691. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 21)


ผมสอนสามก๊กมาเป็นปีที่สาม ผมใข้ประบวนการง่ายๆ เรียกว่าเรา แบ่งกันเรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็จะพานักศึกษา แบ่งสามก๊กหนาๆ มาเป็นส่วนๆ แบ่งกันเรียนรู้ แล้วมาแชร์กัน โดยพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่ค้นพบในยุคสามก๊ก เข้ากับทฤษฎีทางการบริหารบ่อยๆ มีปีหนึ่งผมสอน MBA ผมก็แบ่งให้นักศึกษาอ่าน ด้วยจำนวนหน้าเท่าๆกันเช่นเคย ก็ออกมาดีครับ แต่ครั้งที่สาม ผมก็ลองให้ทุกคนเปิดสุ่มๆ เอา ประมาณอ่านคนละ 20 หน้า เปิดหน้าไหนก็ได้มา จากนั้นผมก็ไล่ถามทีละคน โดยถามว่าที่อ่านมานี่ชอบตรงไหนที่สุด คนแล้วก็บอกว่าชอบตอนที่ “#@##$$#$.. ถามไปเรื่อยๆ แล้วผมก็เริ่มประหลาดใจ นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบตอนเดียวกัน คราวนี้งง 90 กว่าเปอร์เซ็น ชอบตอนเดียวกัน ฉากเดียวกัน งงไหมครับ ผมงงมาก เพราะไม่เห็นใครลอกใคร และนี่ไม่ใช่การสอบ เลยลองถามครับ ว่าอ่านหน้าไหน เกือบทั้งหมดในห้องบอกว่า “อ่านหน้าหนึ่งถึงหน้าสิบ !!!! ” มีไม่กี่คนที่สุ่มหน้าอื่นๆ งงไหมครับ

ผมเริ่มเจออะไรบางอย่าง ผมเริ่มเห็นคำอธิบาย ทำไมหนอคนเราจึงทำอะไรคล้ายๆ กัน คล้ายๆกันอย่างบ้าคลั่ง เห็นมาเยอะครับ เรียนมาดีมากๆ จบการศึกษามา ฝันอยากทำอะไร ร้านกาแฟ แล้วทำยังไง ก็ไปชิมกาแฟมากๆ จากนั้นก็ลงท้ายด้วยอะไร เปิดร้านครับ ลงทุนมันไปเลย ทำร้านสวยๆ ลงท้ายด้วยการไปซื้อเครื่องทำกาแฟ แล้วก็ไปเรียนทำกาแฟสองวัน กลับมาทำกาแฟเหมือนๆกัน สูตรไม่ต่างกัน ที่สุดสองสามปีก็หายหน้าหายตาไป ผมเคยเจอเพื่อน “ตอนนี้จะเป็นนายตัวเองแล้ว ชีวิตลูกจ้างนี่ไม่ใช่ ...แล้วจะทำอะไรครับ ทำร้านกาแฟ ทำที่ไหนครับ เปิดที่ห้าง จัดเต็มแม๊ก ทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิต เนื่องจากห่างจาก Starbucks 100 เมตร สูตรเหมือนร้านกาแฟในดาวโลกทั่วไป แล้วขายถูกก็ไม่ได้อีก อยู่ได้สามเดือน ตอนนี้กลับมาเป็นลูกจ้างต่อไป (ทำไมมันไม่ถามผมบ้าง ผมเป็นอาจารย์ MBA น่าจะพอรู้บ้าง มันไม่ถามครับ)

ผมยิ่งเป็นอาจารย์ MBA มา 14 ปี ไม่ว่าจะไปสอนที่ไหน ก็มักเจอปรากฏการเดียวกัน คือคนเราทำอะไรเหมือนๆกันโดยมิได้นัดหมาย น่ากลัวไหมครับ

อะไรอธิบายเรื่องนี้ แล้วันจะเกี่ยวกับสามก๊กยังไง มาดูกัน

ผมว่าผมกำลังเห็นเรื่องหนึ่งในจิตวิทยาครับ เราเรียกว่า “Schema” มันคือระบบเหตุผลในสมองมนุษย์ ที่ฟอร์มตัวขึ้นจากประสบการณ์ที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ประสบการณ์แต่เด็กมันเข้าไปฟอร์มตัวเป็นระบบเหตุผลในสมอง โดยเราไม่รู้ตัว Schema อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของเราเกือบทุกเรื่อง

Schema จริงแล้วถือว่าเป็นอะไรที่สุดยอด เพราะทำให้เราไม่เสียเวลาในชีวิต จริงๆแล้วมันอยู่เบื้องหลังการมีชีวิตรอดของมนุษย์และมีส่วนสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษย์เลย

ด้วย Schema มนุษย์โบราณเห็นกวาง รู้เลยกินได้ เมื่อเห็นเสือ ก็เผ่นทันที ง่ายไหมครับ ถ้าไม่มี Schema รับรองสูญพันธ์ไปนานแล้ว

Schema เกิดจากการที่เราสั่งสมประสบการณ์ ทั้งที่รู้ตัวไม่รู้ตัว มันทำให้ชีวิตเราง่าย แต่ตอนนี้โลกมาไกลจากยุคหินแล้ว ชีวิตไม่ง่ายอย่างเดิม เราไม่อาจใช้ระบบคิดแบบยุคหินที่ยังมีในตัวเราอยู่ และโดยไม่รู้ตัวนักศึกษาทั้งห้องของผม อานจใช้ Schema มาเลือกอ่านสามก๊ก โดย Schema ของเขาหลอกพวกเขาว่าอาจารย์ไม่เข้มงวด ไม่มีใครเห็นหรอก ที่สำคัญเอาง่ายๆก่อน

และคล้ายๆ กับคนทำร้านกาแฟ เอาหล่ะ เริ่มเลย ไม่มีใครรู้หรอก เราอยากทำร้านกาแฟ เราก็ไปชิมร้านดังๆ ไปเรียนทำกาแฟ ปรึกษาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ ที่สุดไม่สามารถสร้างความต่างได้ โดยไม่รู้ตัวเราทำเหมือนคนอื่น

ทำไมเราทำเหมือนกับคนอื่น เป็นไปได้ที่เราซึมซับประสบการณ์เดียวกันมาทั้งชีวิต เราอยู่ในสังคมเดียวกัน ทุกคนต่างอาศัยชุดประสบการ์ที่คล้ายๆกัน เพราะมันต้องคล้ายๆกันถึงได้อยู่ด้วยกันได้ และโดยไม่รู้ตัวสิ่งที่เราซึมซับมากลายเป็นวงจรการตัดสินใจของเรา และมันก็คล้ายๆกับคนอื่นไปหมด

น่ากลัวไหมครับ และที่น่ากลัวกว่านั้นโดยไม่รู้ตัว คนเราเมื่อเรียนรู้ข้อมูลอะไรใหม่ หลายครั้งก็เพื่อตอกย้ำ Schema เดิม ถ้าอะไรที่ต่างออกไป เรามีแนวโน้มปฏิเสธมัน เราจึงเห็นคนปฏิเสธความคิดดีๆ แม้ความคิดนั้นจะช่วยให้คุณก้าวข้ามอุปสรรคได้ หรือไม่ก็ก้าวกระโดดได้ แต่ก็ยังเห็นการไม่ยอมรับ

Schema นี่เองที่ผมเชื่อว่าอธิบายปรากฏการณ์ที่อ้วนเสี้ยวแพ้ ทั้งๆที่ในช่วงแรกอ้วนเสี้ยวดูได้เปรียบกว่าทุกคน แต่คุณจะเห็นอาการ “ไม่ฟังใคร” ของอ้วนเสี้ยว แถมอ้วนเสี้ยวดูเลือก “ฟัง” ข้อมูลที่สอดคล้องกับความคิดของตัวเองเท่านั้น ไม่พอใครพูดอะไรขัด “หู” อ้วนเสี้ยว ชีวิตพังทันที ขุนนางบางคนจับทิศได้ จึงป้อนแต่ข้อมูลที่อ้วนเสี้ยวต้องการฟัง ที่สุด ไปหมดครับ อ้วนเสี้ยวเพียงทำตาม Schema ของตนเองเท่านั้น ที่สุดก็พลาดขึ้นเรื่อยๆ จนตัวตายในที่สุด

ถามว่าใครฆ่าอ้วนเสี้ยว ก. โจโฉ ข. Schema ของอ้วนเสี้ยว ถึงตอนนี้ผมพบว่าอ้วนเสี้ยวนั่นเองที่ฆ่าอ้วนเสี้ยวเอง

และเมื่อมองความล้มเหลวถึงตามขงอคนในสามก๊กไม่ว่าจะเป็นฮ่องเต้ราชวงค์ฮั่นเดิม ตั๋งโต๊ะ อ้วนเสี้ยว ซุนเซ๊ก ลิโป้ กวนอูและเล่าปี่ ดูเหมือน Schema ของคนเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้ตัวเองต้องอับจน และล่มสลาย

Schema คือระเบิดเวลาของมนุษย์นั่นเอง ที่หลายครั้งเราไม่รู้เลยว่ามันมีอยู่

เราจะทำอย่างไรที่จะรู้ว่าเรามีระเบิดเวลานี้อยู่

ผมนึกถึงเครื่องมือหนึ่งคือ Dialogue หรือสุนทรียสนทนา คือการสนทนาแบบไม่เน้นการด่วนตัดสิน เน้นการฟังให้มากที่สุด

เพื่อไม่ให้ลูกศิษย์เดินเหยียบกับระเบิดตัวเองแบบอ้วนเสี้ยว ผมเลยสอนเรื่อง Dialogue ให้ลูกศิษย์ ฝึกง่ายๆครับ ลองฟังแบบไม่ตัดสินใคร เราเรียกว่า “ห้อยแขวน

ฝึกอย่างไร เราฝึกง่ายๆ ให้นักศึกษาจับคู่ คนหนึ่งเล่าเรื่องอะไรก็ได้ให้อีกคนฟังครึ่งชั่วโมง โดยคนฟังต้องไม่ขัดจังหวะ ไม่ต้องถาม ฟังอย่างเดียว ฟังอย่างมีความสุขด้วย เมื่อจบแล้วก็สลับกัน หลังจากจบจริงๆแล้ว

ผมลองถามดูว่าเขาค้นพบ Schema อะไรในตัวบ้าง ลองดูปรากฏการณ์ดังที่จะอธิบายด้วย Theory U

เอาเป็นว่าคนทั่วไป ถ้าไม่ระวัง เรามีแนวโน้มจะตัดสนใจด้วยการดึง Schema (ข้อมูล ความเชื่อ สมมตฐานเดิม) มาเป็นฐานการคิดโดยอัตโนมัติ ถ้าดีก็ดีไป ถ้าร้ายก็ร้ายไป แต่ถ้าคุณไม่รีบตัดสิน ฟังมากๆ (ห้อยแขวน) คุณจะมีโอกาสได้ตรวจสอบ Schema ของคุณ และมีโอกาสปรับเปลี่ยนมันก่อน มันจะพาคุณลงคลองอย่างอัตโนมัติ เมื่อค้นพบ คุณจะเห็นตัวเอง เห็นสถานการณ์ปัจจับนอย่างแจ่มชัดกว่าเดิม คราวนี้แลหะคุณมีโอกาสคิดใหม่ ทำใหม่ ได้เลย

ต่อนะครับ เมื่อฟังกันจบ ผมจะให้ลุกขึ้นทีละคนแล้วถามคำถามดังนี้ เพื่อนำเขาสู่กระบวนการตรวจแบบ Theory U ผมมีชุดคำถามและผมขอยก Case ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งประกอบไปด้วย

“เรื่องทั้งหมดคืออะไร” (หลังจากห้อยแขวนฟังไปครึ่งชั่วโมง)

“เพื่อคนคนนี้เล่าเรื่องที่เขาไปทำงานที่อเมริกา ไปแบบ Backpack เลย ทั้งที่แม่ไม่เห็นด้วย (ตอนหลังไปอีกห้า ประเทศ)

“คุณชอบที่เขาเล่าที่สุดตรงไหน”

“ดิฉันชอบที่เขากล้า กล้าที่จะไปทั้งๆที่ภาษาอังกฤษของเขานี่ไม่ได้เลย” (ดูตามภาพ นี่คือสิ่งที่เธอ “เห็นกับตา”)

“ฟังเรื่องนี้แล้วคุณเห็นอะไรในตัวเอง เห็นความเชื่อ สมมติฐาน ข้อมูลอะไรในตัวคุณ” (ผมกำลังพาให้เขาหันไปดู Schema ของตัวเอง)

“ดิฉันเห็นความเชื่อของตัวเอง พี่ดิฉัน ครอบครัวดิฉันอยากให้ดิฉันไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย เพราะไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่กล้าพูด เลยไม่ไป”

“แล้วย้อนกลับมามองตัวคุณเอง/งานของคุณเองคืออะไร ประมาณว่าลองเอาความเชื่อเก่า/ใหม่นี้มาอธิบายตัวคุณในปัจจุบัน”

“ตอนนี้ดิฉันเห็นตัวเองแล้ว เห็นความเชื่อเดิมที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ และเห็นแล้วว่ามีเพื่อนที่ก็ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย แต่เขาก็กล้าเลือกที่จะไปผจญภัย สร้างความแตกต่างให้ตนเอง”

พอถึงตรงน้ีแล้วคุณอยากจะทำอะไรในอนาคต ลองดึงความเชื่อใหม่ไปสร้างอนาคตสิ (สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับคนที่เราฟัง หรือจะทำของเราเองก็ได้”

“ตอนนี้รู้สึกว่าอยากไปออสเตรเลียแล้ว”

“จะวางแผนอย่างไร” ผมถามต่อ

“ดิฉันจะปรึกษาพี่สาวที่อยู่ออสเตรเลียและที่บ้าน”

เห็นไหมครับ นี่คือวิธีการค้นหา Schema วิธีหนึ่งที่เรียบง่ายมาก แล้วสุภาพสตรีท่านนี้ก็เจอ Schema ในตัว ที่เป็นอุปสรรคกีดขวางอนาคตตนเองมาตลอด มันนอนก้นอยู่ในสมองของเธอ ตอนนี้เธอเจอแล้ว ที่สำคัญเธอได้ Schema เชิงบวกตัวใหม่ ที่น่าจะช่วยให้เธอสามารถกล้าออกไปผจญโลกได้

คุณอาจงงว่าอะไรจะบังเอิญขนาดนั้น ครับ การนั่งฟังคนอื่นมากๆ ไม่ตัดสินแบบ Dialogue นี่ต่อให้คุยกับใครก็ตาม เมื่อคุณฟังมากๆ คุณจะเห็น Schema ตัวใดตัวหนึ่งของคุณเสมอ

ในหมายความว่ายิ่งคุณฟัง คุณยิ่งค้นพบ ชีวิตคุณจะเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิมแน่นอน

ท่านดาไลลามะเคยตรัสไว้อย่างน่าสนใจว่า "เมื่อท่านพูด ท่านเพียงแต่ท่านเพียงแต่พูดถึงสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้ว แต่เมือท่านฟัง ท่านจะรู้อะไรใหม่ๆ"

ลองฝึกดูนะครับ

มาตอนนี้เราเห็นไหมครับว่า Schema น่ากลัวขนาดไหน และทำไมมันอาจทำให้คนชนะหรือพ่ายแพ้สงครามชีวิตได้ ผมเริ่มเชื่อมสมมติฐานของผมแล้วไม่มีใครที่ไหนมาทำให้อ้วนเสี้ยว เล่าปี่ ลิโป้ต้องพ่ายแพ้ครับ ตัวพวกเขาเองนั่นแหละที่ทำลายตัวเอง Schema ของพวกเขาเองคือเพชรฆาตตัวจริง

ไม่อยากตรวจสอบหรือครับว่าความเป็นตัวตนของคุณปัจจุบัน มาจาก Schema อะไร

Schema คือชะตากรรมของคุณ จริงไหมครับ อย่าปล่อยให้มันลอยนวล

ด้วยรักและปราถนาดี

ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ www.aithailand.org

Reference: https://en.wikipedia.org/wiki/Schema_(psychology)

Note: สำหรับท่านที่ต้องการเรียนรู้เรื่อง Dialouge และการห้อยแขวน ผมว่าชั่วโมงนี้ ผมแนะนำท่านอาจารย์ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ มีโอกาสไปเรียนกับท่านนะครับ


หมายเลขบันทึก: 592947เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 05:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท