​เยาวชน “เมืองลับแล” ร่วมสู้ภัยพิบัติ ลบฝันร้ายจากอดีต-ป้องกันโคลนถล่มซ้ำ


เราคาดหวังให้โรงเรียน เป็นต้นแบบโรงเรียนการจัดการภัยพิบัติ สามารถแจ้งข่าวสารให้กับชุมชนได้ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนได้ ซึ่งเมื่อจบโครงการนี้แล้ว เด็กๆ กลุ่มนี้ก็จะต้องนำความรู้ที่ได้ไปจัดอบรมให้กับน้องๆ หรือเพื่อนๆ ในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง เราฝึกให้เขาคิดเองทำเอง เป็นการสร้างแกนนำที่ยั่งยืนสามารถทดแทนผู้ใหญ่ได้ในอนาคต

ค่ำคืนวันที่ 22 พ.ค. 2549 ถูกบันทึกให้เป็นฝันร้ายของชาวอุตรดิตถ์ เมื่อฝนที่ตกหนักติดต่อกันมาหลายวันบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้เกิดดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ถนนเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 75 ราย และสูญหายอีกนับสิบราย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ อ.เมือง อ.ลับแล และ อ.ท่าปลา

ภายหลังเหตุการณ์น้ำลด ทุกคนร่วมกันฟื้นฟูให้เมืองลับแลกลับคืนสู่สภาพดังเดิม และเมื่อน้ำตาแห่งความสูญเสียจางลง ทุกคนต่างหันมาคิดแล้ว ว่าต้องมีการจัดการเรื่องของภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้ง ทุกๆ ปีจะมีการซักซ้อมความพร้อมรับมือภัยพิบัติมาต่อเนื่อง

กลุ่มเครือข่ายชุมชนฮักลับแล เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่ให้ความสำคัญเรื่องของการจัดการภัยพิบัติ โดยปี 2558 นี้ ได้จัดโครงการป้องกันภัยพิบัติให้ชุมชนและโรงเรียน เครือข่ายชุมชนฮักลับแล” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติเข้าสู่รั้วโรงเรียน ให้เด็กๆ ได้มีความรู้การจัดการภัยพิบัติอย่างถูกต้องและสามารถขายผลสู่ครอบครัวและชุมชนได้

อำไพ ประสารศรี หัวหน้าโครงการป้องกันภัยพิบัติในชุมชนและโรงเรียน เครือข่ายฮักลับแล กล่าวว่า เกิดเหตุภัยพิบัติเมื่อปี 2549 ในตำบลฝายหลวง อ.ลับแล ซึ่งมีกว่า 7,000 หลังคาเรือนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ช่วงนั้นความรู้เรื่องของการจัดการภัยพิบัติยังไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่เลย เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำก็เริ่มท่วมถนน ทุกคนยังนิ่งเฉยคิดว่าน้ำขึ้นปกติเดี๋ยวก็หายไป จนกระทั่งเช้ามืดความโกลาหลเริ่มขึ้นเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง จนเข้าท่วมบ้านเรือน จากนั้นดินโคลนที่ไหลมาจากภูเขาก็ซัดหมู่บ้านพังพินาศ

หลังเกิดเหตุ ระบบสาธารณูปโภคถูกตัดขาด ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ความช่วยเหลือจากทั่วสารทิศเริ่มหลั่งไหลเข้ามา แต่กลับไม่เป็นระบบและระเบียบ สร้างความยุ่งยากและวุ่นวายซ้ำเติมเข้าไปอีก เพราะชาวบ้านยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนจึงไม่มีมาตรการรับมือ ซ้ำเติมด้วยภาวะความเครียดเป็นปีๆ แทบไม่ต้องหลับต้องนอน เพราะกลัวจะเกิดซ้ำรอยอีก

อำไพ เล่าด้วยว่า ช่วงแรกๆ หลายหน่วยงานราชการ ได้จัดซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับเป็นการแสดง ไม่ใช่การซักซ้อม เพราะชาวบ้านไม่เกิดความรู้ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจ แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ พอนานเข้าก็ไม่มีหน่วยงานไหนให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือภัยพิบัติอีก

ทางเครือข่ายฮักลับแลจึงจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อสร้างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติ และการเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างถูกต้อง โดยมีเยาวชนจากโรงเรียนลับแลพิทยาคม เข้าร่วมกว่า 50 คน โดยกำหนด 5 กิจกรรม ได้แก่

1.จัดพิธีทำบุญระลึกเหตุการณ์

2.อบรมแกนนำเยาวชนในการให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ โดยนำเด็กๆ

3.ผลิตสื่อรณรงค์ โดยได้จัดทำเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปใช้เฝ้าสังเกตการณ์และสอนเพื่อนๆ ภายในโรงเรียนได้ และในอนาคตก็จะนำไปติดตั้งในชุมชน

4.ซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติต่างๆ โดยการจำลองสถานการณ์และบทบาทให้ทุกคนได้ปฏิบัติตาม และ

5 ทบทวนความรู้ ว่า ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เด็กๆ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

“เราคาดหวังให้โรงเรียน เป็นต้นแบบโรงเรียนการจัดการภัยพิบัติ สามารถแจ้งข่าวสารให้กับชุมชนได้ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนได้ ซึ่งเมื่อจบโครงการนี้แล้ว เด็กๆ กลุ่มนี้ก็จะต้องนำความรู้ที่ได้ไปจัดอบรมให้กับน้องๆ หรือเพื่อนๆ ในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง เราฝึกให้เขาคิดเองทำเอง เป็นการสร้างแกนนำที่ยั่งยืนสามารถทดแทนผู้ใหญ่ได้ในอนาคต” อำไพ ตั้งความหวัง

แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นเยาวชนผู้เข้ารับการอบรมจะมีอายุเพียง 7-8 ขวบ แต่ก็ยังพอที่จำความสูญเสียครั้งนั้นได้ดี จึงมองเป็นเรื่องใกล้ตัว และลุกขึ้นมาเรียนรู้สู้ภัยพิบัติอย่างเต็มอกเต็มใจ

น้องปั๊มและน้องกร

ตระการ มิณฑสูตร หรือ “น้องบั๊ม” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนลับแลพิทยาคม บอกว่า เมื่อตอนน้ำท่วมอายุ 8 ขวบ พอจะจำความได้ โชคดีที่บ้านตัวเองอยู่ที่สูง เลยไม่ได้รับผลกระทบ แต่บริเวณโดยรอบเสียหายทั้งหมด ทุกวันนี้เวลาฝนตกก็กลัวๆ บ้าง แต่เมื่อเข้ารับการอบรมแล้ว ทำให้เรารู้ว่าจะต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ทั้งก่อนและหลัง ทุกวันนี้ตนเองและครอบครัวสนใจข่าวสาร ฟังพยาการณ์อากาศกันมากขึ้น

ขณะที่ ดุสิต จันทร์คำ หรือ “น้องกร” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนลับแลพิทยาคม บอกว่า เข้าอบรมโครงการเกี่ยวกับภัยพิบัติเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความรู้และวิธีปฏิบัติที่ดีมากๆ ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีการอบรมเช่นกันแต่เป็นในรูปแบบทฤษฎีมากกว่า แต่ครั้งนี้ได้ทั้งความรู้และการลงมือปฏิบัติตาม ทำให้รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุต้องทำอย่างไร ป้องกันหรือแจ้งเตือนอย่างไร วิธีสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวก่อนเกิดเหตุอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรยังไงตอนไหน เป็นการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้อย่างไม่ตื่นตระหนก

ภัยพิบัติคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับภัยพิบัติครั้งนั้นได้อย่างไร จะป้องกัน หรือลดความสูญเสียได้อย่างไร แน่นอนความองค์ความรู้และการฝึกซ้อมรับมืออย่างสม่ำเสมอจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และที่สำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นมาตรการรับมือที่ยั่งยืนกว่ารูปแบบไหนๆ ดังเช่น กลุ่มเครือข่ายฮักลับแลกำลังทำอยู่ ณ ตอนนี้

เยาวชนซ้อมทำบทบาทสมมติ เมื่อเกิดภัย


เยาวชนฝึกผูกเงื่อนไว้ใช้เมื่อเกิดภัย


หมายเลขบันทึก: 597073เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก

อยากเห็นการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องที่ควรป้องกันได้ เกิดจะเกิดเหตุการณ์

ไม่ใช่ วัวหายแล้วเพิ่งล้อมคอก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท