อิทธิพลของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติต่อระบบการเมืองไทย (ตอนที่๑)


จึงทันทีที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านออกมาแสดงท่าทีที่จะแก้ไขร่าง ทำให้ “ไอ้โม่ง” ที่แอบ อยู่หลังฉากต้องเผยโฉมออกมากดดันให้ “เดินหน้า” ตามร่างเดิมในมาตรา 190

อิทธิพลของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติต่อระบบการเมืองไทย (ตอนที่๑)

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

ไม่น่าเชื่อว่าจู่ๆ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยอมตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ทำการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากเดิมในมาตรา 200 เป็นร่างใหม่ มาตรา 190 ดังนี้

ของเดิม ในหมวด 5 การคลังและการงบประมาณ

มาตรา 200 เงินแผ่นดินหมายความรวมถึง

(1) เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือ หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม

(2) เงินรายได้จากการดำเนินงาน หรือจากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองและใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ โดยไม่จำต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

การใช้จ่ายเงินแผ่นดินตาม (1) โดยไม่ได้ตราเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือ พระราชบัญญัติ งบประมาณเพิ่มเติม จะกระทำมิได้

การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดินตาม (2) ต้องมีขอบเขตและ กรอบวงเงินเท่าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการ ใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ”

เป็นของใหม่

มาตรา 190 การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องจัดเก็บจากฐานภาษีต่างๆ ให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สิน

การกำหนดนโยบายและอัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลัง และข้อผูกพันระหว่างประเทศ

ให้มีการจัดระดับของภาษีเป็นสองระดับ คือ ภาษีระดับชาติ และภาษีระดับท้องถิ่น

การตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมาย ซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์การบริหารท้องถิ่น หรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้”

และมีอีกมาตราในบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวโยงกันด้วย คือ

มาตรา 281 ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้ มาบังคับใช้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 190 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงิน จากผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรืออากร โดยให้บทบัญญัติที่หน่วยงานจัดเก็บและจัดสรรเงินดังกล่าวได้นั้น มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก เป็นเวลาไม่เกินสี่ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”

ผลของการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญจากเดิมในมาตรา 200 เปลี่ยนเป็นร่างใหม่ มาตรา 190 บวกกับบทเฉพาะกาล จะมีผลให้องค์กรที่ทำงานต่อสู้กับบริษัทบุหรี่มาอย่างเข้มแข็ง และได้ผลอย่าง สสส. จะต้องถูกเปลี่ยนหลักการที่มาของรายได้ไปโดยสิ้นเชิงไปตามระยะเวลาในบทเฉพาะกาล คือ 4 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จากเดิมได้รับเงินจาก “ภาษีบาป” โดยตรง ต้องไปของบประมาณจากรัฐบาลแทน

อีกองค์กรหนึ่งที่จะต้องถูกเปลี่ยนหลักการที่มาของรายได้เช่นเดียวกันไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรนูญนี้คือ ไทยพีบีเอส

นอกจากนี้ยังกระทบกับอีกหลายหน่วยงาน เช่น กองทุนประกันสังคม และกองทุนกีฬาตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกมาหยกๆ

เท่าที่ทราบ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญส่วนมาก ยังไม่ทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นนี้ จึงมิได้มีการโต้แย้งหลักการ ของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้ มีเพียงการขอขยายระยะเวลาบทเฉพาะกาลจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เท่านั้น

เป็นไปได้ไหมว่า นี่เป็นชัยชนะของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ขัดขวางการต่อสู้ ของประชาชนคนไทยที่ต่อสู้เรื่องบุหรี่มาอย่างยาวนาน สะสมชัยชนะมาโดยลำดับ สามารถเข้ามาจับให้เรา “แพ้น็อค” จนได้ในคราวนี้

เพราะขณะที่เรากำลังเสนอแก้ไขกฎหมายบุหรี่เพื่อคุ้มครองคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนของเราให้เข้มแข็งขึ้น โดยยังไม่รู้ชะตากรรมว่ากฎหมายจะฝ่าด่านวิบากมากมายออกมาได้หรือไม่ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติสามารถ “ลักไก่” “สอดไส้” แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายกลไกของรัฐไทยที่เคยขับเคี่ยวกับธุรกิจบุหรี่มาได้อย่างถึงลูกถึงคน ลงไปได้เช่นนี้

ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศไทยโดย “คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ” จะ “เสียที” แก่บริษัทบุหรี่ต่างชาติ ได้ถึงเพียงนี้

เคราะห์ดีที่แม้จะมีการทำเรื่องนี้ในลักษณะ “ลักหลับ” แต่ก็มีข่าวรั่วออกมาทันเหตุการณ์ ทำให้เกิดการตื่นตัว ต่อต้านอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนทำให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ “สุจริต” และ “รักชาติรักประชาชน” ได้ “ตื่น” และออกมาแสดงท่าทีที่จะยอมแก้ไข

แต่เพราะเรื่องนี้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ รู้ดีถึงธรรมชาติของผู้มีอำนาจในระบบการเมืองไทยว่าเป็นไปตามที่ “พระลอ” เคยกล่าวไว้ว่า “เอาสินสกางสอดจ้าง แข็งดั่งเหล็กเงินง้าง อ่อนได้โดยใจ” งานนี้ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติควักเงิน ออกมาโปรยก้อนโตแล้ว ถือเป็นการ “ลงทุน” อย่างหนึ่ง

จึงทันทีที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านออกมาแสดงท่าทีที่จะแก้ไขร่าง ทำให้ “ไอ้โม่ง” ที่แอบ อยู่หลังฉากต้องเผยโฉมออกมากดดันให้ “เดินหน้า” ตามร่างเดิมในมาตรา 190

“ยุทธการ ‘ลักหลับ’ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้ จึงต้องต่อสู้กันไปอย่างไม่กระพริบตา

คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ ทำไมเกิดสงครามเช่นนี้ขึ้น?

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้จำเป็นต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ

สงครามบุหรี่ในประเทศไทย

การต่อสู้กับบริษัทบุหรี่เป็นสงครามยืดเยื้อยาวนาน เริ่มตั้งแต่เมื่อสหรัฐอเมริกามีผลการศึกษาทาง ระบาดวิทยา และการศึกษาในสัตว์ทดลอง สรุปได้ชัดเจนว่า บุหรี่เป็นต้นเหตุของมะเร็ง และศัลยแพทย์ใหญ่ (Surgeon General) ของสหรัฐได้ประกาศว่า “บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” และเริ่มมีการกำหนดให้พิมพ์ข้อความคำเตือน ดังกล่าวบนซองบุหรี่

ในประเทศไทย ผู้ที่เริ่มรณรงค์เรื่องนี้คนแรกๆ คือ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แห่งโรงพยาบาล ชลประทาน ร่วมกับแพทย์อีก 3 ท่าน เป็น “สี่ทหารเสือ” คือ นายแพทย์เวทย์ อารีย์ชน แห่งโรงพยาบาล โรคทรวงอก นายแพทย์ธีระ ลิ่มศิลา ศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ นายแพทย์ศรีวงศ์ หะวานนท์ แห่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมรณรงค์เสนอให้พิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ว่า “บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

คงจะเป็นเพราะการรณรงค์ขับเคลื่อนสมัยนั้น ยังทำกันในวงแคบ เฉพาะวงวิชาชีพเป็นหลัก ไม่เป็นไปตามหลัก “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี คือ ต้องทำ 3 อย่างคู่ขนานกันคือ 1) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความรู้ 2) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสังคม (Social movement) และ 3) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบาย ในที่สุดจึงได้ผลเพียงให้พิมพ์คำเตือนว่า “บุหรี่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” เป็นการลด “พลัง” ของคำเตือนว่าบุหรี่ “อาจ” เป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

การต่อสู้กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมาเข้มข้นขึ้น เมื่อบริษัทเหล่านี้เข้ามาบีบบังคับให้เราเปิดตลาดให้แก่บริษัท บุหรี่ต่างชาติ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการยื่นข้อเสนอในลักษณะบีบบังคับให้เราต้องทำตามหลายข้อ ที่สำคัญคือให้เรายกเว้นภาษีนำเข้าและยอมให้มีการโฆษณา

โชคดีที่ก่อนหน้านั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เข้ามา “จับ” เรื่องนี้ โดยมุ่งเน้นสร้างความ เข้มแข็งภาคประชาชน ด้วยการตั้ง “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ขึ้นในมูลนิธิหมอชาวบ้าน เมื่อปี 2529 เป็นการเริ่ม “ตำนานการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ของภาคประชาชนจนเข้มแข็ง “โครงการ” ดังกล่าวสามารถ “โบยบิน” (Spin off) ออกไปตั้งเป็นมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในเวลาต่อมาและทำงานอย่างเข้มแข็ง มาจนถึงปัจจุบัน

บุคคลสำคัญที่เข้ามาจับงานนี้อย่างจริงจัง และทำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ แห่งคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม จากคณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บุคคลที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนที่เข้ามาทำงานอย่างแข็งขัน คือ คุณพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร มีเจ้าหน้าที่ ที่ “กัดติด” เรื่องนี้ อย่างเอาการเอางาน คือ คุณบังอร ฤทธิภักดี อักษรศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเข้าร่วม “ขบวนการแพทย์ชนบท” โดยออกไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับนายแพทย์สมชัย ศิริกนกวิไล มาก่อน

ผมมีโอกาสร่วมประชุมเรื่องนี้กับโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่ปี 2529 ตอนนั้น การวิ่งออกกำลังกายกำลังฮิตในประเทศไทย ผมจึงคิดเชื่อมโยงเรื่องวิ่งเข้ากับเรื่องรณรงค์บุหรี่ และนำไปเสนอ พรรคพวกในชมรมแพทย์ชนบท จนเกิดโครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของแพทย์ชนบทจาก 4 ภาค 5 สาย โดยภาคอีสานแบ่งเป็น 2 สาย วิ่งมาบรรจบกันที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530

ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการวิ่งรณรงค์ครั้งนั้นคือ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการคนสำคัญ ในแพทยสภาสมัยนั้นเป็นตัวตั้งตัวตี และเอาจริงเอาจังกับโครงการวิ่งและไปร่วมวิ่งกับผมทางสายใต้ ซึ่ง เริ่มจากสวนโมกข์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ตอนนั้นนายแพทย์ชูชัยเป็นผู้อำนวยโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เส้นทางวิ่งของสายใต้ได้แวะพักค้างคืนที่โรงพยาบาลสิชล หนึ่งคืนด้วย

ระหว่างเส้นทางวิ่งรณรงค์ มีการขอลายเซ็นสนับสนุนจากประชาชนตามรายทางได้ราว 6 ล้านชื่อ นำไปมอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น คือ นายชวน หลีกภัย ที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ทาง กทม. ซึ่งผู้ว่าฯ เวลานั้น คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รับเป็นผู้เก็บรักษารายชื่อเหล่านั้นไว้ เป็นเวลาหลายปีก่อนทำลายทิ้งในเวลาต่อมา

การวิ่งรณรงค์ครั้งนั้น สื่อต่างๆ โดยเฉพาะโทรทัศน์ให้ความสนใจทำข่าวอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องตลอด 7 วันของการวิ่ง สามารถสร้างกระแสสังคม และผลกระทบอย่างกว้างขวาง

ก่อนหน้านั้น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ปฏิรูปการทำข่าวโทรทัศน์ ทำให้ “ข่าว 9 อสมท.” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง มีนักข่าวสาวสวยคนหนึ่งที่สนใจเรื่องการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่าง ต่อเนื่อง คือ คุณลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ได้ร่วมกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ขออนุญาตคนไข้ นำเสนอภาพ และเสียงของคนไข้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคที่เกิดเพราะบุหรี่คือโรคถุงลมโป่งพอง ออกอากาศ ภาพของคนไข้ ที่แม้แต่พูดก็หอบเหนื่อย เป็นที่น่าสังเวช และ “โดนใจ” ผู้คนอย่างกว้างขวาง

นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ผู้บริหารระดับสูงในกรมการแพทย์ขณะนั้น เห็นข่าว “หมอรุ่นใหม่” วิ่งรณรงค์เรื่องบุหรี่แล้วเกิด “ความละอายใจ” อย่างมาก เพราะตนเองมีหน้าที่ดูแลเรื่อง “โรคไม่ติดต่อ” ซึ่งมีโรคที่บุหรี่เป็นสาเหตุอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ตนเองยังสูบไปป์อยู่เป็นนิจ จึงเริ่มออกมาร่วมขบวนการ รณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่บัดนั้น

นายแพทย์หทัย เป็นนักวิชาการคุณภาพ เมื่อมาจับงานเรื่องนี้ ก็ทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ และต่อสู้อย่างมีจังหวะจะโคน สร้างตำนานการต่อสู้กับบริษัทต่างชาติไว้อย่างถึงลูกถึงคน

ผู้นำประเทศขณะนั้น คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของประเทศไทยไว้อย่างน่าชื่นชม

ตอนต้นปี พ.ศ. 2531 โรงงานยาสูบของไทยได้เสนอโครงการปรับปรุงโรงงาน เป็นโครงการใหญ่ เพื่อ เตรียมผลิตบุหรี่ไทยต่อสู้กับ “บุหรี่นอก” อย่างเต็มที่ ใช้งบประมาณกว่าพันล้าน จะมีการซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามา ปรับปรุงโรงงานขนานใหญ่ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ

พอมีข่าวออกมา ขบวนการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ก็ออกโรงคัดค้าน ปรากฏว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงภาวะผู้นำที่ยึดประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ยกเลิก การซื้อเครื่องจักรใหม่ ให้ใช้วิธีซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมแทน งบประมาณลดลงไปเหลือเพียง ร้อยล้านเศษ และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปร่างแผนควบคุมยาสูบเข้ามาพิจารณาภายใน 3 เดือน

นายแพทย์หทัย จึงมีโอกาสได้แสดงบทบาทในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ และทำได้ดียิ่ง

เมื่อบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เสนอจะสนับสนุนกีฬา พล.อ.เปรม ก็ออกมาพูดชัดเจนว่าเป็นการไม่เหมาะสม

น่าเสียดายที่มีกระแส “เบื่อป๋า” จากบรรดานักวิชาการ นักธุรกิจ และปัญญาชนในเมืองจำนวนมาก ทำให้พล.อ.เปรม ประกาศวางมือจากตำแหน่งทางการเมือง โดยพูดสั้นๆ ตามสไตล์ “เตมีย์ใบ้” ของท่านว่า “ผมพอแล้ว”

อำนาจถูกส่งทอดไปยัง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ จึง “รุก” ไทยทันที ในลักษณะของ”นักเลงโต” บังคับให้มีการเจรจาเพื่อเปิดตลาดบุหรี่ให้แก่บุหรี่ ต่างชาติ ในลักษณะของการเจรจาแบบ “รัฐต่อรัฐ” ซึ่งไทยย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก เพราะการเจรจาเช่นนั้น ก็เหมือนบังคับให้นักมวยไทยอย่างเขาทราย กาแล็กซี่ ไปยืนซดหมัดตัวต่อตัวกับไมค์ ไทสัน อย่างไงอย่างงั้น

แต่น่ายินดี ที่ประเทศไทยสามารถต่อสู้ได้อย่าง “เล็กพริกขี้หนู” และอย่างสมศักดิ์ศรีโดยแท้

............................

หมายเลขบันทึก: 593240เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2015 06:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2015 06:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ เป็นข้อเท็จจริงลึกๆ แบบวงในที่มีคุณค่ามาก ประชาชน โดยเฉพาะคนสาธารณสุขควรรับทราบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท