หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : จดหมายข่าว (มหาวิทยาลัยสีเขียว : ชุมชนสีเขียว)


นี่เป็นจดหมายข่าว "มมส งานวิชาการรับใช้สังคม" ที่ผมใช้เวลาทำงานนานที่สุด-

ใช่ครับ นานมาก



และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผมเล่าเรื่องไว้ในบทบรรณาธิการ ซึ่งพอจะบอกกล่าวเล่าความได้ว่าภายในเล่มมีเรื่องเล่าใดบ้างในภารกิจแห่งการจัด "การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม" ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในนิยามโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ที่เน้นการมีส่วนร่วมในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน




บรรณาธิการ (เปิดเรื่อง)

(๑)

ผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking ๒๐๑๔) หรือ “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ประจำปี ๒๐๑๔ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๐๑๕ ปรากฏว่า “มหาวิทยาลัยมหาสารคามอยู่ในอันดับ ๓ ของประเทศไทย และอันดับ ๗๔ ของโลก”

การจัดอันดับดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องมา ๕ ปี
ภายใต้เวลาเพียง ๕ ปี มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เติบโตในลู่วิ่งนี้อย่างน่าชื่นชม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “ความสำเร็จเชิงนโยบาย” อันหมายถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และพลังใจอันเป็นหนึ่งเดียวของประชาคม “มมส” อย่างไม่ผิดเพี้ยน





(๒)

ความเป็นสีเขียวของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มิได้จำเพาะเจาะจงอยู่แค่เรื่องภูมิทัศน์อันเป็นสิ่งแวดล้อมที่แตะต้องสัมผัสได้ทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมไปถึง “ทุกวิถี” ในรั้ว "มหาวิทยาลัย" และใน "ชุมชน"

ถ้าจำไม่ผิดเมื่อครั้งที่ผมเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานรุ่นบุกเบิกการขับเคลื่อน “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ” (ในราวปี พ.ศ.๒๕๕๑) ผมเคยพร่ำพูดแบบลมๆ แล้งๆ เสมอว่า “มมส” มีหัวใจเป็น “สีเขียว” และพยายามอย่างมากกับการชูวาทกรรมให้ทีมทำงาน หรือกระทั่งผู้บริหารขานรับว่า “มมส” คือ “มหาวิทยาลัยหัวใจสีเขียว”(แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าวาทกรรมดังกล่าวหยัดยืนในยุคสมัยนั้นไม่ได้)




(๓)

ถึงแม้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวเพิ่งจัดต่อเนื่องมาแค่ ๕ ปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ล้วนให้ความสำคัญกับความเป็น “สีเขียว” หรือ”พื้นที่สีเขียว” มายาวนานเกินหยั่งได้ เนื่องเพราะมนุษย์เราล้วนยึดโยงและพึ่งพิงอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างสนิทแน่น เพียงแค่ว่าจะนิยามคำว่า “สีเขียว” อย่างไร และจัดวางความสำคัญเรื่องใดก่อนหลังเท่านั้นเอง

วันนี้- โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า การเรียนการสอน (การผลิตบัณฑิต) ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามภายใต้ปรัชญา “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม” ที่เน้น “การเรียนรู้คู่บริการ” โดยบูรณาการภารกิจเข้าเป็นหนึ่งเดียวในแบบ ๔ In ๑ ผ่านการบริการวิชาการ (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) การทำนุศิลปวัฒนธรรม (โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม) การวิจัย (วิจัยเพื่อท้องถิ่น-วิจัย มมส เพื่อชุมชน) ล้วนเป็นอีกหนึ่งนิยามของคำว่า “สีเขียว” หรือ “พื้นที่สีเขียว” ด้วยเช่นกัน

เนื่องเพราะปลายทางของการขับเคลื่อนทั้งปวง หากเกิดผลสัมฤทธิ์จริง ย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นสุขภาวะแห่งชีวิตและสังคม –


ด้วยเหตุนี้ “เรา” ที่หมายถึงคณะทำงานจดหมายข่าวฯ จึงหยิบจับประเด็นการงานในมุม “สีเขียว” มาบอกกล่าวเล่าความ โดยเริ่มจาก “สีเขียว” อันเป็นความท้ายทายของอาจารย์ นิสิตและชุมชนที่กำลัง “ทำไปเรียนรู้ไป” ในแบบการมีส่วนร่วมอยู่ในขณะนี้ (ชุมชนดินจำปา ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) เป็นต้นว่า

  • การขับเคลื่อนจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ในประเด็น “คุณภาพดินโพน” โดยดร.ธายุกร พระบำรุง
  • และ “ผักพื้นบ้านปลอดสาร” (ชุมชนแวงแน่ง ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม) โดยดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ ทั้งสองเรื่องเป็น “งานวิจัยเพื่อชุมชน” ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงนามความร่วมมือกับ สกว.(ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น)



เช่นเดียวกับประเด็นการต่อยอด “โรงเรียนชีววิถีอีสาน” ของวิทยาลัยการเมืองการปกครองโดยอาจารย์วชริวัตต์ อาริยะสิริโชติ ที่มุ่งขยายผลสู่ “ตลาดอาหารปลอดสาร” (ชุมชนบ่อแกบ่อทอง ต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม) หรือประเด็น “หมู่บ้านนาโยน” (ชุมชนกุดหัวช้าง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) ของหลักสูตรเคมี โดย ผศ.ดร.มัณฑนา นครเรียบ ที่บูรณาการกังหันลมมาหนุนเสริมการทำนาแบบโยนกล้า (นาโยน)

ซึ่งต่างล้วนสัมพันธ์กับมิติการสร้างพื้นที่สีเขียวผ่านฐานการผลิตเพื่อการบริโภคที่ปลอดสารขึ้นในชุมชน โดยร้อยรัดอยู่กับประเด็น “ข้าว ปลา นา น้ำ” อันเป็นโจทย์การทำงานวิชาการรับใช้สังคมที่เคลื่อนขยับปักหมุดมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗

หรือกระทั่งประเด็น “ผู้สูงอายุ” (ชุมชนหนองโจด ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม) ที่ ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช (คณะนิติศาสตร์) ได้ดำเนินการก็เกี่ยวโยงกับวาระพื้นที่สีเขียวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องสิทธิประโยชน์ทั่วๆ ไป ทว่ายังเติมเต็มองค์ความรู้เรื่องกฎหมายหลากเรื่อง รวมถึงเรื่องป่าชุมชน หรือการใช้ประโยชน์จากป่าสาธารณะอันเป็นโจทย์ที่ชุมชนขบคิดและสู้เผชิญมายาวนาน




(๔)

ในทำนองเดียวกับจดหมายข่าวฉบับที่แล้ว – “เรา” ยังคงนำเรื่องเล่าเร้าพลังของนิสิตมาเผยแพร่ไว้เหมือนเดิม เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ของนิสิตจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์กับเรื่องเล่าของนิสิตจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งมีกลิ่นอายการได้ “บริการสังคม” ผ่านการบริการวิชาการของหลักสูตรต้นสังกัดที่มิใช่แค่การนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเท่านั้น แต่สะท้อนกลับมาอย่างแน่นหนักว่าแท้ที่จริงแล้วโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หรืองานวิจัยเพื่อสังคมที่นิสิตมีส่วนร่วมเช่นนี้คืออีกช่องทางหนึ่งของการบ่มเพาะอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

ครับ-เสร็จสรรพในแบบการบูรณาการกิจกรรมในชั้นเรียนสู่นอกชั้นเรียนอย่างลงตัว เสมือน “ค่ายอาสาพัฒนา” ที่ยกระดับจากการบริการสังคมทั่วไปมาสู่ค่ายอาสาพัฒนาในแบบบริการวิชาการแก่สังคม เพียงแต่เป็นค่ายในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่ข้นเข้ม เพราะต้องนำความรู้จากวิชาชีพไปสู่การบริการสังคม

แน่นอนครับ-ดีไม่ดีหากยังยึดมั่นแนวคิดเช่นนี้และมุ่งมั่นต่อการสานต่อภารกิจกันอย่างจริงๆ จังๆ ต่อไป ผมเชื่อว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จะช่วยยกระดับกิจกรรมนอกหลักสูตรได้ในที่สุด เป็นสูตรผสมที่ลงตัวของการเรียนรู้ในหลักสูตร (curriculum) และนอกหลักสูตร (extra curriculum) ที่ชวนค่าต่อการหลงรัก

และผมก็ปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน

....

ด้วยมิตรภาพการเรียนรู้ (ในห้วงการเดินทางสู่ปลายฝนต้นหนาว)
พนัส ปรีวาสนา





บรรณาธิการ (ปิดเรื่อง)


(๑)

การค้นพบชุดความรู้แล้วนำไปสู่การ “แลกเปลี่ยน-แบ่งปัน” เป็นหนึ่งในกระบวนการของ “การจัดการความรู้” อีกทั้งเป็นระบบกลไกของการ “สื่อสารสร้างพลัง” ที่ทีมวิจัยและระบบและกลไกจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามตระหนักและให้ความสำคัญเสมอมา

การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ณ ประเทศอินโดนิเซีย โดย ดร.อภิราดี จันทร์แสง (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) คือภาพสะท้อนระบบกลไกการสื่อสาร หรือกระทั่งระบบกลไกการจัดการความรู้อย่างน่ายกย่อง เพราะฉายภาพการบูรณาการภารกิจมหาวิทยาลัยสู่การรับใช้สังคมอย่างชัดแจ้ง รวมถึงการสื่อให้เห็นความสำเร็จเชิงนโยบายของคณะที่มุ่งบูรณาการศาสตร์ภายในคณะผสมผสานกับทุนทางสังคมของชุมชน จึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “เรา” ในเวทีสาธารณะที่ก้าวกระโดดไปไกลถึงระดับอาเซียน



หรือแม้แต่การที่สมาชิก “โรงเรียนชีววิถีอีสาน” จากชุมชนบ่อแกบ่อทองฯ ผู้ซึ่งเป็นภาคีโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของ “วิทยาลัยการเมืองการปกครอง” สามารถต่อยอดแนวคิดไปสู่การเสนอขอรับทุนตามนโยบาย “๑ ตำบล ๑ ล้าน” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในเวทีสาธารณะ เพราะชุมชนสามารถต่อยอดวิธีคิดและวิธีการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เป็นการพัฒนาตนเองบนฐานของชุดความรู้ที่สั่งสมและผสมผสานชุดความรู้ใหม่กับมหาวิทยาลัยฯ ได้อย่างลงตัว

รวมถึงขณะที่กำลังปิดต้นฉบับจดหมายข่าวฯ อยู่ตอนนี้ ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา หนึ่งในคณะทำงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็กำลังนำเสนองานในเรื่องเหล่านี้ ณ ประเทศเกาหลี นั่นคือเส้นทางที่ทอดไกลออกไปเรื่อยๆ ของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมในชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”






(๒)

ด้วยข้อจำกัดบางประการทำให้ “เรา” ไม่สามารถนำเรื่องราวจากหลายๆ กิจกรรม/โครงการที่ว่าด้วย “พื้นที่สีเขียว”มาบอกเล่าได้อย่างครบถ้วน ทั้งๆ ที่ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ มีหลายหลักสูตรและหลายหน่วยงานได้ขับเคลื่อนอย่างน่าชื่นชม ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเรื่อง “แนวทางการจัดการป่าชุมชนกระโหล่ง-โป่งแดงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ต.หนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม” โดย ผศ.ดร.ธีรวงศ์ เหล่าสุวรรณ เป็นงานวิจัยความร่วมมือของ “มมส-สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น”

ในส่วนงานบริการวิชาการภายใต้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมีหลายประเด็นที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ประเด็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการใช้ประโยชน์จากดอนปู่ตา” ณ บ้านวังจานโนนสำราญ ต.บ้านหวาย อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โดยหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ (สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) ประเด็น “การทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวา-การทำก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์” ณ บ้านกุดหัวช้าง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมและชีวอนามัย (คณะสาธารณสุขศาสตร์) ประเด็น “การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม” ณ ชุมชนตำบลเขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสาคาม โดยสาขาการจัดการ (คณะการบัญชีและการจัดการ) ซึ่งทั้งสามประเด็นได้ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกับวาระ “ดิน-น้ำ-ป่า” หรือ “พลังงาน” อย่างสนิทแน่น



(๓)

เช่นเดียวกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภายใต้โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรมก็มีประเด็นที่สอดรับกับวาระ “พื้นที่สีเขียว” ดังเช่นประเด็น “ยกย่องนักสิ่งแวดล้อมดีเด่น” จำนวน 15 คนจากผืนแผ่นดินที่ราบสูงของภาคอีสาน (คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) ประเด็น “ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ” ณ ตำบลงัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โดยคณะการบัญชีและการจัดการ ซึ่งต่อยอดองค์ความรู้อันเป็นพื้นที่ปฏิบัติการการเรียนรู้ในมิติการวิจัยและการบริการวิชาการที่ “ศูนย์นวัตกรรมไหม” เคยได้ปักหมุดเรียนรู้คู่บริการมาในระยะหนึ่ง



(๔)

รวมถึงการขับเคลื่อนในแบบบูรณาการระหว่างโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนกับโครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรมของหลักสูตรต่างๆ ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ เป็นอีกกลุ่มทีมหนึ่งที่สื่อให้เห็นมิติ “พื้นที่สีเขียว” ที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพักอาศัยในชุมชนบ้านหัวนาไทยและชุมชนใกล้เคียง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เช่นประเด็น “ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริม
อัตลักษณ์ของชุมชน”
และ “การจัดการภูมิทัศน์รอบกู่หัวนาไทยเพื่อการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน” (หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม) หรือประเด็น “แผนที่มรดกทางวัฒนธรรม” (หลักสูตรสถาปัตยกรรม)



(๕)

ครับ-ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ เว้นเสียแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้ นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อและศรัทธาเสมอมา

ด้วยมิตรภาพการเรียนรู้ (ในห้วงการเดินทางสู่ปลายฝนต้นหนาว)
พนัส ปรีวาสนา



ครับ- อาจเพิ่มเติมฉบับเต็มในระบบ E-book ได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 598508เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2015 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2015 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกดีๆ นี้ค่ะ

เป็นบันทึกที่น่าสนใจ

ขอมาร่วมเรียนรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ^^

สวัสดีครับ คุณต้นเฟิร์น

ยินดีและเป็นเกียรติกับการเรียนรู้ร่วมกันครับ งานในเล่มมีทั้งเรื่องเล่าจากงารวิจัยเพื่อชุมชน งานวิจัยจากงานบริการวิชาการแกสังคม รวมถึงเสียงสะท้อนจากชุมชนและนิสิตที่ได้เรียนรู้ร่วมะกัน

สามารถอ่านฉบับเต็มในรูปหนังสืออิเล๋กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊คตามลิงก์ได้เลยนะครับ..

ขอบคุณครับ

มาอ่านจดหมายข่าวจ้ะ

ขอบคุณจ้ะ

สวัสดี..เจ้าค่ะ(..เข้าใจว่า..ความรู้และการเรียนรู้คงเปรียบได้..ดังวัชพืช..ที่มีดอกผล..ปลิวไปตกและงอกเงยได้..อย่างอิสระ..ในทุกรูปแบบ...และทุกเวลา..ทุกสถานที่....ทุกโอกาศ..ที่อำนวยสภาวะ..)..ไม่ว่าแหล่งกำเนิดความรู้นั้น..จะมีเหตุและผลมาจากสถานที่ใดๆก็ตาม...

ผ่านไปเร็วมาก

ได้เอกสารงานบริการวิชาการที่เข้มข้น

ขอบคุณมากๆครับ


ชื่นชมข้อดีนี้ค่ะ ... เสียงสะท้อนจากชุมชนและนิสิตที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ... เยี่ยมมากๆ ค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านขดหมายข่าวครับ

-"“ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ” ณ ตำบลงัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม...."

-น่าสนใจ/ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ...

ขอบคุณครับ พี่มะเดื่อ

ขอบคุณที่มาเติมพลังใหเกับผม นะครับ ยังไม่สบโอกาสส่งหนังสือไปให้นะครับ ยังวกวนอยู่กับพื้นที่..ช้าหน่อย นะครับ

ขอบพระคุณครับคุณยายธี

ขอบพระคุณมุมคิดเชิงปรัชญานะครับ....

สรรพสิ่งมีครรลองของตัวเอง แต่เป็นหนึ่งเดียวกันอยู่วันยังค่ำ การขยับตัวของสิ่งหนึ่งย่อมหนุนเคลื่อนสิ่งอื่นไปในตัว

ขอบพระคุณครับ

ครับ อ.ขจิต

เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรียนรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง

แต่จริงๆ ก็คืองูๆ ปลาๆ อยู่เวร 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท