CADL _ โครงการสืบสานฯ ปี ๒๕๕๘ _ "สร้างคนดี เหนือสิ่งใด" โรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี (๑) ที่นี่รับประทานมังสวิรัติตลอดปี


วันที่ ๒๒ - ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘ CADL นำนิสิตกลุ่มแกนนำขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย จำนวน ๑๒ คน บุคลากร ๔ คน ครูเพื่อศิษย์ดีเด่น ๓ ท่าน เดินทางไปศึกษาดูงาน โรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ผู้สนใจสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์โรงเรียนครับ

วัตถุประสงค์หลักครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สำนักศึกษาทั่วไปพยายามทำติดต่อกันมาหลายปี ติดตามอ่านได้จากบันทึกนี้ จนมีหลักสูตรท้องถิ่นด้านสมุนไพรในโรงเรียน โรงเรียนเขวาใหญ่พิทยาสรรค์ และได้ลงไปทดลอง "พาทำ" "ทำให้ดู" ในโครงการสืบสานฯ ในปี ๒๕๕๗ ซึ่งได้เขียนบันทึกไว้ที่นี่ และไปสนับสนุนให้จัดนิทรรศการผลงานของโครงการ อ่านได้ที่นี่ และมอบหลักสูตรดังกล่าวให้ทางโรงเรียนได้นำไปทดลองใช้ด้วยตนเองต่อไปในปี ๒๕๕๘

แต่เมื่อติดตามดูในเบื้องต้น พบว่าทางโรงเรียนได้มอบหมายให้ครูเพียงท่านเดียวดูแล ไม่ได้นำหลักสูตรท้องถิ่นดังกล่าวไปใช้ทั้งโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้ครูและโรงเรียนมีภาระงานด้านการรับการประเมินประกันคุณภาพที่มากเกินไป หรืออาจเป็นเหตุผลใดๆ อื่น ทีมขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงไม่ได้ติดตามอย่างเป็นทางการต่อไป แต่เพื่อให้โครงการสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินตามเจตนารมณ์ของหน่วยงานต่อไป ทีมขับเคลื่อนฯ จึงได้จัดทำโครงการศึกษาดูงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงเรียนสัตยาไส โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน เพื่อเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ต่อไป

การศึกษาดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ไปทัศนศึกษาให้รู้จัก ร.ร.สัตยาไส ๒) พา "เด็กดีมีที่เรียน" ไปเรียนรู้วิธีการปลูกฝังคนดีด้วยการน้อมนำวิธีพอเพียง และ ๓) KM เด็กดีเพื่อหาวิธีขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย... ขณะรับประทานอาหารเย็นตอนขากลับ ผม AAR ว่าบรรลุตามข้อ ๑ และ ๒ อย่างดี แต่วิธีการขับเคลื่อนฯ ยังไม่ชัดเจนมากนัก ว่า จะทำแบบสัตยาไสในการขับเคลื่อนฯ ในมหาวิทยาลัยหรือไม่


เดินทางจาก มมส. ไป ร.ร.สัตยาไส

เราใช้รถมินิบัสของมหาวิทยาลัย เดินทางไกลจากมหาสารคาม -> อ.บ้านไผ่ -> อ.บัวใหญ่ ->เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านทำนบพัฒนา -> อ.พระทองคำ -> เลี้ยวขวาไปตาม ถ.สุรนารายณ์ -> อ.ชัยบาดาล -> ร.ร.สัตยาไส ห่างจาก อ.ชัยบาดาลเพียง ๗ กิโลเมตร หรือ เพียง ๑๐ นาทีรถยนต์ รวมเวลาเดินทางด้วยวิธีนี้ทั้งหมดรวมเวลาทานข้าวและพักระหว่างทางทั้งสิ้น ๗ ชั่วโมง .... ประสบการณ์ที่ดีมากคือ หมู่บ้านที่เราได้ความรู้ใหม่ว่า บ้านทำนบพัฒนา เป็นบ้านเกิดของสุรนารี ราชสีมา และตักแตน ชลดา (ผมก็นึกไม่ออก) และร้านอาหารส้มตำผัดหมี่ที่่อร่อยแต่ราคาถูกมาก ... ตรงนี้สำคัญมาก สำหรับผมแล้ว การอุดหนุนชาวบ้านผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิ คือความภูมิใจอย่างหนึ่งในการสานต่อแนวพระราชดำริ



รับประทานมังสวิรัติ

ทันทีที่ไปถึงโรงเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงคือ โรงเรียนสัตยาไส ครูและนักเรียนทุกคนรับประทานมังสวิรัติตลอดปี อาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา บอกกับคณะดูงานตอนหนึ่งว่า "...การรับประทานเนื้อสัตว์นั้นมีส่วนในการส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ ... การท่องหรือรับศีลข้อ ๑ ปาณาติปาตาฯ ไม่ฆ่าสัตว์ นั้นไม่มีประโยชน์ใด ถ้าหากยังส่งเสริมให้เกิดการฆ่า ก็ไม่มีประโยชน์ใด..." สะท้อนถึงแนวคิดข้อนี้อย่างเด่นชัด และได้มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน ท่านยกเหตุผลที่น่าสนใจมาก ซึ่งความจริงทุกครั้งที่ท่านไปบรรยาย เราจะได้ยินเรื่องนี้บ่อยๆ ... ขอนำมาเล่าไว้ที่นี่อีกครั้ง ดังนี้ครับ

สัตว์กินเนื้อและสัตว์กินพืชมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ๒ อย่างคือ สัตว์กินเนื้อจะลำใส้ยาวไม่เกิน ๓ เท่าของลำตัว ส่วนสัตว์กินพืช จะลำใส้ยาวกว่าลำตัว ๘-๙ เท่าทีเดียว เนื้อเมื่อตกลงในท้องจะเริ่มอืดและเน่าภายใน ๓ ชั่วโมง ในขณะที่คนเราใช้เวลาตั้งกินย่อยจนถึงปล่อยออกจากทวารนานประมาณ ๑ วันครึ่ง หรือ ๔๘ ชั่วโมง นี่คือคำตอบว่า ทำไมมนุุษย์อุจจาระเหม็นเหมือนหรือเหม็นกว่าสัตว์กินเนื้อทั่วไป ส่วนสัตว์กินพืชเช่น วัว แพะ แกะ ควาย มีมูลไม่เหม็น ... แสดงว่า มนุษย์เป็นสัตว์กินพืช ... อีกลักษณะที่แตกต่างระหว่าง ระหว่างสัตว์กินพืชกับกินเนื้อคือ มีเขี้ยวกับไม่มีเขี้ยว คนไม่มีเขี้ยว ในทำนองเดียวกัน ท่านบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์กินพืช ไม่ใช่สัตว์กินเนื้อ...

ท่านบอกว่า ชาวเอสกิโมที่กินเนื้ออย่างเดียวเป็นอาหาร มีอายุเฉลี่ยเพียง ๒๕-๒๖ ปี ในขณะที่หลายชนเผ่าในธิเบต ที่นับถือพุทธมหายาน ปีอายุยืนนานถึง ๑๑๐ ปีเป็นเรื่องธรรมดา ... ข้อนี้ผมเชื่อครับ ดูท่านเองปีนี้ ก็ ๗๕ ปีแล้ว ยังแข็งแรง นำเราทัศนศึกษาทั้งวัน เหมือนท่านไม่เหนื่อยเลยครับ ... ขอขอบพระคุณท่านตรงนี้อีกครับครับ



มาอ่านต่อบันทึกหน้านะครับ (ดูภาพทั้งหมดที่นี่ครับ)

หมายเลขบันทึก: 595571เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2015 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2015 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท