"กรรม ธรรม จิต สุข ตาย" (๑)


๑. กรรม

๒. ธรรม

๓. จิต

๔. สุข

๕. ตาย

-------------------

กรรม?

ส่วนมากไทยพุทธมักจะติดกับในภาษาและค่านิยมในกะลาศาสนาของตนอย่างสลัวจนไปสู่ที่มืดมิด เมื่อพุทธศาสนาถูกนำเข้ามาจากศรีลังกา ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยาและรตนโกสินทร์ โดยผ่านประตูของภาษาสันสกฤตและมคธ ในขณะรัฐไทย (ในสมัยนั้น) ถูกปกครองโดยกลิ่นควันของเขมร ทำให้ภาษาไทยแท้ยังไม่มี นั่นเป็นไปได้ว่า ภาษาของต่างชาตินั้น คนไทย (ยุคนั้น) ไม่เข้าใจ ไม่รู้รากเหง้าของภาษา จึงอาศัยการท่อง การจำ การบันทึก จากผู้นำ พาไปด้วยความเชื่อที่ไม่รู้ว่าเชื่ออะไร


ในขณะรากเหง้าเผ่าไทยสมัยนั้น นับถือผี วิญญาณ ของป่าเขา ธรรมชาติ ความเชื่อเดิมที่อิงธรรมชาติผนวกกับความเชื่อที่เป็นแบบสังคมเมือง ที่เน้นภาษาและวัฒนธรรมเมือง จึงทำให้ระบบสังคมเมืองนำพาสังคมป่าเขาไปอย่างกลมกลืน กระนั้น ความเชื่อแบบเก่า ก็ยังปรากฎไปพร้อมๆกัน ด้วยพื้นฐานของชุมชนคนป่า ทำให้พวกเขาไม่รู้วัฒนธรรมภาษา อารยธรรมแบบใหม่ จึงยากที่จะเข้าใจในนัยที่ลึกซึ้งของภาษา โดยเฉพาะภาษาด้านศาสนา ผู้ที่จะพอเข้าใจได้คือ กลุ่มในราชสำนัก หรือนักบวช หรือเจ้าพิธีกรรมทั้งหลาย


ส่วนชาวบ้านสมัยนั้น ยังคงใช้ภาษามอญ ล้านนา เขมร ลาว จีน ในกลุ่มที่หลากหลาย สันนิษฐานว่า ภาษาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้รับมาจากอินเดียคือ สันสกฤตและพราหมี ที่เรียกสายภาษานี้ว่า อินโด-อารยัน แต่ลึกๆ ภาษาเหล่านี้ ถูกหลอมมาเป็นภาษาพื้นเมืองดั้งเดิมของตน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตน ดังนั้น หากศึกษาด้านประวัติภาษาโบราณ จะพบโครงสร้างของภาษาเหล่านี้ใกล้เคียงกับญาติของภาษาดั้งเดิมคือ สันสกฤต พราหมี ปัลลวะ และบาลี แต่ทำไมคนในถิ่นสยามยุดแรกๆ ที่กำลังก่อตัวเป็นประเทศหรือรัฐนั้น ไม่เข้าถึงภาษาแม่นั้นอย่างลึกซึ้ง


ดังนั้น ภาษไทยทุกวันนี้ ถูกหลอมมาจากหลายภาษากล่าวคือ สันสกฤต บาลี ปัลลวะ มอญ เขมร ลาว จาม ไทลื้อ มาลายู จีน ฯ จึงทำให้ภาษาไทยมีภาษาอื่นๆ แอบแฝงอยู่มากมาย ในสมัยพ่อขุนรามที่บอกว่า คิดประดิษฐ์อักษรไทยนั้น ยังไม่เป็นอักษรไทยทีเดียว ยังอยู่กลิ่นไอของสันสกฤต และเขมรอยู่ ในขณะนักวิชาการคนหนึ่ง (ดร.พีระ ไกรฤกษ์) กล่าวว่า หลักศิลาจารึกนั้นเป็นของปลอม เป็นสิ่งประดิษฐ์ในช่วงร.๔ อย่างไรก็ตาม นี่คือ รากเหง้าที่เราได้ภาษาที่กำกวมมาจากภาษาที่เรา (ไทย) ไม่รู้มาก่อน และยิ่งเป็นภาษาในด้านศาสนาแล้ว ยิ่งละเอียดเข้าไปอีก


นอกจากนี้ ในสมัยนั้น เรายังอยู่ในรัศมีการครอบงำของภาษาเขมร ที่คนเขมรมุ่งเน้นไปที่พิธีกรรมด้านการบวงสรวง บูชาเทพเจ้ามากมายที่เชื่อในอินเดียสมัยก่อน ทำให้กระแสน้ำหนักของนัยภาษา มีธงชัยไปตามเทพเจ้าหรือเจตนาของผู้บูชา ซึ่งต่างกับอุดมติของพุทธศาสนาหรือในพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง ทำให้น้ำหนักของการสื่อสารของวัฒนธรรมเขมรออกไปในทางไสยศาสตร์หรือมนต์ดำ เรามักเห็นภาษาเขมรในทำนองการท่องจำ ท่องมนต์ เพื่อร่ายทำพิธีกรรม ซึ่งไม่ได้ขยายหรือตีความเอาอัตถะ แก่นสารของภาษาต้นฉบับของศาสนาพราหมณ์ ที่มุ่งเน้นสู่โมกษะ หรือปรมาตมันหรือพรหมันเป็นที่สุด จุดนี้ สันนิษฐานน่าจะมาจากอิทธิพลของผู้นำ(กษัตริย์) ที่ต้องการอำนาจในการปกครอง


ภาษาไทยมาเจริญรุ่งเรืองในยุครตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในรัชสมัยของร.๔ ที่ศึกษาภาษาบาลีจนแตกฉานและแต่งตำรา คัมภีร์มากมาย จนมีอิทธิพลต่อราชสำนักต่อมา จนถึงรัชสมัยร.๕ กระนั้น ภาษาไทยก็ยังไม่แข็งแรง ยังไม่สมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน แม้แต่ด้านไวยากรณ์ก็ยังไม่ชัดเจน มีการปรับปรุง แต่งเติมอยู่เรื่อยมา กระนั้น อย่างที่กล่าวแล้ว คนไทยในยุคนั้น มีตัวแปรอื่นๆ อีก กล่าวคือ ช่วงร.๔ ร.๕ มีการติดต่อสมาคมกับชาวตะวันตก ทำให้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส มีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะในราชสำนักหรือคนชั้นสูง นี่คือ ตัวแปรหนึ่งที่คนไทยเห่อภาษาต่างชาติมากขึ้น ในขณะเดียวกันกลับละเลยภาษาสันสกฤต บาลี ซึ่งเป็นภาษารากเหง้าของสังคมไทยอย่างแพร่หลายในหน่วยงานรัฐ จนถึงราษฎร


ด้วยเหตุนี้ ไทยพุทธจึงเข้าใจในนัยภาษาศาสนาไม่ค่อยลึกซึ้งมากนัก จึงเกิดการสื่อสารกันไปคนละทิศละทาง บ้างก็เข้าใจเอาเอง บ้างก็ถูกสอนให้เชื่อ ให้จำมาอย่างผิดๆ จนทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในความหมายไป ที่สุดคือ ไม่เข้าใจนัยแก่นแท้ของความหมายจริงๆ หรือรากเหง้าที่มาของคำ ของปริบทในภาษา เช่น ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยออกแบบสอบถามเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ โดยใช้คำเหล่านี้ เพื่อให้ตอบตามที่เข้าใจ--

๑. กาม ความหมายที่ ๑. ความหลง ๒. ความใคร่ ๓. เกี่ยวกับทางเพศ

๒. กุศล - ๑. บุญ ๒. ความดี ๓. ความฉลาด

๓. กรรม - ๑. ผลลัพธ ๒. การกระทํา ๓. ผลในอดีต

๔. นิพพาน - ๑. ตาย ๒. ดับ ๓. การหลุดพ้น

๕. สมถะ - ๑. ความสงบ ๒. มักนอย ๓. ทําสมาธิ

๖. สัญญา - ๑. สัญญาซื้อขาย ๒. ความจําได้ ๓. ให้คําหมั้น

๗. วิญญาณ- ๑. ความรู้ ๒. ผี ๓. คนตาย

๘. สังฆกรรม - ๑. การร่วมกัน ๒. การแบ่งพวก ๓. การลงโทษ

๙. สันโดษ - ๑. มักน้อย ๒. พอดี ๓. ความยินดี

๑๐. สวรรค์ - ๑. ที่ไป ๒. แดนกามคุณ ๓. ชีวิตหลังตาย

๑๑. ภาวนา - ๑. คําอธิษฐาน ๒. การทําให้เกิดขึ้น ๓. คําวิงวอน

๑๒. เวทนา - ๑. น่าสงสาร ๒. อารมณ์ ๓. อ่อนไหวง่าย

ฯลฯ

ท่านเชื่อและแน่ใจในความเข้าใจตนเองหรือไม่ ลองตอบดู--

ในจำนวนที่ยกมานั้น มีคำหนึ่งที่ชาวพุทธไทย เข้าใจผิดมากคือ คำว่า "กรรม" คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตเดิมว่า "กรฺม" ส่วนภาษาบาลีใช้คำว่า "กัมมะ" อ.ทองยอ้อย แสงสินชัย (๗ ก.ย. ๕๖) เขียนไว้ในเฟสบุ๊คว่า กรรม มาจาก ๑) ธาตุศัพท์ว่า "กรฺ" แปลว่า การกระทำ และปัจจัยว่า "รัมมะ" ๒) แล้วลบ "รฺ" ในธาตุ "กรฺ" และบล "ร" (รัมม ปัจจัย) เป็น "มฺม" ๓) กร (เป็น ก) + รัมมะ (เป็น มฺม) = ก+มฺม = กัมมะ (กรรมที่เขียนคำไทย)

ท่านแปลว่า ๑) การกระทำ ๒) การกระทำ สิ่งที่ถูกทำ ผลการกระทำ เรียกว่า กรรม ๓) การทำธุรกิจ ธุรกรรม กิจกรรม ประกอบอาชีพ เรียกว่า กรรม ๔) รวมไปถึงสิ่งที่เป็นกฎโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ตราขึ้น เรียกว่า "กรรม" ในพจนานุกรม ของอ. เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายว่า "การ การงาน การกระทำ บาป เวร" (หน้า ๗) ส่วนในราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า ๑) การ การกระทำ การงาน กิจ ๒) ผู้ถูกกระทำ สมาชิกโกทูโนว์ชื่อ ปราชญ์ขยะ แปลว่า การกระทำที่เป็นกลาง ไม่ดี ไม่ชั่ว

ปราชญ์ขยะกล่าวถึงองค์ประกอบที่เรียกว่า "กรรม" มี ๔ อย่างคือ ๑) มีกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) เป็นตัวกระตุ้น ๒) มีเจตนาเป็นตัวดำเนิน ๓) มีการลงมือปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ ๔) มีผลที่เกิดขึ้น (ดี ชั่ว กลางๆ) เมื่อนำเอากริยากรรมในสังคมไทยปัจจุบันมาจับ จะได้เห็นได้ว่า แตกต่างกัน กล่าวคือ สังคมไทยมักจะเชื่อหรือใช้ภาษากันไปแบบเคยได้ยินมา จึงกล่าวรวมๆ ว่า กรรม คือ ๑) ความชั่ว การกระทำในอดีต ผลที่ได้รับในทางไม่ดี การจองเวร จองกรรม กรรมดีที่ได้ทำมา ฯ


ส่วนการจะเข้าใจกรรมได้ดี เราต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจในรากเหง้าของสังคมอินเดียสมัยก่อน และขณะพุทธกาลว่า มีอารยธรรมหรือวัฒนธรรม ความเชื่อ ความคิด ทิฏฐิ อย่างไรในกลุ่มนักบวช ลัทธิต่างๆ ที่เชื่อในคัมภีร์พระเวทเป็นพื้นฐาน จึงเกิดลัทธิต่างๆ ขึ้นมากมาย ในบรรดาลัทธิเหล่านี้ เมื่อสรุปแนวความเชื่อแล้วมี ๓ กลุ่มคือ ๑) กลุ่มที่เชื่อกรรมเก่า พวกนี้มองว่า การกระทำทุกอย่างไม่ว่า สุข ทุกข์ หรือกลางๆ ล้วนมาจากรรมที่ทำแล้วในอดีตทั้งสิ้น ๒) กลุ่มที่เชื่อพระเจ้าเป็นใหญ่ พวกนี้เชื่อว่า กรรมใด สุข ทุกข์ใด เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยแรงดลจากผู้เป็นเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น (พระพรหม) ๓) กลุ่มที่เชื่อในกัมมันตะ คือเชื่อในการกระทำเอง หรือเกิดขึ้นเอง ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะมีอำนาจผลักดันให้เกิดได้


กลุ่มเหล่านี้ ก่อให้เกิดทิฏฐิขึ้นมาอีก ๓ แนวคือ ๑) กลุ่มที่เชื่อกรรมที่ไร้ผล คือ ไม่มีผลใดๆ ๒) กรรมใดๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีที่มาใดๆ ๓) ไม่มีอะไรที่น่าจะจับเป็นสารัตถะหรือว่างเปล่าทั้งสิ้น แนวคิดเหล่านี้มาจากความหลากหลายในทิฏฐิมากมายในสมัยนั้น ซึ่งมีอยู่ในลัทธิกลุ่มไวเศษิกะ (แปลว่า บางกลุ่ม ที่แยกแตกต่างออกเฉพาะ) ที่เน้นเรื่องกรรมอดีตเป็นหลัก ที่เชื่อในอำนาจของพระเจ้า ที่จัดสรรค์ รังสรรค์ชีวาตมันให้เป็นไป (ทั้งบาป บุญ) พลังที่ว่านี้ เมื่อมาอยู่ในธรรมชาติ (ดิน น้ำ ลม ไฟ แสง จิต) หรือชีวาตมันก็จะกลายเป็นพลังละเอียดที่ลึกลับเรียกว่า "ปรมาณูพละ" ที่จะแสดงออกมาเป็นกรรม นอกจากนี้ลัทธินี้ยังมองว่า กรรมสามารถทำสรรพสิ่งให้เคลื่อนไหวไปได้ถึง ๕ ทิศคือ เบื้องบน เบื้องต่ำ หดตัว ขยายตัว และเคลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง


ส่วนลัทธิที่เกิดในสมัยพุทธเจ้าชื่อ ปุรณกัสสปะ เชื่อว่า การกระทำใดๆ ไม่มีผล หรือปฏิเสธเรื่องกรรม ซึ่งต่างกับลัทธิพุทธ (ในตอนนั้น) ที่ว่า การกระทำใดๆ มีผล ส่วนมักขลิโคสาล กลับมองว่า ทุกอย่างไม่มีผล เกิดมาเองอย่างอัตโนมัติ ซึ่งพระสมณะโคดมปฏิเสธ ส่วนอชิตเกสกัมพล กลับมองว่า กรรม ทุกอย่างสูญสิ้น ไม่มีผลหลงเหลืออยู่ บุญ บาป บุณคุณไม่มี ซึ่งสมณะโคดมก็ปฏิเสธเช่นกัน

ในขณะลัทธิของปกุธกัจจายนะ มองว่า ทุกอย่างมั่นคง นิรันดร์ไม่เปลี่ยนแปลงในตนเอง ส่วนสัญชัยกลับไม่มีอะไรมาเสนอให้สังคมนอกจากไหวไปตามกระแส ส่วนนิครนถ์นาฏบุต (เชน) กล่าวถึงกรรมไว้อย่างเข้มงวด ยึดในหลักกรรมจนเรียกว่า ทรมานตนอย่างเคร่งครัด เพราะเชื่อว่า กายคือ มายา ต้องผ่านให้ถึงโมกษะให้ได้ด้วยทำลายตน ดร.ทองหล่อ วงษ์ธรรมา กล่าวถึงกรรมของเชน ๘ ชนิดที่บดบังความดี ซึ่งย่นได้ ๒ อย่างคือ ๑) ทรัพยกรกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นสสารร่างกาย ที่เป็นแดนเกิดของวิญญาณ ๒) ภาวะกรรม หมายถึง ภาวะการกำหนดจิตวิญญาณไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสสารอีก (ปรัชญาอินเดีย, ๒๕๓๕, หน้า ๒๓๙) ในขณะดร.สุนทร ณ รังสี กล่าวว่า พวกเชนถือว่า อดีตกรรมมีบทบาทมากในการทำให้ชีวะแห่งสสารติดในวงวัฏฏะ เชนยังเชื่อว่า การทรมานกายคือทางหลุดพ้น ซึ่งพระสมณะโคดมแย้งว่า การเน้นจิตคือทางหลุดพ้น (ปรัชญาอินเดีย, ๒๕๔๕, หน้า ๑๒๗)


ข้อความที่อ้างมานั้น เป็นหลักการที่มีพัฒนาการด้านความคิด ความเชื่อในเรื่องกรรมมายาวนาน และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวบริบทในสังคมไทยจึงพอมองเห็นโครงสร้างดังนี้


๑) กลุ่มนักบวช เช่นพระสงฆ์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชื่อ ภาษา การสั่งสอน ที่ยึดแนวคำสอนเก่าไว้ได้ตามพระไตรปิฎก แต่พอมองให้ลึกลงไปก็มีกลุ่มที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น ที่เหลื่อมล้ำและแย้งในเรื่องกรรมอย่างสิ้นเชิง เช่นระบบการปกครองคณะสงฆ์ หากยึดแนวพระธรรมวินัย ถือว่า แย้งพุทธประสงค์และอุดมการณ์ของศาสนาอย่างแท้จริง กระนั้น สิ่งที่เข้มแข็งขององค์กรเหล่านี้ การได้มีโอกาสศึกษาคำสอนที่ถือว่า "สายตรง" จากดั้งเดิมมาก ที่อาศัยภาษาบาลี (มคธ) เป็นสื่อกลาง กลุ่มนี้จึงสามารถขยาย ย่อ หรือเขียนหลักการหรืออธิบายเนื้อหาคำสอนได้อย่างแม่นยำ แม้แต่คำว่า "กรรม"


แต่น่าเสียดายกลุ่มนี้ กลับอ่อนแอในการบริหารองค์กรหรือล้มเหลวในการชี้แจง แสดงธรรมด้วยภาษาที่ตายแล้วในสังคมยุคใหม่ พูดง่ายๆคือ รู้ในกลุ่มตน ยกย่องพวก ให้ได้ตำแหน่งตามมา จนเกิดภาพพจน์ให้การสร้างองค์กรรุ่นใหม่มีกระแสธงชัยไปที่ ตำแหน่ง ยศ เอกลาภ อย่างน่าเสียดาย ซึ่งกลายเป็นกิจที่เหินห่างทางปฏิบัติทางจิตอย่างอ่อนแอลง ทำให้องค์ความรู้อุดอู้อิงครอบครัวอยู่ในเขตเมืองเจริญเช่น กรุงเทพฯ แต่ชนบทกลับมีแต่หลวงตา แก่ๆ ที่ขาดศัยภาพ ไม่มีทางแก้ปัญหาลึกๆของศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผลที่ตามมาคือ พระบวชใหม่ พระแก่ๆ ที่เบื่อโลก ทิ้งครอบครัวมาบวชเพื่อดำรงชีวิตตนเท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงอุดมการณ์แท้ของพระพุทธศาสนา จึงอ่อนแอต่อเอกลาภและพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปเพื่อหาอามิส วัตถุนิยมตามโลกในที่สุด จนหลงคำสอน ไม่รู้จริง แล้วเที่ยวอุปโลกป์ว่า นี่คำสอนพระพุทธองค์ไปอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องภาษา คำสอน ที่อบรม สั่งสอน ชี้แจง คำ ความหมายของพุทธพจน์ได้ ต้องให้หลวงพ่อคึกฤทธิ์เที่ยวร่อนเอาธรรมคำสอนว่า อันไหนคำสอนจริง คำสอนเท็จ มาเผยแผ่ตามสื่อแทน นอกจากนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึง สำนัก ลัทธิ ความเชื่อ เรื่องทรงเจ้า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ต่างๆ มากมาย ที่องค์กรสูงสุดของพุทธไม่สามารถจัดระเบียบนี้ได้อย่างเด็ดขาด


๒) กลุ่มฆราวาส ที่เป็นทั้งนักวิชาการและชาวบ้านทั่วไป กลุ่มแรกนั้น แม้มีโอกาสศึกษาหลักการ จากตำรา ทั้งตะวันตกและตะวันออก แต่ก็ไม่ค่อยเชื่อในหลักพุทธเท่าไหร่ เนื่องจากมีทฤษฎีจับผิดของโลกมากมาย เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาแต่ก็ไม่สามารถขยายหรืออธิบายคำสอนหรือเขียนตำราออกมาได้อย่างหวือหวานัก นอกจากวิพากษณ์ วิจารณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่น่าตำหนิคือ นักวิชาการศาสนาพุทธ ไม่อิงหรือไม่โน้มมาหาพุทธ เพื่อแก้ต่างหรืออธิบายชี้แจงให้กระจ่าง ไม่เหมือนต่างศาสนา เหมือนกับว่า ตีหัวเข้าบ้าน ไม่กล้าท้าทายอย่างกล้าหาญที่จะปกป้องแหล่งอาชีพของตน ทั้งๆที่หากินกับศาสนาแท้ๆ


เหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ ไม่กล้าแตะคัมภีร์แบบตรงไปตรงมาคือ กลุ่มชาวบ้านที่มีแนวคิดสุดโต่ง มักจะโจมตีนักวิชาการโดยตรง เช่น อดีตพระมโน ที่เขียนวิจารณ์การนิพพานของพระพุทธเจ้าในแง่วิชาการ ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก เป็นจุดอ่อนที่ชาวพุทธเองก็อ่อนแอในการยึดหลัก วิจารณ์อย่างมีเหตุผล หรือเสนอให้แง่คิดใหม่ๆ ท้าทายสังคมเดิมๆบ้าง ดังนั้น เราจึงเห็นนักเขียนมือใหม่หรือผู้มีไฟแรงเรื่องศาสนาหน้าใหม่ เขียนธรรมะหรือข้อธรรมออกมาอย่างมากมาย แต่อิงทัศนะส่วนตัวหรือใช้ความรู้สึกตนเองเดินเรื่องมากไป แม้แต่เรื่อง กรรม ยังเข้าใจต่างกัน แปลต่างกัน จึงเกิดหนังสือกรรมออกมาตามร้านหนังสือมากมาย จนทำให้ชาวบ้านสับสนหรือไม่ เช่น เกิดแต่กรรม เจ้ากรรม นายเวร กรรมลิขิต กฎแห่งกรรม แก้กรรม สแกนกรรม ดูดวงแก้กรรม ทรงแก้กรรม ฯ ซึ่งไม่ยึดหลักรากเหง้าว่า วิวัฒนาอย่างไร


ส่วนชาวบ้านนั้น ก็ยิ่งน่าห่วง เนื่องจากว่า ขาดรากฐานที่มั่นคงในศาสนา ห่างเหินศาสนา อาศัยศาสนาเป็นแค่ยาแก้ปวดหรือแค่สิ่งบำบัดความอยาก ความต้องการของตัวเอง มองพระสงฆ์เป็นผู้ให้ของดี แก้ดวง แก้เคราะห์ สวดมนต์ ฉันเพล จนพระสงฆ์ ก็หลงคล้อยตามโลกวัตถุนิยมไปด้วย เมื่อก้นจิตใจชาวบ้านเรียกร้องวัตถุนิยมเป็นที่ตั้ง จิตใจที่เรียกร้องหาวัตถุมีมากกว่า ความเข้าใจหลักธรรม คำสอน จึงเกิดปะทะกันระหว่าง "อยากต่ออยาก" (Desire on desire) ครั้นศาสนาเกิดภัย หรือเกิดข้อสงสัย กลับตอบไม่ได้ ชี้แจงแทนองค์กรศาสนาไม่ได้ ช่องว่างระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านก็ยิ่งห่างเส้นทางธรรมไปเรื่อยๆ นั่นคือ กำลังกอดคอต่ออยากให้ตนเอง


ในที่สุดก็ไม่สามารถอธิบายคำว่า กรรม ง่ายๆได้ หรืออธิบายให้พิสดารแก่ผู้รู้แล้วให้กระจ่างมากขึ้นไม่ได้ ความมืดมัว ที่เหมือนหมอกที่สลัว ปกคลุมในสังคมไทย จนทำให้ชาวพุทธเองไม่รู้ทิศทางการดำเนินชีวิตในแง่กรรมที่ถูกต้องได้ในศาสนวิถี ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายหรือไม่เกิดพลวัตรต่อวิถีชีวิตของตนได้ การสูญเสียโอกาสหรือคุณค่าของชีวิตที่จะเกิดขึ้นแก่ชาวพุทธเองจึงมืดมนลง ยิ่งสังคมยุคไอที ชาวบ้านกำลังใช้สื่อเองอย่างง่าย ไม่ต้องเงี่ยหูฟังองค์กรวัดอีกต่อไป แค่เปิดเน็ต เฟส ไลน์ เท่านั้น ก็ถึงใจ แต่ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันที่ผู้คนยุคนี้ ขาดครูบาจารย์ที่จะคอยแนะนำให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคนสื่อได้เองง่ายขึ้น พื้นฐานด้านศาสนาน้อย จึงสื่อออกไปอย่างขาดความรอบคอบ จนเลอะเฟส เปรอะเน็ตไปหมด


๓) กลุ่มสำนัก ลัทธิ สถาบัน องค์กร ต่างๆ ที่อ้างว่า องค์กรศาสนาเกิดขึ้นมาลอยๆ มากมาย ซึ่งเป็นองค์กรเถื่อนหรือไม่อยู่ในสมาคมหรือองค์กรที่รัฐหรืองค์กรศาสนารับรอง จึงเกิดการสอน การสร้าง การเผยแผ่ไปคนละทิศละทาง ไม่รู้แน่ชัดว่า เป้าหมายหรือจุดประสงค์ขององค์กรเหล่านี้ มีหมุดหมายปลายทางอันเดียวกันหรือไม่นั่นกล่าวคือ การเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้อง มีประโยชน์แก่ชาวโลก เหมือนที่องค์กรอย่างท่านโกเอนก้า สถาบันศึกษามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นต้น


เมื่อสำนักหรือองค์กรเหล่านี้ มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น ก็สามารถเบี่ยงเบนคำสอนส่วนกลางเป็นส่วนตัวได้อย่างแยบยล ในเมืองไทยก็รู้กันอยู่มากมาย แต่เราไม่เคยประสานหรือประชุมองค์กรไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพเลย ทำให้การสอนหรือการเผยแผ่พระธรรมคำสอนส่วนตัวมากกว่าส่วนกลางไปอย่างอิสระ นั่นคือ ที่มาคำว่า เอกภาพในความหลากหลาย ที่ท้าทายกันเอง เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าปฏิรูปศาสนา (องค์กร กฎระเบียบต่างๆ) ให้เกิดความกระชับหรือทันโลกยุคใหม่ ที่ผู้คนดื้อด้านมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนมาตั้งแต่อดีตจนเป็นธรรมเนียมของศาสนาพุทธคือ วัด ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ปัจจุบันเป็นที่แหล่งศึกษา แหล่งบริหาร แหล่งปฏิบัติ แหล่งสร้างศาสนาวัตถุ และแหล่งพิธีกรรม


วัดคือ แหล่งเผยแผ่พระธรรมคำสอนเรื่องพื้นๆ ธรรมดาได้อย่างอิสระ แต่เท่าที่พบ ส่วนมากที่เราโอดครวญคือ สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ แข่งขันกัน วัดไหนมีรายได้ก็สร้างเอง นั่นคือ ที่มาของการประชาสัมพันธ์เรียกร้องขอเชิญร่วมทำบุญบริจาคเต็มไปหมด แต่ไม่เน้นเรื่อง เข้าถึงจิตคน ที่กำลังกลัดกลุ้มสุมใจอยู่ เป้าหมายที่สุดของนักวิชาการ ผู้รู้ วัด พระสงฆ์คือ นำเอาหลักธรรมไปประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างกลมกลืน เพราะพระพุทธศาสนามีพุทธิประสงค์คือ อิสระต่อสิ่งครอบงำจิตตนหรือหลุดพ้นทุกข์ถาวรนั้นเอง แต่ดูเหมือนว่า เรากำลังหลงสร้างทฤษฎีต่างๆ มาเพื่อแข่งขันกันในการแย่งสมาชิกของสังคมกระนั้นหรือ


ดังนั้น สังคมไทยถ้าประชุม ร่วมมือกัน อธิบาย ชี้แจงตามสื่อต่างๆ หรือพูดคุยสนทนา สัมมนาให้ถูกประเด็นของกระแสสังคมอย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ห่างเหินธรรมะแน่ และด้วยเจตนาที่ผู้เขียนได้ใช้โอกาสแห่งนี้ ถ่ายเท ถ่ายทอดเท่าที่ทำได้ ทำอย่างไรผู้คนจะเอาชนะขยะในใจตนเองได้ และเป็นอิสระต่อโลกของวัตถุนิยมได้อย่างเสรี ไม่ต้องเป็นทาสมันตลอดเวลา ฉะนั้น จึงขอสรุปทำความเข้าใจในคำว่า กรรม ดังนี้--


คำว่า กรรม (Action) นั่นตามศัพท์ได้ชี้แจงแล้วข้างบน ที่กำเนิดของกรรม มี ๓ แห่งคือ ๑) ศาสนาพราหมณ์ ๒) ศาสนาพุทธ ๓) ไทยพุทธ ศาสนาพราหมณ์นั้นเชื่อในพระเจ้าเป็นใหญ่คือ พระพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แสดงอภิกรรมที่ยิ่งของสรรพสิ่ง นั่นคือ จุดกำเนิดของคำว่า กรรม ที่แปลว่า การสร้าง การกระทำในกิจใด กิจหนึ่ง อภิกิจนี้มาจากพระพรหม ที่รังสรรค์สรรพสิ่งขึ้นมานั่นเอง การเชื่อเช่นนี้ พวกพราหมณ์เชื่อว่า อุบัติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมานานหลายล้านปี จะเรียกว่า ตั้งแต่เกิดจักรวาลก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้ สรรพสิ่งจึงถูกกาลหล่อหลอมให้เป็นไปตามกาลวิถี อยู่อย่างนิรันดร์ จึงถือว่า สิ่งที่เกิดทีหลัง เกิดในเวลาต่อมา ถือว่าถูกกาลลิขิต หรือถูกพระพรหมได้วางแผนเขียนเส้นทางไว้แล้วนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเชื่อว่า นี่คือ ผลกรรมที่เคยถูกสร้างมาอย่างแน่นอนในอดีตโดยพระพรหม


แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์เกิดมาแล้วถูกมายาโลกหรือโลกแห่งมายา สสารหล่อหลอม จนปุรุษ (จิตเดิม) เกิดหลงทาง เกิดกิเลส อวิชชาห่อหุ้มรุมเร้าจนไม่สามารถมองเห็นเส้นทางที่เดินกลับไปสู่ทางเก่าคือ พรหมันหรือเข้าถึงปราตมันในตนเองได้ พวกเขาจึงเชื่อว่า เมื่อวิญญาณหลงทาง จึงทำผิด เกิดผิด จนเวียนว่ายตายอยู่เช่นนี้ หลายภพ หลายชาติ เรียกว่า สังสารวัฏ ชีวิตพวกพราหมณ์จึงติดในข่ายคำว่า พรหมลิขิต (พรหมกรรม) ซึ่งแนวคิดนี้ พระพุทธเจ้า ไม่เห็นด้วยทั้งหมด แล้วพระพุทธศาสนามีมุมมองอย่างไร


พระพุทธศาสนาเกิดในท่ามกลางสังคมอินเดีย ที่เต็มไปด้วยลัทธิ แนวคิด ทัศนะต่างๆ มากมาย หลักการต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากรากเหง้าของสังคมอินเดียในสมัยนั้น อีกส่วนก็ปฏิวัติเอง จากคติของพราหมณ์มองว่า พระพรหมคือ ผู้สร้างอภิกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่พระสมณะโคดมเห็นว่า การที่พราหมณ์ตั้งหลักการดำเนินชีวิตเช่นนั้น ไม่น่าจะถูกสมบูรณ์ พระองค์จึงตรัสว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ - ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม" (พระไตรปิฎกเล่มที่๒๒ พระสุตตันปิฎก เล่ม๑๔ อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๓๓๔, หน้า ๓๖๘) แล้วจะรู้อย่างไรว่าเป็นกรรม หรือมีเกณฑ์อะไรที่จะรู้ว่าเป็นกรรม คำตอบคือ รู้ใน ๑) ต้นจิต ว่ามีเจตจำนงจะทำอะไร อย่างไร มีเป้าหมาย มีธงชัยตรงไหน ๒) รู้ในขณะทำ ว่าทำอะไร จะมีผลอย่างไร ใคร่ครวญแล้ว จึงลงมือกระทำ ๓) รู้ผลหลังทำ ว่าตนเองเดือดร้อน เป็นทุกข์หรือไม่ คนอื่นเดือดร้อนเพราะเราหรือไม่ และสำนึกอย่างไร


ส่วนสื่อกลางหรือองค์ที่จะสร้างกรรมมี ๓ อย่างคือ ๑) กายกรรม คือ การแสดงออกทางกายภาพของร่างกายเช่น ศีรษะ ลำตัว แขน มือ ขา เท้า อวัยวะเหล่านี้สามารถเป็นสื่อกลางไปสร้างความดีและความชั่วได้ ๒) วาทกรรม คือ การใช้คำพูด ภาษาเขียน ภาพเขียน เป็นเครื่องมือในการสร้างให้คนอื่นเชื่อ หลงผิด เพื่อประโยชน์ตน เช่น คำพูดธรรมดา คำหยาบ ด่า เสียดแทง เย้ยหยัน ฯ ๓) มโนกรรม คือ การแสดงออกข้างใน ที่ผูกโกรธ เกลียดใครบางคนในใจ ให้ตนเอง คนอื่น หรือสิ่งอื่นร้อนรุ่มหรือเป็นทุกข์ พุทธวิสัยถือจุดนี้เป็นสำคัญ


ทีนี้เมื่อเกิดแสดงกรรมออกไป ย่อมมีผลทุกขณะ เพราะในชีวิตของมนุษย์หรือสัตว์โลก ย่อมมีผลกรรมเสมอ อย่างน้อยก็กรรมส่วนตัวที่จะเอาตัวรอดในโลก เช่น กรรมในการกิน กินดี ก็มีคุณ กินไม่ดีก็เป็นโทษ อีกอย่างผลของกรรมนั้น ย่อมมีผลต่อสิ่งรอบข้าง ครอบครัว สิ่งแวดล้อม สังคม ประเทศและโลกด้วย อยู่ที่ว่า มีเจตนาแท้หรือไม่ หรือแค่บังเอิญคือ ไม่เจตนา ทีนี้ ผลดังกล่าว มีหลักที่ควรศึกษา ๒ กรณีคือ ๑) ผลกรรมของปุถุชนทั่วๆ ไป ย่อมมีผล ๒ ประการคือ ดี ไม่ดี หรืออาจไม่มีผลร้ายแรงใดๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเกื้อหนุน ๒) ผลของอริยบุคคล กลุ่มนี้อ้างหลักหรือค่านิยมของพุทธวิสัยว่า ผู้เป็นอริยบุคคลจะไม่มีผลดังกล่าว มีแค่อกริยา หรือไม่มีกรรม เพราะไม่มีเจตนาที่จะทำแบบเน้นๆ นั้นๆ หรือใส่อารมณ์เต็มๆ (ส่วนในแง่ความจริงทางจิตวิทยาหรือกายภาพเชิงวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ต่อไป)


ในทัศนะของผู้เขียนขอนำเสนอ ๒ วิธีคือ--

๑) ผลปกติทั่วไป หมายถึง กรรมตามวิสัยโลกสัตว์ ย่อมมีผลอยู่ ๓ ประการคือ ๑. ผลทันที เช่น เราตีหัวคนอื่น ด้วยเจตนา เราอาจโดนทำร้ายกลับคืนเช่นกัน เราแหย่สุนัข สุนัขอาจกัดเอาได้ ๒. ผลสะสม หมายถึง เราอาจไม่เห็นผลทันที แต่ผลอาจสะสมเอาไว้ รอจนกรรมนั้นสุกงอมหรือล้น จึงแสดงออกมา เช่น โจรทำผิดครั้งแรก อาจไม่มีใครจับได้ จนเหลิงในกรรม เมื่อทำบ่อยๆ จึงชะล่าใจหรือประมาทไป ๓. ผลต่อเนื่อง หมายถึง ผลที่ทำแล้วไปกระทบต่อตน คนอื่น สิ่งอื่น และยังสามารถสืบเนื่องไปสู่กรรมใหม่ โลกใหม่ ภพใหม่อีกด้วย

๒) ผลสูงสุด หมายถึง การทำกรรมด้วยตนเองที่ดี ย่อมมีผลต่อจิต ต่อชีวิต ต่อการดำเนินชีวิตได้ด้วย ส่วนที่จะส่งผลต่อตนเองคือ ๑. มีต่อจิตใจ ทำให้จิตละเอียดขึ้น งดงาม ประณีตขึ้น ๒. มีต่อพฤติกรรม ที่รอบคอบ ละเอียด มีศีล มีธรรม ประจำตัว จึงควบคุม กาย วาจา ใจได้มั่นคงขึ้น ๓. มีผลต่อการหลุดพ้น จากอาสวะของโลกได้ นี่เป็นขั้นที่สร้างกรรมเพื่อเป้าหมายต่อการบรรลุธรรมคือ (กัมมัฏฐาฯ) สมถะ วิปัสสนา

ส่วนอะไรทำให้เราสร้างกรรม ตามพุทธวิสัยแล้วมี ๕ อย่างคือ ๑. มีอกุศลกรรม เป็นพื้นฐาน ๒. มีเจตนา (ต้นจิต) เป็นแรงผลัก ๓. มีตัวกาย เป็นเครื่องกำลัง ๔. มีกรรม คือ มีการกระทำให้เกิดผล ๕. มีสิ่งแวดล้อม สังคม ครอบครัว นิสัยส่วนตัว เป็นตัวส่งเสริม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักการมากมายขนาดไหน หากคนจะทำชั่ว ทำดี ก็ยากจะมีหลัก มีเกณฑ์ มีกฎใดห้ามได้ เพราะต้องพ่ายแพ้แก่กรรมที่เคยชินมา นั่นคือ คำที่เรากล่าวเสมอว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

อนึ่ง มีข้อสงสัยของผู้คนมากมายที่ถามว่า ทำไมคนทำชั่วไม่ได้ผลตามทฤษฎีนี้ หรือคนทำดี แต่ไม่ได้ผลตามที่ทำ ข้อนี้ ขอตอบว่า เรื่องกรรม เป็นเรื่องเฉพาะตน กรรมและผลของแต่ละคน บุคคลนั้นคือ ผู้ที่รู้เจตนาตนเองดีกว่าคนอื่น แต่เนื่องจากจิตใจ ความต้องการมนุษย์ที่อยากได้ผลตามเจตนาของตนจึงมักไม่ค่อยวางใจกรรมสักเท่าไหร่ ข้อนี้ให้ถือคติสากลว่า

๑. ทำดีถูกกาลหรือไม่ ๒. ทำดีถูกคนหรือไม่ ๓. ทำดีถูกหลักหรือไม่ ๔. ทำดีสมบูรณ์พร้อมบริบูรณ์หรือยัง นะครับ

-------------------๑๑/๑๐/๕๘-------------------

คำสำคัญ (Tags): #กรรม?
หมายเลขบันทึก: 596078เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2015 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่สุดแล้ว....."สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" คือสัจธรรมจ้ะ



Thank you.

This will take a good while to read and to understand. But I have been looking at Pali in Thai languages for some time, so this will help.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท