ปัญหาการศึกาษา (1)


“เสน่ห์” จวกปฏิรูปการเมือง-การศึกษาเหลวเพราะสังคมอ่อนแอ

 ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000137644

จาก : ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤศจิกายน 2549 14:23น.

เสน่ห์จวกปฏิรูปการเมือง-การศึกษาเหลวเพราะสังคมอ่อนแอ  โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤศจิกายน 2549 14:23 น.          เสน่ห์ จามริกฉะปฏิรูปการเมือง-การศึกษาล้มเหลวเพราะวัฒนธรรมการเรียนรู้อ่อนแอ เอาอย่างชาติตะวันตก รู้เท่าทันแต่ไม่เลื่อมใส หนุน มหาวิทยาลัยช่วยกันปฏิรูปการเรียนรู้ กระทุ้ง ทปอ.เอาแต่พูดเรื่องแอดมิชชัน ไม่เกิดประโยชน์กับการศึกษาไทย         มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ (มศว) จัดงานศรีนครินทรวิโรฒวิชาการขึ้นซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งเนื่องในงานวันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีปาฐกถาพิเศษเรื่อง สันติภาพและความเป็นมนุษย์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดย ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรในปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะทางการศึกษาและวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในชาติแทบทั้งสิ้น ทุกวันนี้สภาวะการศึกษาและวัฒนธรรมการเรียนรู้อ่อนแอมาก ถือเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยและทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องต่างๆ ตามมาอย่างที่เห็นๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเมือง สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่คุ้นเคยกับการตั้งคำถาม แต่จะรีบสรุปจากสิ่งที่เกิดขึ้น และจะไม่ได้พูดหรือให้ทางเลือกอื่นๆ จะเห็นว่าทุกเรื่องราวที่พูดถึงการปฏิรูปจะนำไปสู่ความล้มเหลวในทุกด้าน              นโยบายสาธารณะหรือนโยบายต่างๆ ต้องเริ่มต้นที่ระบบความรู้และวัฒนธรรมการเรียนรู้ และต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความรู้นั้นไม่ได้เป็นกลาง คนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดและเชื่อมั่นกับความรู้ว่ามีความเป็นกลาง และเชื่อความรู้ที่ได้รับมา ในความเป็นจริงแล้วความรู้มิได้เป็นกลางแต่จะแฝงไว้ซึ่งลัทธิอุดมคติบางอย่างไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในศาสตร์ใดๆ ตั้งแต่ศาสตร์ด้านกฎหมาย เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง ฯลฯ ดังนั้น เราต้องรู้เท่าทันความรู้ ระบบความรู้ในยุคนี้เราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความรู้ทางตะวันตก ทุกวันนี้เราอ่านตะวันตกไม่ออก รู้ไม่เท่าทัน ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ต่อต้านชาติตะวันตก แต่การรู้เท่าทันจะทำให้เราเข้าใจ วางตัวและมองทิศทางในการกำหนดทิศทางนโยบายต่างๆ ของประเทศชาติได้อย่างไม่ผิดพลาด การรู้จักตะวันตกไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลื่อมใส ทุกวันนี้มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจเสรีหรือตลาดทางการค้าเสรี ถือเป็นลัทธิอย่างหนึ่ง แต่คนไทยก็ยังเฉยเพราะไม่รู้ ถ้ามองประวัติศาสตร์สังคมไทยจะพบว่าเราอยู่ในภาวการณ์กดดันเช่นนี้ตลอด เพราะวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสังคมไทยเอื้ออำนวยให้ตะวันตกกดดันศ.เสน่ห์ กล่าว              ศ.เสน่ห์ กล่าวอีกว่า การศึกษาในปรัชญาตะวันตกจะพูดถึงเรื่องการเอาชนะธรรมชาติ ขณะที่สังคมไทยเราใช้ชีวิตที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ เมื่อความรู้ทางตะวันตกเข้ามาจะทำให้ความสัมพันธ์ของคน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและทุกอย่างรอบๆ ตัวเป็นปรปักษ์กัน เป็นผลมาจากอำนาจทางความรู้ ซึ่งวัฒนธรรมความรู้ของชาติตะวันตกจะเป็นลักษณะคลั่งอำนาจ ประเทศไทยรับความรู้ของตะวันตกเข้ามาจะเห็นว่าเมื่อเราพูดเรื่องการปฏิรูปการเมือง หรือปฏิรูปการศึกษาจะมีความเป็นปรปักษ์กันตลอดเวลา เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรารับทุกอย่างที่เป็นตะวันตก ซึ่งไม่ได้เหมาะกับสังคมไทย เมื่อรับมาต้องรู้จักแยกแยะเป็น แต่ขณะนี้สังคมไทยยังแยกแยะไม่ได้ เมื่อแยะแยะไม่ได้จึงส่งผลให้การเรียนรู้ล้มเหลว จากนั้นการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็ล้มเหลว อยู่บนฐานคิดที่ไม่เป็นความจริง ทุกอย่างจึงเกิดความระส่ำระสาย อย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทย              ทำอย่างไรให้การศึกษาไทยในทุกระดับตั้งแต่อนุบาล จนถึงระบบอุดมศึกษาหรือไม่แต่การศึกษานอกชั้นเรียนเข้าใจความเป็นไทย เข้าใจความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติที่ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญที่ต่างชาติอยากได้ แต่คนไทยมองไม่เห็นคุณค่า ภูมิปัญญาที่มากมาย ความรู้จากชุมชน หลักสูตรในระดับต่างๆ ควรจะได้เรียน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธความรู้จากตะวันตก ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเลือกรับให้เป็น เราต้องสามารถเลือกเฟ้นความรู้ให้ได้ถึงจะทำให้ประเทศชาติรอด อยากเห็นสถาบันการศึกษารวมกลุ่มกันช่วยกันสร้างหลักสูตรที่ทำให้เข้าใจความเป็นไทยและร่วมกันปฏิรูปการเรียนรู้อย่างจริงจังเสียที การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่ช่วยกันปฏิรูปการเรียนรู้              ที่ผ่านมามีการพูดถึงการศึกษาในชุมชนให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อชาวบ้านหรือปราชณ์ชาวบ้านเข้ามาประชุม ทุกอย่างไม่ได้จบเพียงแค่นั้น สถานศึกษาต้องช่วยกันรับเอาความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าอยู่ในรั้วการศึกษาทุกระดับชั้นด้วย ผมไม่เห็น ทปอ.ทำในเรื่องที่ควรให้ความสนใจ ได้แต่คุยเรื่องแอดมิชชั่นที่เป็นปัญหาโลกแตก ไม่เกิดประโยชน์กับการศึกษาไทยเลยแม้แต่น้อย ทุกวันนี้เราพูดถึงการศึกษาในระบบนายจ้างและลูกจ้าง วางแผนผลิตคนให้สอดรับกับตลาดแรงงาน แต่ไม่เคยพูดถึงงานที่อยู่กับตัวเอง การวางระบบการศึกษาของชาติต้องวางให้ได้หลายระดับ จะทำให้การศึกษาไม่ต้องแข่งขันกันมากนัก และสังคมการศึกษาจะมีทางเลือกมากขึ้น              ศ.เสน่ห์ กล่าวอีกว่า อยากเห็น มศว ทำเรื่องการศึกษา เพราะฐานเดิมของมหาวิทยาลัยเกิดมาจากการศึกษา เมื่อไหร่ที่สังคมไทยชัดเจนและเข้าใจเรื่องการศึกษา เราใช้ความรู้สากล สมดุลกับความรู้พื้นฐานหรือภูมิปัญญาในชาติ และเมื่อไหร่ที่ราพูดถึงสิทธิอำนาจ และเสรีภาพอย่างสมดุล เมื่อนั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น แต่ต้องไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป อยากให้การพูดคุยในวันนี้ขยายผล ตั้งเป็นโจทย์ขบคิด และตีบทให้แตก ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาและอย่าลืมว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่แค่พูดหรือคิดจะทำโน่นทำนี่ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การปฏิรูปการเรียนรู้   

คำสำคัญ (Tags): #วิทยา#ทองยุ้น
หมายเลขบันทึก: 59616เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท