อาชีพบริการ มิใช่ "ข้ารับใช้"


อาชีพบริการ มิใช่ "ข้ารับใช้"

ในสังคมที่มีการแบ่งชั้นวรรณะ มีคนที่ระดับชั้น "เหนือกว่า" และ "ต่ำกว่า" ทำให้ความสัมพันธ์นั้นออกมามี code of conduct หรือการคาดหวังความประพฤติออกมาในแบบหนึ่ง ถ้าสุดปลายก็คือ "นาย-ทาส" ถ้าผ่อนปรนขึ้นมาอีกนิดก็เป็น "นาย-คนรับใช้" นายจะเป็นคนให้การดูแล เลี้ยงดู ตามเห็นสมควร ส่วนทาสหรือคนรับใช้ก็จะต้องตอบแทนการดูแล การเลี้ยงดูนั้นๆด้วยการทำงานชดเชยให้ การมองความสัมพันธ์แบบนี้กำลังกลายเป็นที่ล้าสมัย หรือกระทั่งไม่สมควร เพราะเป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะ และลดคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ลง ถ้าหากไม่มีการใช้ความเมตตา กรุณา และความเคารพในความเป็นคนเลย ยิ่งชัดเจนว่าน่าจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อสังคม ดังเห็นได้จากการปฏิวัติเลิกทาสกันทุกๆประเทศที่เคยใช้ระบบทาสมาก่อน

ในปัจจุบันมีอาชีพมากมายที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม "ผู้ให้บริการ" เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความพึง พอใจ โดยที่ผู้ให้บริการนั้นก็จะได้ "ค่าตอบแทน" ความสัมพันธ์นี้ไม่เหมือนกันกับ นาย_ทาส หรือ นาย-คนรับใช้ แต่เป็นความสัมพันธ์ในระดับเดียวกัน เหมือนกับการเป็นลูกค้ากับพ่อค้า/แม่ค้า เพียงแค่สินค้านั้นเป็นการ "บริการ" เท่านั้น ไม่ใช่เพราะลูกค้าเป็นผู้มีพระคุณล้นเหลือ และผู้ให้บริการเลยต้องกระทำการชดเชยบุญคุณนั้นๆแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าใน "ศิลปการดูแลผู้คน" จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองช่างสุขสบาย เหมือนมีอำนาจ มีวาจาสิทธิ์ พูดอะไร ขออะไรก็มีคนกระทำให้ หาอะไรมาให้ ก็เป็นเพราะผู้ให้บริการ "ยินดี" ที่จะใช้ศิลปที่ว่านี้แก่ผู้รับบริการ ไม่ใช่เป็นเพราะผู้ให้บริการ "ถูกสั่ง หรือจำเป็นต้อง" ใช้ศิลปนี้แต่อย่างใด

ข้อสำคัญก็คือ ที่มาของศิลปการให้บริการ หรือการทำให้คนเกิดความสุขนี้ เป็นสภาวะที่อาศัยบริบทมากมายประกอบ จึงจะสัมฤทธิผลได้ ตามกฏแห่ง "จะให้อะไรใคร ก็ต้องมีสิ่งนั้นก่อน" ผู้ให้บริการก็ต้องการบริบทที่เอื้อต่อการให้ด้วย จึงจะสามารถทำงา นได้เต็มที่

ในที่ที่คนสะสม "จิตวิญญาณแห่งความเป็นทาส" ไว้เยอะๆ จะไม่เข้าใจในเรื่องนี้

คนที่มีจิตวิญญาณแห่งทาส จะเกิดความคิดฝังลึกว่าคนที่ให้บริการ ก็คือคนชั้นต่ำต้อยกว่า เป็นผู้ติดค้างบุญคุณมาแต่ไหนแต่ไรจึง "ต้อง" มาบริการให้ความสุข หารู้ไม่ว่า ในยุคสมัยที่หมดเรื่องทาสไปแล้วนั้น คนให้บริการนั้นจึงมี "จิตแห่งผู้ให้" มิใช่เป็นข้าทาสอะไร ไม่ได้ต่ำต้อยแต่อย่างใด ไม่ได้ติดหนี้บุญคุณมาแต่ไหนแต่ไร

จึงมีความรู้สึกประหลาดใจ (แกมสมเพช) ที่ในสังคม มีคนคิดว่าอาชีพต่างๆที่ให้บริการนั้นเสมือนเป็นหนี้บุญคุณมาแต่ชาติปางไหน และคิดว่าตนเองเป็นนาย คนอื่นเป็นบ่าวมาแต่ชาติปางไหน จึงจะจิก จะด่า จะอะไรก็ได้ คนที่โดนมากๆในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ หมอ พยาบาล พนักงานเสริฟ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นคนที่มีศักดิ์ศรี และภาคภูมิใจที่ทำงานเพื่อคนอื่นมีความสุข คนเหล่านี้ก็จ่ายภาษีให้รัฐบาล เหมือนๆคนทุกๆคนที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษี ภาษีเหล่านี้กลายเป็นเงินเดือนก็จริง แต่ก็ได้รับงานที่ได้ทุ่มเทตอบแทนไปอย่างเหมาะสมแล้วทั้งสิ้น และเงินภาษีที่ทุกคนจ่าย ไมไ่ด้กลายมาเป็นแค่เงินเดือนข้าราชการเท่านั้น แต่กลายมาเป็นสาธารณูปโภค ถนนหนทาง การคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา ที่แม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการรับเงินเดือนแผ่นดิน ก็ได้รับผลประโยชน์อยู่ทุกวี่ทุกวัน คนธรรมดาที่จ่ายภาษีไม่ได้เป็นเจ้าหนี้บุญคุณอะไรกับข้าราชการไปกว่าที่ ตนเองก็ติดหนี้บุญคุณคนทุกคนในสังคมนี้ ทุกๆคนต่างก็มี "หน้าที่ต่อสังคม" เหมือนกัน

แต่มีคนพยายามใช้ทัศนะแห่งทาส ปลูกฝังความต้องการเป็นทาส หรือคิดว่าคนอื่นเป็นทาส เป็นหนี้ เป็นคนที่ต้องตอบแทน ซึ่งเป็นการแบ่งชั้นวรรณะในใจของคนเหล่านั้นเอง ไม่ยอมหลุดออกมาจากปลักแห่งจิตทาสนั้นขึ้นมา และมองคนรอบๆข้างอย่างเป็นมิตร

การบริการด้วยใจ จะเกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะความเป็นมืออาชีพ ไปๆมาๆถ้าจะเรียกว่ามืออาชีพ มันจะกลายเป็น " สีหน้าที่แสร้งทำอย่างสม่ำเสมอ" ไป แต่ความสุขที่เกิดจากการบริการที่จะจับต้องได้จริงๆนั้น ต้องมีความ "แท้ (authenticity) อยู่ คือผู้ให้บริการอยู่ในบริบทที่ดีที่สุด ที่จะเพิ่มศักยภาพแห่งความรักและเมตตา จึงจะให้บริการได้ดีที่สุด

สังคมแห่งการบริการ จึงจะเกิดการให้และการรับที่สมศักดิ์ศรีทุกฝ่าย ไม่มีการไล่จิกตามทวงบุญคุณอะไรกัน แต่ตระหนักในใจว่าตลอดเวลานั้น เราทุกคนต่างก็เป็นฝ่ายให้และฝ่ายรับอยู่ทุกวินาที และนี่คือหนทางแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๖นาที
วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม

คำสำคัญ (Tags): #บริการ
หมายเลขบันทึก: 595296เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2015 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2015 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมความคิดของอาจารย์มากจริง ๆ ครับ

ทาสที่แท้..ทาสตนเอง..ไม่ยอมปลดปล่อย..(และคงเป็น..เช่นนั้นเอง..นะเจ้าคะจึงยุ่งวุ่นวายกันอยู่ทุกวันๆ..)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท