กิจกรรมบำบัดกับปัญหาผู้สูงอายุติด"บ้าน"


"บันทึกนี้เขียนโดย นักศึกษากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยมหิดล"


คุณเคยสังเกตไหมว่า?

ทุกวันนี้...ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จาก...คนเฒ่า คนชราตามข้างทาง...ชุมชน...หมู่บ้าน

อากงขายน้ำเต้าหู้ ปลาท่องโก๋

อาม่าขายข้าวขาหมู

...หรือ เมื่อไปเยี่ยมญาติ,ไปทำงานตามบ้านเพื่อน ก็เจอปู่ ย่า ตา ยายของเพื่อน

เพื่อนบ้านของปู่ ย่า ตา ยายของเพื่อน

เพื่อนของเพื่อนของปู่ย่า ตายาย

และอีกจำนวนมากที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ต่างลักษณะกันออกไป...


สไตล์การใช้ชีวิตผู้สูงอายุแต่ละคนมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าเขาเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตกันอย่างไร บางคนเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จในชีวิต บางคนไม่เคยสัมผัสกับคำว่าประสบผลสำเร็จ บางคนปล่อยให้เวลาในแต่ละวันผ่านไปอย่างไร้จุดหมาย และอีกมากมายหลากหลายรูปแบบ

แต่ในบันทึกนี้...จะขอพูดถึง ผู้สูงอายุ

"ติดบ้าน"


ส่วนใหญ่เราๆมักจะได้ยินคำว่าผู้สูงอายุติดเตียงเสียมากกว่า แล้วผู้สูงอายุติดบ้านล่ะเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุติดบ้านส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองง่ายๆได้ที่บ้าน แต่พวกเขาไม่มีความต้องการที่จะออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน บางคนอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนไม่ใช่แค่สามารถทำกิจกรรมได้เองที่บ้าน แต่รวมถึง "Social Particitpation" หรือการมีส่วนร่วมในสังคมด้วยเช่นกัน หลายคนมักมองข้ามผู้สูงอายุที่บ้านของตนเองในเรื่องนี้ ซึ่งในบันทึกนี้จะทำการกล่าวถึงภาพรวมของผู้สูงอายุในเรื่องของ...

1.กฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ

2. NGOs หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร

3. Good/Best practice ในที่นี่จะยกตัวอย่างกลุ่มกรณีศึกษาที่เคยมีผู้ทำจริง

4. มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องในการนำกระบวนทางกิจกรรมบำบัดมาใช้

เรามี Mind Mapping ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านประกอบกันไปด้วยนะคะ



เอาล่ะ...ขอเริ่มจากกฎหมายพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุก่อนเลย จะเห็นได้ว่าปัจจุบันได้มีกฎหมายสิทธิ์ของผู้สูงอายุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ มีสิทธิ์ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที, ด้านการศึกษา เปิดโอกาสให้มีการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างสะดวก, ด้านอาชีพ ได้รับการฝึกพัฒนาอาชีพ และสามารถประกอบอาชีพเองได้, ด้านสังคม สามารถได้รับการอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และการมีส่วนร่วมทางสังคมต่างๆ, ด้านความเป็นอยู่ ได้รับเบี้ยยังชีพต่อเดือน รวมถึงสิทธิ์ในการพักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้วางไว้อย่างครอบคลุม ทำให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิ์ต่างๆมากมายอย่างสะดวกสบาย แต่ในบางแง่มุมนั้นก็อาจทำให้สะดวกสบายจนไม่อยากได้รับอะไรอีก และไม่อยากใช้สิทธิ์ที่ตนได้รับโดยเฉพาะด้าน "สังคม"


ปัจจุบันได้มีองค์กรต่างๆที่ไม่แสวงหาผลกำไรถือกำเนิดขึ้นมากมายสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านที่ไม่ออกไปมีส่วนร่วมนอกบ้าน ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆคือ การล้มที่บ้านตนเอง หรืออุบัติเหตุต่างๆที่ไม่ทันได้ระวัง หรือมีอุปสรรคที่บ้านของตน จากที่สมาชิกในกลุ่มของบันทึกนี้(กลุ่มผู้เขียน)ได้สืบค้นข้อมูล ก็ได้พบ "กองทุนสถาปัตย์บำบัด" ชื่อฟังดูเท่ห์ ซึ่งในการทำงานนั้นก็เท่ห์จริงๆค่ะ พวกเขาจะทำการลงพื้นที่บ้านของผู้สูงอายุจริงๆ แล้วทำการสำรวจสภาพบ้านของผู้สูงอายุ จากนั้นมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณที่ทำให้เกิดการเสี่ยงต่ออันตรายหรืออุบัติเหตุได้ จากนั้นก็ทำการออกแบบและดัดแปลงให้เหมาะสม เช่น ติดราวบันไดเพื่อป้องกันการหกล้ม, ติดราวจับในห้องน้ำป้องกันการลื่น เป็นต้น ในการลงพื้นที่ของเขายังไม่มีนักกิจกรรมบำบัดเป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพร่วมด้วย พวกเรา(กลุ่มผู้เขียน)จึงDisscuss กันว่าจริงๆแล้วก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดในการลงพื้นที่ร่วมปรับสภาพบ้านกับกลุ่มสถาปัตย์บำบัดด้วย ในการมองผู้รับบริการแบบองค์รวม ดังนั้นContext and Environment ก็เป็นอีกDomain หนึ่งที่ห้ามมองข้าม เมื่อสามารถปรับในส่วนร่างกาย จิตใจ กิจกรรมการดำเนินชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้ย่อมเกิดเป็นคุณภาพชีวิต หรือ Quality of life ตามมาในที่สุด


อีกหนึ่งองค์กรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ทางผู้เขียนได้สืบค้น คือมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จะเป็นการดูแลผู้สูงอายุในด้านต่างๆ สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลตนเองและการใช้ชีวิต กิจกรรมการดำเนินชีวิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และอีกมากมายหลายหน่วยงานที่สร้างขึ้นเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันผู้สูงนั้นไม่ได้ถูกทอดทิ้ง มีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลืออีกมากมายทีเดียว


ทีนี้เราจะขอยกตัวอย่างกลุ่มกรณีศึกษาจริง ที่อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร ที่ชื่อโครงการว่า "ติดบ้าน"ดึง"ติดเตียง" โครงการนี้เรามองว่าดีมากๆค่ะ เหมือนเป็นการให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกัน จากนั้นก็ช่วยเหลือกันเอง เป็นการมีส่วนร่วมในสังคมที่ดีไม่น้อย โครงการนี้ในอดีตแล้วจะเป็นการให้ผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ Day Care แล้วทำกิจกรรมตามที่ทาง Day Care ได้ตระเตรียมไว้ให้ ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุไม่ชอบ ทำให้ไม่อยากมาร่วมกิจกรรม ผลก็คือกลับไปติดบ้านเหมือนเดิม


แต่หลังจากที่ได้เปลี่ยนจาก Day Care มาเป็นที่ "วิทยาลัยการดุแลผู้สูงอายุ" เปลี่ยนรูปแบบของการเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้ผู้สูงอายุชื่นชอบ และมีส่วนร่วมมากขึ้น หรือมี Social Participation ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้จัดทำดครงการก็ได้เปลี่ยนจากที่มีผู้นำโครงการคอยนำกิจกรรมเสมอเป็น "ผู้สูงอายุติดบ้าน ช่วยผู้สูงอายุติดเตียง" ลักษณะเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ แต่ผู้สูงอายุติดบ้าน กลับมี Self-value เพิ่มมากขึ้น รู้สึกมีคุณค่าในตนเองที่ได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง พวกเขาก็มีความสุขที่ได้มีคนมาช่วยเหลือ พาเข้าร่วมทำกิจกรรม พวกเขาพึงพอใจและมีความสุข ติดเตียงน้อยลง และสนุกสนานกับกิจกรรมที่มีคนพาเข้าร่วมทำ รวมถึงมีการอบรมผู้สูงติดบ้าน ให้พวกเขาได้นำมาถ่ายทอดให้กับผู้สูงอายุติดเตียงอีกด้วย มีสุขภาวะทางกายและใจดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามมา


สำหรับมาตรฐานสากล เริ่มจาก WHO : Wolrd Health Organization หรือองค์การอนามัยโลก ได้สนับสนุนให้มีสหสัมพันธ์กับนักกิจกรรมบำบัดโลก เพื่อดูแนวโน้มความเป็นไปในปัจจุบัน และ WFOT : World Federation of occupational therapy หรือองค์กรนักกิจกรรมบำบัดสากลก็ได้อ้างอิงจาก WHO ในการพัฒนามาตรฐานกิจกรรมบำบัดสากล และเพื่อให้แนวทางการรักษาเป็นไปในทางเดียวกัน ดังนั้นในการให้บริการของนักกิจกรรมบำบัดจะต้องดำเนินไปตามแนวทางของ WFOT ซึ่งสามารถนำมาใช้กับผู้สูงอายุในปัจจุบันได้อย่างมาก ด้วยกับประชากรที่มากขึ้นของผู้สูงอายุ และแนวโน้มของความเจ็บป่วยในผู้สูงอายุที่มีมากกว่าในวัยอื่นๆ


สุดท้าย...บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ “ผู้สูงอายุติดบ้าน” ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

* ประเมินสภาพแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงอายุ และมีส่วนในการให้คำแนะนำในการปรับสภาพบ้านให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวตรประจำวันได้อย่างปลอดภัย

* สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ติดบ้านได้มีส่วนร่วมกับสังคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงหรือได้ทำกิจกรรมอาสา เพื่อเพิ่มคุณค่า (self-value) ให้กับตนเอง

* นักกิจกรรมบำบัดเป็นผู้กระตุ้นและผลักดันให้เกิดการดูแล โดยสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุดูแลกันและกัน

ซึ่งบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดเป็นเพียงส่วนเล็กๆที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมของผู้สูงอายุเอง เช่น รูปแบบสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อของผู้สูงอายุซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเอง หากผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในสังคมร่วมทั้งรูปแบบสังคมที่อยู่เปิดโอกาสให้ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ผู้สูงอายุที่ติดบ้านก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จ (Successful aging) ทำให้เขาสามารถมีคุณภาพชีวิตและมีความสุขในสังคมได้


"อ้อ...แล้วก็ อย่าลืมส่งกำลังใจให้พวกเราได้ทำหน้าที่นักกิจกรรมบำบัดที่ดีในอนาคตด้วยนะคะ :)"


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031854


ผู้เขียน

1. น.ส.ชนิภา วิภาตะวัต 5523003

2. น.ส.ณัฐณิชา สร้อยระย้า 5523006

3. น.ส.รัตนากร สันตะวาลิ้ม 5523014

หมายเลขบันทึก: 594891เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2015 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2015 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท