CADL _ โครงการสืบสานฯ ปี ๒๕๕๘ _ "สร้างคนดี เหนือสิ่งใด" โรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี (๒) รุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้อง


อ่านบันทึกที่ ๑ ที่นี่

รุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้อง

บรรยายกาศที่เห็นแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ในขณะที่เรารับประทานที่โรงอาหารกลางของโรงเรียน คือ เสียงพูดคุยสนทนาของเด็กๆ ดังสนั่นห้องโถง "อาจารย์ ดร.อาจอง" บอกว่า "...เวลากินข้าวร่วมกันจะเสียงดังแบบนี้เป็นธรรมชาติ..." ที่นี่ไม่มีครูคอยออกคำสั่ง ใช้ระบบ "รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง" และใช้หลักของการ "เป็นแบบอย่างที่ดี" ของรุ่นพี่ โดยมีสภานักเรียนที่เรียกกันว่า "พี่ Prefect" ซึ่งแปลว่า เจ้าหน้าที่ ในที่นี้น่าจะหมายถึง "หัวหน้านักเรียน" (ผมได้คำแปลจากที่นี่) เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม รุ่นพี่จะยืนขึ้น น้องๆ ทุกคนยืนตาม เวลานี้ความเงียบและความพร้อมเพียงก็เข้ามา พร้อมๆ กับการทำความเคารพท่านประธาน ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มทานอาหารพร้อมๆ กัน เด็กๆ จะทำแบบนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหลังรับประทานอาหารเสร็จ


ผมชอบวิธีจัดโต๊ะในโรงอาหาร ที่จัดโต๊ะให้ "อาจารย์" (นักเรียนที่นี่จะเรียก ดร.อาจอง ว่าอาจารย์) และผู้อำนวยการลัดดา (เด็กๆ ที่นี่ยังคงเรียกท่านว่า "ครูกุ้ง") นั่งโต๊ะบนเวที หันหน้ามาหาเด็กๆ ดังรูป ด้านล่าง



นักเรียนที่นี่ตื่นตั้งแต่เช้าตี ๔ หรือ ๕ อาบน้ำทำกิจส่วนตัวแล้วมารวมกันที่ห้องประชุมโถงใหญ่ขนาดประมาณ ๗๐๐ คน น่าจะได้ กิจวัตรคือร้องเพลงและสวดมนต์ โดยมีดนตรีประกอบ ซึ่ง ดร.อาจอง ท่านเล่นเปียโนด้วยตนเอง และมีคุณครูลอเรนซ์เล่นแอคคอร์เดียนประกอบกัน โดยจะเริ่มกิจรรมตามลำดับคือ สวดสักการะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อิมินาสักกาเรนะฯ->อรหังสัมมาฯ -> บทสวดเสริฐสรรทำนองทิเบต -> ร้องเพลงพร้อมกัน -> อ.ดร.อาจอง เล่านิทานคุณธรรม -> สะท้อนบทเรียนจากนิทาน ผู้สนใจกิจวัตรทั้งวัน และแนวทางการเรียนรู้ สืบค้นหาดูได้ไม่ยากเลยครับทาง Youtube เช่น


เป็นต้น

สังเกตว่าแม้แต่ตอนนั่งในอาคาร รุ่นพี่พรีเฟค จะแทรกอยู่ระหว่างรุ่นน้องๆ นั่นหมายถึง คำว่ารุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปกครอง แต่พี่จะคอยเป็น "ตัวอย่างที่ดี" ให้รุ่นน้องในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกัน


เมื่อกิจกรรมตอนเช้าเสร็จสิ้น ทุกคนก็เดินไปกินข้าวเช้าที่โรงอาหาร โดยไม่มีการให้สัญญาณใดๆ เหมือนทุกคนจะรู้เวลาว่าตอนไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ ฯลฯ เป็นอย่างดี ...

หลังประทานอาหารเช้า เด็กๆ จะมีช่วงเวลาเพลินเล่นระยะหนึ่ง ก่อนจะได้ยินเสียงเพลงเป็นสัญญาณดังขึ้น นักเรียนจะไม่รีบรุกรนรุกรี้ทันที เหมือนตอนสมัยเด็กที่เราได้ยินเสียงระฆัง แต่ที่สัตยาไสใช้เพลง ๓ เพลงเป็นทั้งสัญญาณและการสื่อสารกับนักเรียนว่า เพลงแรกให้เตรียมตัวและเริ่มทะยอยเดินมาหน้าเสาธง จบเพลงที่สองทั้งพี่ทั้งน้องจะพร้อมกันที่หน้าเสาธง ระหว่างเพลงที่ ๓ นอกจากจะจัดระเบียบตนเองแล้ว ผมยังสังเกตเห็นการตรวจนับจำนวนน้องของรุ่นพี่พรีเฟค และยิ้มไหว้ทักทายกันระหว่างน้องพี่ .... ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า วิธีแบบนี้ที่ผมประทับใจเมื่อครั้งไปเยี่ยม ร.ร.นอกกะลา มาจากไหน ...


ครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูเพื่อศิษย์ที่เดินทางไปด้วยกัน ประทับใจในความง่าย สบาย ของเครื่องเด็กกายที่นักเรียนใส่ที่นี่มาก โดยเฉพาะร้องเท้าแตะหลากหลายแบบที่นักเรียนใส่ และเสื้อสีแสดกางเกงวอร์มสีดำ ... ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการปลูกฝังความเข้าใจใน "คุณค่าแท้" ของสิ่งของที่ใช้ได้ดีมาก...

กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปตามลำดับ ร้องเพลงชาติพร้อมกัน กล่าวคำปฏิญาณพร้อมกัน โดยไม่มีครูเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ โดยใช้ไมโครโฟนสนามเล็กๆ ที่ทุกคนได้ยินเสียงไม่ดังเกินไป เว้นแต่ตอนท้ายที่ประธานนักเรียนจะเชิญให้ผู้อำนวยการออกมาพบนักเรียนหน้าเสาธง

วันนี้ (๒๓ ก.ย. ๕๘) ผู้อำนวยการบอกกับนักเรียนว่า "...วันนี้ครูมีแขกพิเศษมาเยี่ยม..." เสียงฮือฮายินดี ทุกคนหันหน้ามองไปยัง พิมพ์ (สัจจาพร) นักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง อดีตประธานนักเรียน ศิษย์เก่าที่นี่ ซึ่งยืนอยู่ด้านหลัง ผมมั่นใจว่า ผอ. ไม่ได้บอกไว้ล่วงหน้า และประทับใจที่พิมพ์เดินออกมาหน้าเสาธงทันทีโดยไม่มีอาการประหม่าใดๆ เลย และพูดได้อย่างดีเยี่ยม แม้ไม่ได้เตรียมมาก่อน หัวข้อที่ ผอ. มอบให้ คือ "ประสบการณ์การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสัตยาไสไปปรับใช้ในชีวิตมหาวิทยาลัย" ...

พิมพ์บอกว่า สิ่งที่มีประโยชน์และได้นำไปใช้มากๆ คือ ความเป็นผู้นำที่ตนเองได้รับจากการเป็นพี่ "พรีเฟค" และเป็นประธานนักเรียน ประสบการณ์จากในระบบพี่ดูแลน้อง หล่อหลอมให้เธอสามารถเป็นผู้นำนิสิตในรุ่นที่เธอศึกษาอยู่ ปัจจุบันเธอศึกษาอยู่ชั้นปี ๒ ของคณะบัญชีและการจัดการ มมส. ... ความจริงทีมจากก มมส. มาศึกษาดูงานครั้งนี้ได้ก็เพราะพิมพ์ประสานติดต่อให้... และโดยเฉพาะ ท่านอาจารย์อาจอง ท่านยังเป็นผู้พาเราทัศนศึกษา และให้การดูแลอย่างอบอุ่นที่สุด ....ขอบคุณมากๆ ทั้งอาจารย์ทั้งลูกศิษย์ไว้ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งครับ...

ผมถามนักเรียนชั้น ม.๖ เกี่ยวกับระบบ "พี่ดูแลน้อง" น้องตอบทันทีว่า ".สำคัญที่การทำเป็นแบบอย่าง แบบอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน..." แล้วถ้าน้องไม่ทำล่ะ? เช่นถ้าน้องมาสายล่ะ? "ก็จะมีวิธีให้ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ เป็นมาตรการทำโทษแบบสร้างสรรค์ๆ..."


สรุปคือ "พี่ดูแลน้อง" ต้อง "เป็นแบบอย่าง" ....

บันทึกต่อไปจะว่าด้วย "ความรัก" กับ "การกอด" ครับ ...

หมายเลขบันทึก: 595676เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท