"คุณภาพ" สร้างความแตกต่าง สำหรับการส่งออก


หนังสือ ธุรกิจส่งออก สำเร็จได้ รวยเร็ว หาซื้อได้ที่ซีเอ็ดบุคส์ทุกสาขา

----------------------------------------

เครดิตข่าว: http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?New...

กรณีศึกษา ซีพีแรมได้รับรางวัล Deming Prize 2015 - ความคิดเห็นเสนอใต้ข่าว

ส่วนหนึ่งของข่าว: องค์กรที่ได้รับรางวัล Deming Prize 2015 มีทั้งสิ้น 4 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทในประเทศญี่ปุ่น 2 แห่ง อินเดีย 1 แห่ง และไทย 1 แห่ง โดย บริษัท ซีพีแรม จำกัด นับเป็นธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Ready To Eat : RTE) รายแรกของไทยและของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ จากเดิมที่มักเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, พลาสติก, เคมีภัณฑ์, ไวน์ และอื่นๆ โดย JUSE จะพิจารณาปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ 1. ภาพรวมของการบริหารจัดการ ตลอดจนเป้าหมายด้านการดำเนินงานและผลประกอบการขององค์กร 2. ขั้นตอนการตรวจประเมินภายในองค์กรในแง่ของการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการด้านต่างๆ และ 3. ผลประกอบการด้านความพึงพอใจของลูกค้า พนักงาน รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หรือ CSR
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า ตลาดรวมอาหารพร้อมรับประทานคาดว่ามีมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท แยกเป็นตลาดโมเดิร์นเทรดประมาณ 5% หรือ 4 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของ “ซีพีแรม” คาดว่าจะสามารถทำยอดขายในปี 2558 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 10-15% แบ่งเป็นรายได้จากอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น 55% และเบเกอรีอบสด 45% โดยมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 90% และส่งออก 10%
“การได้รับรางวัล Deming Prize 2015 ยังมีผลทำให้บริษัทฯ มีโอกาสทำรายได้จากการส่งออกมากขึ้น พร้อมมีปรับสัดส่วนรายได้การส่งออกจากเดิมที่เน้นกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา 40% ออสเตรเลียและแคนาดา 40% และญี่ป่น 20% โดยคาดว่าในปี 2559 ตลาดออสเตรเลียและแคนาดาจะขยายตัวเป็น 50% ญี่ปุ่น 40% ส่วนยุโรปและสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะลดเหลือประมาณ 10% โดยคาดว่าจะสามารถทำยอดขายรวมได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจากเดิมที่กำหนดเป้าหมายไว้ในปี 2560” นายวิเศษกล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท ซีพีแรม จำกัด ยังคงเดินหน้าดำเนินงานตามแผนพัฒนาสินค้าใหม่ปีละ 200-300 รายการ พร้อมแผนการลงทุน 3 ปี (2558-2560) ในการขยายโรงงาน 9 แห่งทั่วประเทศภายใต้งบลงทุน 6.45 พันล้าน -จบข่าว

คุณภาพสร้างความแตกต่าง

วันนี้เป็นอีกครั้งที่จะขอพูดถึงเรื่องคุณภาพ เนื่องจากมีข่างเกิดขึ้นบนหน้าสื่อตามรายงานข้างต้น ท่านแปลกใจหรือไม่เมื่ออ่านว่า Deming Prize แจกที่ญี่ปุ่น Deming คืออะไร ? ชื่อเป็นฝรั่งทำไมมาอยู่ที่ญี่ปุ่น เนื่องจากผู้เขียนทำการค้าระหว่างประเทศนาน ด้านคุณภาพภาพสินค้าค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องใส่ใจค่อนข้างมากจึงเป็นที่คุ้นเคย

Deming นั้น เป็นวิศวกรชาวอเมริกัน ที่เริ่มต้นไปโด่งดังที่ญี่ปุ่นและสร้างคุณประโยชน์อย่างมากมายต่ออุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก่อน ก่อนที่จะกลับมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในบ้านเกิดบ้างในฐานะนักปรับปรุงคุณภาพ จากเดิมเพียงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ชื่อเต็มเขาคือ Dr. William Edward Deming ผู้ที่เชิญดร.เดมมิ่ง ไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1947 คือนายพลแมคอาเธอร์ ต่อมาใน ปี 1950 JUSE ได้เชิญ Dr. Deming ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Quality Control มาสอนและจัดสัมมนา ในเรื่องพื้นฐานหลักการของการควบคุมคุณภาพ ตามแนวทางสถิติแก่ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ และวิศวกรญี่ปุ่นในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปรากฏว่า ความรู้และวิธีการ ที่นำเสนอโดย ดร.เดมมิ่ง เป็นที่ประทับใจของผู้เข้ารับการอบรมอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความตื่นตัว ในการพัฒนาระบบคุณภาพ ในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการของ JUSE จึงได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งรางวัล Deming Prize ตั้งแต่ปี 1951 เป็นต้นมา

เขาเป็นต้นตำหรับทฤษฏีและแนวปฏิบัติด้านคุณภาพมากมายเช่น TQM (Total Quality Management), LEAN, JIT (Just in Time) ที่เป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน หากเอ่ยชื่อเขาในวงการอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่น แทบทุกคนต้องรู้จักโดยเฉพาะบรรดาผู้บุกเบิกของบริษัทชั้นนำ ที่สามารถ นำหลักการของเดมมิ่งมาสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นวงจร PDCA (Plan Do Check (Evaluate) Action (Adapt) ที่โด่งดัง ทำให้สินค้าญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทั้งที่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังสงครามโลกอีกหลายปี ที่สินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพไม่แตกต่างจากสินค้าจากประเทศจีน 10 ปีก่อนหน้าขึ้นไป ที่ผู้เขียนได้เคยแสดงความคิดเห็นไว้บ้างในหัวข้อก่อนหน้าในเรื่องคณภาพสินค้าสำหรับส่งออก แต่ปัจจุบันต่างเป็นที่ยอมรับกันทั่งโลก

จะเห็นว่ารางวัลนี้ค่อนข้างเก่าแก่ เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนที่ได้รับเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรเอาซีพี่ แรม เป็นตัวอย่างในการมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพจนประสบความสำเร็จในการได้รับรางวัลระดับโลก ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในการสั่งซื้อสินค้านั่นเอง การพัฒนาคุณภาพให้เป็นเลิศเป็นอีกหนทางที่จะสร้างตลาดให้มีความยั่งยืน ซึ่งก็หมายถึงจะเป็นความยั่งยืนต่อธุรกิจของเรา ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ หวังว่าท่านจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน



หมายเลขบันทึก: 597695เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2019 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท