ข้อสรุปประเด็นความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิจัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง (สิงหาคม 2558)


เรื่อง “เทคนิคและแนวทางสู่ความสำเร็จในการเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติ/นานาชาติ ”

1. ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย (manuscript) /บทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ การนำเสนอวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติและนานาชาติ

1.1. วางแผนการจัดทำวิจัยและการผลิตตำราของตนเองล่วงหน้าให้ได้ตามเป้าหมายของการวิจัยและการผลิตผลงานวิชาการ

1.2. กำหนดหัวข้อหรือประเด็นในการทำวิจัยของตนเองให้สอดคล้องกับ นโยบาย สภาพปัญหาสังคม ปัญหา สุขภาพที่สำคัญ และความเชี่ยวชาญของตนเอง

1.3. ศึกษาระบบและกลไกในการส่งเสริมการตีพิมพ์ เช่น วารสารที่จะตีพิมพ์ ผู้ช่วยประสานงานกับวารสารต่าง ๆ และจัดหาแหล่งเผยแพร่ สำหรับขั้นตอนการเลือกวารสารเพื่อการตีพิมพ์ โดยพิจารณาเลือกวารสารที่มีขอบข่ายและวัตถุประสงค์ที่ตรงกับบทความของเรา ซึ่งโดยปกติจะปรากกฎอยู่ด้านหน้าและหลังวารสารแต่ละฉบับ หรืออาจตรวจสอบได้จากเว็บไซด์ของวารสารฉบับดังกล่าว ส่วนคุณภาพของวารสารพิจารณาจากค่า impact factor ซึงเป็นตัวดัชนีที่วัดคุณภาพวารสาร ซึ่งถ้าเป็นนักวิจัยหน้าใหม่อาจพิจารณาวารสารที่มีคุณภาพรองลงมาหรือคุณภาพไม่สูงนักก่อนเนื่องจากวารสารที่มีคุณภาพสูงโอกาสในการตอบรับย่อมยากและใช้เวลายาวนานกว่า

1.4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำวิจัยหรือการผลิตผลงานวิชาการเป็นที่ปรึกษาแก่อาจารย์ผู้ที่สนใจที่ทีมวิจัยแต่งตั้ง หรือตามความสามารถของอาจารย์ในวิทยาลัย

1.5. ปรึกษางานวิจัย หรือพี่เลี้ยง ที่เป็นกัลยาณมิตร เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำวิจัย ผลิตผลงานวิชาการหรือตีพิมพ์เผยแพร่แก่ตนเอง

1.6. เมื่อได้รับค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจจากการตีพิมพ์นำไปซื้อของหรือสิ่งที่ตนเองอยากได้ หรือฉลองกับครอบครัวโดยบอกว่าเป็นที่ได้มาจากการตีพิมพ์ผลงานให้ครอบครัวได้ชื่นชมและภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุน

1.7. เข้าร่วมโครงการวิชาการเพื่อฟื้นฟูศักยภาพของของตนเองในการทำวิจัย เช่น การออกแบบการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การขอจริยธรรมการวิจัย หรือสถิติที่ใช้ในการวิจัย เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพและความมั่นใจในการทำวิจัย

1.8. เข้าร่วมโครงการที่เสริมสร้างศักยภาพในการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น เทคนิคการเขียนเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ การเลือกวารสารในการตีพิมพ์ ตลอดจน การใช้โปรแกรมช่วยในการจัดการเอกสารอ้างอิง เช่น โปรแกรม endnote

2. ปัญหาอุปสรรคในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยหรือบทความวิชาการ

2.1. ผู้เขียนผลงานยังขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษในการเขียนผลงานเพื่อการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการเขียนบทคัดย่อภาษาอังกฤษและบทความ 15 หน้า ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้จากผู้ทรงคุณวุฒิจากวารสารหลายครั้งตาม format ของวารสาร ถึงแม้จะมีการส่งบทคัดย่อภาษาอังกฤษให้เจ้าของภาษาแปลแล้วในการสรุปเล่มวิจัย แต่หลังจากมีการส่งตีพิมพ์ในวารสารก็ต้องมีการปรับแก้ไขอีกและต้องมีการว่าจ้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกดูให้ ซึ่งใช้เวลานาน หากวิทยาลัยฯมีบุคคลากรที่สนับสนุนด้านภาษาอังกฤษได้ก็จะช่วยอาจารย์ได้มากขึ้น

2.2. ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการ submit ผลงานและการประสานงานเพื่อการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติค่อนข้างน้อย ซึ่งในการประสานเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติมีความแตกต่างกัน ทำให้อาจารย์ต้องศึกษารูปแบบของวารสารอย่างละเอียด รวมทั้งบางวารสารต้องสมัครสมาชิกล่วงหน้าก่อนได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากให้อาจารย์ได้

2.3. ผู้เขียนมีผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จจำนวนน้อยในแต่ละปีงบประมาณและบางช่วงขาดผลงานที่จะตีพิมพ์และเผยแพร่ ไม่สามารถผลิตผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จในแต่ละปีงบประมาณได้ โดยเฉลี่ยจะแล้วเสร็จ 1 เรื่อง / 2 ปี เนื่องจากการบริหารจัดการเวลาของตนเองที่ขาดประสิทธิภาพ

2.4. ผู้เขียนขาดแรงจูงใจและความมุ่งมั่นภายในตัวเอง ในการแก้ไขผลงานจากการ comment ของกรรมการเพื่อการตีพิมพ์และเผยแพร่

2.5. อาจารย์มีภาระงานมาก ทำให้อาจารย์มีความเหนื่อยล้าในการผลิตผลงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ ทั้งภาระงานสอน ภาระงานบริหาร ภาระงานมอบหมาย ภาระงานวิจัย ภาระงานทำนุฯ และภาระงานบริการวิชาการ

3. ประสบการณ์/ผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติ/นานาชาติ รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีการประชุมระดับชาติ/นานาชาติ

3.1. การเตรียมความพร้อมของอาจารย์

ในการนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีการประชุมระดับชาติจะมีความแตกต่างกับการตีพิมพ์

ในวารสารคือในการนำเสนอในเวทีนั้นต้องเตรียมpower point หรือ posterในการนำเสนอ รวมทั้งการเตรียมตอบคำถามแก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ถามขณะนำเสนอด้วย ส่วนการตีพิมพ์ในวารสารจะต้องแก้ไขตาม peer review จึงจะได้รับการตีพิมพ์ และสิ่งสำคัญคือต้องเลือกวารสารที่จะตีพิมพ์ตามฐานข้อมูลที่ระบุไว้ พร้อมศึกษารูปแบบการตีพิมพ์ และอ่านบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในเล่มวารสารนั้น เพื่อทำความเข้าใจกับรูปแบบการเขียน จะทำให้ลดระยะเวลาในการจัดทำบทความวิจัย หลังจากนั้นควรติดต่อกับบรรณาธิการวารสาร เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ความเป็นไปได้ในการตีพิมพ์ ระยะเวลาในการตีพิมพ์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่จะส่งตีพิมพ์ในวารสารนั้น

3.2. การประสานงาน

การนำเสนอต้องประสานกับผู้จัดการประชุมอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตีพิมพ์ ต้องประสาน

กับบรรณาธิการ ซึ่งต้องใช้ศิลปะในการสื่อสารด้วย และต้องติดตาม สอบถาม ความก้าวหน้าในการตรวจบทความวิจัยนั้นทุกเดือนกับบรรณาธิการวารสารและการดำเนินการจัดทำบทความวิจัยตามรูปแบบที่กำหนดในวารสาร พร้อมกับการเป็นสมาชิกของวารสารนั้น เพราะถ้าไม่สมัครสมาชิกในวารสารนั้นจะไม่ได้รับการตีพิมพ์

3.3. การเตรียมต้นฉบับ

3.3.1. ก่อนที่จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่นั้น ทางผู้วิจัยได้มีการดู

Themeในการนำเสนอผลงานวิจัยว่าตรงกับผลงานวิจัยที่เราได้ศึกษาหรือทำวิจัยหรือไม่

3.3.2. หลังจากนั้นดำเนินการศึกษาและทำความเข้าใจในรูปแบบการเขียนผลงานวิจัย

เนื่องจากผู้วิจัยจะได้ดำเนินการเขียนได้อย่างถูกต้อง แล้วส่งผลงานวิจัยไปยังหน่วยงานที่จัดการนำเสนอผลงานวิจัย

3.3.3.เมื่อได้รับบทความวิจัยที่ผ่านผู้ทรงคุณวุฒิกลับคืนมา ให้ดำเนินการแก้ไขตาม

ข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ และส่งกลับคืนในเวลาที่กำหนด แต่ควรมีการติดตามเป็นระยะๆเพื่อป้องกันการตกหล่นของบทความวิจัย

3.4. การเตรียมตัวนำเสนอ

3.4.1 การนำเสนอแบบวาจา (Oral presentation) ควรทำสื่อในการนำเสนอที่ดึงดูด

ความสนใจ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่ใช้ข้อความเยอะเกินไป สีพื้นและสีตัวอักษรต้องต่างกันให้อ่านข้อความได้ชัด ควรงดการใช้สีที่แสบตา ตัวอักษรควรเป็นตัวหนา และโตพอที่จะอ่านได้ชัดเจน ไม่ควรมีภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่นำเสนอ โดยเฉพาะภาพเคลื่อนไหวที่จะดึงความสนใจจากเรื่องที่กำลังนำเสนอ จำนวนสไลด์ ไม่ควรมากเกินไป หากมีภาพหรือแผนภูมิประกอบจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก่อนการนำเสนอต้องทราบว่าเป็นห้องประชุมใด แล้วเอาข้อมูลที่จะนำเสนอไปลงในเครื่องไว้ให้เรียบร้อย การประชุมส่วนใหญ่จะให้นำข้อมูลไปลงไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำการตรวจสอบการเข้ากับเครื่องและสามารถแก้ไขได้ทันก่อนการนำเสนอ หากไม่ประมาทควรสำรองข้อมูลที่จะนำเสนอส่งเข้าในอีเมล์ส่วนตัว เผื่อฉุกเฉินก็ได้

3.4.2. การนำเสนอแบบโปสเตอร์ (Poster presentation) ขนาดของสื่อให้เป็นไปตาม

เกณฑ์ของแหล่งเผยแพร่กำหนด การทำไวนิลอาจใช้วัสดุเป็นพลาสติกบาง ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่ต่างกับไวนิลมากนักแต่ดูสวยงามกว่ามาก การใช้สีและตัวอักษรต้องระมัดระวังให้อ่านได้ชัดเจน อาจมีการแบ่งพื้นที่ในแต่ละส่วนให้เหมาะสม โดยเฉพาะส่วนของผลการวิจัยและอภิปรายผลซึ่งจะเป็นจุดสนใจที่ผู้อื่นจะนำผลการวิจัยไปใช้ได้ การติดตั้งโปสเตอร์ควรเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งไปด้วยเพื่อความสะดวก หลังจากลงทะเบียนในวันก่อนงานจะทราบตำแหน่งของโปสเตอร์ หากจะมีอุปกรณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจัดแสดงก็จะเป็นการดึงดูดความสนใจได้ ควรใช้พื้นที่ด้านล่างหรือด้านข้างของโปสเตอร์ที่ไม่รบกวนพื้นที่โปสเตอร์ข้างเคียง

........................................................................

หมายเลขบันทึก: 594189เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท