ว่าด้วยการประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต (วิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ)


การประเมินผลโครงการฯ เราจึงย้ำหนักหนาถึงการประเมิน “วัตถุประสงค์” และ “เป้าหมาย” เพราะนี่คือหัวใจหลักของการประเมินโครงการที่จะทำให้เราได้รับรู้ว่าสิ่งที่ทำได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่

จากบันทึกก่อนหน้านี้ (ว่าด้วยแนวคิดการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต (วิชาการพัฒนานิสิต -ภาวะผู้นำ) ได้กล่าวถึงหลักคิดหรือแนวทางของ “การเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต” ที่เป็นเสมือนระบบและกลไกแห่งการบ่มเพาะความเป็นอาสาสมัคร หรือจิตสาธารณะแก่นิสิต (ผู้เรียน) สอดรับกับหลักปรัชญาสำคัญๆ คือการเรียนรู้อย่างเป็นทีมบนโจทย์หรือความต้องการของชุมชน

หรือหลักคิดอันเป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ คือ

  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered)
  • เรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning)
  • เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-based learning)
  • เรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)
  • เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)


ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย



ต่อยอดจากการเขียนโครงการสู่การประเมินโครงการ

ภายหลังการเรียนรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติการผ่านการฝึกเขียนโครงการฯ รายบุคคลและกลุ่มทีมเสร็จสิ้นแล้ว ก็กลับสู่การเรียนภาคทฤษฎีในชั้นเรียนอีกครั้งในประเด็น “การประเมินโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต” ซึ่งนิสิตจะต้อง “รับรู้” และ “ทำความเข้าใจ” เพราะนี่คือกระบวนการอันสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงผลสำเร็จของการเรียนรู้ในมิติการ “บริการสังคม” ตามครรลองการ “เรียนรู้คู่บริการ” ซึ่งคำว่า “ความสำเร็จ” ในที่นี้ก็หมายความอย่างง่ายงามว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับนิสิตและชุมชน-


การประเมินผลโครงการฯ เราเชื่อมโยงภาคทฤษฎีอื่นๆ เข้ามาหนุนเสริมเพื่อสร้างความรู้แก่นิสิต เช่น W6H 5 ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน สร้างวินัย) หรือกระทั่ง 5 ส.ในอีกมุมคิดที่เป็นหลุมดำ (สร้างภาพ เสนอหน้า สอพลอ ใส่ไฟ ส่งส่วย) หรือการสื่อสารฐานคิดของศัพท์แสงอื่นๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ (Results) ที่สัมพันธ์กับผลผลิต (Outputs) และผลลัพธ์ (Outcomes) รวมถึงประเด็น 4 ง.ที่นิสิตต้องพึงตระหนักในการบริหารคนและบริหารงาน นั่นก็คือ “งุบงิบ งี่โง่ งกๆ เงิ่นๆ งกเงิน”

ถัดจากนั้นจึงลงรายละเอียดการประเมินผลโครงการผ่านองค์ประกอบหลักที่อยู่ในโครงการฯ นับตั้งแต่ชื่อโครงการไปจนถึงผลที่ (คาดว่าจะ) ได้รับ



ผศ.ดร.กนกพร รัตนสุธีะกุล



หัวใจหลักของการประเมินผลโครงการฯ

ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรม/โครงการเป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดพลังในตัวตนของนิสิตอย่างหลากมิติ แม้กิจกรรม/โครงการที่นิสิตจัดขึ้นจะไม่ใหญ่โตหรูหรานัก แต่เราก็ให้ความสำคัญเรื่องวิธีคิด วิธีการจัดการและผลผลัพธ์ของการงานเป็นที่ตั้ง

รวมถึงการเน้นย้ำความสำคัญว่าด้วยโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน หรือการบูรณาการโจทย์ของนิสิตกับชุมชน

ด้วยเหตุนี้การประเมินผลโครงการฯ เราจึงย้ำหนักหนาถึงการประเมิน “วัตถุประสงค์” และ “เป้าหมาย” เพราะนี่คือหัวใจของการประเมินโครงการที่จะทำให้เราได้รับรู้ว่าสิ่งที่ทำได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้กล่าวไว้แล้วว่าวัตถุประสงค์จะสัมพันธ์กับเป้าหมายและผลที่คาดว่าจะได้รับ ส่วนวิธีการ/ลักษณะกิจกรรม จะมีสถานะคล้ายคลึงกับการเป็น “กระบวนการ” หรือระบบและกลไกที่จะขับเคลื่อนให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมาย



ใช่ครับ-ผมกำลังจะบอกเป็นนัยสำคัญว่า เป้าหมายคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นทีมได้อย่างชัดเจน

ความเป็นทีมต้องมีเป้าหมาย หรือฝั่งฝันอันเดียวกัน ส่วนจะมีวิธีการ-กระบวนการแตกต่างกันบ้างก็ไม่เสียหาย เพราะกระบวนการคือชุดความรู้และประสบการณ์เฉพาะบุคคลที่จะถูกนำออกมาขับเคลื่อนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายเดียวกัน จะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ค่อยมาถอดบทเรียนร่วมกันถึงปัจจัยที่ว่านั้นอีกครั้ง-




ประเมินผลโครงการผ่านเครื่องมือในแบบบูรณาการ

การประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต เราย้ำหลักคิดง่ายๆ คือการประเมินผลในแบบบูรณาการ โดยไม่ต้องติดยึดอยู่แค่การประเมินด้วยแบบสอบถาม (Questionnaire) หรือแบบสำรวจ (Inventory) ที่สะท้อนให้เห็นความสำเร็จในมิติ “ความพึงพอใจ” เหมือนที่เคยชิน หรือคุ้นชิน

ทว่าในการประเมินผลโครงการฯ เราพยายามชี้ให้นิสิตเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ (KM) และนำเอาเครื่องมือของการจัดการความรู้มาช่วยประเมินผลโครงการ ยกตัวอย่างเช่น

  • การประเมินความคาดหวังก่อนทำงาน (Before Action Review : BAR) เพื่อสำรวจความต้องการของคนเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งในฐานะผู้จัดและผู้เข้าร่วม ซึ่งต้องดำเนินการก่อนที่จะขับเคลื่อนกิจกรรม
  • เรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling) : เพื่อสื่อสารเรื่องราวกิจกรรมทั้งในรูปแบบการเล่าโดยวาจาและการเขียนถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุมถึงความสำเร็จและความล้มเหลว รวมถึงสาเหตุแห่งความสำเร็จและความล้มเหลว
  • สุนทรียะการสนทนา (Dialogue) : เป็นกระบวนการของการพูดคุยสนทนาอย่างเป็นกัลยาณมิตร
  • การประเมินสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ (After Action Review : AAR) หรือการถอดบทเรียน (lesson learned) : เป็นกระบวนการที่เน้นการสรุปงานเพื่อชี้ให้เห็นชุดความรู้ที่ว่าด้วยความสำเร็จและความล้มเหลว



นอกจากนั้นยังให้ความรู้เพิ่มเติมแค่นิสิตในเรื่องของการถ่ายภาพ/บันทึกภาพ หรือการจัดทำคลิป หนังสั้นเท่าที่นิสิตมีใจกระหายอยากที่จะเรียนรู้ ซึ่งประเด็นนี้กำหนดเป็นหัวข้อการบรรยายในทำนอง “การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย” ที่สะท้อนให้นิสิตได้ตระหนักว่าภาพถ่ายคือตัวบันทึกเหตุการณ์ก่อน (BAR) และหลังการทำกิจกรรม (AAR) รวมถึงบันทึกเรื่องราวที่อาจเป็นเสมือนจดหมายเหตุชีวิตของนิสิตและชุมชนที่นิสิตได้ลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการ

ด้วยเหตุนี้หากนิสิตสามารถบันทึกภาพอย่างเป็นกระบวนการ ทั้ง 3 ระยะ คือ ตั้งแต่ต้นน้ำ (เตรียมการ) กลางน้ำ (ปฏิบัติการ) ปลายน้ำ (สรุปผล) จะยิ่งสะท้อนเห็นถึงถึงกระบวนการทำงานและความเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอนอย่างน่าสนใจ มิใช่ลั่นชัตเตอร์ “ชูสองนิ้ว” ในแบบ “สู้ตายๆ” อย่างไม่รู้จบ (55555555)



หมายเหตุ : ภาพโดยทีมกระบวนกร และนิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 597880เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2015 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2015 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท