จากอำเภอคุณธรรมสู่จังหวัดคุณธรรม (5) ตลาดนัดความดี


แต่เมื่อเริ่มด้วยการแบ่งปันเรื่องดี ๆ พบว่าความร่วมมือและประสานงานกันกลับง่ายมากขึ้นผิดกับที่เราเข้าใจในตอนเริ่มทำงานว่า น่าจะเกิดได้ยากและใช้เวลาพอสมควร

.........การจัดตลาดนัดความดีทั้งที่เป็นทางการไม่เป็นทางการ จัดภายใน เช่นคุยกันในหน่วยงานแลกเปลี่ยนความดีที่ได้ทำของแต่ละคน เป็นกิจรรมที่ส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาตั้งคำถาม(Inquiry) เป็นขาที่ 2 ของเก้าอี้การเรียนรู้ ดังได้กล่าวมาแล้วในบันทึกเรื่อง จากอำเภอคุณธรรมสู่จังหวัดคุณธรรม (2) อัตลักษณ์ เกิดการเรียนรู้แบบ Team Learning และด้วยการ สุนทรียสนทนา จะทำให้เปิดเผย คุณธรรมที่เรามี เราเป็น จากการปฏิบัติ อาจเรียกว่า Mental Model เกิดความเข้าใจตัวเองและทีมมากขึ้น เข้าใจคำว่า "สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น" เมื่อได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงที่กว้างขึ้น ต่างองค์กร ต่างวิชาชีพ ขาที่ 3 ของเก้าอี้การเรียนรู้ คือ ๊Understanding Complexity" จะเกิดขึ้นไม่ยาก เราเห็นถึงความเกี่ยวข้องของผู้คนในสังคมที่มีผลกระทบต่อคุณธรรมก็เกิดขึ้น ที่สำคัญคือเห็นโอกาสในการทำความดีร่วมกัน แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

.........โรงพยาบาลบางมูลนากได้เรียนรู้การจัดตลาดนัดความดี จากโครงการเปิดบ้านคุณธรรมของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ได้เข้าใจแนวคิด "ทำดีต้องมีแชร์ ทำดีมีที่ยืน ทำดีก๊อปปี้ด้" ทำดีต้องมีแชร์นั้นสำหรับเด็กหรือผู้เริ่มต้นถือว่าเป็นก้าวสำคัญเพราะ เป็นการก้าวข้าม Voice of Fear กลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ไม่รู้ว่าเปลี่ยนแล้วจะดีหรือไม่ ได้รับการยอมรับแค่ไหน อย่างไรก็ดีการจัดตลาดนัดความดีต้องยึดหลัก "ทำดีมีที่ยืน" ให้มั่นคง อาจารย์ปกาศิต เรี่ยมสุวรรณ เล่าให้ฟังว่ามีเด็กคนหนึ่ง คิด "โครงงานคุณธรรม" ได้ก่อนวันเปิดบ้านคุณธรรม มาปรึกษาอาจารย์ว่าเขาอยากเผยแพร่โครงการของเขาจะได้ไหม อาจารย์ได้อนุญาตด้วยความคิดว่า "คิดดี" ก็เป็นการเริ่มต้นการทำความดีแล้ว แม้นยังไม่ได้ "ทำดี" ก็ต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการแสดง "มุทิตาจิต" พลอยยินดีเมื่อเขาคิดดี ให้กำลังใจในการทำดีต่อไป เมื่อนำความดีมาแชร์ ก็เกิดความมั่นใจ คนที่คิดอยู่ได้เห็นคนอื่นทำ ก็ทำความดีได้เร็วขึ้น เป็นกุศโลบายของ "บางมูลนากโมเดล"ที่บอกว่า "ความดีก๊อปปี้ได้" นอกจากนี้ โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมยังได้แสดงให้เห็นการ "ก๊อปปี้ความดี" ขยายผลทั้งโรงเรียน และยั่งยืนในหลาย ๆ โครงงานคุณธรรม



.........บนพื้นฐานการเชื่อว่าสังคมนี้ยังมีคนดีอยู่มากมาย (Respecting) และความจริงก็เป็นเช่นนั้น เมื่อทดลองขยายผลจัดตลาดนัดความดีในอำเภอบางมูลนากอย่างไม่เป็นทางการ ให้แต่ละส่วนราชการ ภาคประชาชนในอำเภอได้มีโอกาสแชร์ ความดีกันในการประชุมขับเคลื่อนอำเภอคุณธรรม ผมได้เห็นการเชื่อมต่อความดี จับไม้จับมือกันทำความข้ามส่วนราชการ ทั้งที่ก่อนหน้าทีบรรยกาศระหว่างหน่วยงานหรือภาคส่วนต่าง ๆ ก็รู้สึกว่าขอความร่วมมือกันไม่ค่อยได้ ประสานงานกันยาก แต่เมื่อเริ่มด้วยการแบ่งปันเรื่องดี ๆ พบว่าความร่วมมือและประสานงานกันกลับง่ายมากขึ้นผิดกับที่เราเข้าใจในตอนเริ่มทำงานว่า น่าจะเกิดได้ยากและใช้เวลาพอสมควร

.........ผมลองคิดดูเบื้องต้นว่าหากเราจะเป็นอำเภอคุณธรรม น่าจะต้องมีตลาดนัดซักเท่าไหร่จึงจะเห็นภาพของการขับเคลื่อนคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ผมสรุปไว้ดังรูปนี้ครับ




.........โรงเรียนนั้นเป็นเจ้าภาพตลาดนัดสร้างคนดี (รวมเครือข่ายทางการศึกษา เช่น กศน. วิทยาลัย ส่วนราชการที่มีส่วนในการจัดอบรมบุคลากร พัฒนาคน ฯลฯ)

.........สาธารณสุขรวมถึงโรงพยาบาลให้เป็นเจ้าภาพตลาดนัดสร้างสุขภาพดี (รวมเครือข่ายสุขภาพ เช่น อสม. เกษตรอินทรีย์ ภาคประชาสังคม)

..........องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าภาพจัดตลาดนัดสังคมดี ด้วยการเชิญชวนพี่น้อง ในชุมชน ในหมู่บ้าน ในตำบล มาตั้งวงเสวนาแลกเปลี่ยนความดีกัน สร้างขวัญกำลังใจ ในชุมชน ตลาดนัดนี้ผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอำเภอคุณธรรม หากคุณธรรมไม่แพร่ขยายในหมู่บ้าน ตำบลแล้วก็ยากที่จะเกิดอำเภอคุณธรรมได้

.........เมื่อท้องถิ่นสามารถจัดตลาดนัดสังคมดีได้แล้วตลาดนัดบ้านเมืองดี ที่จัดโดยอำเภอก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแต่งานนี้ต้องขอ "โครงงานคุณธรรม" จากส่วนราชการต่าง ๆ ในอำเภอ มาร่วมขบวนด้วยหรือหากเป็นไปได้ก็ชวนให้แต่ละส่วนราชการจัด "ตลาดคุณธรรม" ของแต่ละส่วนราชการมาก่อนก็จะเป็นการขยายตัวของความดีที่มั่นคงอย่างยิ่ง มาถึงขั้นนี้ถ้า "บางมูลนากโมเดล" ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง "อำเภอคุณธรรม" คงไม่ยากอีกต่อไป หรือหากจะขยายผลเป็นจังหวัดคุณธรรมก็พอที่จะเห็นความเป็นไปได้ต่อไป



หมายเลขบันทึก: 593030เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท