"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" นโยบายรัฐ


"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"

ศึกษาธิการ - พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน 2558 ที่ห้องประชุม MOC โดยมีพันเอก ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการแถลงข่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge)" มาตั้งแต่สมัยพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งมีการหารือและดำเนินการตามแผนมาเป็นระยะ พบว่ามี 4 เรื่องหลักที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ ดังนี้


1. หลักสูตร

ยืนยันกับผู้ปกครอง นักเรียน และครู ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตร แต่จะใช้วิธีปรับปรุงใน 2 ส่วน คือ

- เนื้อหาภายในแต่ละวิชาที่มีความซ้ำซ้อนจะต้องตัดออกไป โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัด ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ในฐานะผู้จัดการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ หรือ NT (National Test) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) แล้ว

- การปรับโครงสร้างเวลาเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระดับประถมศึกษา เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียนจริง 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี หรือ 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เดิมกำหนดเวลาเรียนไว้ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี แต่ในความเป็นจริงใช้เวลาเรียน 1,400 ชั่วโมงต่อปี จึงจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนในห้องเรียนใหม่ ไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียนในชั่วโมงที่เหลือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


2. กระบวนการจัดการเรียนรู้

ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ส่วน คือ

- จำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยในขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่มีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการหลากหลายระดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2558 พบว่า มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,948 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 2,602 โรงเรียนจาก 137 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนสังกัด สพม. 346 โรงเรียนจาก 32 เขตพื้นที่การศึกษา) คือ โรงเรียนอนุบาลจังหวัด โรงเรียนอนุบาลอำเภอ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ

- ครู ขณะนี้ สพฐ.ได้เตรียมการที่จะเตรียมความพร้อมให้กับครูใน 2 ส่วน คือ 1) การอบรม (Workshop) โรงเรียนนำร่องจัดการเรียนรู้สู่ “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ภาคเรียนที่ 2/2558 ใน 6 พื้นที่ เป็นเวลา 2 วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับครู 2) จัด Smart Trainer จำนวน 300 ทีม เพื่อเป็นทีมพิเศษลงไปดูแลให้ความช่วยเหลือครูในแต่ละโรงเรียนในสัดส่วน 1 ทีมต่อ 10 โรงเรียน ซึ่งทีมนี้เปรียบเสมือนศึกษานิเทศก์ที่จะคอยให้ความดูแล ติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

- รูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม (Bloom et al, 1956) และคณะ ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ซึ่งได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือสมองที่จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักคิดตามหลักการการพัฒนาสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย 2) ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) หรือหัวใจ ที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ความมีวินัย ความเป็นชาติไทย รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รู้จักสิทธิและหน้าที่ ฝึกให้มีทัศนคติที่ถูกที่ควร 3) ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หรือมือ ก็คือการฝึกให้มีทักษะจากการปฏิบัติ


Head - Heart - Hand

สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการจะผลิตกำลังสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่อาจจะไปเรียนต่อสายอาชีวะ มีกระบวนการได้เรียนรู้ตัวเอง นอกจากนี้ทฤษฎีดังกล่าวยังสอดคล้องกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับองค์ 4 แห่งการจัดการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา

โดยมีรูปแบบ/วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียน แบ่งเป็น 3 หมวด คือ

- สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมพัฒนาด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ กิจกรรมสนุกกับภาษาไทย หุ่นยนต์วิเศษ กลคณิตศาสตร์ เที่ยวไกลไร้พรมแดน นิทานหรรษา เป็นต้น


- สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย อาทิ กิจกรรมมือปราบขยะ ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด เป็นต้น

- สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งมีกลุ่มกิจกรรมตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย อาทิ กิจกรรมร้องได้ ร้องดี ชีวีมีสุข ร้อยลูกปัด คู่ Buddy พี่รหัส วันกีฬาครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจะจัดประชุมสัมมนาผู้แทนหน่วยงานและองค์กร ที่จะร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียนและสถานศึกษา ในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย กลุ่มศิลปินดารา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริษัทเอกชนที่จัดทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานและครูแล้ว จะทำให้มีกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกกิจกรรมจะตอบโจทย์ Head (สมอง) Heart (หัวใจ) และ Hand (มือ) ตามแต่ละช่วงวัยของผู้เรียนทั้งสิ้น

3) การวัดและประเมินผล

แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินทางวิชาการต่างๆ ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ส่วนการประเมินความสำเร็จของโครงการ จะมีการประเมินระหว่างเทอม 2 ครั้ง และประเมินหลังปิดเทอม 1 ครั้ง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า ในเรื่องของการประเมินผลเป็นเรื่องใหญ่ที่ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าส่วนใดสำเร็จ และมีส่วนใดที่ยังล้มเหลว จึงได้มอบให้ สพฐ. รวบรวมหัวข้อในการประเมินทั้งหมดมานำเสนอ ทั้งในส่วนการประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการศึกษาด้วย เช่น เด็กไทยเรียนมากและมีการบ้านจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่และเด็กมีความเครียด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยไม่ดีขึ้น เด็กไทยขาดทักษะชีวิต ขาดระเบียบวินัย เป็นต้น

ทั้งนี้ หากจำเป็นที่จะต้องนำบุคคลที่สามหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ประเมิน ก็ต้องทำ เพื่อให้ได้คำตอบของการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่จะต้องพิจารณาถึงรายละเอียดของวิธีการประเมินก่อนว่า เป็นการสร้างภาระให้กับครูหรือไม่อย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงก็คงจะต้องมีภาระอยู่บ้าง แต่ไม่ควรจะมากเกินไป

ในส่วนการประเมินของครู ให้ความสำคัญและมีความเห็นใจมาก เพราะครูจะต้องได้รับการประเมินต่างๆ ที่ล้วนเป็นภาระกับครูทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีครูบางคนที่เป็นครูที่เก่ง ครูดีในพื้นที่ห่างไกล และเป็นที่รักของลูกศิษย์ แต่อาจจะสอบไม่เป็น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องพัฒนาวิธีการประเมินครูในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสอบที่ไม่ควรสร้างภาระให้กับครูมากจนเกินไป โดยเตรียมที่จะพัฒนาการประเมินครูทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่ "ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน" เป็นส่วนสำคัญของการประเมินด้วย

4) การทบทวนหลังการปฏิบัติ (AAR)

โดยจะดำเนินการทันทีหลังปิดเทอม เพื่อประมวลและรวบรวมปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ จากการดำเนินโครงการ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา เพื่อนำระบบ AAR (After Action Review) มาทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ในการวางแผนดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2559 ตลอดจนมีการศึกษารูปแบบการจัดการของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อขยายไปยังโรงเรียนที่เหลือต่อไปด้วย

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

22/9/2558

หมายเลขบันทึก: 596059เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2015 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2015 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thank you for details of this MOE initiative (and 'projects'). It does not however explain how 'students can learn more' with 'less interaction time'. The (slogan) 'Moderate class more knowledge' does not really tell what MOE is doing - just another dream in a few words?

ลดเวลาเรียน ก็อาจทำให้นักเรียนลดพฤติกรรมด้านลบได้ค่ะ

เพราะเวลาเรียนเยอะ งานก็เยอะเกิดความเครียด ทั้งคิดทั้งทำ ทำให้เด็กต่อต้านแสดงพฤติกรรมทางลบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท