ปัญหาการศึกาษา (2)


ผู้ใหญ่ใจร้าย ไม่ให้โอกาสเด็ก
ที่มา : http://www.eduzones.com/news-1-1-32622.htmlโดย : sutthira (ศูนย์ข่าว Eduzones.com)  ผู้ใหญ่ใจร้าย ไม่ให้โอกาสเด็ก !!! นี่คือเสียงสะท้อนหนาหู ที่โพสต์เข้ามาแสดงความเห็นของน้องๆ ที่ Eduzones ในฐานะที่ ชุมชนแห่งนี้ คือ แหล่งศูนย์กลางด้านการศึกษา และขณะนี้ สมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งนี้ เห็นว่า ระบบแอดมิชชั่น ที่นำมาใช้คัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นระบบที่ไม่ดีเลย เมื่อเทียบกับระบบเอนทรานซ์เก่า ทั้งในเรื่องการกำหนด สัดส่วน GPAX ,GPA การใช้คะแนนสอบ ONET ครั้งแรก ฯลฯ จึงทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงใจว่า เมื่อไม่ดีกว่าเก่า แล้วนำมาใช้ทำไม ? ที่สำคัญ ระบบนี้ ไม่ให้โอกาสเด็กแก้ตัวใหม่ได้เลย  เรื่องราวทั้งหมดสรุปจบลงที่ ผู้ใหญ่ใจร้าย ไม่ให้โอกาสเด็ก และไม่ฟังความคิดเห็นของเด็กเลย !! เพื่อไม่ให้เสียงสะท้อนนี้ ปลิวหายไปกับสายลม ศูนย์ข่าวการศึกษา Eduzones” จึงทำหน้าที่แทนเจ้าของกระทู้ทั้งหลาย ด้วยการนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่มีในกระทู้ ไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่องระบบแอดมิชชั่น ซึ่งผู้ใหญ่ท่านนี้ คือ ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รักษาการ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)     ดร.จิรณี ตอบคำถามแรก ที่ ศูนย์ข่าวการศึกษา Eduzones” เปิดประเด็น แอดมิชชั่น ดีกว่าเอนทรานซ์อย่างไร?” ว่า ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจถึงเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนระบบสอบคัดเลือกก่อนว่า เป้าหมายหลัก คือ ต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก หรือบุคลากรของชาติ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้ ทั้งนี้ เห็นว่าเด็กในวัยระดับอุดมศึกษา เป็นวัยที่มีความพร้อมมากที่สุด จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบสอบคัดเลือกใหม่ โดยให้เด็กหันมาใช้เทคโนโลยี นั่นคือ การสมัครสอบผ่านทางอินเตอร์เน็ต เป็นโครงการนำร่อง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นวางมือให้เด็กรับผิดชอบตามลำพัง เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ศูนย์สอบ ให้บริการอินเตอร์เน็ต รวมทั้งคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดอีกด้วย ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการวางแผนชีวิต โดยระบบแอดมิชชั่น ช่วยวางแผนชีวิตให้กับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ระบบเอนทรานซ์ ไม่ได้มีการวางแผนชีวิต แต่ใช้วิธีให้เด็กเสี่ยงเอาข้างหน้า เพราะฉะนั้น เด็กที่วางแผนชีวิตมาอย่างดี รู้จักคิดล่วงหน้า ย่อมเป็นเด็ก หรือเป็นบุคลากรของประเทศ ที่มีคุณภาพมากกว่าอย่างแน่นอน ซึ่งการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ตั้งแต่ช่วงชั้น ป.3 จนถึง ม.6 คือการวางแผนชีวิต ขณะเดียวกัน ก็สามารถนำผลคะแนนเฉลี่ยของเด็กไปพัฒนาครู และนักเรียน ช่วยลบปัญหาต่างๆ เช่น หากพบว่าโรงเรียนหนึ่งนักเรียน ทำคะแนนภาษาอังกฤษ ได้น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ก็ต้องไปดูว่าครูผู้สอน เป็นครูที่จบเฉพาะทางด้านภาษาอังกฤษ หรือเป็นครูที่จบสาขาอื่น จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด หรือหากพบว่าคะแนน ONET ทั้ง 5 สาระการเรียนรู้ของโรงเรียนหนึ่งโรงเรียนใด เด็กทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ก็จะได้วิเคราะห์สถานการณ์จริงได้ว่า เพราะเด็กไม่สนใจ หรือเพราะเด็กไม่เข้าใจ เพื่อให้ครูและเด็กเข้าใจตรงกันว่า การประเมินเป็นประโยชน์ของโรงเรียน และเด็กก็จะต้องวางแผนตัวเอง และอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่ต้องนำคะแนน ONET มาใช้ในระบบแอดมิชชั่นจะได้มั้ย?  ดร.จิรณี กล่าวยอมรับว่า จริงๆแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ก็ได้ ถ้าหากว่า คะแนน GPA กับคะแนน ONET ออกมาเท่าๆกัน เพราะฉะนั้น จะใช้ GPA ก็ได้ หรือคะแนน ONET ก็ได้ แต่ทุกวันนี้ ที่ยังจำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ต เพราะว่า สังคมยังไม่เชื่อใจในมาตรฐานการตัดเกรดของโรงเรียน รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอง ก็อยากได้ตัวถ่วงน้ำหนักปัญหานี้  อยากให้สังคมมั่นใจว่า ทุกฝ่ายต้องการทำสิ่งที่ดี ซึ่งอาจจะถูกใจบางคน หรือไม่ถูกใจบางคน เพราะว่ามุมมองไม่เหมือนกัน มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่างคนต่างก็มองจากจุดที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง ตามหลักมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ดร.จิรณี กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการกดดันลูก ให้เลือกเรียนสาขาที่พ่อแม่อยากให้เรียน แทนที่จะให้ลูกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน จึงทำให้เกิดปัญหาเด็กซิ่ลไม่สิ้นสุด จึงอยากฝากบอกผู้สมัครเรียนทุกคนว่า อย่าสร้างแรงกดดันให้กับตัวเองเกินไป นั่นก็คือ ถ้าหากสอบแอดมิชชั่นไม่ติด ไม่ได้แปลว่า เราไม่มีสิทธิ์เรียนอีกต่อไป เพราะยังมีภาคพิเศษ หรือมีมหาวิทยาลัยเอกชนให้เลือกอีกตั้งมากมาย ขณะเดียวกัน ถ้าหากยึดมั่นในสาขา ก็ไม่ต้องยึดมั่นมหาวิทยาลัย เพราะขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเปิดให้สอบตรง ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายโอกาสเด็กไปทั่วประเทศเช่นเดียวกัน ดร.จิรณี กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกครั้ง สกอ.ได้เก็บข้อมูลมาโดยตลอด และทุกครั้งของการปรับเปลี่ยน ก็จะต้องมีกลุ่มที่บอกว่าดีแล้ว ขณะที่เด็กอีกกลุ่มก็จะไม่เอา หรือไม่รับการปรับใหม่ และเมื่อให้โอกาส ก็อยากได้โอกาสไม่มีสิ้นสุด ในขณะที่ สกอ.ทำงานในเชิงระบบ เพราะฉะนั้น จะมายกเว้นบางกรณี เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้  
คำสำคัญ (Tags): #วิทยา#ทองยุ้น
หมายเลขบันทึก: 59623เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท