แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา​ ตอนที่ 2


แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา ตอนที่ 2

4. แนวคิดสถานที่เป็นฐาน (Place-Based Approach) เป็นการจัดกิจกรรมภัยพิบัติศึกษาที่ให้นักเรียนได้ลงไปสัมผัสพื้นที่เกิดภัยพิบัติจริง ได้เห็นร่องรอยสภาพความเสียหาย ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติจะช่วยทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใน มีความสุข และเกิดความสนุกสนาน นอกจากนี้ Bednarz, S.W. (2004) กล่าวว่า การเรียนรู้ตามแนวคิดนี้ช่วยทำให้ครู และนักเรียนได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น ผู้เขียนนำนักเรียนไปศึกษาภาคสนามที่หมู่บ้านคลองปลากราย หมู่บ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมน้ำท่วมซ้ำซากของอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พบว่า ภายหลังที่นักเรียนได้สัมภาษณ์พูดคุยชาวบ้าน นักเรียนมีความภาคภูมิใจที่ชาวบ้านคงสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการปรับตัวอยู่กับน้ำ เห็นคุณค่าในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้ปรับตัวอยู่กับน้ำ และรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่ชาวบ้านสามารถอดทนอยู่กับน้ำท่วม หรือหากต้องการให้นักเรียนตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนควรนำนักเรียนไปศึกษาหมู่บ้านเขาสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนแผ่นดินหายไป เป็นต้น

5. แนวคิดพี่สอนน้อง (Child-to-Child Approach) แนวคิดนี้เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่เกี่ยวกับสุขศึกษา (Health Education) ให้กับนักเรียนระดับปฐมวัย และประถมศึกษา ซึ่งใช้แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา (Ben Wisner, 2006) โดยโรงเรียนจะร่วมมือกับบ้านในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ถ่ายโอนความรู้จากโรงเรียนสู่บ้านผ่านนักเรียน มีครูเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ฝึกอบรมนักเรียน ที่เป็นพี่ จากนั้นให้สื่อการเรียนรู้เอาไปสอนน้องของตนเอง ทั้งนี้เพราะเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ และเล่นกับพี่มีพี่คอยดูแล ตัวอย่างเนื้อหาสาระที่เหมาะสำหรับให้พี่สอนน้อง เช่น การดูแลรักษาสุขภาพภายหลังเกิดภัยพิบัติ การป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม หรือการทำให้น้ำให้สะอาดก่อนบริโภค เป็นต้น ความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษานอกจากจะถูกถ่ายทอดจากพี่สู่น้องแล้ว ยังถ่ายทอดไปสู่ครอบครัว และชุมชนของนักเรียนอีกด้วย

6. การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้วิจัยเป็นฐาน (Research-Based Learning) และการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) การเรียนรู้ทั้ง 3 แนวคิดนี้มีลักษณะของกระบวนการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งส่งเสริมกระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการทางสังคม และกระบวนการสร้างความรู้ของนักเรียน เช่น ให้นักเรียนทำโครงงาน หรือวิจัยอย่างง่าย ออกไปสืบค้นและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน โดยให้เลือกหัวข้อ ประเด็น หรือโจทย์การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่สนใจ ตัวอย่างโครงงาน การวิจัย เช่น การศึกษาสภาพน้ำท่วม ฉับพลันของชุมชน การรับมือน้ำท่วมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่อย่างไรกับภัยพิบัติน้ำท่วม สึนามิกับผลกระทบ ลางบอกเหตุแผ่นดินไหว เป็นต้น

7. การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบสอบเป็นฐาน (Inquiry-Based Learning) ในสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมักจะมีบทเรียน หรือความรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ดังนั้นครูผู้สอนควรให้นักเรียนได้ค้นหาบทเรียน หรือความรู้ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ โดยกระตุ้นให้นักเรียนคิดโจทย์คำถามที่สนใจอยากเรียนรู้ ลงมือแสวงหาความรู้ สรุปข้อมูล และอภิปราย เช่น ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ ในชุมชนในการทำนาย หรือเป็นลางบอกเหตุเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม เป็นต้น หรือให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนในการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติธรรมชาติชนิด ต่าง ๆ ที่สำคัญ จากเว็บไซต์ หรือหนังสือต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้แล้วนำมาสรุป อภิปราย จัดทำเป็นแผ่นพับ หรือคู่มืออย่างง่ายเผยแพร่ให้กับสมาชิก ในโรงเรียน หรือผู้ปกครอง คนในชุมชนของตน เป็นต้น

มีต่อตอนที่ 3 นะครับ

หมายเลขบันทึก: 595962เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท