กรรม ธรรม จิต สุข ตาย (๒)


ธรรม?

มนุษย์ในแถบเอเชียและชาติอื่นๆ ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ย่อมจะได้ยินคำว่า "ธรรม" เสมอ แล้วแสวงหาเป้าหมายของปัจเจกบุคคลตามทางของตน เพื่อมุ่งให้เข้าใจธรรม คำสอนของศาสดามากขึ้น

ดังนั้น คำสอน จึงยากที่จะเข้าใจโดยตรง เพราะท่านได้ปรินิพพานไปแล้ว กระนั้น ผู้คนที่อ่านหนังสือ หรือปฏิบัติจิตตนบ่อยๆ หรือศึกษาหลักการนั้น ย่อมจะพอเห็นแสงสว่าง ที่ปลายเขาบ้าง เมื่อสืบค้นไปหาต้นเค้าของคำนี้ ที่พระองค์ได้เข้าถึง และได้สื่อสารกับสาวก ให้เข้าถึง "แก่นสาร" (Essence) ของคำนี้ จึงพอสรุปนัยได้ดังนี้--


๑) ธรรม หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นทั้งกายภาพและนามภาพ ที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ทุกคนเช่น ดิน น้ำ อากาศ สัตว์ พืช ฯ เป็นสภาวะหยาบ ที่แฝงไปด้วยอะตอมละเอียดๆ

๒) ธรรม หมายถึง กฎ ระเบียบ ระบบ หลักการ ศีล วินัย และการแสดงออก ตามกฎเกณฑ์หรือระบบที่เป็นธรรมชาติ เป็นหลักที่กำหนดขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เช่น สัจภาวะ วัฏฏะ กาลเวลา ศีล วินัย จิตสำนึก ฯ

๓) ธรรม หมายถึง จิตที่ถูกสร้างสรรค์ให้เกิดสติ ปัญญา ญาณวิสัย หรืออัตญาณ ในตนเอง ที่ทุกคนรู้ได้เอง ตระหนักได้เอง ด้วยการฝึกฝนจิตตน ให้อยู่ในกรอบก่อนแล้วจิตจึงรู้แจ้งในข้อ ๑ และ ๒ สภาวะจิตเช่นนั้นคือ สภาวะธรรมที่เกลียวกันอยู่

๔) ธรรม หมายถึง อักษร คำ ภาษา ตำรา สัญลักษณ์ เครื่องแบบ ฯ ที่สามารถสื่อแทนธรรม ในรูปสสาร และการตีความตามปัจเจกบุคคลได้อย่างอิสระ ซึ่งไม่ใช่แก่นธรรมทีเดียว เป็นเหมือนสื่อ ตัวแทน ผ่านภาษา ตำรา คัมภีร์เท่านั้น เป็นภาษาธรรมสมมติ (ภาษาโลก)

๕) ธรรม หมายถึง คุณลักษณะที่สะท้อนผลจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสภาวะที่เป็นเอง เกิดเอง ที่มีผลรองรับในตัวเองไม่ว่า ถูก ผิด เลว ดี ชั่ว ชอบธรรม ไม่ชอบธรรม เหมือนโลกธรรม ที่แอบแฝงผลไว้ทั้งสอง (ดี-ชั่ว) ซึ่งผู้ที่จะรับรู้ได้ ก็ต่อเมื่อเข้าถึงสภาวะสากลแบบสายกลาง คือวางใจได้ เพราะรู้เหนือปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ จึงมองเห็นความจริงเหนือความจริง

๖) ธรรม หมายถึง ความว่างเปล่า ที่ไร้สภาวะดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงใดๆ จากโลก เป็นสภาวะที่สะท้อนความจริงในรูปที่ละเอียด ที่เห็นยาก แต่มีอยู่ เหมือนเรามองเห็นสสารธาตุอากาศ ที่มีเหมือนไม่มี หรือเห็นคลื่นแม่เหล็ก ที่รู้ว่ามี แต่ไม่เห็นด้วยตา เรารู้ว่า มีความส่วาง ความมืด แต่จับต้องไม่ได้

๗) ธรรม หมายถึง ปัจจุบันขณะ ที่ละเอียดยิ่ง ทุกอะตอมของเวลา เป็นการไหลของธรรมชาติในรูปกฎของกาล ที่มีผลต่อสรรพสิ่ง ตามหลักการที่สอนคือ รู้ต้นเจตจำนง ก่อนขยับ ก่อนเคลื่อนไหว บนขณะกาลที่จะเคลื่อนไหวติง นั่นคือ สภาวะรู้น้ำหนักของธรรมที่ปรากฏบนกาลเวลาสั้นๆ ที่ละเอียดยิบ ยากที่มนุษย์จะฝึกฝนได้

๘) ธรรม หมายถึง กายสสารที่เป็นฐานของจิตอาศัย จิตที่อาศัยกายเป็นฐานรู้การขยับ การกระทำ การตัดสิน การตั้งเจตนา จนกลายเป็นกระบวนการของการเกิด การเติบโต และการดับลงในตัวกายและจิต ทั้งสองอิงอาศัยกัน เช่น สมอง (กาย) ทำงานด้วยระบบประสาทของมันเอง เมื่อมันทำงานถูกต้อง ไม่บกพร่องหรือผิดปกติ มันย่อมให้ผลทางจิต (รู้) คือ สติ จนไปถึงละเอียดขึ้นคือ ปัญญา

๙) ธรรม หมายถึง คุณลักษณะที่เข้มข้นในมนุษย์ที่ฝึกฝนตนเองจนรอบคอบ รู้เหตุ รู้ระหว่าง รู้ทางผล จนเกิดคุณสมบัติในสมอง ที่เหนือกระบวนการของประสาทคือ รู้แจ้ง รู้ตื่น ด้วยปัญญาญาณ ที่เป็นเอกลักษณ์ที่เหนือสัตว์ ที่เราถือว่า เป็นธาตุแท้ของมนุษย์ เป็นคุณค่า เป็นศักย์ เป็นหัวใจ และเป็นคุณธรรมที่โอบอุ้ม มนุษย์ให้แสดงออกอย่างอริยชน

๑๐) ธรรม หมายถึง ลมหายใจ ที่หล่อเลี้ยงกายอยู่ หากมีลมหายใจ ก็ถือว่า มีค่าต่อการแสดงออกที่สัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างได้ ใครที่ตระหนักรู้ในลมหายใจที่เข้มข้น ย่อมมีผลต่อวิถีชีวิต จิตใจและธรรมสัจ ส่วนใครที่รู้ลมหายใจ ไม่เต็มข้น ย่อมขาดแสงธรรม ที่จะนำพาชีวิตให้อยู่ในความจริงได้ และตกอยู่ในความประมาท (ชีพตน) เมื่อจบสื้นลมคือ ก็สิ้นธรรมที่จะเอื้อประโยชน์ได้

นี่เป็นทัศนะส่วนบุคคล ไม่ใช่มาตรฐานที่จะยึดเอาเป็นหลักการได้ หากเป็นคุณ ก็คงพอเป็นแค่เชื้อปุ๋ยให้สมองได้คิดสืบค้นต่อไป

---------------๖/๑๑/๕๘---------------

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมารมณ์
หมายเลขบันทึก: 597092เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2015 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2017 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาอ่าน " ธรรม" ก่อนนอนจ้ะ

สาธุ ! จ้ะ


ชอบใจข้อเขียนครับ

ธรรมมะ คือธรรมชาติครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท