การกำกับดูแลท้องถิ่น “แม่ปูกับลูกปู”


การกำกับดูแลท้องถิ่น “แม่ปูกับลูกปู”

13 สิงหาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

แม้ว่าการกำกับดูแล จะเป็นมาตรการหนึ่งของฝ่ายปกครองในการกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของท้องถิ่นโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด “กำกับดูแล” นายอำเภอเป็น “ผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด” ตามระเบียบกฎหมาย อปท. ที่บัญญัติให้อำนาจไว้ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา 77 [2] (2) พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 โดยกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ตามมาตรา 71 [3] มาตรา 72 [4] (3) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตามมาตรา 90 [5] และ (4) ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 [6]

ความสัมพันธ์เกื้อกูลกันที่ค่อยเสื่อมคลาย

 

ในความสัมพันธ์ที่กำกับดูแลมาแต่เดิม มีลักษณะของการควบคุม สอนงาน และการช่วยเหลือเกื้อกูลการทำงานของราชการบริหารส่วนภูมิภาค อำเภอ จังหวัด เพราะท้องถิ่นมีระบบงบประมาณที่เบิกจ่ายได้โดยคลังของท้องถิ่นเอง ทำให้มีการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว ทันใจ แต่ต่อมาการใช้งบประมาณถูกกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากระเบียบปฏิบัติสั่งการต่าง ๆ รวมไปถึงการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน รวมถึงการตรวจสอบระบบการเงินอื่น ๆ (การจัดเก็บรายได้ การคลัง การงบประมาณฯ เป็นต้น) ทั้งหมดของ สตง.ทำให้ การกำกับดูแลของผู้กำกับดูแลที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม ติดขัด ไม่เป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือไม่สามารถดำเนินการตามความประสงค์ แนะนำของผู้กำกับดูแล อาทิเช่น หนังสือจากกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ห้ามผู้กำกับดูแล (อำเภอ จังหวัด) ขอรับเงินอุดหนุนจากท้องถิ่น [7] หนังสือแจ้งทางปฏิบัติแก่ อปท. เรื่อง การทักท้วงแข่งขันกีฬาเขต [8] การขอเงินอุดหนุนท้องถิ่นแก่หน่วยงานต่าง ๆ [9] (เช่น การห้ามตั้งเป็นกองทุนฯ) ฯลฯ ซึ่งหนังสือสั่งการเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อหน่วยงานผู้กำกับดูแล เช่น อำเภอและจังหวัด โดยตรง และมีผลกระทบต่อ สำนักงานกาชาดจังหวัด สำนักงานกิ่งกาชาดอำเภอ รวมทั้งกองทุน ของราชการส่วนภูมิภาค (อำเภอ จังหวัด) ต่าง ๆ

ประโยชน์ทับซ้อนเชิงการบริหารงาน

 

ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง รวมทั้งเงินกู้ต่าง ๆ เงิน โครงการจากหน่วยเหนือต่าง ๆ แม้กระทั่งงบช่วยเหลือผู้ประสบภัย งบอุดหนุนเฉพาะกิจ ของ อปท. นั้น ตามระบบสายงานการบังคับบัญชา การกำกับดูแล มีขั้นตอนที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากนายอำเภอ จังหวัด และต้องตราไว้ในแผนพัฒนา เป็นแผนที่เกินขีดความสามารถของ อปท. [10] ในคณะกรรมการพัฒนา อบจ. ที่มีอำเภอร่วมด้วย ในลักษณะของการกำกับดูแลเช่นนี้ จึงเป็นประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารงานเข้ามาแทรกแซงการทำงาน เพราะบนพื้นฐานที่มีการใช้ดุลพินิจกันอย่างมากของผู้กำกับดูแล รวมทั้งการขาดการกำกับดูแลที่ดีนั้น เป็นต้นเหตุหลักของ “การทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” [11] ที่เป็นปัญหาแก่ท้องถิ่นในปัจจุบัน

 

ลัทธิเอาอย่างแม่ปูสอนลูกปู

 

นี่เป็นปัญหาการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้น อปท. บางแห่งได้เริ่มสะสมปัญหาในลักษณะเช่นนี้มานานแล้ว แต่ลักษณะเสมือน “แม่ปูกับลูกปู” กล่าวคือ แม่ปูสอนลูกปู แต่ก็สอนไม่ได้ดี เพราะแม่ปูก็อาจทำได้ไม่ดีเช่นกัน เพราะ เมื่อแม่ปูคือผู้กำกับดูแล พยายามสอนลูกปู คือ อปท. ตามแนวทางที่แม่ปูคิดว่าถูกต้อง ลูกปูย่อมต้องทำตาม คงไม่มี อปท. ใดกล้าทักท้วงโต้แย้ง แม้จะมีหนังสือสั่งการแนวทางปฏิบัติกำกับการปฏิบัติแล้วจากส่วนกลาง และ สตง. ก็ตาม

ในการพัฒนาสิ่งสาธารณประโยชน์ หรือ ผลงานของฝ่ายบริหารท้องถิ่น มักมีการตั้งชื่อถนน ชื่อสิ่งปลูกสร้างอาคาร ตามชื่อของฝ่ายบริหารไว้เป็นอนุสรณ์ เหล่านี้ ล้วนเป็น สังคมเอาอย่าง แม่ปูกับลูกปู ทั้งสิ้น

กรณีตัวอย่างเงินอุดหนุนส่วนราชการอำเภอ จังหวัด

 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการอุดหนุนเงินแก่หน่วยราชการเช่น อำเภอ จังหวัด เป็นอุทาหรณ์

แม้ก่อนนำโครงการขอรับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปเบิกจ่ายได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอำนวยการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด [12] เสียก่อนก็ตาม มีข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณดังกล่าว คือ จำนวนเงินที่ได้รับการอนุมัติ หรือตราเป็นเทศบัญญัติงบประมาณ หรือข้อบัญญัติงบประมาณนั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านงบประมาณของ อปท. หากเป็น อปท. ที่มีขนาดใหญ่ จำนวนเงินอุดหนุนก็จะมาก และมักปรากฏว่า หน่วยงานที่ได้รับการอุดหนุนเป็นจำนวนเงินที่มากที่สุดก็คือ ผู้กำกับดูแล คือ อำเภอ และจังหวัดนั่นเอง อาทิเช่น เงินอุดหนุนศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ศตส.) อำเภอ จังหวัด หรือ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) [13] เงินอุดหนุนกาชาดอำเภอ กาชาดจังหวัด เงินอุดหนุนการจัดงานประจำปีของอำเภอและจังหวัด เงินอุดหนุนศูนย์จัดซื้อจัดจ้างอำเภอ เงินอุดหนุนการแข่งขันกีฬาระดับอำเภอ จังหวัด เงินอุดหนุนรัฐพิธีแก่จังหวัด และอำเภอ ฯลฯ เป็นต้น

ในประเด็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานตรวจสอบ มักขอรับการสนับสนุน จาก อปท. ทั้งจากงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบฯ อาทิเช่น ขอรับการสนับสนุนจัดกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และพระมหากษัตริย์ รวมจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่การขอรับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนเบิกจ่ายไม่ได้ อาทิเช่น งานเงินบริจาค งานบุญกุศล ผ้าป่า กฐิน จากกรมฯ กระทรวงฯ บัตรกาชาดจังหวัด กาชาดอำเภอ เสื้อใส่ในงานเทศกาลต่างๆ สนับสนุนค่าใช้จ่ายงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน วัน อส. วันตำรวจ ฯ รวมทั้งเงินบริจาค และการรับรองคณะผู้ตรวจงานต่างๆ ที่แวะมาเยี่ยมเยือนท้องถิ่น

การลดจำนวนเงินอุดหนุนลง หรือไม่ตราข้อบัญญัติเงินอุดหนุนแก่ผู้กำกับดูแลเหมือนดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ด้วยเหตุจำเป็นด้วยเม็ดเงินงบประมาณ หรือหนังสือสั่งการ รวมถึงการขาดการสนับสนุนในกิจกรรมต่างเช่นที่เคยถือปฏิบัติมา อาจได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จากผู้กำกับดูแลได้ แม้จะมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล อปท. ตามกฎหมายก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่า คณะอนุกรรมการอำนวยการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด และผู้กำกับดูแลไม่ใคร่ใส่ใจเท่าที่ควร การผลักภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ท้องถิ่นจึงพบอยู่เสมอ บางครั้งอาจทำให้ท้องถิ่น ต้องใช้วิธีหางบประมาณจากการเลี่ยงปฏิบัติตามระเบียบ หรือ อาจเรียกว่าเป็น “การทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” นั่นเอง เพื่อสนองต่อผู้กำกับดูแล การโยกย้ายนายอำเภอบ่อยอาจเป็นภาระแก่ อปท. ในการจัดการเลี้ยงรับรอง เป็นต้น อปท. ที่ตกอยู่ฐานะเช่นนี้ ภายหลังมีเฉพาะ เทศบาล และ อบต. เท่านั้น ส่วน อบจ. นั้น ผู้กำกับดูแลมักไม่กล้าเพราะความยำเกรงในการเมืองระดับท้องถิ่น ที่มีการเมืองระดับชาติค้ำจุนอยู่

การแก้ไขปัญหาการใช้เงินอุดหนุนที่ขาดหลักการ

 

(1) วิธีการแก้ไขปัญหาในลักษณะเช่นนี้พบว่า ผู้ว่า สตง. เคยมีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยห้าม ผจว. นายอำเภอ ขอรับเงินสนับสนุนจากท้องถิ่น แต่มีข้อสังเกตว่าหนังสือสั่งการดังกล่าว ไม่ได้ถูกแจ้งเวียนและถือปฏิบัติจากทุกจังหวัดแต่อย่างใด แม้การทักท้วงห้ามท้องถิ่น อุดหนุนกาชาด จังหวัด กาชาดอำเภอ ในลักษณะตั้งเป็นเงินกองทุน แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่ายังมีการดำเนินการใช้เงินอุดหนุนจาก อปท. ในลักษณะของ “เงินกองทุน” อยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ สตง. ยังพบว่า การใช้จ่ายเงินอุดหนุนของอำเภอ จังหวัด มักไม่มีรายละเอียดการรายงานผลแก่หน่วยงาน อปท. ผู้จ่ายเงินอุดหนุน และก็ปรากฏว่าทางปฏิบัติปัจจุบันยังมีขอรับเงินสนับสนุนต่าง ๆ จากท้องถิ่นอยู่เสมอ แม้กระทั่งโครงการออกจังหวัดเคลื่อนที่ เพื่อการประชาสัมพันธ์งานของจังหวัด หรืองานของส่วนกลาง ก็ไม่พ้นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านงบประมาณต่าง ๆ ไม่ว่าการตระเตรียมสถานที่ การเลี้ยงรับรองคณะบุคคล ฯ เป็นต้น

(2) มีเหตุผลหนึ่งที่มีผู้ทักท้วงว่า ตราบใดที่ อปท. ยังอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ๆ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ลงได้ เพราะ คนมหาดไทยไม่ตระหนักถึงปัญหาและภารกิจของท้องถิ่นว่าเป็นการทำงานของตัวแทนประชาชน และการทำงานเพื่อประชาชนในท้องถิ่น มิใช่การทำงานเพื่อสนองปัญหา นโยบาย รับใช้หน่วยงานจากกระทรวง กรมซึ่งมิใช่ประชาชนโดยตรงในท้องถิ่น

หนทางแก้ไขเรื่องนี้ คงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะหากกระทรวงมหาดไทย และ ผจว. ยังคิดว่างบประมาณของท้องถิ่นมีหน้าที่ให้การสนับสนุนการทำงานของอำเภอ และจังหวัด แม้ว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเงินงบประมาณท้องถิ่นก็คือ การใช้จ่ายเพื่อประชาชน และประชาชนในท้องถิ่นนั้นต้องได้รับประโยชน์โดยตรงเท่านั้น แต่เงินอุดหนุนแก่อำเภอและจังหวัด คือ การนำเงินไปใช้เพื่อเป้าหมายอื่น ที่แม้จะเกิดประโยชน์ แต่พบว่าอาจไม่เกิดโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ

(3) ในบริบทของการกำกับดูแลนั้น ต้องไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงลบ อาทิเช่น การมีผลประโยชน์ของผู้บริหารท้องถิ่น การสมยอมในการเสนอราคางานซื้องานจ้างของ อปท. การกำกับดูแลแบบเกื้อกูลแลกเปลี่ยนกันและกัน (หมูไปไก่มา) ฯลฯ เหล่านี้ ถือเป็นอุปสรรคในพัฒนาการกระจายอำนาจของท้องถิ่นในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น การลด ละ เลิกวัฒนธรรมแบบ แม่ปูลูกปู หมูไปไก่มา การที่ผู้กำกับดูแลคิดว่า "เป็นภาระหน้าที่ของ อปท. ที่ต้องสนับสนุนช่วยเหลือจังหวัด อำเภอ" จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ ไม่เป็นผลสำเร็จลงได้

(4) ปัญหาทางปฏิบัติที่ต้องแก้ไขอีกประการที่ท้องถิ่นประสบ ก็คือ มีกฎหมายอยู่สองระดับที่ ผู้กำกับดูแล อปท. มักเอามาใช้ปนกัน คือ การกำกับดูแลตามกฎหมายจัดตั้ง และ การกำกับดูแลในงานการบริหารบุคคล มักมีการนำมาใช้ปะปนกันซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายคนละฉบับ โดยส่วนใหญ่การกำกับดูแล อปท. เป็นเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. อาทิ การควบคุมสภา อปท. การเปิดปิดสภา อปท. การอนุมัติเห็นชอบข้อบัญญัติ อปท. การถอดถอน ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นการตรวจสอบโดยการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ ฉะนั้น ผู้กำกับดูแลต้องแยกแยะการปฏิบัติให้ชัดเจนถูกต้อง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวคิดข้อเสนอแนะเหล่านี้ หน่วยงานผู้กำกับดูแล อปท. ควรรับฟัง และนำไปพิจารณา แก้ไขตามสมควร เพราะมิฉะนั้นจะเป็นปัญหาหลักในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น การพัฒนาและปฏิรูปท้องถิ่นในระยะยาว


 

[1] สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22755 หน้า 10 <การเมืองท้องถิ่น>

[2] มาตรา 77 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เพื่อการนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้องค์บริหารส่วนจังหวัดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้ แล้วให้รายงานรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง

ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยสั่งการในเรื่องดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด

คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

[3] มาตรา 71 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้นให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมดูแลเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลตำบล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆจากเทศบาลมาตรวจตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้

[4] มาตรา 72 เมื่อนายอำเภอในกรณีแห่งเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีแห่งเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเห็นว่า นายกเทศมนตรี หรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่เทศบาล หรือเสียหายแก่ราชการและนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตามนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการาจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติของนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีนั้นไว้ก่อนได้ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรีบรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยสั่งการตามสมควร

คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามความในวรรคก่อนไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

[5] มาตรา 90 ให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามวรรคหนึ่ง ให้นายอำเภอมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสารใดๆ จากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบก็ได้

เมื่อนายอำเภอเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดปฏิบัติการในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเสียหายแก่ราชการและนายอำเภอได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้ามิได้ให้นายอำเภอมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไว้ตามที่เห็นสมควรได้ แล้วให้รีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทราบภายในสิบห้าวันเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว

การกระทำของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ฝ่าฝืนคำสั่งของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีตามวรรคสาม ไม่มีผลผูกพันองค์การบริหารส่วนตำบล

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2554, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 - 7 เล่ม 128 ตอนพิเศษ 73 ง วันที่ 30 มิถุนายน 2554 (ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/073/1.PDF 

[7] หนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0004/ 2448 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เรื่อง การจ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[8] หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 2697 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เรื่อง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณหมวดอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการกีฬา & หนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เรียน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ ตผ 0004/ 6266 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เรื่อง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนสนับสนุนส่วนราชการ และสมาคมต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย และประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[9] หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว 4536 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2551 เรื่อง หารือการขออนุมัติจ่ายอุดหนุน กรณี ทต.หางน้ำสาครข่ายเงินอุดหนุนอำเภอมโนรมณ์เพื่อดำเนินการโครงการปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและงานตามนโยบายของกรมการปกครอง & หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดู “การอุดหนุนค่าใช้จ่ายแก่หน่วยงานอื่น”, ราชการแนวหน้า,1 กันยายน 2556, http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539241800&Ntype=4 

[10] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 

ข้อ 10 คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ ...

(2) ร่วมจัดทำร่างแผนพัฒนา เสนอแนะแนวทางการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนพัฒนา

ในการจัดทำร่างแผนพัฒนา ให้เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง นำปัญหาความต้องการจากแผนชุมชนที่เกินศักยภาพของชุมชนที่จะดำเนินการเองได้มาพิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนา แต่หากเกินศักยภาพของเทศบาล เมืองพัทยาองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ให้เสนอปัญหา ความต้องการไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนำมาพิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามอำนาจหน้าที่

ข้อ 24 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นประกาศใช้แผนพัฒนาที่อนุมัติแล้ว และนำไปปฏิบัติ รวมทั้งแจ้งสภาท้องถิ่น คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประกาศให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบโดยทั่วกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศใช้และปิดประกาศโดยเปิดเผยไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

หมายเหตุ เดิมใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำและประสานแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 (ถูกยกเลิก) ข้อ 20 คณะอนุกรรมการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นระดับอําเภอ ประกอบด้วย (1)นายอําเภอ ประธานอนุกรรมการ ... ดู http://www.local.moi.go.th/webst/eb130250_2.pdf 
 

[11] อัญชลี จวงจันทร์, “การทุจริตเชิงนโยบาย”, กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ สภาผู้แทนราษฎร, 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-article27.pdf 

(ทุจริตเชิงนโยบายคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน บวกกับอํานาจกำหนดนโยบาย… การทุจริตเชิงนโยบายจึงเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเครื่องมือในการทำงาน)

[12] ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในการให้บริการสาธารณะ ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 185 ง หน้า 25-27 วันที่ 23 ธันวาคม 2552)

[13] เดิม “ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ศตส.)” ปัจจุบันคือ “ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.)” ดู http://www.nccd.go.th/index.php?mod=news&id=261 

หมายเลขบันทึก: 593385เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2015 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2022 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจบแล้วทั้งเหนื่อยทั้งกลุ้ม

มันเงินของเราทั้งนั้น

เป็นไปได้มั๊ยคะที่ ท้องถิ่นแทนที่จะสร้างถนน ถมถนน ทุบถนน เป็นการพัฒนาที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคนบ้าง เช่น มีศูนย์ยาวชนท้องถิ่น ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น อะไรทำนองนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท