พระบรมราชานุสาวรีย์ที่เมืองบางขลัง สุโขทัย


พระบรมราชานุสาวรีย์ที่ได้รับการอนุญาตถูกต้อง และกำกับการสร้างทุกขั้นตอนจากกรมศิลปากร


ข่าวการอัญเชิญตลอดจนการบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ 7 พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ณ อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ปรากฏข่าวทั้งในทีวีและในหน้าหนังสือพิมพ์ ได้สร้างความเลื่อมใสศรัทธา ความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นถึงความสวยงาม ได้สัดส่วน เด่นเป็นสง่า

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราจะพบเห็นอนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถานและรูปเคารพเป็นจำนวนมาก หลายแห่งผิดรูปแบบ ไม่ได้สัดส่วน สถานที่ตั้งไม่เหมาะสม ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และก็ยังคงดำรงอยู่

นายอารักษ์ สังหิตกุล ในสมัยที่เป็นอธิบดีกรมศิลปากร (มติชน 25 มิ.ย. 2550) เห็นความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.อนุสาวรีย์แห่งชาติ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถานและรูปเคารพ “...เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ อนุสรณ์สถาน และพระพุทธรูปสำคัญ ในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีการจัดสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต 20% และที่ไม่ขออนุญาตอีก 20%นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญและการจำลองพระพุทธรูปยังผิดแบบ ผิดจากหลักโครงสร้างสรีระจริงของมนุษย์ ไม่ได้สัดส่วน และจัดสร้างในสถานที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันกรมศิลปากรก็ยังไม่มีอำนาจไปเอาผิด...”

สอดคล้องกับงานวิจัยของพักตร์สุภางค์ เหลืองธีรกุล (เมษายน 2556) เรื่องปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถานและรูปเคารพ (ทุน สนง.เลขาธิการวุฒิสภา) พบว่า มีเพียงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่กำหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต พิจารณารายละเอียดอื่นๆ หากผู้สร้างไม่ขออนุญาตก็สร้างได้ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน กรมศิลปากรจึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติอนุสาวรีย์แห่งชาติ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถานและรูป เคารพ พ.ศ..... ต่อรัฐสภา แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วยังเห็นว่าไม่มีความจำเป็นในการตรา ขึ้นมา สามารถนำกฎหมายอื่นมาปรับใช้แทนได้ พักตร์สุภางค์จึงได้ศึกษากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พบว่า

พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ไม่สามารถนำมาบังคับได้เพราะไม่เข้าลักษณะของโบราณสถาน โบราณวัตถุ

ไม่ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ...” หรือมาตรา 206 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้นต้องระวางโทษ...” เนื่องจากหลักของกฎหมายอาญาของผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาทที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ซึ่งการสร้างอนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน รูปเคารพของผู้คนทั่วไปส่วนมากเกิดจากศรัทธา ความเชื่อ และความเลื่อมใส มิได้เกิดจากเจตนาอาฆาตมาดร้ายที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน เพียงแต่ผู้สร้างอาจสร้างขึ้นด้วยการขาดความระมัดระวังในเรื่องของรูปลักษณะที่ถูกต้องสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ พุทธประวัติ หรือเกิดจากความเชื่อส่วนบุคคล เมื่อรูปเคารพดังกล่าวปรากฏต่อสาธารณชนอาจทำให้ผู้พบเห็นบางคนศรัทธาตามที่ผู้สร้างประสงค์จะแฝงความเชื่อดังกล่าวไว้ หรือบางคนอาจขาดศรัทธาในพุทธศาสนา หรือบางกรณีอาจเป็นที่มาของความขัดแย้งทางศาสนา ความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้พบเห็นก็มิใช่เครื่องพิสูจน์ว่าผู้สร้างอนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน และรูปเคารพที่มีลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปจากประวัติศาสตร์ พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ หรือพุทธประวัติ มีเจตนากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๒๐๖ อันจะทำให้ผู้สร้างถูกลงโทษตามกฎหมาย จึงไม่สามารถนำประมวลกฎหมายอาญามาปรับใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ไม่สามารถนำพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับได้ เพราะเป็นเพียงกฎหมายที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างให้มีขนาด หลักเกณฑ์และวิธีการตามความเหมาะสม เพื่อให้อาคารมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยสำหรับใช้สอยอาคารเท่านั้น การสร้างอนุสาวรีย์ที่ถูกต้องนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2520 ซึ่งยังคงใช้มาถึงปัจจุบัน ต้องส่งเรื่องไปที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (แต่เดิมขึ้นตรงกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญเป็นผู้รับผิดชอบอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ส่วนการจำลองพระพุทธรูปสำคัญและพระบรมรูปของพระบรมราชจักรีวงศ์จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต โดยเสนอผ่านกรมศิลปากรเช่นกัน

ความหมายของอนุสาวรีย์แห่งชาติ กรมศิลปากรได้ให้ความหมาย ดังนี้

“พระบรมราชานุสาวรีย์” หมายความว่า อนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณอย่างยิ่งใหญ่แก่ชาติไทยในยุคสมัยต่างๆ ตามที่มีเรื่องหรือพระนามปรากฏในเอกสาร หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะหรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการบูชาและชมได้

“อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” หมายความว่า สิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมายน้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรมหรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมืองไทย สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นที่รวมพลังใจ ศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน และเป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป และสิ่งก่อสร้างนั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะหรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการบูชาและชมได้

ขั้นตอนการขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ ขอเสนอโดยสังเขป 7 ข้อหลัก ดังนี้

1.ผู้มีความประสงค์จะขออนุญาตดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมจัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ ประวัติอนุสาวรีย์ที่ประสงค์จะจัดสร้าง, เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง, ผังบริเวณสถานที่ที่จะจัดสร้าง ตำแหน่งที่จะติดตั้งอนุสาวรีย์, ลักษณะรูปแบบและขนาดที่จะจัดสร้าง, ระบุชื่อผู้รับผิดชอบในการจัดสร้าง ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ดำเนินการจ้างภาคเอกชนดำเนินงานปั้น-หล่อ ให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม คือ ชื่อประติมากร พร้อมประวัติและผลงานที่เคยดำเนินการปั้นรูปเหมือนมาแล้วกับหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบได้ ถ้าผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์มอบให้กรมศิลปากรดำเนินการ ไม่ต้องส่งเอกสาร แต่ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด

2. คณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติจะพิจารณาประวัติอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้ง หรือ ประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานที่ขออนุญาตดำเนินการสร้าง, เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง, มอบหมายผู้แทนคณะกรรมการไปพิจารณาความเหมาะสมของสถานที่สร้างอนุสาวรีย์, พิจารณาประวัติและผลงานของประติมากร (ในกรณีที่จ้างภาคเอกชนดำเนินการปั้น-หล่อ)

3. เมื่อคณะกรรมการพิจารณาหลักฐานแล้ว จะให้ความเห็นดังนี้ เห็นชอบในหลักการสร้างอนุสาวรีย์, เห็นชอบสถานที่จัดสร้าง และตำแหน่งที่ติดตั้งอนุสาวรีย์, เห็นชอบประวัติและผลงานประติมากร

4. ให้ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ดำเนินการต่อไป ดังนี้ จัดส่งรูปต้นแบบ (รูปจำลอง) อนุสาวรีย์ที่ทำด้วยขี้ผึ้ง ดินน้ำมัน หรือปูนพาสเตอร์ ขนาดความสูง 10-12 นิ้ว, จัดส่งแบบแท่นประดิษฐานบริเวณใกล้เคียง พร้อมผังบริเวณซึ่งเป็นแบบทางสถาปัตยกรรมโดยมีสถาปนิกและวิศวกรลงนามรับรอง, จัดส่งร่างคำจารึกอนุสาวรีย์

5. คณะกรรมการจะพิจารณาและให้ความเห็นชอบการขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ตามหลักฐานในข้อ 4

6. เมื่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบทุกขั้นตอนแล้วจะดำเนินการ ดังนี้ - ในกรณีที่เป็นอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ จะต้องดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยให้ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์จัดส่งเอกสารดังนี้ ตารางประกอบการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 2 ชุด, ภาพถ่ายรูปต้นแบบขนาดโปสการ์ด รูปด้านหน้า ด้านหลัง ด้านขวา และด้านซ้าย จำนวนด้านละ 4 ภาพ, แบบแท่นฐาน จำนวน 4 ชุด , คำจารึกอนุสาวรีย์ (คำจารึกนี้ต้องเป็นเอกสารที่คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว) - ในกรณีที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต กรมศิลปากรจะแจ้งให้ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ทราบ - เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะดำเนินการปั้นขยายต้นแบบอนุสาวรีย์ได้ และต้องแจ้งให้กรมศิลปากรทราบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทุกขั้นตอน

7. ถ้าอนุสาวรีย์ที่ขออนุญาตสร้างนั้นไม่ใช่อนุสาวรีย์เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ กรมศิลปากรจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งในการปั้นขยายต้นแบบ จะต้องแจ้งให้กรมศิลปากรทราบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทุกขั้นตอน

พระบรมราชานุสาวรีย์ ๒ พ่อขุน ณ เมืองบางขลัง

เทศบาลตำบลเมืองบางขลังได้ดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอน ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2552 (ยังเป็น อบต.) โดยทำหนังสือผ่านนายอำเภอสวรรคโลก นายวีระชัย ภู่เพียงใจ นายอำเภอสวรรคโลกในขณะนั้น ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์สองกษัตริย์ (พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง) ประดิษฐาน ณ ที่หน้าที่ทำการ อบต.เมืองบางขลังแห่งใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

เพื่่อเชื่อมโยงโบราณสถานเมืองบางขลังตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น, เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของของประชาชนตำบลเมืองบางขลัง ชุมชนใกล้เคียง และชาวจังหวัดสุโขทัย, เพื่อให้เยาวชน และประชาชนตำบลเมืองบางขลังเกิดความสนใจต่อวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ตลอดจนเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติพระองค์ท่าน

กรมศิลปากรได้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ถึงการอนุมัติ แก้ไข ปรับปรุงตามลำดับ สรุป ดังนี้ (มติที่ประชุมคณะ กรรมการฯ ครั้งที่ 3/2557 วันที่ 14 มี.ค. 2557)ตามที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ได้ขออนุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมือง (ที่ สท 0617/4967 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2552) สำเนาหนังสือ จ.สุโขทัยเห็นชอบโครงการฯ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วยนั้น สำนักช่างสิบหมู่ขอความอนุเคราะห์สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบพระราชประวัติ ผลการตรวจสอบ ดังนี้

1. การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนผาเมือง ณ บริเวณเมืองบางขลัง มีความเหมาะสมทางด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดศรีชุม และศิลาจารึกนครชุม ซึ่งสรุปได้จากหลักฐานทั้ง 2 แห่ง เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองบางขลัง และวีรกรรมของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ที่นำพลมารวมกันที่เมืองบางขลัง หรือบางขลัง หรือ บางฉลัง แล้วเข้าตีได้เมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง จากนั้นพ่อขุนผาเมืองยกเมืองสุโขทัย พร้อมทั้งพระนาม ศรีอินทรบดินทราทิตย์ รวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรีให้พ่อขุนบางกลางหาว ถือเป็นการสถาปนาอำนาจของราชวงศ์พระร่วงที่เมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

2. สถานที่ก่อสร้าง ณ เมืองบางขลัง เป็นสถานที่ที่เหมาะสมตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

3. การเรียกนามอนุสาวรีย์ควรใช้ว่า พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง

ซึ่งในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้พิจารณามาตามลำดับและมีมติสรุปได้ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการ ให้อำเภอสวรรคโลกจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง

2. เห็นชอบสถานที่ก่อสร้างบริเวณด้านหน้าที่ทำการ อบต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

3. เห็นชอบให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประดิษฐานคู่พระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง

4. เห็นชอบประวัติและผลงานประติมากร (นายกิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา)

5. เห็นชอบต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง

6. เห็นชอบร่างคำจารึกฯ ที่คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ตรวจสอบแก้ไขแล้ว

7. เห็นชอบแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ที่ทาง ทต.เมืองบางขลังได้ปรับแก้ตามคำแนะนำของผู้แทนกรรมการฯ

กรมศิลปากรโดยผู้แทนกรรมการฯ แจ้งว่า ได้ตรวจการปั้นขยายพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง โดยมีข้อแก้ไขบางประการ ซึ่งประติมากรได้แก้ไขตามคำแนะนำถูกต้องทุกประการแล้ว เห็นสมควรให้ดำเนินการต่อไปได้

บัดนี้การปั้นขยาย ที่โรงหล่อ จ.นครปฐม ได้สำเร็จเสร็จสิ้น รอคอยการอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองบางขลังในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาต่อไป การเดินทางมาสักการะพระองค์ท่านนั้นสะดวก สบาย เพราะอยู่ติดถนนสายเมืองเก่าสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย (อยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 เมืองเก่า) อยู่ห่างจากสนามบินสุโขทัย (บางกอกแอร์เวย์ส) และโรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ ประมาณ 20 ก.ม.

ท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณ คุณลุงประจวบ คำบุญรัตน์, รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี, นายแพทย์ปราเสริฐ-อ.วัลลีย์ ปราสาททองโอสถ, คุณขรรค์ชัย บุญปาน, คุณโสมสุดา ลียะวนิชย์, คุณวีระชัย ภู่เพียงใจ, ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ, กวีซีไรต์โชคชัย บัณฑิต’ ปี 2544, คุณดวงใจ บัณฑิตศิละศักดิ์, คุณกฤตชญาภัค อุ่นเสรี, อ.สมคิด แห้วเหมือน ผู้มีอุปการคุณที่ได้ให้ความช่วยเหลือฟื้นเมืองบางขลังด้วยดีเสมอมา จนทำให้มีวันนี้ วันที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมืองประดิษฐานคู่กัน เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ จ.สุโขทัย และประเทศไทยสืบไป.

หมายเลขบันทึก: 593303เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2015 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2015 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท