ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness)


ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness)
ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness)
มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา 

ศูนย์ภูฐานศึกษา(The Centre for Bhutan studies) เรียบเรียง

 

เจษณี  สุขจิรัตติกาล แปล

(๑๘๔ หน้า  ราคา ๑๘๕ บาท)

 

สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

   

……………………………………………………….

ภูฐานปกป้อง จันวิทย์ 

ทุกปีนิตยสาร Time จะออกฉบับพิเศษว่าด้วย ๑๐๐ บุคคลทรงอิทธิพลของโลก ซึ่งคณะกรรมการจะคัดเลือกบุคคลหลากหลายสาขา ตั้งแต่ผู้นำ นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักคิด ศิลปิน ฯลฯ ที่ชีวิต ผลงาน และความคิดของพวกเขาเหล่านั้น มีอิทธิพลหรือสร้างแรงบันดาลใจต่อชีวิตของคนบนโลกอย่างยิ่ง ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

 

‘Time 100’ ปี ๒๐๐๖ (ฉบับวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙) มีชื่อของ กษัตริย์ Jigme Singye Wangchuck แห่งประเทศภูฐาน รวมอยู่ด้วย

 

น่าสนใจว่าเหตุใด กษัตริย์แห่งประเทศเล็กๆ แถบเอเชียใต้ ซึ่งติดกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก ถึงได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโลกควรค้อมคารวะ

 

ภูฐานมีพื้นที่เพียง ๔๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร อยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างประเทศจีนและอินเดีย มีประชากรเพียง ๒.๒-๒.๔ ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประชากร ๙๐% ทำงานในภาคเกษตรกรรม ปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ปี ๑๙๐๗ กษัตริย์ Jigme (ตามคำเรียกขานของนิตยสาร Time) ขึ้นครองราชย์ในปี ๑๙๗๒ ขณะมีพระชนมายุได้เพียง ๑๖ พรรษา

 

ในทางเศรษฐกิจ ภูฐานเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก รายได้หลักของประเทศมาจากการเกษตรและป่าไม้ การขายไฟฟ้าพลังน้ำให้อินเดีย และการท่องเที่ยว จากข้อมูลของ Index Mundi ชาวภูฐานมีรายได้ต่อหัว (GDP per Capita) เพียง ๑,๔๐๐ เหรียญสหรัฐ คิดเป็นลำดับที่ ๑๙๑ จาก ๒๒๖ ประเทศทั่วโลก (ประเทศที่มี GDP per Capita สูงที่สุดในโลกคือประเทศลักเซมเบิร์ก ๕๘,๙๐๐ เหรียญสหรัฐ ตามด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา ๔๐,๑๐๐ เหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทย ๘,๑๐๐ เหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ ๘๙ ของโลก)

 

กระนั้น ภูฐานกลับเป็นประเทศที่ได้รับการกล่าวขานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาทั่วโลก อันมีที่มาเริ่มแรกจากคำกล่าวประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ Jigme ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี ๑๙๗๒ ที่ว่า “Gross National Happiness (GNH) is more important than Gross National Product (GNP หรือ GDP).” หรือ ความสุขรวมของผู้คนภายในประเทศมีความสำคัญกว่าผลผลิตรวม(หรือรายได้รวม)ของประเทศ

 

โดยทั่วไป นักเศรษฐศาสตร์วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยมูลค่าผลผลิตรวมหรือรายได้รวมของประเทศ ว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้าร้อยละเท่าใด (GDP สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วกี่เปอร์เซ็นต์) ทั้งนี้ มูลค่าผลผลิตรวม (GDP) เป็นตัวชี้วัดทางวัตถุ ซึ่งบอกเราเพียงว่า ในแต่ละปีมีสินค้าและบริการถูกผลิตขึ้นในเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ตัวเลขดังกล่าวมิได้ชี้ว่าผู้คนมี ความสุขเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะความรวย หรือการมีสินค้าและบริการให้บริโภคมากขึ้น มิได้นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงเสมอไป

 

นอกจากนั้น ตัวเลข GDP มิได้ชี้ว่า ในอีกด้านหนึ่ง สภาพสิ่งแวดล้อมต้องถูกทำให้เสื่อมโทรมมากขึ้นเพื่อแลกมาด้วยตัวเลข GDP สูงๆ เป็นมูลค่าเท่าใดในแต่ละปี มิได้ชี้ว่าประเทศยังสามารถรักษา วัฒนธรรมหรือ ตัวตนหรือ ความเป็นอิสระของตนไว้ได้ดีเพียงไร เมื่อต้องเผชิญกับกระแสการพัฒนาทางวัตถุที่เชี่ยวกราก มิได้ชี้ว่า ทรัพยากรที่ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกจัดสรรแบ่งปันกันในหมู่สมาชิกของสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมเพียงใด

 

เช่นนี้แล้ว ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ควรจะเป็นจึงมิควรพุ่งเป้าไปที่การเติบโตทางวัตถุ มุ่งเน้นเพียงเพิ่มมูลค่าการผลิต การบริโภค การลงทุน การใช้จ่าย เป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่ติดตามมาว่าสูงส่งเพียงใด

 

มาตรวัดของความเป็น เศรษฐกิจดีจึงมิใช่แค่มีตัวเลข GDP หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงๆ แต่ เศรษฐกิจดีควรเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ความสุขของสมาชิกในสังคม มีการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม มีการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) มีสิทธิเสรีภาพ มีการค้าที่เป็นธรรม มีสันติสุขในจิตใจ

 

เป็นกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มี ความหมายต่อสมาชิกในสังคม

 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ควรใช้ดัชนีชี้วัดใด เพื่อเป็นมาตรวัดความเป็น เศรษฐกิจดีซึ่งครอบคลุมรอบด้านกว่า สะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีได้ดีกว่า หรือเป็นองค์รวมกว่า ตัวเลข GDP ? วิธีคิดแบบ GNH ของภูฐานก็เป็นตัวอย่างของ ดัชนีทางเลือกตัวหนึ่ง ซึ่งมีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับระเบียบวิธีวัดดัชนี GNH ตามมามากมายว่า จะนับรวมตัวแปรใดอยู่ใน GNH บ้าง มีวิธีการตีค่าตัวแปรต่างๆ ซึ่ง subjective สูง อย่างไร มีข้อจำกัดและวิธีข้ามพ้นอย่างไรบ้าง

 

ตั้งแต่กษัตริย์ Jigme ขึ้นครองราชย์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูน GNH กลายเป็นนโยบายหลักของภูฐาน ยุทธศาสตร์นี้ผ่านการอนุมัติจากสภาอย่างเป็นทางการ ไม่นานนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวชื่นชมปรัชญาการพัฒนาเพื่อ ความสุขแบบภูฐานในสุนทรพจน์เรื่อง The Changing Value of Thai society เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ตั้งคำถามเชิงไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สักแต่หวังเพิ่มตัวเลข GDP ให้ดูดี โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมอื่นๆ โดยยกตัวอย่างภูฐานเป็นประเทศที่เราพึงเรียนรู้

 

ด้วยยึดมั่นในปรัชญา GNH ภูฐานจึงระแวดระวังในการเปิดประเทศต้อนรับโลกาภิวัตน์ ทั้งในแง่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม แม้ประเทศจะมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว แต่ภูฐานมิได้พยายามแปรประเทศเป็นทุน มุ่งเน้นการขายวัฒนธรรมหรือทำลายสิ่งแวดล้อมแลกเงินตราต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา อย่างสิ้นไร้ศักดิ์ศรี ดังเช่นประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก หากภูฐานพยายามหาจุดสมดุลระหว่างรายได้จากการท่องเที่ยว และการรักษาสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน

 

ภูฐานเพิ่งเพิ่งเปิดประเทศเมื่อทศวรรษ ๑๙๗๐ และเป็นที่ทราบกันว่า การขอวีซ่าเข้าประเทศเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะภูฐานมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวแต่ละคนยังต้องเสียภาษีท่องเที่ยว วันละ ๒๐๐ เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อจำกัดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากเกินไป จนส่งผลทำลายสภาพแวดล้อม

 

หันมามองทางการเมือง เวลานี้ ประเทศภูฐานกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในปี ๑๙๙๘ กษัตริย์ Jigme ได้ประกาศสละอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์บางส่วนด้วยพระองค์เอง และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

การปฏิรูปการเมืองขั้นต้นในปี ๑๙๙๘ แม้จะเริ่มต้นจากตัวผู้นำระดับบน มิใช่การปฏิวัติจากประชาชนระดับล่าง แต่กลับเป็นไปในทางจำกัดอำนาจของตัวผู้นำเอง โดยเน้นไปในทางจำกัดอำนาจของกษัตริย์ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น เช่น เพิ่มอำนาจให้ National Assembly ในการบริหารประเทศ

 

National Assembly มีจำนวน ๑๕๐ ที่นั่ง วาระดำรงตำแหน่ง ๓ ปี มีอำนาจใช้คะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ถอดถอนกษัตริย์ได้ (National Assembly มีที่มาหลายทาง โดย ๑๐๕ ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน ๑๐ ที่นั่ง เป็นตัวแทนตามกลุ่มศาสนา และ ๓๕ ที่นั่ง ได้รับการคัดเลือกโดยกษัตริย์)

 

นอกจากนั้น National Assembly มีอำนาจในการรับรองคณะรัฐมนตรี ที่กษัตริย์เป็นผู้เสนอชื่อ (หัวหน้าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล) โดยคณะรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง ๕ ปี

 

การปฏิรูปการเมืองขั้นแรก ดำเนินไปพร้อมๆ กับการยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง และคืนสิทธิเสรีภาพสู่มือประชาชนทีละน้อย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการยกเลิกการแบนโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตในปี ๑๙๙๙ (เดิม ประชาชนภูฐานใช้แต่สื่อวิทยุซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ๑๙๗๓) แม้ว่าในตอนนี้ จะมีเพียง Bhutan Broadcasting Service (BBS) ของรัฐบาล เป็นผู้บริหารสื่อเพียงรายเดียวก็ตาม แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และท้าทายต่ออนาคต

 

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๐๕ รัฐบาลได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้ศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์เพื่อรอวันลงประชามติต่อไป ในร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติตอนหนึ่งบังคับให้กษัตริย์สละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมาร หรือมกุฎราชกุมารี เมื่อมีพระชนมายุครบ ๖๕ พรรษา และมีบทบัญญัติด้านการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

ปลายปี ๒๐๐๕ กษัตริย์ Jigme ในวัย ๕๐ ปี ได้ประกาศสละราชสมบัติให้มกุฎราชกุมาร ในอีกสองปีข้างหน้า (ปี ๒๐๐๘) หลังจากประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก

 

ตัวตนอันเป็น เอกลักษณ์ทั้งของกษัตริย์ Jigme และประเทศภูฐาน ทำให้นิตยสาร Time ยกย่องให้ท่านเป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคล ซึ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตและวิธีคิดของผู้คนบนโลกที่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อหลักที่ว่า ไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วใบนี้

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙

บุญรักษาครับพี่น้อง

หมายเลขบันทึก: 59953เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท