เครื่องยึดเหนี่ยวทางใจก็มีความสำคัญ.... แล้วควรยึดอะไร


ใจที่ทำงานได้ดีต้องเป็นใจที่ไม่ซัดส่ายหวั่นไหว ไม่กระทบกระเทือนง่าย ใจมุ่งไปที่ใดถ้ามั่นคงหนักแน่นดีก็จะทำกิจต่างๆสำเร็จได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ใจโดยธรรมชาติแล้วก็เหมือนปุยนุ่นที่ลอยในอากาศ ลมพัดมาทางทิศใดก็ไปทางนั้น ยิ่งเจอกับเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว น่าตกใจ ใจก็กะเจิงได้ง่าย ตัวช่วยให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็คือเครื่องยึดเหนี่ยวใจ ให้ใจมั่นคงรับรู้กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ซึ่งใจที่มั่นคงการรับรู้ก็จะดีการแก้ปัญหาก็จะทำได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจหรือที่พึ่งทางใจ บางคนอาจจะมองว่าไม่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งงมงายหรือเปล่า จำเป็นไหมสำหรับโลกยุคนี้ แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเรื่องของใจไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง เพราะธรรมชาติจิตใจของคนสมัยก่อนเป็นอย่างไร ธรรมชาติจิตใจของคนสมัยนี้ก็เป็นอย่างนั้น

คือใจมีหน้าที่นึก คิด และรู้สิ่งต่างๆได้เหมือนๆกัน ใจนี้เป็นนามธรรมคือจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ว่ามันมีอยู่จริง คล้ายๆกับที่เด็กๆเราเคยเรียนมาว่า สสารกับพลังงานนั้นต่างกันตรงที่สสารนั้นมีรูปร่าง ต้องการที่อยู่และจับสัมผัสได้ ส่วนพลังงานนั้น ไม่มีรูปร่าง จับสัมผัสไม่ได้แต่มีอยู่จริง จิตใจนี้ก็คล้ายกับพลังงานนั้นเอง คือรู้ว่ามีอยู่แต่ไม่มีรูปร่างหน้าตา

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่าสสารและพลังงานนี้เปลี่ยนแปลงกันไปมาได้ สสารก็คือธาตุต่างๆทั้งของแข็งของเหลวและก๊าซ พลังงานก็มีพลังงานศักย์กับพลังงานจลน์(ปัจจุบันอาจมีมากกว่านี้ ผู้เขียนจำมาตอนเรียนอยู่มัธยม) และที่บอกว่าโลกประกอบไปด้วยสสารและพลังงานนั้น อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป แต่ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาจะให้คำจำกัดความได้ครอบคลุมมากกว่า คือบอกว่าโลกประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และวิญญาณธาตุ คำว่าธาตุ (elements) ในพุทธศาสนาหมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นไปตามธรรมนิยามคือกำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และมีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบจำเพาะตัว อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่างๆ ......ดังนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟจึงเปรียบได้กับสสารและพลังงานในทางวิทยาศาสตร์ ส่วนวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้ที่เพิ่มเข้ามานี้จะเรียกว่าใจก็ได้ ใจก็มีหลายอารมณ์ เพื่อให้เรียกง่ายจึงเรียกเป็นดวงๆมีหลายดวง แต่จะเป็นดวงไหนอารมณ์ไหนก็แล้วแต่ แต่ทุกดวงจะมีธาตุรู้อยู่ในตัวทั้งสิ้น

เมื่อใจก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง และใจนั้นก็เป็นสิ่งที่เราใช้ทุกวัน ใช้ทั้งวันทั้งคืนก็ว่าได้ เพราะกลางคืนใจยังฝันได้อีก ใจจึงทำงานหนักและทำงานตลอด ดังนั้นก็น่าศึกษาว่าใจเช่นไรจึงจะทำงานได้ดี

ใจที่ทำงานได้ดีต้องเป็นใจที่ไม่ซัดส่ายหวั่นไหว ไม่กระทบกระเทือนง่าย ใจมุ่งไปที่ใดถ้ามั่นคงหนักแน่นดีก็จะทำกิจต่างๆสำเร็จได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ใจโดยธรรมชาติแล้วก็เหมือนปุยนุ่นที่ลอยในอากาศ ลมพัดมาทางทิศใดก็ไปทางนั้น ยิ่งเจอกับเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว น่าตกใจ ใจก็กะเจิงได้ง่าย ตัวช่วยให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็คือเครื่องยึดเหนี่ยวใจ ให้ใจมั่นคงรับรู้กับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ซึ่งใจที่มั่นคงการรับรู้ก็จะดีการแก้ปัญหาก็จะทำได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

ผู้เขียนชอบข้อความตอนหนึ่งในธชัคคะสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องราวนิทานในอดีตที่กล่าวถึงการรบกันระหว่างเทวดากับอสูรว่า *ครั้งนั้นท้าวสักกะเทวราชเรียกหมู่เทพในชั้นดาวดึงส์มาสั่งว่า ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่หมู่เทพ ผู้ไปสู่สงครามในสมัยใด ในสมัยนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงหรือยอดธงของเรานั่นแหละ เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเราอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้งหรือขนพองสยองเกล้า อันใดจักมี อันนั้นจักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลาย ไม่แลดูชายธงของเรา ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดีอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าอันมีจักหายไป
ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดี ทีนั้นท่านทั้งหลาย พึงแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณ เพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรุณอยู่ ความกลัวความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองใสยองเกล้าที่จักมี ก็จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่แลดูชายธงของเทวราช ชื่อวรุณ ทีนั้นท่านทั้งหลายพึงแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณเพราะว่า เมื่อท่านทั้งหลายแลดูชายธงของเทวราช ชื่ออีสาณอยู่ ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมีก็จักหายไป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนั้นแล คือการแลดูชายธงของเทวราช ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อปชาบดีก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่อวรุณก็ตาม การแลดูชายธงของเทวราชชื่ออีสาณก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือความขนพองสยองเกล้าที่จักมี ก็จักหายไปได้บ้าง ไม่หายไปบ้าง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุว่า ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ เธอมีราคะยังไม่สิ้นไป มีโทสะยังไม่สิ้นไป มีโมหะยังไม่สิ้นไป เธอยังเป็นผู้กลัว ยังเป็นผู้หวาด ยังเป็นผู้สะดุ้ง ยังเป็นผู้หนี ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแล กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่า เมื่อท่านทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม ไปอยู่ทีโคนไม้ก็ตาม ไปอยู่ที่เรือนเปล่าก็ตาม ความกลัว ความหวาดสะด้ง หรือความขนพองสยองเกล้า ที่บังเกิดขึ้นในสมัยใด ในสมัยนั้น ท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรานั่นเทียวว่า

อิติปิ โส ภควา อรหฺ สมฺมาสมฺพุทโธ แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อรหํ เป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ ควรบูชา
สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้รู้ชอบเอง
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้บริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ
สุคโต เป็นพระสุคตผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้โลก
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาผู้สอนของเทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พุทฺโธ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป

ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา ทีนั้นพึงระลึกถึงพระธรรมว่า
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง
อกาลิโก เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นของไม่มีกาลเวลา
เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมอันจะพึงเรียกร้องให้มาดูได้
โอปนยิโก เป็นธรรมอันบุคคลควรน้อมเข้ามาใส่ใจ หรือควรน้อมเข้ามาในตน
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ เป็นธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตัวดังนี้ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป


ถ้าท่านทั้งหลายไม่ระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพึงระลึกถึงพระสงฆ์ว่า
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว หรือปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แล้ว
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือ คู่แห่งบุรุษบุคคลทั้งหลาย ๔
อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา บุรุษบุคคลทั้งหลาย ๘
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรสักการะที่พึงนำมาบูชา
ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
ทกฺขิเนยฺโย เป็นผู้ควรทักษิณาคือของทำบุญหรือควรทำบุญ
อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรอัญชลีคือควรพนมมือไหว้ คือแสดงความเคารพ
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลาย ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพอง สยองเกล้าก็ดี ที่จักมี ก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุว่าพระตถาคตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีราคะสิ้นไปแล้ว มีโทสะสิ้นไปแล้ว มีโมหะสิ้นไปแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาด เป็นผู้ไม่สะด้ง เป็นผู้ไม่หนี ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านมาระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีแล**

จากวิธีที่พระพุทธเจ้าประทานมาให้นี้ทำให้เรามีแนวทางที่จะเอาชนะความหวาดกลัวลงได้ เมื่อใจตั้งมั่นดีก็เกิดความมั่นใจที่จะทำงานสำเร็จลงได้ด้วยดี ดังนั้นเราจึงควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจบ้างตามสมควรเหมาะแก่จริตนิสัยของเราเอง

*--**อ้างอิงบางส่วนจากธชัคคสูตรบรรยายโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

หมายเลขบันทึก: 595602เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2015 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2015 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท