การจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา : หน้าที่ของใครในอุดม(คติ)ศึกษา?


การจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา : หน้าที่ของใครในอุดม(คติ)ศึกษา?

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุมขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา โดยการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2558 ที่ โรงแรมจันทรา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อ?

สกอ. เขียนไว้ในเอกสารประกอบการประชุมว่า เพื่อ...

1. เพื่อให้การขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปในทิศทางเดียวกันและรู้เท่าทันพัฒนาการของปัญหายาเสพติด

2. เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที

3. เพื่อดำเนินการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน นักศึกษาและชุมชนรอบสถานศึกษา

มีเป้าหมายคือ สถาบันอุดมฯ 155 แห่งและหน่วยงานภาคีเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยหวังว่าจะ...

1. การขับเคลื่อนงาน...

2. มีแนวทาง...

3. มีการดำเนินการจัดระเบียบสังคม....

ตามวัตถุประสงค์เดียะเลยครับ

ในวันแรก มีการเสวนาเรื่อง แนวทางมาตรการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษาตามคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 โดย ผู้แทนกรมควบคุมโรค, กรมสรรพสามิต, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กรมกิจการเด็กและเยาวชน

ถอดบทเรียน สั้นๆ ได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายได้เท่าที่ตีความและกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เพราะ คำสั่ง คสช. 22/58 ยังระบุไม่ชัด บังคับใช้ได้ยังไม่สมบูรณ์ อีกทั้งเรื่อง "ระยะใกล้เคียงสถานศึกษา" ยังไม่สามารถระบุชัดได้ว่า กี่เมตร 300 /500/1,000 เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะดำเนินการเข้มงวดเพียงใด สิ่งที่ทำได้คือการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่เช่น การอนุญาตให้เปิดร้านค้า/จำหน่ายตามเวลาที่กำหนด การจำหน่ายให้ผู้ซื้อตามอายุที่กำหนด เป็นต้น ส่วน กรมสรรพสามิต ที่ดูแลรับผิดชอบก็สรุปได้ว่า การอนุญาต/ไม่อนุญาตในการจดทะเบียนผู้ค้าสุรานั้นก็ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ อีกทั้งในแต่ละพื้นที่ ณ ขณะนี้ก็ยังปฏิบัติเช่นเดิมอยู่ มีบางพื้นที่ที่ได้ดำเนินการตามมาตรการของแต่ละจังหวัดที่ได้ออกมาตรการมาบังคับใช้ในพื้นที่ หรือจังหวัดได้กำหนดพื้นที่ (Zoning) ระยะห่างจากสถานศึกษาเรียบร้อยแล้ว

ถัดมาเป็นการบรรยายเรื่อง การเฝ้าระวังตัวยาและสารเสพติดชนิดใหม่ New Psychoactive Substance (NPS) และการแพร่ระบาดของยาเสพติดบนโลกออนไลน์

เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะทำให้รู้ถึงสถานการณ์และรูปแบบของการเกิดขึ้นของสารเสพติดชนิดใหม่ หรือการนำสารที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาเสพ เช่น ยาแก้ไอ หรืออื่นๆ การนำสารตั้งต้นหรือยาที่ทำให้สามารถมึนเมาได้ มาผสมกันเพื่อเสพ แทนสารเสพติดชนิดต่างๆ และเรื่องที่น่าติดตามอีกเรื่องคือ การซื้อ/ขายยาเสพติดหรือสารเสพติดผ่านสื่อออนไลน์/โซเชียลมีเดีย อย่าง facebook ก็มีอยู่ทั่วๆไป ซึ่งภาครัฐ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้เข้าไปจัดการเลยหรือมีก็น้อยมาก ทำให้การซื้อ/ขายเป็นไปอย่างง่ายดาย (เรื่องนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยและมีข้อมูล)


การเสวนาเรื่อง การขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา โดย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) จาก ม.วลัยลักษณ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ ม.ธุรกิจบัณฑิต

เรื่องนี้มีสาระมาก เพราะการ ลปรร. จากผลการปฏิบัติที่ดี Best Practice จากทั้ง 4 สถาบัน มีรูปแบบที่ต่างกัน บริบทที่คล้ายและต่างกัน กลไกที่ต่าง แต่เป้าหมายคล้ายคลึงกัน ปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน ที่สำคัญ ปัจจัยเชิงพื้นที่ที่ต่างก็มีผลต่อการจัดการ

ม.วลัยลักษณ์ (ผมจำรายละเอียดไม่ได้)

ม.เทคโนฯธัญบุรี ใช้การกำหนดระยะห่างจากสถานศึกษา เป็นมาตรการในการกำกับ การทำงานร่วมกับภาคี

ม.หัวเฉียวฯ ใช้มาตรการเป็นข้อบังคับตัดคะแนนความประพฤตินักศึกษา หากพบนักศึกษาเข้าร้าน/ดื่มสุราในเขต(ระยะห่างจากมหาวิทยาลัย)ที่กำหนด และเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

ม.ธุรกิจบัณฑิต ใช้กลยุทธในการเจรจาร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น การเปิด/ปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด การจำหน่ายแก่บุคคลที่กฎหมายกำหนด ฯ กลยุทธการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการฉันญาติมิตร และทำความเข้าใจกับนักศึกษา ฯ

ในวันถัดมา เป็นการระดมความเห็นของสถาบันต่างๆ แบ่งเป็น 9 กลุ่ม เหนือตอนบน เหนือตอนล่าง กลางตอนบน กลางตอนล่าง กรุงเทพฯ อีสานตอนบน อีสานตอนล่าง ใต้ และตะวันออก/ตะวันตก แต่ละกลุ่มมีหน้าที่ระดมความเห็นอยู่ 4 หัวข้อ คือ

1. กิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันของสถาบัน (เครือข่าย)

2. กิจกรรมที่แต่ละสถาบันดำเนินการ (อยู่แล้ว/แผน)

3. แผนปฏิบัติการ /Action Plan (ของเครือข่าย)

4. ข้อเสนอต่อ สกอ.

โดยมีเป้าหมาย / GOAL คือ

1) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในสถานศึกษา

2) เสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษา

3) ลดโอกาสนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

โดยมีพื้นฐานว่า

ก. สอดคล้องกับเขตพื้นที่

ข. สอดคล้องกับมาตรการตามร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ที่แจกให้ที่ประชุม)

ค. นำสู่ความยั่งยืน


แต่ละกลุ่ม นำเสนอ ประเด็น ตามสภาพพื้นที่ แต่ก็มีเนื้อหาและวิธีการ process ใกล้เคียงกันคือ การจัดกิจกรรมรณรงค์ การออกตรวจ/สุ่มตรวจนักศึกษากลุ่มเสี่ยง การดำเนินการตามแผนปฏิบัติต่างๆตามบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย การทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัด /ปปส. /ตำรวจ/ทหาร ฯ ในพื้นที่ การทำความร่วมมือร่วมกับหอพักเครือข่าย การหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการร้านค่าที่จำหน่ายสุรา เป็นต้น

สิ่งที่ได้จากการ ลปรร. ทั้งวงในและวงนอก คือ แม้จะมีคำสั่ง คสช. 22/58 แล้ว แต่ยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในบางพื้นที่ เช่น ชลบุรี พิษณุโลก จังหวัด โดยผู้ว่าฯ ได้ออกมาตรการ/กำหนดพื้นที่ Zoning ร่วมกับสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับใช้ ตามคำสั่ง คสช. 22/58 แต่โดยมากไม่มีการถือปฏิบัติ มีเฉพาะการออกตรวจที่เข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายอื่นที่มีอยู่เดิม หลายพื้นที่จึงทำงานหรือขับเคลื่อนได้ไม่มาก

หลายพื้นที่ขับเคลื่อนได้ น่าจะมีปัจจัยหลักที่สำคัญ อยู่หลายข้อ พอสรุปได้ (บ้าง) คือ

ก. จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการร้านค้า หารือร่วมกันและกำหนดเขตพื้นที่/ระยะเขตว่าจะกี่เมตร 300/500/1000 ร่วมกัน

ข. จังหวัด กำหนดมาตรการร่วมกันกับผู้ประกอบการร้านค้าตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ เวลาเปิด/ปิด การตรวจบัตร ปชช. ของผู้เข้าใช้บริการหรือซื้อ

ค. ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เป็นผู้ขับเคลื่อนร่วมกับอาจารย์ ไเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวางมาตรการทั้งฝ่ายรุกและรับ อาจใช้วิธีการที่ สกอ. วางตุ๊กตาให้คือ

1) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีภายในสถานศึกษา

2) เสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษา

3) ลดโอกาสนักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องเป็นฝ่ายขับเคลื่อน มิใช่ปล่อยให้บุคลากรเป็นผู้ขับเคลื่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังต้องทำความเข้าใจและรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักในปัญหานี้ ตลอดจนต้องทำความเข้าใจร่วมกับนักศึกษาทั้งมวลว่ามาตรการต่างๆที่เกดขึ้นมีเหตุและผลอย่างไร ให้เขาได้มีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ปัญหานี้คลี่คลาย เช่น ให้ความร่วมมือในการพกบัตร ปชช. ให้ความร่วมมือในการให้ตรวจบัตร ปชช. การเข้าไปใช้บริการในเวลาที่กฎหมายกำหนด ฯ

ทิ้งท้ายไว้สั้นๆครับ (ที่จริงกะจะบันทึกให้ยาวกว่านี้ ใส่รายละเอียดให้มาก ก็ด้วยลืมประเด็นไปบ้าง และเกรงบันทึกจะยาวมากไป) รองอธิการบดี ม.ศิลปากร กล่าวในที่ประชุมว่า "หากเด็กนักศึกษาต้องการใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัย แม้จะดึกดื่นและดูไม่คุ้มค่า เช่น อยากเตะฟุตบอลในเวลาวิกาล ก็ยินดีให้ใช้ เพราะคนหนึ่งคนใช้เวลาอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็ยังดีกว่าให้คนหนึ่งคนไปใช้ชีวิตที่ร้านเหล้า เพราะดูมีคุณกว่ากัน"

ปล. เรื่องราวการประชุม/หารือกันครั้งนี้ จึงเน้นหนักไปเรื่อง "เหล้า" ที่ "เล่า" กันจนต้องหามาตรการ "จัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา" ร่วมกัน

บันทึกย้อนหลังที่มอดินแดง

4 ตุลาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 595749เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท