง, กิริยาอาการของมันก็เช่นนั้นเอง, การปรุงแต่งของมันก็เช่นนั้นเอง, เกิดสุข เกิดทุกข์ ขึ้นมามันก็เช่นนั้นเอง. จงพยายามศึกษาคำว่า “เช่นนั้นเอง” อยู่ ให้เป็นที่เข้าใจและแจ่มแจ้งอยู่เสมอ; อะไรเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เห็นชัดเหลือชัดเลยว่า “เช่นนั้นเอง”, ก็ไม่หลงรัก - ไม่หลงเกลียด ไม่หลงยินดี - ไม่หลงยินร้าย; กิเลสเกิดไม่ได้เพราะอำนาจของเช่นนั้นเอง.

หัวใจของปฏิจจสมุปบาท สรุปอยู่ที่คำว่าเช่นนั้นเอง. ปฏิจจ-สมุปบาท คือคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา คือสอนว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรและดับไปอย่างไร ; สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ฉันไม่พูดเรื่องอื่น ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ดี ต่อไปข้างหน้าก็ดี”; คือให้ความทุกข์และความดับทุกข์นี้ มันรวมอยู่ในคำว่า “เช่นนั้นเอง”; เรียกว่า “ตถตา” ก็ได้ “ตถาตา” ก็ได้ “ตถา” เฉย ๆ ก็ได้. ในพระไตรปิฎกมีอยู่ทั้ง ๓ คำ : ทั้งตถา ทั้งตถตา ทั้งตถาตา; ฉะนั้นใครถึงตถา คนนั้นก็คือตถาคต. ตถา + คตะ, ตถา แปลว่า เช่นนั้นเอง, คตะแปลว่า ถึง. ผู้ใดถึง ตถา ผู้นั้นชื่อว่า ตถาคต; คือว่า ถึงความสูงสุดของสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้จะถึง คือถึงเช่นนั้นเอง. และ “เช่นนั้นเอง” ตัวใหญ่ที่สุดก็คือ พระนิพพาน.

          พระนิพพานมีความเป็นเช่นนั้นเอง ตามแบบของพระนิพพาน เป็นเช่นนั้นเองที่ยิ่งใหญ่กว่าเช่นนั้นเองใด ๆ; ฉะนั้น ถึงตถาก็ถึงพระนิพพาน เป็นตถาคต. ถ้าถึงตามลำพังตนเอง ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า; ถ้าถึงโดยการศึกษาเล่าเรียนตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธสาวก ; แต่แล้วในที่สุดต้องถึงความเป็นเช่นนั้นเอง ด้วยกันทั้งนั้น.

          ถ้าอยากจะเรียนพุทธศาสนาวิธีลัดสั้นที่สุด ก็เรียนเรื่อง “เช่นนั้นเอง”. นี้มันไม่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา หรือว่าดูหมิ่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันสั้น; ยิ่งสั้นยิ่งดี, ไม่เช่นนั้นมันก็ตายเสียก่อน. เราไม่ยอมรับว่านิพพานต่อตายแล้ว อีกหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านชาติ, นี้เราไม่ยอมรับ; แล้วก็ไม่อยากให้ท่านทั้งหลายยอมรับ. นิพพานนั้นต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้. และนิพพานมีอยู่เองก่อนแล้ว คือเมื่อว่างจากกิเลสก็เป็นนิพพานอยู่แล้ว; แล้วเราต้องทำมันให้ยิ่ง ๆ ขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก่อนจะเข้าโลง. เป็นทุกข์เหมือนไฟไหม้ศีรษะอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วจะดับกันต่อตายแล้วตั้งแสนชาติ มันจะเป็นอย่างไร ? เว้นเสียแต่ท่านทั้งหลายจะรู้จัก “ชาติ” อย่างที่อธิบายแล้วข้างต้น.

          จงขยายนิพพานชั่วคราว, นิพพานเล็ก ๆ น้อย ๆ แห่งจิตประภัสสรให้มันเต็มที่ขึ้นมาเสียให้ได้ ก่อนแต่ที่จะเข้าโลง. นี้คือวิธีเข้าไปหาพระพุทธศาสนา เข้าไปหาพระพุทธเจ้า เข้าไปหาพระนิพพาน โดยวิธีที่ลัดสั้นที่สุดที่เราชอบ แล้วเขาหาว่าเราเป็นคนทำลายพระพุทธศาสนา; ก็เป็นเรื่องที่น่าล้อ แล้วก็เอามาล้อกัน วันนี้. เอ้า, เรื่องอื่นต่อไปดีกว่า…

* จาก :- หนังสือ “๕๐ ปีสวนโมกข์” - สวนอุศมมูลนิธิ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕,
หน้า ๕๖-๖๐ : ช่วงถาม-ตอบ “ธรรมะน้ำ” “ธรรมะโคลน”;
ณ หินโค้ง สวนโมกขพลาราม ไชยา, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓,
เริ่มบรรยายเวลา ๐๙.๐๐ น. (ตอบคำถามหลังจากการชี้แจงการทำบุญล้ออายุ).

 

บุญรักษาครับพี่น้อง 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 59961เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท