ทฤษฎีแกน X (X-Axis Theory) ตอนที่ 1


การวิ่งตามแกน Y คือความพยายามบนพื้นฐานของความต้องการความสำเร็จเป็นที่ตั้ง ส่วนการวิ่งตามแกน X คือความพยายามบนพื้นฐานของความต้องการความสุขเป็นที่ตั้ง

xasis_1

“ผมชอบวิ่งแกน X” ประโยคสั้นๆ ที่ชอบใช้ตอบในการสนทนากับผู้คน เพื่อน ญาติพี่น้อง เวลาพูดคุยกันถึงเรื่องอนาคตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เป้าหมายชีวิต การทำงาน หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง คนส่วนมากมักจะมีความนิยมวิ่งตามแกน Y ซึ่งสอดคล้องกับการปลูกฝังความคิด ทัศนคติ จากระบบการศึกษา จากสังคม จากค่านิยมของบุคคลรอบตัวที่เราได้สื่อสารหรือรับรู้มา แกน Y ที่ว่านี้ คือการกำหนดเป้าหมายแล้วไปให้ถึงด้วยความเชื่อที่ว่า เราจะต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้เกิด Profile ที่ดี เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือในวงการที่สังกัด หรือได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานจากการเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าผู้สมัครคนอื่น แน่นอนว่ามันเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการเลือกสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งถูกบีบเส้นทางให้การเรียนรู้มุ่งตรงไปสาขาหรือหัวข้อที่แคบลงยิ่งขึ้น เพื่อให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้จริง มีแนวโน้มที่จะเก่งและแน่กว่าผู้อื่นที่ไม่ได้สละเวลาสำหรับสาขานั้นๆอย่างเต็มที่ ทุกอย่างมีความเป็นไปได้สูงที่จะสะท้อนความเชี่ยวชาญ การเป็นคนในวงการนั้นวงการนี้ ผ่านทางเอกสารไม่กี่หน้าที่เรียกว่า เรซูเม่ (Resume) แล้วก็ทำงานไปในสายงานนั้น ตามที่เราได้ลงทุนลงแรง ขนขวายหาความรู้นั้นๆ มาให้เกิดดอกผลต่อไปเรื่อยๆ ... อ้อ นี่เรายังไม่ได้เอ่ยถึงการมีความบากบั่น มุมานะ ประมาณว่ากฎ 10,000 ชั่วโมง ของมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ซึ่งเป็นความจริงที่ทำให้เราเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ทุกอย่างย่อมมีสองด้าน มีดีมีร้าย เพราะการที่เราลงทุนลงแรงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว จะทำให้เรายึดติดอยู่กับมัน พึ่งพามันเป็นหลัก ยากต่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไปก่อนหน้า แล้วการวิ่งแกน X ต่างจากการวิ่งตามแกน Y อย่างไร มีดีกว่าอย่างไร อันที่จริงทุกอย่างมีดี มีไม่ดี ตามที่กล่าวข้างต้น ที่ว่าทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้านเสมอ ผมขอสรุปไว้ ณ ตอนนี้ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อไปว่า การวิ่งตามแกน Y คือความพยายามบนพื้นฐานของความต้องการความสำเร็จเป็นที่ตั้ง ส่วนการวิ่งตามแกน X คือความพยายามบนพื้นฐานของความต้องการความสุขเป็นที่ตั้ง (ทำอะไรได้หลากหลาย ออกจะตามอำเภอใจซักหน่อย) นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญ แล้วถ้าเราต้องการทั้งสองสิ่งแบบให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด อย่างที่ศาสตร์ทางวิศวกรรมมีจุด “Optimization” ได้หรือไม่ ผมขออนุญาตเอามือทุบโต๊ะแล้วตอบว่า “ทำไมจะไม่ได้”

อ้างอิง: http://www.thanakrit.net/x-axis-theory-1

หมายเลขบันทึก: 599026เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2016 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2016 07:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท