สรุปการเรียนการสอนแบบสะท้อนคิด(Reflective thinking) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง (สิงหาคม 2558)


วิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งต้องปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ (Reflective practice or reflection onpractice) จึงมีความสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆซึ่งจะช่วยให้เกิดทักษะในการแก้ปัญหาที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งช่วยให้เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติได้ดีขึ้นการฝึกสะท้อนคิดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะทางปัญญาที่มีความจำเป็นสำหรับบัณฑิตพยาบาลทุกคนเพราะเป็นทักษะที่ช่วยให้พยาบาลรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณรู้จักแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือทั้งนี้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการศึกษาพยาบาลจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เกิดผลการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมถึงทักษะทางปัญญาด้วยเช่นกัน

โดยสรุป การสะท้อนคิดเป็นรูปแบบการคิดที่น่าจะช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้ได้ดีอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการสะท้อนคิดเกิดจากการรับรู้ ความคาดหวัง ความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ แล้วมีการคิด วางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ในอนาคต โดยผ่านกระบวนการพูดหรือเขียน การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็น เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ โดยเฉพาะสำหรับวิชาชีพพยาบาล ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งต้องปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ มีความสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดทักษะในการแก้ปัญหา รวมทั้งช่วยให้เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติได้ดีขึ้น ดังนั้นการฝึกสะท้อนคิดน่าจะเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการรับรู้ ความคาดหวัง ความรู้สึกตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ แล้วมีการวางแผนหาแนวทางแก้ไขในอนาคต โดยผ่านกระบวนการพูดหรือเขียน การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพพยาบาล เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ รวมทั้งมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆได้ นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ส่งผลต่อการดูแลผู้รับบริการอย่างเข้าใจ

การนำวิธีการสะท้อนคิดมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมบุคลากรทางการพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่มีการฝึกภาคปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการให้บริการกับการเรียนรู้ได้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและเปิดโอกาสให้วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินสิ่งที่ปฏิบัติทั้งจากตนเอง เพื่อน และผู้สอนรวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติครั้งต่อไปด้วย รวมทั้งการนำแนวทางการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการสอนทางการพยาบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และของเพื่อนในกลุ่ม เพื่อก่อ่ให้เกิดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและสามารถประยุกต์ทฤษฎีที่ได้เรียนมาสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้ การสะท้อนคิดเกิดจากตัวผู้เรียนเองที่รับรู้ข้อมูล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ แล้วจึงนำสถานการณ์นั้นมาคิด วิเคราะห์ใคร่ครวญตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก่อนที่จะบอกต่อผู้อื่นโดยผ่านทั้งทางการพูดและการเขียนวิธีการสะท้อนคิดนี้ จึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนทั้งวิธีการคิด และทักษะทางปัญญา เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้วิธีการสะท้อนคิดจะได้ผลดีต้องเกิดจากการรับรู้ ความเข้าใจตนเองเป็นสำคัญ มีการสะท้อนที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ในการใช้วิธีการสอนโดยกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิดในผู้เรียนนั้น ผู้สอนบนคลินิกมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน ด้วยการเป็นแรงเสริม ช่วยเหลือ ประสานงานด้านต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ใช้ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุขในการเรียน นำไปสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคต

การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ reflective thinking ไปใช้ พบว่าการสะท้อนคิดทำให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของกระบวนการสะท้อนคิด โดยการดึงประสบการณ์ในเชิงลึก นักศึกษาจะใช้เวลาในการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ การฝึกสะท้อนคิดสามารถฝึกได้โดยวิธีการเขียน (writing) และใช้วิธีการพูด (verbally) และทำเป็นรายบุคคลหรือทำเป็นรายกลุ่ม การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Reflective Journal) เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้สอนใช้ในการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงกระตุ้นทักษะการสะท้อนคิด บันทึกสะท้อนคิดเป็นเอกสารที่ผู้เรียนเขียนขึ้น เพื่อบรรยายประสบการณ์การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในระหว่างการเรียนทฤษฏีฝึกปฏิบัติหรือแม้แต่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบันทึกการสะท้อนคิดถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถของกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ

การสะท้อนคิดด้วยการเขียน ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจตนเอง และการสะท้อนคิด กล่าวว่าการเขียนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนการสะท้อนคิดที่ช่วยให้นักศึกษาแก้ปัญหาและเรียนรู้เกี่ยวกับว่าเขาจะทำอะไร การเขียนหมายรวมถึงการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นการบันทึกเกี่ยวกับความคิดของเขา เมื่อทำบ่อยๆ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างถาวร เมื่อผู้เรียนเขียนความคิดลงไป ความคิดเหล่านั้นจะถูกจัดรูปแบบ ให้เป็นระบบดีขึ้น การเขียนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง การเขียนสะท้อนคิด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดจากความพยายามที่จะอธิบายและสื่อสารให้บุคคลอื่นทราบเกี่ยวกับความรู้ และความรู้สึกของตนเองที่มีอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในรูปแบบของการบันทึกสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในความรู้ และการกระทำของตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเปิดใจในการประเมินตนเอง ส่งเสริมทักษะการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนอาจทำโดยใช้ Portfolio ในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดของผู้เรียนในการมองย้อนถึงการกระทำของตนเองในแต่ละครั้งได้การกำหนดให้ผู้เรียนเขียนสะท้อนคิดในหัวข้อและในระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เกิดความคิดที่ต่อเนื่องและคงทนเนื่องจากการการเขียนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพของประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเองได้ชัดเจน มีการผสมผสานความคิดและสะท้อนความคิดของตนเอง สิ่งสำคัญที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนสะท้อนคิดทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการคิดถึงสิ่งที่ผ่านมามาอย่างรอบคอบ การสะท้อนความคิดโดยการเขียนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอธิบายแนวความคิดและความเข้าใจในสถานการณ์มีการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนสะท้อนคิดนี้ยังเหมาะกับผู้เรียนที่ไม่ค่อยชอบพูดทำให้นักศึกษาสามารถมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกความคับข้องใจต่างๆที่ได้จากการฝึกปฏิบัติและนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้

ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ จากการเรียนการสอนแบบ reflective thinking


ปัญหาอุปสรรค

ข้อเสนอแนะ

- นักศึกษามีปัญหาในเรื่องการเขียนอธิบายไม่เข้าใจการเขียนสะท้อนคิด นักศึกษาเขียนมาสั้น ๆ

- ควรมีการเตรียมความพร้อมนักศึกษาในการจัดการเรียนการสอนสะท้อนคิด ให้นักศึกษาได้เข้าใจกระบวนการขั้นตอนเพื่อจะได้รับประโยชน์ของการสะท้อนคิดสูงสุด


- นักศึกษายังไม่ชินกับการเรียนการสอนแบบนี้

-ครูต้องฝึกเรื่องการตั้งคำถาม การระดมสมองของนักศึกษา โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยพูด


- อาจารย์ยังไม่มีประสบการณ์ในการสอนแบบนี้ จึงมีความยากลำบากในการตั้งคำถามการสะท้อนคิดเพื่อกระตุ้นนักศึกษา

-อาจารย์อาจต้องใช้เวลาในการฝึกตั้งคำถาม พร้อมๆกับการฝึกนักศึกษาไปด้วย ผู้สอน และผู้เรียน จะต้องมีการเรียนรู้ จึงจะเกิดทักษะ

-การจัดการเรียนรู้สู่การศึกษาพยาบาล ในศตวรรษที่ 21 ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1) เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของ ครูหรืออาจารย์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ( Facilitator) หรือผู้แนะนำ (Coaching)

2) เปลี่ยนสื่อการเรียนการสอน ที่ต้องใช้สื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย

3) เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น (Teach Less, Learn More)


- นักศึกษายังไม่สามารถเรียนรู้ได้ทุกกระบวนการ/ขั้นตอนของการสะท้อนคิด

-การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิดนอกจากการเตรียมตัวในบทบาทผู้สอนแล้วการเตรียมตัวในบทบาทผู้เรียนก็ต้องมีควบคู่ไปด้วยกัน

- การตั้งคำถามให้นักศึกษาสะท้อนคิดยังไม่ตรงประเด็น ทำให้กระตุ้นการคิดของนักศึกษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงสะท้อนผลการเรียนรู้ออกมาไม่ชัดเจน

- ผู้สอนต้องฝึกความไวในการจับประเด็น และอาจต้องใช้ทักษะการตั้งคำถาม เพื่อสะท้อนความรู้สึก ความคิดของนักศึกษา ในขณะนั้นทันที เพราะสิ่งที่นักศึกษา สะท้อนความคิดออกมาอาจจะผิด concept ทางวิชาการ หรือ การกระทำที่ขัดต่อ จริยธรรม หรือกฎหมาย

- การตรวจให้คะแนนของอาจารย์ยังไม่มีความชำนาญเท่าที่ควร

- อาจารย์เปิดเกณฑ์การประเมินควบคู่ไปด้วย

- ควรทบทวนหรือมีเกณฑ์การประเมินประกอบอยู่เสมอเมื่อต้องตรวจบันทึกการสะท้อนคิด ถ้าให้ดียิ่งขึ้นควรฝึกเขียนด้วยตนเองบ่อยครั้งจะทำให้เพิ่มความชำนาญทั้งการเขียนและการตรวจ


- นักศึกษาไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองได้จริง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่

- ให้เพื่อนๆในกลุ่มร่วมกัน feedback “เพื่อนช่วยเพื่อน” และผู้สอนทำหน้าที่เป็น Facilatator

- ให้เติมคำในช่องว่าง เพื่อให้นักศึกษามีแนวทางในการเขียนบันทึกการสะท้อนคิดได้ตามเกณฑ์การบันทึกได้มากขึ้น


- ทักษะในการเขียนสะท้อนคิด หากอาจารย์ทุกท่านทุกรายวิชาให้นักศึกษาเขียนสะท้อนคิดหมดทุกครั้งทุกรายวิชา อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายแก่นักศึกษา และเป็นการเพิ่มงานจากชิ้นงานเดิมในรายวิชา

- เพื่อให้เกิดกระบวนการของการเรียนรู้ในการเขียนสะท้อนคิด จึงอาจต้องกำหนดหรือตกลงว่าวิชาใดจะมีวิธีการเรียนการสอนวิธีนี้เป็นช่วงใด

- ในวิชาปฏิบัติทางการพยาบาล สามารถใช้การเขียนสะท้อนคิด เพื่อให้นักศึกษาได้ทบทวนตัวเอง และอาจารย์ได้นำมาปรับปรุงวิธีการจัดการเรียน การสอนได้

- การจัดการเรียนการสอนที่มีการฝึกภาคปฏิบัติ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการให้บริการกับการเรียนรู้ได้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและ เปิดโอกาสให้วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินสิ่งที่

ปฏิบัติทั้งจากตนเอง เพื่อน และผู้สอนรวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติครั้งต่อไปด้วย


หมายเลขบันทึก: 594188เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2015 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท