Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณสมเจตน์เรื่องการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของเด็กที่ถูกทอดทิ้งจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์ จึงไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะไร้รากเหง้า


ตอบคุณสมเจตน์เรื่องการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของเด็กที่ถูกทอดทิ้งจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์ จึงไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะไร้รากเหง้า

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของประชาชนที่ถามมา,

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓

--------

คำถาม

---------

โดยผ่าน [email protected] คุณสมเจตน์ เกตุนิล[1]ได้อีเมลล์มาหารือ อ.แหวว เมื่อ: ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๖.๓๔ น. เพื่อขอคำปรึกษาหรือหาทางช่วยเหลือเด็กไร้ส้ญชาติคนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

“สวัสดีครับท่านอาจารย์พันธ์ทิพย์ กระผมเป็นเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาจังหวัดนครนายก กำลังดำเนินการช่วยเหลือเด็กไร้ส้ญชาติคนหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก

โดยมีรายละเอียดคือเด็กชายคนนี้เกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2542 ต่อมา มารดาของเด็กซึ่งเป็นชาวอินเดียได้เสียชีวิตลง และบิดาของเด็กได้นำเด็กกลับมา ที่จังหวัดนครนายกและนำไปจ้างผู้เลี้ยงดู ต่อมาบิดาของเด็กได้หายไปไม่สามารถติดต่ออีก

ขณะนี้เด็ก อยู่ในความดูแลของคนที่เลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก ปัญหาคือเด็กคนนี้ไร้สัญชาติตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเด็กมีอายุ ๑๐ ปี ซึ่งทางโรงเรียนในชุมชนได้ให้ความเมตตารับเข้าศึกษาจนถึงระดับประถมศึกษา แต่โรงเรียนไม่สามารถรับรองวุฒิการศึกษาให้ได้ และคาดการณ์ว่าเด็กจะประสบปัญหาในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

ซึ่งปัจจุบันกรณีของเด็กคนนี้ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด แต่ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากไม่มีกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิหรือให้สัญชาติแก่เด็กได้ และคณะกรรมการระดับจังหวัดได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ให้ติดต่อและขอคำปรึกษากับท่านอาจารย์ กระผมจึงขอความอนุเคราะห์ขอคำปรึกษาเพื่อให้แนวทางในการช่วยเหลือเด็กคนนี้ต่อไป”

--------

คำตอบ

---------

เมื่ออ่านอีเมลล์ของคุณสมเจตน์ ดิฉันสรุปความเป็นไปได้ที่จะจัดการเป็น ๓ ประเด็น กล่าวคือ (๑) การจัดการปัญหาความไร้รัฐ (๒) การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติ และ (๓) การจัดการปัญหาสิทธิทางการศึกษา

  • การจัดการปัญหาความไร้รัฐ
  • การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติ
  • การจัดการปัญหาสิทธิทางการศึกษา

ในประการแรก เราควรจะต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่เด็ก ซึ่งคุณสมเจตน์ควรจะต้องตรวจสอบว่า เด็กได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยหรืออินเดียแล้วหรือยัง ? หากยัง ก็ต้องดำเนินการดังกล่าวเพื่อเด็ก ซึ่งก็อาจใช้มาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ เพราะเด็กมีอายุเพียง ๑๐ ปี ก็ยังมีสถานะเป็นเด็กไร้เดียงสาและถูกทอดทิ้งโดยบุพการี ซึ่งมาตรา ๑๙ นี้บัญญัติว่า

ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออก ใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย”

นอกจากนั้น อีกข้อกฎหมายที่คุณสมเจตน์ควรจะต้องรู้จัก ก็คือ มาตรา ๑๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๑ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

ระเบียบที่มาตรา ๑๙ ระบุถึง ก็คือ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘[2]

ในการดำเนินการดังกล่าว คุณสมเจตน์อาจหาอาจารย์วีนัส สีสุข หัวหน้าฝ่ายการทะเบียนราษฎรและสัญชาติ ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่อนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (โทรศัพท์ ๐-๒๗๙๑-๗๓๑๒)

จากข้อเท็จจริงที่คุณสมเจตน์ให้มา บิดาและมารดาของเด็กเป็นชาวอินเดีย ดังนั้น ก็ควรมีการประสานงานกับสถานทูตอินเดียเพื่อร้องขอการติดตามหาครอบครัวของเด็ก และความเป็นไปได้ที่เด็กจะมีสัญชาติอินเดียตามบุพการี

แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาและมารดาของเด็กเลย หรือบิดาและมารดาของเด็กเป็นเพียงคนไร้สัญชาติที่มีเชื้อสายอินเดีย กระบวนการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติคงจะต้องจัดการตามกฎหมายไทยในภายหลัง ซึ่งก็มีความเป็นได้ในหลายหนทาง อย่างน้อย ก็คือ ความเป็นไปได้ตามมาตรา ๑๒/๑ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวคือ การให้ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่เด็กภายหลังการเข้าอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ซึ่งการแปลงสัญชาติจะเกิดขึ้นภายใต้ ๕ เงื่อนไขตามที่กำหนดใน กล่าวคือ (๑) เด็กมีความประพฤติดี (๒) เด็กมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย (๓) เด็กพูดและฟังภาษาไทยได้ (๔) เด็กอยู่ในสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี และ (๕) เด็กยินยอมที่จะแปลงสัญชาติเป็นไทย

ขอยืนยันว่า ความเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กไม่เป็นอุปสรรคที่เด็กจะได้รับวุฒิการศึกษา สิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน โรงเรียนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไม่ปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาใดๆ ของเด็ก ซึ่งเป็นมนุษย์

กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง ก็คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘[3]

นอกจากนั้น สิทธิทางการศึกษาของเด็กยังเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙ และกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖

ในส่วนสิทธิทางการศึกษาของเด็กนั้น คุณสมเจตน์อาจหารืออาจารย์รจนา สินที แห่ง สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หากโรงเรียนปฏิเสธที่จะให้วุฒิการศึกษาแก่เด็ก (โทรศัพท์ ๐๘-๙๙๖๕-๖๕๔๖

ในกรณีที่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กนครนายกยังมีข้อสงสัยอื่นใด ก็อาจหารือคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติได้

-------------------------------------------------------

[2] http://gotoknow.org/blog/people-management/308024

http://learners.in.th/file/archanwell/2548-Regulation4Stateless-Survey

[3] http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=56&s_id=27&d_id=28&page=1

หมายเลขบันทึก: 598400เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 01:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท