ชาวนาในท้องถิ่นไทย


ชาวนาในท้องถิ่นไทย

5 พฤศจิกายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

วิกฤติปัญหาชาวนาไทย

... กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม ...

ได้ฟังนี้ในบรรยากาศบ้านนอกแล้วมีความรู้สึกดีมาก ๆ จึงขอนำสร้อยเพลง “รำวงกสิกรไทย” ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองของสุนทราภรณ์ มานำเรื่อง ให้เบิกบานในความสำคัญและยิ่งใหญ่ของเกษตรกรไทย เรามาเปิดดูข้อมูลความจริงของชาวนาไทยกัน

ชาวนาไทยปัจจุบันประสบภาวะ “วิกฤติรุมเร้าที่ย่ำแย่” จากหลากหลายปัญหา ไม่ว่าอาชีพการทำนาที่ถดถอย ขาดแคลนน้ำในฤดูทำนา ผลผลิตข้าวไม่ดี ราคาตกต่ำ ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินกรรมสิทธิ์หลุดลอย ต้นทุนการทำนาสูง มีภาระปัญหาหนี้สิน ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ตกเป็นทาสสุรา เล่นหวย เล่นเบอร์ การเสี่ยงโชค การใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ สนุกเกินตัว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีสุขภาพที่ทรุดโทรม โรคภัยรุมเร้า ลูกหลานหนีหายเข้าไปทำงานในเมือง ฯลฯ [2]

สารพัดที่จะรุมเร้าไม่สมกับความเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” แม้ว่า ในรัฐบาลที่ผ่านมาจะมีโครงการ “จำนำข้าวเปลือก” แต่ก็ถือเป็นโครงการเฉพาะกิจประชานิยม เป็นนโยบายระยะสั้นที่พรรคการเมืองหวังนำไปสู่ชัยชนะทางการเมืองเท่านั้น มิได้สนใจว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ต่อกลุ่มคนในสังคมนอกจากฐานเสียงของตนหรือไม่ ซึ่งผลวิจัยจำนำข้าว พบว่า เงินถึงมือชาวนาแค่ 37% ต้องใช้งบอุ้มสูงถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก ถูกวิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ ว่าจะทำลายระบบกลไกตลาดข้าวและไม่มีประสิทธิภาพ [3]

ชาวนาไทยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ “จนที่สุด”

มีการประมาณการว่า ประชากรไทยร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม [4] ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า มีประกอบอาชีพหลักทำไร่ทำนาปลูกข้าว หรือเป็น “ชาวนา” ถึง 3.7 ล้านครัวเรือน [5]

จากข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทย (2547) ระบุว่า มีเกษตรกรและคนไร้ที่ดินในสังคมไทยทีมีปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว [6] ชาวนาไทยจึงตกอยู่ในสถานะที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมี แต่ไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ

ใน 56 จังหวัดที่ปลูกข้าว หรือ 75% ของพื้นที่ปลูกข้าว มีรายได้ต่อปีต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่ 29,064 บาท/ปี มีเพียงชาวนาใน 21 จังหวัดหรือประมาณ 25% เท่านั้นที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าเส้นความยากจน [7] ชาวนาจึงถือเป็นกลุ่มคนที่ “ยากจนที่สุด” ในบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย [8] และในบรรดาจำนวนคนจนทั้งหมด 10% [9] ด้วยผลตอบแทนการผลิตที่สวนทางกับปริมาณการผลิต กล่าวคือ ชาวนามีการผลิตข้าวในปริมาณที่มากกว่าแต่กลับขายได้เงินน้อยกว่าเกษตรกรอื่นมาก เช่น เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกอ้อย ปลูกยางพารา ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้นแน่นอนว่าชาวนาเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ในท้องที่ชนบท บ้านนอกเป็นพื้นที่การเกษตรผืนใหญ่ ซึ่งก็ได้แก่ อปท. ต่าง ๆ ที่อยู่ตามต่างจังหวัดรอบนอกนั่นเอง

พื้นที่ทำนามีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 100 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ [10] เป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวประมาณ 44 ล้านไร่ [11] ในจำนวนนี้สามารถแยกกลุ่มชาวนาตามลักษณะเขตพื้นที่ชลประทาน เป็นสามกลุ่ม คือ

(1) กลุ่มชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทานที่มีจำนวนน้อยกว่า

(2) กลุ่มชาวนานอกเขตพื้นที่ชลประทานที่อาศัยนาน้ำฝน

(3) กลุ่มชาวนาภูเขา พื้นที่เกษตรกรรมพิเศษอื่น

กฎหมายที่คุ้มครองชาวนา

มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองชาวนาไทย อยู่หลายฉบับ ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่

พรบ. การปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 ไม่มีผลทางปฏิบัติ ติดปัญหาด้วยมีข้อจำกัดที่ “ที่ดิน” ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีอยู่สามลักษณะ คือ (1) ที่ดินที่เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นชุมชน (2) ที่ดินที่เป็นไร่สวนของราษฎร (3) ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่ราษฎรปกครองทำประโยชน์ หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้ ซึ่งไม่ใช่ที่ป่า แต่เป็นที่ซึ่งพึงออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร เพื่อให้เป็นหลักทรัพย์ ให้เป็นทุนรอนและเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนทำกิจการใดๆ ได้ [12]

พรบ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 (เดิม ฉบับ พ.ศ. 2521) ได้กำหนดงานในอาชีพ และวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 โดยเป็นอาชีพสงวนไว้ให้คนไทย 39 อาชีพ [13] ได้แก่อาชีพเกษตรกรรม (งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง)

ในส่วนของเกษตรกรที่เป็นผู้เช่า ก็มี พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 [14] เพื่อแก้ปัญหาการถูกบอกเลิกเช่านา (ควบคุมการเช่านา) ซึ่งมีการเช่านากันมากในพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลาง ด้วยเพราะที่ดินเกษตรกรรมตกอยู่ในมือของนายทุน เกษตรกรที่แท้จริงไม่มีที่ดินทำกิน จึงต้องเช่าที่ดินจากนายทุนที่ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่

พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 [15] มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 เพื่อการคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร

ข้อสรุปชาวนาไทย

ธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว. การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง นโยบายรัฐกับชาวนา (2555) [16] ที่น่าสนใจได้ใจความ จึงขอนำเสนอสาระสั้น ๆ คือ (1) ข้าวไทยเลี้ยงประชากรโลก (2) ชาวนาเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (3) เนื้อที่นาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน (4) มีเนื้อที่ถือครองขนาดเล็ก (5) ชาวนามีอายุมาก (6) ชาวนามีระดับการศึกษาค่อนข้างต่ำ (7) มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (8) มีความเสี่ยงจากราคาผลผลิตแปรปรวน (9) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ (10) ชาวนาไทยยังยากจน

จากข้อเท็จจริงพื้น ๆ ที่นำเสนอข้างต้น จึงมีข้อคิดว่าในเมื่อชาวนาไทย เป็นคนสำคัญและเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์และการจัดการต่าง ๆ [17] เพื่อให้ชาวนาได้มีอาชีพ และมีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสมกับที่เป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ตามเนื้อเพลงที่เกริ่นนำ



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22839 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 6 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] การปฏิรูปชาวนาไทย, กลุ่มงานบริการวิชาการ 2, สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-article03.pdf ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาไทย ได้แก่ (1) ปัญหาระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกข้าวมีจำกัด (2) ปัญหาการระบาดของศัตรูพืช (3) ปัญหาชาวนาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ (4) ปัญหาต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง (5) ปัญหาราคาข้าว (6) ปัญหาหนี้สิน (7) ปัญหาไร้ที่ดินทำกิน (8) ปัญหางบประมาณการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตข้าวน้อยเกินไป

& ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล, สารพัดปัญหารุมชาวนาไทย ก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, โพสต์ทูเดย์, 6 มิถุนายน 2555, http://www.thai-aec.com/238#ixzz3qcZqZ5gU นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงกดดันที่เกษตรกรไทยจะต้องเจอและต้องทำความเข้าใจ เมื่อมีการเปิดเสรีเออีซีในปี 2558 มี 3 เรื่องหลักคือ (1) เรื่องภาษีเพราะเมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าภาษีไม่ได้ลดลงเหลือ 0% ทันทีตามที่เข้าใจกัน (2) ถิ่นกำเนิดสินค้า ที่จะเป็นช่องให้เกิดการฉ้อโกงกันมากขึ้น เพราะตรวจสอบยาก (3) เรื่องมาตรฐานสินค้า ที่ถือว่าเป็นอีกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี)

[3] เผยผลวิจัยจำนำข้าว เงินถึงมือชาวนาแค่ 37%, สำนักข่าอิศรา, isranews, 6 ตุลาคม 2555, http://www.isranews.org/.../16862-วิจัย-จำนำข้าว-

[4] ข้อมูลในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 และชาวนาไทยมีมากกว่า 40% ของคนไทยทั้งประเทศ ดู ลม เปลี่ยนทิศ(นามแฝง), โปรดคืนความสุขให้ชาวนาอีกครั้ง, ไทยรัฐ, 24 กรกฎาคม 2557, http://www.thairath.co.th/content/438262 &http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=12070

[5] “ยุทธศาสตร์ข้าว”, ฉบับหอการค้า ยกระดับ “ชาวนาไทย” ขึ้นชั้นเกษตรยุคใหม่, ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 4 สิงหาคม 2557, http://www.thairath.co.th/content/440831 ดู การปฏิรูปชาวนาไทย, 2557, อ้างแล้ว

หนึ่งในห้าของพื้นที่ของประเทศไทยหรือประมาณ 70 ล้านไร่เป็นพื้นที่นา โดยพื้นที่นาส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศและอยู่นอกเขตชลประทาน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2557, น. 9) ประเทศไทยมีชาวนาเกือบสี่ล้านครัวเรือน ผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 30 กว่าล้านตัน สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท รวมทั้งใช้บริโภคภายในประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละ 230,000 ล้านบาท รวมมูลค่าของข้าวเฉลี่ยปีละประมาณ 430,000 ล้านบาท (“เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาข้าวฯ,” 2557)

[6] “เอ็นจีโอเสนอนายกฯเร่งจัดที่ดินทำกิน-คนจนไร้ที่ดิน.” มติชนออนไลน์ , 20 ธันวาคม 2551, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1229747237

[7] “ยุทธศาสตร์ข้าว”, 2557, อ้างแล้ว

[8] ร่างยุทธศาสตร์ข้าวไทย ด้านการผลิต ฉบับที่ 3 ปี 2558-2562, กรมการข้าว, http://www.ricethailand.go.th/home/images/pdf/brps/412578.pdf

[9] โสภณ พรโชคชัย, 2549, http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market180.htm & ดู https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/th.html#Econ

[10] “เอ็นจีโอเสนอนายกฯเร่งจัดที่ดินทำกิน-คนจนไร้ที่ดิน.” 2551, อ้างแล้ว &ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ 102.11 ล้านไร่ เนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 149.23 ล้านไร่ และเนื้อที่นอกการเกษตร 69.34 ล้านไร่ ดู "สกว. เปิดพิมพ์เขียวจัดการทรัพยากร หนุนยกเครื่อง กม.ป่าไม้-ตั้งธนาคารที่ดิน", 6 พฤศจิกายน 2558, http://www.isranews.org/isranews-news/item/42532-land0611581.html

[11] “ยุทธศาสตร์ข้าว” 2557, อ้างแล้ว, ดู ยุทธศาสตร์ที่ 3 เขตเศรษฐกิจทางเลือก (Alternative Crops Zoning) หรือการจัดโซนนิ่ง การทำนา เปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว 27 ล้านไร่ ให้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่เหมาะสม และสร้างรายได้มากกว่าทดแทน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นมาตรการทางเลือก ไม่ได้บังคับ และใช้หลักการตลาดนำ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม... แนวทางการไปสู่ Modern Farm และ Contact Farming ของชาวนาไทยที่เหลืออีก 44 ล้านไร่ หอการค้าไทยคิดจะเอาแนวทางของ “อ้อย” ดังกล่าวมาใช้กับ “ข้าว”

[12] สิริอัญญา (นามแฝง),“ส.ป.ก.4-01 ผิดที่คนหรือกฎหมาย ?", นสพ.ผู้จัดการรายวัน , 26 มกราคม 2552, http://www.dlo.co.th/node/160

[13] 39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย จะได้นานแค่ไหนเมื่อไทยเปิดเสรี AEC, 25 กรกฎาคม 2555, www.oknation.net/blog/rinrudee/2012/07/25/entry-1 & 39 อาชีพ ที่สงวนไว้ให้คนไทย เท่านั้น หลังเปิด AEC, Indochinaexplorer, 19 สิงหาคม 2557, www.indochinaexplorer.com ได้แก่ อาชีพงานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้น งานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานควบคุมดูแลฟาร์ม

[14] สมเกียรติ โสภา, การเช่านา (พรบ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524), 8 กุมภาพันธ์ 2555, https://www.gotoknow.org/posts/477988 & http://www.moac.go.th/download/laws21.pdf

[15] พรบ. สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 71 ก วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553,

http://www.library.coj.go.th/info/data/Z68-01-001.PDF

[16] ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, บรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายรัฐกับชาวนา, 2555, http://brrd.in.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=799:2013-01-10-02-40-24&catid=81:2012-11-08-02-57-23&Itemid=65

[17] เศรษฐกิจจานร้อน “เช่า...จ้าง...แบ่งปัน” เพื่อชาวนาไทย!!, เดลินิวส์, 12 ตุลาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/article/353537 รัฐบาล “ประยุทธ์ 3” ที่พยายามนำเสนอ จูงใจ ให้ชาวนา หันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว โดยรัฐบาลเข้าไป “เช่า” ที่นาของเกษตรกร แล้วก็ “ว่าจ้าง” ให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน จากนั้นเมื่อได้ผลผลิตก็นำมา “แบ่งปันรายได้” ซึ่งกันและกัน ตามสมการ “เอ็กซ์ วาย แซด”

หมายเลขบันทึก: 597072เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2015 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you this very informative and well referenced article.

Time for a "Rice Corporation" a management, advisory, marketing and lobbying organization run by rice growers, for rice growers and not over-run by millers and/or government.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท