๑๖๙. ห้องเรียนธรรมชาติ...ใต้ต้นพิกุล


ผมมองดูต้นพิกุลทุกวัน ดูพัฒนาการ ขณะเดียวกันก็รดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง สร้างความชุ่มชื้นให้โคนต้น ด้วยการปลูกว่านหางจระเข้และย่านาง ปรับเปลี่ยนดินโคนต้นให้ด้วยและตัดแต่งกิ่งให้ดูสวยงาม จะได้โตเร็วและสูงใหญ่ขึ้น

ผมเคยได้ยินผู้บริหารบางคนบ่น เมื่อไปรับตำแหน่งใหม่ ไปพบเห็นปัญหาอุปสรรคและความขาดแคลน เช่น อาคารเรียน ห้องเรียน วัสดุ อุปกรณ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มีไม่มากพอ หรือไม่มีเลย จนต้องเหนื่อยในการซ่อมสร้าง เป็นที่หนักอกหนักใจที่จะเริ่มต้นพัฒนาเดินหน้าต่อ..

สำหรับผม..รู้สึกเฉยๆ ทั้งที่ทราบดีว่า ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนมีผอ.มาแล้วก็หลายคน ถึงไม่สร้างอะไรไว้ ผมก็ไม่ว่ากระไร ถ้าพบร่องรอยหลักฐานว่าสร้างกันไว้ ผมจะรู้สึกขอบคุณ และจะดูแลและบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี ยิ่งเป็นสิ่งที่คงทนถาวร ยิ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ด้วยซ้ำ

ผมไม่เคยงุนงงสงสัย ว่าเหตุใด..จึงไม่คิดขยับขยายอาคารเรียน ให้มีห้องเรียนเพียงพอ ปล่อยให้คับแคบอุดอู้... ทำไมถึงไม่คิดสร้างห้องสมุดที่มีความเหมาะสมกับยุคสมัยที่เขาปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้กันแล้ว...สิ่งเหล่านี้..ผมเข้าใจได้ แต่ละยุคแต่ละช่วงกาลเวลา ไม่เหมือนกัน..คุณค่าคนและงาน ตลอดจนมุมมองของคนเราไม่เหมือนกัน ทำให้ความต้องการจำเป็นแตกต่างกันไป..ท้ายที่สุด..ต้นสังกัดก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งหมายถึง..ความไม่เท่าเทียมทางด้านการศึกษา รวมทั้งระบบ...มือใครยาวสาวได้สาวเอา....

ผมถือว่า..ทำเท่าที่ทำได้ อะไรควรทำก่อน อะไรมีความสำคัญ ก็ค่อยๆทำไป ไม่เคยเสียเวลาไปว่าใคร หรือมองย้อนถอยหลัง มีแต่คิดไปข้างหน้า ว่ามีสิ่งใดที่ทำได้บ้าง..โดยไม่เสียเงินหรือเสียเวลา..มากมายนัก....

ปีการศึกษานี้...หลายครั้งหลายครา ที่นึกขอบคุณผู้บริหารคนเก่าและนักการภารโรง..ที่ร่วมมือกันปลูก..”ต้นพิกุล”ด้านหลังอาคารเรียน เป็นทิวแถวยาวตลอดแนว นับได้กว่า ๒๐ ต้น

ปี ๒๕๔๙ ต้นเล็กมาก เล็กขนาดว่า..ไม่น่ารอดจากฤดูแล้งที่ผ่านเข้ามาแล้วหลายครั้ง ผมสังเกตเห็นภารโรงเอาใจใส่ รดน้ำสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ช่วงปิดเทอมก็รดน้ำพรวนดินอยู่ตลอด จนผมยอมรับในความขยันและมีใจรักต้นไม้ยิ่งนัก..ปรากฎว่า..ต้นพิกุล..ในรุ่นนั้น..รอดทุกต้น รวมทั้งต้นที่อยู่หน้าอาคารเรียนด้วย

ผมมองดูต้นพิกุลทุกวัน ดูพัฒนาการ ขณะเดียวกันก็รดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง สร้างความชุ่มชื้นให้โคนต้น ด้วยการปลูกว่านหางจระเข้และย่านาง ปรับเปลี่ยนดินโคนต้นให้ด้วยและตัดแต่งกิ่งให้ดูสวยงาม จะได้โตเร็วและสูงใหญ่ขึ้น

วางแผนไว้ในใจอยู่เสมอ..ว่าในบริเวณ ใต้ต้นพิกุลนี้..สักวันจะต้องทำให้เป็น..”ห้องเรียนธรรมชาติ” ให้จงได้...ให้นักเรียนออกมาเรียนรู้และทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นบรรยากาศแห่งความพอเพียง..ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มิใช่น้อย

ครับ..ผมลงมือทำสำเร็จแล้ว...โต๊ะตัวไหน ที่ไม่ค่อยมีใครไปนั่ง ผมยกมารวมไว้ ในร่มไม้พิกุล ที่มีอากาศถ่ายเท มีลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาสายๆ เปลี่ยนชั่วโมงให้นักเรียนไปทำงานกลุ่ม หรือช่วงบ่าย ที่ซ่อมเสริม..ประเมินผลรายวิชาหลังสอน..ว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ก็ไปนั่งทำแบบทดสอบ จะส่งเสียงดังแค่ไหนก็ได้..

ปีนี้..ต้นพิกุล..โตเร็วอย่างเห็นได้ชัด เหมือนจะรู้ว่า..ผมจะใช้สถานที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ให้ครูและนักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกห้องเรียน..และนันทนาการได้อย่างหลากหลาย

ขอบคุณผู้บริหาร ขอบคุณนักการภารโรงที่สร้างสรรค์เอาไว้ให้ และขอบคุณ..พิกุล..ไม้มงคลของผม

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 597069เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ห้องเรียนธรรมชาติ....ใต้ต้นพะยอม


น่าสนใจมาก

ต้นพิกุลถือว่าดอกเป็นยาสมุนไพร

มีประโยชน์มากๆ

ลองให้นักเรียนทำโครงานต่อดีไหมครับ

รับรองได้ว่าเย็นสบายกว่าป้องแอร์แน่นอนแถมไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม...ใช่ไหมเจ้าคะ ผอ.

เป็นห้องเรียนที่น่าเรียนที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลยค่ะ รร.ประถมของออสเตรเลียเขาก็ใช้พื้นที่นอกห้องเรียนเป็นที่เรียนเหมือนกันค่ะ เคยไปดูลูกเรียนตอนเขาเด็กๆ ถ้าบ้านเรามีคนทำบ้างจะได้เป็นต้นแบบดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท