๑. ณ วันนั้น...วันที่เริ่มต้น


การเป็น ผอ.ระดับ ๙ ไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของผม..และการที่ผมรักโรงเรียนขนาดเล็ก ..ผมจะบริหารจัดการ ให้ไปสู่การยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นๆทำไม ตลอดจน..การได้อยู่โรงเรียนขนาดเล็กก็จะได้ช่วยกันจัดการเรียนการสอน และเป็นครูที่ดีได้..มิใช่หรือ

จากโรงเรียนขนาดกลาง เดินทางสู่โรงเรียนขนาดเล็ก จากโรงเรียนที่มีเด็ก ๑๓๐ คน มาสู่โรงเรียนที่มีเด็กไม่ถึง ๕๐ คน..ณ วันนั้น พี่ น้อง และเพื่อนๆ ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อคิด ไม่ให้ด่วนตัดสินใจ ให้คิดใหม่ทำใหม่..คิดได้อย่างไร ที่จะย้ายไปอยู่โรงเรียนเล็กๆ แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า ผมกลับเดินถอยหลัง..แทบจะมองไม่เห็นอนาคตอันสดใส..

ยิ่งมีเค้าลางบางๆ บอกว่า โครงสร้างการศึกษากำลังจะปรับเปลี่ยน และโรงเรียนขนาดเล็กอาจจะถูกยุบ ควบ รวม ก็ไม่ทำให้ผมหวั่นไหว ในเวลานั้น.โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ โอกาสก้าวไกล ไปสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ (ซี ๙) มีโอกาสอย่างมากมาย ข้อมูลทั้งหลาย ก็หยุดยั้งการเขียนย้ายของผมไม่ได้ ผมแทบไม่รู้สึกอะไร..กับโอกาสและอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า

การเป็น ผอ.ระดับ ๙ ไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของผม..และการที่ผมรักโรงเรียนขนาดเล็ก ..ผมจะบริหารจัดการ ให้ไปสู่การยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นๆทำไม ตลอดจน..การได้อยู่โรงเรียนขนาดเล็กก็จะได้ช่วยกันจัดการเรียนการสอน และเป็นครูที่ดีได้..มิใช่หรือ

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ผมเดินทางถึงโรงเรียนบ้านหนองผือ..มีผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาและผู้นำท้องถิ่นมาส่งผมอย่างอบอุ่น

ป้าเล็ก (คุณจิ้มลิ้ม อ่อนน้อย) กรรมการสถานศึกษาและประธานสภาฯอบต. ที่ผมนับถือและให้การช่วยเหลือผมมาตลอด มีสีหน้าไม่สู้ดี ที่เห็นโรงเรียนที่ผมจะต้องบริหารงานต่อไปอีกหลายปี มีสภาพทรุดโทรมเงียบเหงา..วังเวงนัก....

“ผอ.คิดอย่างไร..ถึงย้ายมาอยู่แบบนี้..” ป้าเล็กถาม

“..ป้าครับ..ผมก็อายุมากขึ้น ขับรถไปกลับวันละหกสิบกิโล ก็ชักจะไม่ไหวแล้วครับ มาอยู่ที่นี่ไปกลับเพียงสิบกิโล ก็พอสมควรแก่เวลาและช่วงวัยที่ผมยังพอมีแรงทำงาน..” ผมบอกป้าเล็กไปแบบนั้นแต่ไม่ทั้งหมด ความจริงที่ไม่ได้ฝังลึกแต่อย่างใด แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ในเวลานั้น

คือว่าผมเริ่มไม่มั่นใจที่จะบริหารโรงเรียนใหญ่ได้ เริ่มตั้งแต่การไปโรงเรียนแต่เช้า..ต้องทำให้เป็นตัวอย่างแก่เพื่อนครู เมื่อบ้านอยู่ไกล อาจจะไปเช้าไม่ได้ทุกวัน และผมเรียนจบมาทางด้านวิชาการ ไม่ได้จบทางการบริหาร รักการสอนมากกว่าบริหารจัดการ สถานการณ์ในเวลานั้น..โรงเรียนต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ต้อนรับโครงสร้างใหม่ ผมไม่อยากให้โรงเรียนตกยุค ถึงเวลาต้องให้โอกาสคนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกว่าผม..นั่นคือ..ผมสมควรย้าย..ไปอยู่ในที่ที่คู่ควรกับผม

ท่านผู้ใหญ่ประสิทธิ์ เวทยานนท์ ประธานกรรมการโรงเรียน ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการมาส่งผม (ปัจจุบันท่านเป็นกำนันดีเด่นของอำเภอ..)ท่านเดินสำรวจโรงเรียนบ้านหนองผือ ก่อนที่จะเดินมาบอกภรรยา (คุณเงินยวง คิ้ววงษ์งาม) และลูกๆ ด้วยความเห็นอกเห็นใจผม..

“ผอ.ชยันต์ จะอยู่ได้หรือ..เคยอยู่โรงเรียนที่มีพร้อมทุกอย่าง ผอ.อยากย้ายกลับก็บอกผมนะ ยินดีต้อนรับ ผอ.เสมอ ครับ..” ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ท่านพูดอย่างจริงจัง และมีความจริงใจ ตรงไปตรงมา จนเป็นที่เคารพนับถือของลูกบ้านและข้าราชการทุกระดับ..

๕ ปี..กับโรงเรียนที่ผมจากมา..ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ ประธานกรรมการฯ ผู้ใจบุญและมีฐานะดีที่สุดของตำบล มีโรงสี มีที่นาและไร่อ้อย กว่าสองร้อยไร่ มีคนงานในบ้านเกือบร้อยคน ท่านเป็นผู้นำพัฒนาหมู่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ สำหรับโรงเรียนแล้ว ท่านบอกชัดเจนเลยว่า อยากให้ท่านช่วยอะไร ให้บอกทันที..ขอเพียง..ให้ครูสอนลูกหลานของชาวบ้านอย่างตั้งใจ อย่าเสียเวลาไปจัดงานโรงเรียนหรืองานผ้าป่าใดๆ ทั้งสิ้น..ท่านจะช่วยเอง..

ผมจึงอยู่ได้อย่างอบอุ่นและสบายใจ ก่อนย้าย..ขอดินจากผู้ใหญ่เกือบ ๔๐ คันรถบรรทุก เพื่อถมดินสร้างอาคารอนุบาล..จนแล้วเสร็จ. ยังไง..ผมก็ต้องย้าย..อย่างน้อยผมก็ไม่ใช่คนยึดติดผลงาน และได้ทิ้งร่องรอยแห่งการทำงานไว้พอสมควร และไม่เคยลืมบุญคุณของทุกคน..ที่ได้ร่วมงานกันมา

ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษาฯที่เดินทางมาส่งผม กลับกันไปหมดแล้ว..ผมมองไม่เห็นชาวบ้าน ผู้ปกครองและกรรมการโรงเรียนหนองผือ..ไม่มีใครมาต้อนรับผมแม้แต่คนเดียว..แต่ผมก็ไม่รู้สึกอะไรเลย นอกจากอยากทำงานที่ท้าทายในสิ่งที่ผมเลือกเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ราวหนึ่งเดือนเศษ ผมได้มาสังเกตการณ์ที่บ้านหนองผือแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อย แม้วันนั้น..ผมจะยังเดินไม่ทั่ว แต่ก็มั่นใจ...

“ผมเลือกจะทำงานในสถานที่และในสิ่งที่ผมรัก..ยังไงก็รุ่ง..” เหมือนปลอบใจตัวเองยังไงไม่รู้

วันนั้น..วันที่เริ่มต้นในโรงเรียนที่เล็กที่สุดของอำเภอ..ผมเดินสำรวจอย่างจริงจังและตั้งใจตั้งแต่ปากทางเข้าโรงเรียน ที่ฝั่งตรงข้ามเป็นผืนดินสีเขียวกว้างใหญ่ มีมันสำปะหลังที่ปลูกเป็นทิวแถวสะบัดใบมองแล้วสบายตายิ่งนัก ถนนคอนกรีตเก่าๆ ที่มองเห็นลูกรังเป็นช่วงๆ บ่งบอกหมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนา ผมเลียบเลาะไปตามแนวลวดหนามริมสระน้ำโรงเรียน นกกระยางขาวกระพือปีกเริงร่าออกจากพุ่มผักตบชวา เป็นบรรยากาศอีกแบบ..ที่ผมอยากสัมผัสมานานแล้ว

ผมก้าวเดินต่อไป..ถึงด้านหลังโรงเรียน ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เต็มไปหมด เดินเข้าไปใกล้กอไผ่เห็นย่านางและต้นโสม มีต้นไข่เต่าที่หาดูยาก อยู่ใต้เถาวัลย์ของต้นเหียงและต้นแจงที่มีใบปกคลุมจนดูร่มครึ้ม

ทั้งสระน้ำและต้นไม้..สองสิ่งนี้เอง..ที่ดึงดูดใจให้ผมอยากมา อยากศึกษาและปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่..วันนั้น..จึงนับเป็นวันเริ่มต้น..ก้าวย่างที่อบอุ่นใจ..

โรงเรียนจะเล็กจะใหญ่..ไม่สำคัญ..ขอเพียงได้ทำงานอันเป็นที่รัก..ตอบแทนคุณแผ่นดิน..ก็พอ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 596075เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ตอนนี้โรงเรียนพัฒนาไปมากเลยครับ

มีโอกาสจะไปเยี่ยมครับ

มาเอา(ใจ)ช่วย..อิอิ..

ตื่นรู้เบิกบาน..เสมอๆนะ

ทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง สร้างกำลังใจทั้งสิ้น การเขียนลักษณะเช่นนี ก็บ่งบอกถึงความพยายาม ความอดทน

ความมุ่งมั่นต่อการจัดการศึกษา ตามอุดมการณ์ สอดคล้องกับความสามารถที่ทำได้ และสำเร็จด้วย สนใจชยันโตโมเดล

ในรายละเอียดครับ ทำต่อไปพร้อมๆกับคำพูดของหมอด้วยครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท