ซาตานในรางวัล


การปิดกั้นโอกาสปรับปรุงพัฒนาตนเอง เป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุด ที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว


วงการการศึกษาคุยกันบ่อย ว่าเดี๋ยวนี้ไปเยี่ยมโรงเรียน เมื่อเข้าไปในห้องประชุม จะพบโล่รางวัล และประกาศนียบัตรรางวัลจำนวนมากมาย มากอย่างน่าตกใจ โดยที่คุณภาพผลการเรียนของเด็กในภาพรวม มีปัญหา

ผมมีข้อสังเกตว่า วัฒนธรรมอวดรางวัลในวงการศึกษา นำไปสู่ความตกต่ำด้านคุณภาพการศึกษา ที่ผมไม่ทราบว่าเป็นข้อสังเกตที่ถูกต้องหรือไม่

วัฒนธรรมอวดรางวัล ชักจูงโรงเรียน และครู ให้เอาใจใส่เด็กเก่ง เพื่ออวดความเก่งเอาไปแข่งขัน ชิงรางวัล สำหรับเอามาเป็นหลักฐานว่าโรงเรียนและครูทำงานดี มีผลงานดี

ผลงานกลายเป็นผลงานเพื่อรางวัล ไม่ใช่ผลงานคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กทั้งชั้น หรือทั้งโรงเรียน

มองจากมุมของการชนะการแข่งขัน รางวัลเป็นพระเจ้า โรงเรียนที่มีเด็กได้รับรางวัล น่าได้รับคำชมเชย และยกย่อง

มองจากมุมของ Learning Outcome ของเด็กทั้งชั้น และ/หรือ ทั้งโรงเรียน รางวัลอาจเป็นซาตาน คือชักจูงให้หลงผิด ว่าตนทำดีแล้ว หลงอวดและชื่นชมรางวัล ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ผลงานของตนไม่ดี เพราะผลการเรียนของศิษย์ส่วนใหญ่ไม่ดี อันเป็นผลจากความไม่เอาใจใส่ของตน

รางวัลที่อวดกัน ไม่เฉพาะรางวัลจากผลงานของนักเรียนเท่านั้น ยังมีรางวัลของครูด้วย จึงมีคำถามว่า รางวัลที่ครูได้ มาจากการเอาใจใส่เด็กเก่งจำนวนน้อย หรือมาจากการเอาใจใส่เด็กทั้งห้อง หรือทั้งหมดที่ตนสอน หากเป็นแบบแรก (เอาใจใส่เฉพาะเด็กเก่ง) รางวัลนั้นเป็นซาตาน ซึ่งหมายความว่า เป็นตัวหลอกให้หลง หลงทำสิ่งที่ไม่ดีจริง

ที่จริงการประกวดและให้รางวัลหรือยกย่องผลงานดี เป็นสิ่งที่ดี แต่ที่ไม่ดีคือการอวดรางวัลแบบ เหมาๆ กันไป ไม่แยกแยะ ไม่ตรวจสอบว่าเป็นรางวัลที่แสดงผลงานอะไร

ไม่ดีตรงที่มักเอารางวัลมากลบเกลื่อนจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงแก้ไข หรือเอารางวัลมาตบตาว่าโรงเรียน นี้ทำดีแล้ว

ร้ายที่สุดคือ เอารางวัลมาตบตาตนเอง ว่าตนเองทำดีแล้ว จึงไม่ตรวจตราตนเองว่ามีข้อที่ควรปรับปรุง อะไรอีกบ้าง

การปิดกั้นโอกาสปรับปรุงพัฒนาตนเอง เป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุด ที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว


วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596449เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เท่าที่มีประสบการณ์จากโรงเรียนนอกกรุงเทพ เด็กๆที่ไปได้รางวัลแบบเดี่ยวๆนั้นมักจะเป็นเพราะเป็นเด็กที่มีต้นทุนดีอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเพราะการส่งเสริมสนับสนุนจากโรงเรียน ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่ก็ไปตามระบบ ส่งเสริมให้สอบได้คะแนนดีๆ โดยสนใจในการเรียนรู้ชีวิตของเด็กๆน้อยกว่าโรงเรียนและครูสมัยก่อนๆนะคะ

"การฝึกสอนหมา..มีปรัชญาว่า...หมา..ทำงานเชื่อฟังคำสั่ง..เพราะมัน..ต้องการรางวัล ที่มาหลอกล่อ ให้มันทำงานเชื่อฟังคำสั่ง..คนก็เช่นกัน...(แต่หมากับคน..คงคิดไม่เหมือนกัน)..แม้ว่าจะเดินอยู่บนเส้นทางปรัชญาเดียวกัน..." ก็ตาม..

จริงครับอาจารย์ นอกจากนี้ก็ป้ายประกาศว่าได้รับรางวัลอะไร นอกจากป้ายโรงเรียน ป้ายวิทยาลัย ป้ายคณะ เราทำทุกอย่างเพื่อแข่งขันเอารางวัล แม้แต่ส่วนหย่อมตามตึก ในความคิดของผมล้วนแต่ไร้สาระ ผมไม่เห็นสิ่่งเหล่านี้ในต่างประเทศ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท