กัลยา แซ่ชิต : ​ความตายที่ไม่ปรารถนา


ความตายที่ไม่ปรารถนา

กัลยา แซ่ชิต

โรงพยาบาลสงขลา

ป้านงค์อายุ 58 ปี เป็นคนอารมณ์ดี ชอบร้องเพลงรำวง รับทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านม 2 ปี และรู้ว่าโรคได้ลุกลามไปถึงกระดูกและตับแล้ว ป้านงค์มานอนโรงพยาบาลครั้งนี้ด้วยอาการปวดสะเอวและขา 2 ข้าง ลุกนั่งไม่ได้ ปัสสาวะไม่ออก แต่ป้านงค์ก็ยัง ร่าเริง พูดคุยสนุก และให้กำลังใจเพื่อนข้างเตียงอยู่เสมอ วันหนึ่งฉันได้รับปรึกษาเพื่อไปคุยเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้กับป้านงค์ วันนั้นป้านงค์อยู่คนเดียวไม่มีญาติอยู่ด้วย ฉันได้เข้าไปทักทายพูดคุยถามถึงอาการเจ็บป่วยที่ต้องมานอนโรงพยาบาลและเรื่องทั่วไป หลังจากที่ได้พูดคุยทำความรู้จักกันพอประมาณ ฉันจึงถามถึงการรับรู้เรื่องโรค ป้านงค์บอกถึงการวินิจฉัยอย่างหน้าตาสดชื่น

ป้านงค์ “มะเร็งมาอยู่กับป้าที่เต้านมมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้มะเร็งมันไปอยู่ที่ตับและกระดูกแล้วด้วย

พยาบาล “แล้วป้ารู้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้ามะเร็งกระจายไปหลายที่ ป้ากลัว กังวล บ้างไหม

ป้านงค์ “หมอบอกป้าว่ารักษาไม่หายแล้ว ตอนนี้มันมาอยู่กับป้า ต่อไปป้าก็จะไปอยู่กับมัน แต่ป้าไม่กลัวหรอก ป้าบอกมันทุกวันว่าให้มันอยู่กับป้าให้ดีๆนะอย่าทำอะไรป้า แล้วป้าไปเที่ยวไหน ป้าก็จะพาไปด้วย แต่ถ้าเมื่อไรทำให้ป้าไม่สบาย ป้าเจ็บป้าไปไหนไม่รอด มันก็จะไม่ได้ไปเที่ยวกับป้า

พยาบาล : “แล้วป้าจะทำอย่างไรถ้ามะเร็งมันทำร้ายป้ามากๆเข้า แล้วป้าต้องไปอยู่กับมัน

ป้านงค์ : “ป้าก็ยอมไปอยู่กับมันซิ มันก็อาศัยอยู่กับป้ามานานแล้ว

พยาบาล : “แล้วป้าจะยอมไปกับมันง่ายๆหรือ” และเริ่มเปิดประเด็น ACP (Advance Care Plan) ทันที โดยทบทวนถึงการรับรู้เรื่องโรคและการดำเนินโรคซ้ำ

พยาบาล : “ป้า หมอบอกใช่ไหมคะ ว่ามะเร็งกระจายไปในร่างกายป้าหลายที่ แล้วก็รักษาไม่หาย”

ป้านงค์ : “ใช่”

พยาบาล : “อันนี้เรามาคุยกันเล่นๆไว้ก่อนนะคะ เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ในขณะที่ป้ายังสามารถที่จะบอกความต้องการของป้าได้ เพื่อให้ลูก หลาน และหมอได้ทำตามที่ป้าต้องการได้ ถ้าสมมุติว่าเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ (วันที่ป้าต้องไปอยู่กับมะเร็ง และต้องจากครอบครัวไปจริงๆ) ป้าเคยคิดไว้บ้างไหมว่า ป้าจะทำยังไง จะให้หมอช่วยอะไรบ้าง เช่นว่า ถ้าป้าเหนื่อย หายใจไม่ออก หมอก็จะช่วยให้ออกซิเจน ให้ยา เพื่อไม่ให้ป้าต้องทรมาน แต่ถ้าป้าเหนื่อยมากๆ หมอจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือว่าถ้าหัวใจป้าเต้นช้าลง หัวใจหยุดเต้นไป ป้าจะให้หมอใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจหรือว่านวดหัวใจป้าอีกไหม

ป้านงค์ (ตอบทันทีโดยไม่รีรอ) : “ป้าคิดไว้นานแล้วว่าป้าเป็นโรคนี้ถึงช่วยป้าก็ไม่หาย ให้ป้าไปอยู่กับมันให้สบายๆดีกว่านะ

พยาบาล : “หมายถึงว่าเมื่อถึงเวลานั้นป้า ไม่ต้องการให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ กระตุ้นหัวใจ หรือนวดหัวใจอีก

ป้านงค์ : “ใช่ ถึงทำไปก็เจ็บเปล่าๆ แล้วถ้าอยู่ได้อีกหลายวันลูกๆก็จะลำบาก

พยาบาล : “เรื่องนี้ป้านงค์บอกใครแล้วยังค่ะ”

ป้านงค์ : “บอกลูกสาวคนที่อยู่ด้วย ลูกๆคนอื่นและสามียังไม่ได้บอก”

หลังจากนั้นได้นัดครอบครัวมาทำ Family Meeting เพื่อให้ป้านงค์ได้บอกถึงความปรารถนาครั้งสุดท้ายที่เขาต้องการให้ครอบครัวได้รับทราบ ทุกคนยินยอมทำตามความต้องการของป้านงค์ที่บอกไว้ แต่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เนื่อง จากครอบครัวบอกว่า ในบ้านไม่มีใครกล้าขัดใจหรือขัดคำสั่งป้านงค์ได้ ป้านงค์เป็นคนค่อนข้างดื้อถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ได้

2 เดือนต่อมา ป้านงค์เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อย และปวดขา 2 ข้างมาก มีลูกสาวเฝ้าดูแลในช่วงกลางวัน

ส่วนช่วงกลางคืนสามีจะเฝ้าดูแล ป้านงค์มานอนโรงพยาบาลหลายวัน เช้าวันหนึ่ง ลูกสาวป้านงค์โทรมาหาฉัน ด้วยเสียงสั่นเครือและร้องไห้ บอกว่า ป้านงค์ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วเมื่อคืนนี้ เพราะเหนื่อย พ่อได้ให้หมอใส่ เพราะพ่อทำใจไม่ได้ แต่ตนเองและน้องๆไม่อยากขัดใจแม่ที่สั่งเสียไว้ กลัวแม่ตื่นมาจะโกรธ และแล้วก็เป็นความจริง เมื่อป้านงค์ตื่นขึ้นมา ก็พยายามที่จะดึงท่อช่วยหายใจ จนต้องผูกยึดมือไว้ ทุกวันป้านงค์พยายามเอามือชี้ไปที่ท่อช่วยหายใจ จะให้เอาออก และเมื่อสามีเข้ามาเยี่ยม ป้านงค์จะเมินหน้าหนี ลูกๆทุกคนกังวลกับอาการทุกข์ทรมานของป้านงค์ที่พยายามจะดึงท่อช่วยหายใจ และอารมณ์หงุดหงิดทุรนทุรายตลอดเวลา เมื่อตื่นขึ้นมา ทางทีมงานได้นัดทำ Family meeting กับครอบครัว อีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลและประเมินครอบครัวเรื่องการทำตามความประสงค์ของป้านงค์ แต่สามีของป้านงค์ก็ยังไม่ยินยอม

ป้านงค์ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ 5 วัน หลังจากนั้นเริ่มไม่รู้สึกตัว สามีของป้านงค์จึงยินยอมให้ยุติการพยุงชีพ เอาท่อช่วยหายใจออก แต่มันสายเกินไปเสียแล้ว ในเมื่อหลังจากที่เอาท่อช่วยหายใจออก ป้านงค์ไม่สามารถที่จะพูดคุยสื่อสารถึงสิ่งที่อยากบอกได้อีกต่อไปแล้ว หลังจากเอาท่อช่วยหายใจออก 1 วันป้านงค์ก็จากไปอย่างสงบ ในขณะที่สามีพูดออกมาหนึ่งคำก่อนป้านงค์จากไปว่า “รู้พันนี้เอาท่อออกตอนแม่ยังแหลงได้กะดี จะได้แหลงกันสักคำก่อนไป”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการนำไปสู่การทำ Advance care plan

การเริ่มพูดคุยเรื่อง ACP ขึ้นอยู่กับโอกาส หรือมีจังหวะที่เหมาะสมในขณะสนทนาที่จะเปิดประเด็นให้ผู้ป่วยได้เปิดใจและเต็มใจพูดคุยเรื่องการวางแผนดูแลตนเองล่วงหน้าโดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ ซึ่งการเริ่มต้นสนทนาเปิดประเด็นต้องอาศัยการมีทักษะการสื่อสารที่ดีของบุคลากรด้วย ในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ป่วยได้รับรู้เรื่องโรคมาแล้ว หรือประเมินได้ว่าผู้ป่วยสามารถยอมรับกับธรรมชาติของชีวิตได้ เห็นความสำคัญในการวางแผนการดูแลล่วงหน้า จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นในการนำไปสู่กระบวนการสนทนาเรื่อง Advance care plan และการมีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงความประสงค์ของครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความสำเร็จในความประสงค์ที่วางไว้ของผู้ป่วยด้วย

หมายเลขบันทึก: 593036เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท