"คำซ้ำซาก ที่ปากพาไป"


มีคนไทยไม่น้อยที่ไม่รู้จักว่า วันนี้คือ วันอะไร แม้จะเป็นคนไทย เรียน เขียน พูด ภาษาไทย แต่คุณแน่ใจหรือว่า ภาษาของคุณไม่บกพร่องหรือมีความหมดจด เราอาจคุ้นชินกับความอิสระเกินไป จนคิด นึก อยาก จะสื่ออะไรตามความรู้สึกตื้นๆ ก็สื่อออกไป โดยไม่ใส่ใจรายละเอียดในภาษา เนื้อหา เจตนา และเป้าหมาย จึงทำให้ภาษาที่สื่อกันอยู่ในวันนี้ เหมือนภาษาที่ขาดการศึกษา ไม่สนว่าจะถูกผิด ขอแค่สื่อตามอารมณ์ ให้ออกมาจากอารมณ์ (ตื้นๆ) จนมันล้ำหน้าภาษามากกว่าจะคำนึงเจตนาและระดับของภาษา


ยี่สิบกว่าปี ที่สังเกตเห็นคนไทยใช้ภาษาผิด เพี้ยนไปกว่าเดิมมาก จริงอยู่แม้ว่าภาษาเมื่อร้อยกว่าปีนั้น แย่กว่านี้มาก แต่เนื่องจากเราไม่มีภาษาเป็นของตนเอง เราจึงปริวรรษมาจากหลายๆ ภาษา เช่น สันสกฤต บาลี เขมร มอญ มาลายู ต่างประเทศ ฯ จึงทำให้ภาษาถูกดัดแปลงมาจากภาษาต่างถิ่นและขัดเกลามาเรื่อยๆ และยังไม่ลงตัว จนมาถึงสมัยพ่อขุนรามฯ ที่ต้องการจะแยกเอกราชจากอาณาจักรเขมร


และตลอดเวลายุคสุโขทัย มาถึงกรุงธนบุรี บ้านเมืองล้วนอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อภัยสงครามตลอด อีกทั้งภัยต่างชาติที่เข้ามารุกรานด้วย ทำให้เราไม่มีเวลาที่ขัดเกลาหรือเขียนตำราให้เป็นมาตรฐานของตนเอง ภาษาจึงถูกปล่อยให้คาบเกี่ยวระหว่างสันสกฤต บาลี เขมร มอญ อยู่อย่างปนเป แม้ปัจจุบันเราก็ยังเห็นภาษาเหล่านี้มีอิทธิพลอยู่

เราอยู่ภาวะที่สงบร่มเย็นลงก็ยุครัตนโกสินทร์ กระนั้น ในยุคต้นๆ เรายังจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะกำลังเน้นการสร้างบ้านแปลงเมืองให้มั่นคง มุ่งเน้นสร้างถาวรวัตถุมากกว่าจะสร้างอารยธรรมด้านภาษา ฉะนั้น ภาษาในระยะต้นก็ไม่เหมือนในปัจจุบัน เข้าใจว่า หลังรัชสมัยของร. ๓-๔ นั่นแหละที่ยุคอาณานิคมต่างชาติเข้ามาสังคมกับเราอย่างเต็มที่ (ซึ่งมีรากเหง้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ลพบุรี) จนพบว่า ร. ๔ นั้นมีชาวต่างชาติมาอาศัยในตำหนักและสอนภาษาให้ลูกหลานราชสกุลและข้าราชบริพารด้วย


จนร.๔ สามารถพูด เขียนภาษาอังกฤษได้ จนสามารถสื่อสารกับฝรั่งได้ รู้ทัน รู้ภาษา รู้เจตนาเขาได้ ในขณะเดียวกัน ภาษาไทยพระองค์ก็แตกฉาน ทั้งบาลี สันสกฤต ทำให้เห็นว่า ร่องรอยของภาษาที่มีโครงสร้างทางไวยากรณ์นั้น มีส่วนที่ใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุนี้ภาษาไทย แต่เดิมอิงโครงสร้างไวยากรณ์บาลี สันสกฤตอยู่ และภาษาไทยก็แตกยอด ทอดกิ่งออกมาจากจุดนี้ ในช่วงต้นๆ (สุโขทัย: ลายสือไทย) นั้น ภาษาไทยยังเกลียวอยู่ในรูปของภาษาเขมรอยู่ (เขมรก็นำมาจากภาษาสันสกฤตและภาษาปัลลวะ ซึ่งมาจากภาษาพราหมีอีกที)


คำว่า "ภาษาไทย" จึงเหมือนแขวนลอยๆ อยู่ไม่มีตัวตน ที่เป็นภาษามาก็สืบเนื่องมาจาก "เผ่าไทยหรือไต" คือเรียกภาษาตามผู้คนในถิ่นนั้น เช่น ชาวสุโขทัย ชาวล้านนา ชาวอโยธยา ฯ ที่เรียกตัวเองว่า "สยาม" มาในยุคร.๔ ดังนั้น คำว่า "คนไทย" ที่กลายเป็นประเทศนั้น เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ นี่เอง คำถามคือ เราเรียกภาษาไทยที่เราพูดนั้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่? ดั่งอ.จำนงค์ ทองปรเสริฐ ตั้งคำถามว่า แม้เราจะใช้ภาษามา ๗๐๐ ปี ผมยังไม่แน่ใจ ตัวหนังสือไทยเริ่มสมัยใด หรือจะมีก่อนหน้านั้น (หน้า ๔๓) หลังเปลี่ยนเรียกชื่อนี้แล้ว


จะอย่างไรก็ตาม ภาษาตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงกรุงธนบุรีนั้น ภาษาของเรายังไม่ได้ถูกขัดเกลาเต็มที่ในฐานะ "ภาษาไทย" เพราะยังอิงคำ โครงสร้าง ไวยากรณ์บาลี สันสกฤตอยู่ สมัยก่อนภาษาไทยมีคำสำนวนจะออกไปอิงบาลี เช่น คำว่า เราเป็นคนไทยก็หาไม่ หามิได้ ฯ มาพัฒนาจริงก็เมื่อหนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกคือ สมัยพระนารายณ์มหาราช ชื่อ "จินดามณี" แต่งขึ้นโดยพระโหราธิบดี เพื่อสร้างคำ การออกเสียง การแต่งฉันท์ ซึ่งแกนเนื้อหาก็ยังอิงโครงสร้างบาลีอยู่


ครั้นเมื่อถึงยุครัตนโกสินทร์ มีปรากฏการณ์สองอย่างคือ เป็นช่วงภาษาต่างชาติเข้ามาแพร่หลาย และเป็นยุคสร้างบ้าน สร้างเอกลักษณ์ของตนให้มั่นคง อย่างแรกนั้น บุคคลชั้นราชสกุลมีสิทธิได้รับการศึกษาเรียนรู้ภาษาต่างชาติก่อนชาวบ้าน และกลายเป็นแม่แบบหรืออุดมคติของผู้ต้องการก้าวหน้าในวิถีการดำรงชีวิต จนในสมัยร. ๕ ได้รับอิทธิพลจากร.๔ เต็มๆ และยุคนี้เองก็ได้มีผู้แต่งไวยากรณ์ภาษาไทยขึ้นตามหลักของภาษาบาลี แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งก็ยังอิงบาลีอีก จนถึง ร. ๖ ซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์ด้านนักประพันธ์ ก็ยังอิงบาลีอยู่เช่นกัน


จนมาถึงร.ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ไม่ได้ประสูติที่เมืองไทย จึงใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ย่อมมีภาษาต่างแดนเข้ามามีอิทธิพลต่อพระองค์อย่างมาก และพระองค์ก็ตระหนักดีว่า ภาษาต่างชาติมีความสำคัญ จึงศึกษาได้หลายภาษา กระนั้นก็ตาม เพราะภาระหน้าที่ และจิตสำนึกความเป็นเชื้อชาติคำว่า คนไทย พระองค์ได้ทรงศึกษาภาษาไทยจนแตกฉานและเข้าใจภาษาอย่างลึกซึ้ง ที่เห็นชัดเจนพระองค์สามารถชี้ความหมาย คำ และความแปลกต่าง จากคำเดิมๆออกไปได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งก็ได้มาจากการสังเกตเห็นคนไทยสมัยนั้น (๒๕๐๕) ใช้ภาษาผิดเพี้ยนคำไปมาก


นี่คือ ที่มาแห่งการอนุรักษ์หวงแหนภาษาเผ่าพันธุ์ของตนเองของคนไทยในเวลาต่อมา (ซึ่งผู้ที่เป็นนักเรียนนอกสมัยต่อมา คงไม่ยี่หระกับภาษาของตน) และตอกย้ำในวันที่กำเนิดของวันภาษาไทย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการของนักภาษาไทย โดยอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นองค์อภิปรายเปิดงานในหัวข้อเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" พระองค์ตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า


" เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหา เฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

นอกจากนี้พระองค์ยังตรัสไว้ในหลายครั้ง หลายโอกาสในเรื่องการรักษาภาษาไทยใช้ให้ถูก เช่นเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ พระองค์ตรัสว่า

"ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"


ปรากฏการเรื่องภาษาไทยมีปัญหานี้ นักวิชาการ นักเขียนทั้งหลาย โดยเฉพาะครูสอนภาษาไทยหรือผู้รักภาษาไทย มีความกังวลเรื่อง ภาษาไทยจะเสียรากฐาน จนผู้คนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติและคุ้นเคยกับการพูด การใช้คำที่แปลกใหม่ จนเกิดการเขียน การพูดผิดเพี้ยนไปมาก เชื่อว่า อนาคตลูกหลานจะไม่รู้รากเหง้าเค้าเดิมของคำนั้นอีกเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องขัดแย้งกับนักปฏิรูป ที่เป็นคนสมัยใหม่ ที่มองว่า ภาษาเกิด ตายได้ ตามยุคสมัย นั่นเป็นคำพูดที่ไม่ห่วงใยภาษาตนจริง หากท่านไปอยู่กับต่างชาติหรือแปลภาษาต่างชาติเป็นภาษาไทย ท่านจะรู้ว่า ภาษาพ่อแม่สื่อได้ตรงเจตนาของตัวคนไทยมากที่สุด


ดั่งที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ กล่าวไว้ว่า

"ในการจะเข้าถึงประชาชนนั้น เราจะใช้คำอังกฤษซึ่งยังไม่ได้ซาบซึ้งเข้าไปในระบบความคิดของเรานั้นไม่ได้ ถ้าเราหาคำไทยได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าเราหาไม่ได้ก็หันหน้าเข้าหาคำบาลี-สันสกฤต.." (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1...)


แม้ในอดีตเราได้แก้ไขปัญหานี้มาตลอดตั้งแต่สมัยขอม สุโขทัย เราอยากให้ภาษาเป็นของเราเอง เมื่อเราแยกออกจากเขมรแล้วก็พัฒนาภาษาตัวเองขึ้น แต่คนก็ไม่พ้นบ่วงปัญหาภาษาอยู่ดี เราต้องแก้ไขและเขียนพจนานุกรมออกมาเพื่อให้ความหมายแก่คนไทย เช่น กระทรวงธรรมการได้พิมพ์ "ปทานุกรม ฉบับกรมตำรา" เป็นครั้งแรก ต่อมาก็ได้พิมพ์อีกเป็น "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี ๒๔๙๓" ต่อมาปีจัดพิมพ์ในปี ๒๕๒๕เรียกว่า "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕" (จำนงค์ ทองประเสริฐ : หน้า ๑๗๑)


มันได้สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ปัญหาของภาษาไม่ใช่เพิ่งเกิดมา เรามีปัญหาตั้งแต่ภาษาสันสกฤต บาลี เขมรแล้ว โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ห่างไกลภาษารากเหง้าเหล่านี้ ยิ่งจะเพิ่มปัญหาที่ไม่รู้ที่มา ที่ไป จนนำไปสู่การไม่ชอบ ไม่สนใจ ให้เหตุผลว่า เก่า ไม่ทัยสมัย เบื่อ จึงทำให้ไม่สนใจภาษาวัด ภาษาทางการไปด้วย ปัญหาตามมาคือ ภาษาไทยต้องอาศัยรากฐานของภาษาเหล่านั้น เมื่อคนไทยไม่สนใจ ไม่เรียนภาษาไทยให้ถูกหลักแล้ว จะสื่อสารให้ตรงเจตจำนงกันอย่างไร จุดนี่หรือเปล่าที่คนไทยพูดกันไม่รู้เรื่อง จึงต้องทะเลาะกัน มันก็แปลกทั้งที่ไม่ชอบคำบาลี แต่ชื่อป้ายร้าน หมู่บ้าน ถนน ชื่อตนเอง ชื่อบริษัท ฯ ล้วนอยากได้ชื่อเหล่านี้ทั้งสิ้น เข้าทำนองเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง


ปัญหาที่ซ้อนเข้ามาจากข้างบนคือ ยุคใหม่มีภาษาที่เข้ามาทดแทนภาษาไทยคือ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาธุรกิจ เป็นภาษาอาชีพ เป็นภาษาสากล เป็นภาษาในสื่อ ที่ยกระดับเกรดผู้ที่รู้ว่า เป็นคนมีการศึกษา ทำให้มีหน้าที่การงานมีโอกาสมากขึ้น จึงทำให้คนไทยเห่อภาษาต่างชาติไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่โรงเรียนเอกชน นานาชาติ โรงเรียนอนุบาลทั้งรัฐและเอกชน ปูพื้นฐานให้เด็กรับรู้ มีค่านิยมภาษาต่างชาติตั้งแต่เด็ก จนมองภาษาไทยเป็นของตาย จึงทำให้ภาษาไทยเด็กอ่อนไปด้วย


อนึ่ง สื่อต่างๆ ก็มาเบียดบังเวลาเรียนอีก ทำให้เด็กต้องถูกยื้อใจ ให้เตลิดไปหลายทิศทาง ที่จริงการรู้ภาษาต่างชาติ เพื่อให้รู้ทันความคิด ข่าวสารโลก แต่คนยุคใหม่กำลังหลงทาง และแทนที่จะเอาความสามารถทางภาษานั้น มาวิเคราะห์เจาะใจต่างชาติขึ้น กลับไปหลงว่า ฝรั่งรวย ภาษาเท่ ได้เงิน ได้ยศ ตำแหน่ง ฯ ทำให้คนยุคที่กำลังตามมาบ้าเห่อไปอีก และก็ทิ้งภาษาตนอีก ว่าไปแล้ว จะโทษรัฐหรือสังคมหรือค่านิยมคนไทยดี เหมือนพายเรือในโอ่งวะ!


เมื่อเด็กเยาวชนไม่ค่อยชอบภาษาตนเอง จึงแปลงภาษาตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยใช้ภาษาเฉพาะของตนเอง ที่สุดก็ไปสอดคล้องกับสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงได้รวดเร็ว ทำให้เด็กใช้ภาษาไม่ถูกคำ เพี้ยนคำ หรือจงใจเขียนขึ้นใหม่เต็มสื่อไปหมด ทั้งภาษาแอ๊บ ภาษาโจ๋ ภาษาแปลกๆ ใหม่ๆ มีนัยที่ซ่อนนัยเฉพาะบุคคลหรือกลุ่ม จนเวลาเด็กเหล่านี้ออกสื่อ พูด เขียน สื่อสาร กลายเป็นไม่มีรู้จักกาลเทศะ นานเข้าก็ไม่รู้ความหมายของคำเดิม ที่สุดก็กลายความหมายเพี้ยนไปเช่น--


บ่องตง , บ่งตง หมายถึง บอกตรงๆ จุงเบย หมายถึง จังเลย จิ้น หมายถึง จินตนาการ ค่อนไปในทางชู้สาว เช่น “ฉันเห็น แมน กับ ต้น จับมือกันอะ เห็นแล้วจิ้นไปไกลเลยอะ” ฟิน หมายถึง เป็นอารมณ์ที่เห็นอะไรที่มัน “สุดยอด” เป็นอารมณ์สุดขีดในตอนนั้น ปลวก หมายถึง พวกอยู่ไม่นิ่ง ชอบเรียกร้องความสนใจให้ตัวเอง เหมือนปลวกที่ชอบสร้างรังตลอดเวลา และอาจรวมไปถึงพวกชอบจิกกัดคนอื่น ติ่ง หมายถึง แฟนคลับเกาหลีที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีมารยาท ไม่สนใจความเป็นไปของโลกนอกจากศิลปินของตัวเอง ซึน (ซึนเดเระ) หมายถึง พวกไม่พูดตรงๆ ชอบเก็บอาการ เสแสร้ง เฮียก หมายถึง น่าเกลียด ขี้เหร่มาก ขี้เม้ง หมายถึง พวกที่ชอบวีน ขี้โวยวาย ด่าเก่ง ปากจัด หน้าตาบูดบึ้ง อิม มาจาก impossible หมายถึง พวกเด็กเรียน คือสามารถทำเรื่อง (เรียน) ที่ยาก ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ฯลฯ


นอกจากเด็กแล้วผู้ใหญ่ก็เป็นไปด้วย พูด เขียน เพี้ยนไปมาก หรือนิสัยอีกอย่างที่คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะคนในเมือง จะมีรูปแบบ ลักษณะที่กล่าวลอกเลียนแบบกัน จนกลายเป็นเหมือนแฟชั่นทางภาษา เช่น ในสื่อมวลชน ในกลุ่มนักร้อง ดารา พิธีกร และคนทั่วไป เวลาถูกสัมภาษณ์ จะมีคำต่างๆ หลุดออกมาจนเคยชิน จนฟังดูแล้วไม่รื่นหู หรือกลุ่มผู้หญิง คุณนายที่มักดัดจริตเรียกตัวเองว่า ดิฉัน อิชั้น ตัวเอง เดี้ยน ฯ หรือนักวิชาการที่พูดติดออ เช่น เอ่อ ออ นะฮะ ฮะ อืม จาาา (จะ เสียงยาว) และที่เด่นชัดคือ กลุ่มเพศที่สาม ที่ใช้ภาษาเหล่านี้ได้เริดๆๆๆค่ะ ส่งผลให้การใช้ภาษาในสื่อจนมั่ว เลอะเทอะ เปรอะปะไปหมด


ผู้ที่อยู่ในวงการใช้ภาษาไทยเช่น ราชบัณฑิต อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ครูติวพิเศษ พระสงฆ์ และคนไทยที่ชื่นชอบภาษาไทย ได้เขียน ได้พยายามแก้ไข ชี้แจงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ แต่ดูเหมือนจะทัดทานการคัดค้านของความนิยมหรือความขี้เกียจยึดหลักแบบเก่า อยากจะใช้ให้มันเป็นแบบอินดี้ คือ อิสระต่อการอยู่ การใช้ การพูด จนสนุกปาก ที่สุดภาษาจึงเกร่อและใช้กันจนเปรอะเลอะไปหมด โดยเฉพาะตามสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน


วันภาษาไทยปีนี้ (๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘) รมต.กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ได้เห็นความสำคัญในวันภาษาไทย โดยมีแนวคิดรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน คนไทยใช้ภาษาให้ถูกต้อง โดยให้จัดรายการ "ภาษาไทย ภาษาชาติ" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ไม่รู้จะเป็นยาหอมให้ข้าราชการกระทรวงฯตื่นตัวหรือไม่ เพราะเพิ่งเข้ามาใหม่ ก็รู้ๆกันอยู่ว่า กระทรวงนี้ ไม่มีบทบาทต่อกระแสความคิดของคนไทยคือตามไม่ทัน และไม่คิดล้ำหน้าคนไทย ที่จะหาทางรักษาภาษา วัฒนธรรมของหน้าตาประเทศไทยไว้ อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมที่ประกาศให้ทราบ จะดูผลงานต่อไปว่าไฟจะมอดจากฟางเมื่อไหร่


จึงพบว่าภาษาไทยในปัจจุบันมันเพี้ยนไปจริง อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย จึงส่งผลถึงศักยภาพของพลเมืองไทยตั้งแต่เยาว์วัยที่เรียน ศึกษาภาษาไทยไม่แตก หรือกระทบชิ่งไปถึงผู้สอนด้วยก็ได้ ผศ. คนอง วังฝายแก้ว อ. จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เขตพะเยา และสมาชิกของ โกทูโนว์ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า

ในยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเน้นความสะดวกสบายและความรวดเร็วเพิ่มขึ้น เป็นพิเศษ ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ของคนไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยที่ใช้ปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในปัจจุบันส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ ชีวิตที่เจริญขึ้น ก่อให้เกิดการใช้ภาษามากขึ้น มีการใช้ภาษาสื่อสารกันเฉพาะกลุ่มมากขึ้นและสื่อสารมวลชนได้เข้ามามีบทบาท ต่อสังคมมากขึ้น ก่อให้เกิดอิทธิพลด้านภาษามากขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ นับวันภาษาไทยก็จะยิ่งเสื่อมลง เป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์ และคุณค่าของภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย (https://www.gotoknow.org/posts/501909)


เท่าที่สังเกตทางสื่อไม่ว่าพิธีกรอ่านข่าวจากสถานีช่องต่างๆ โดยเฉพาะช่อง ThaiPBS พิธีกรชายอ่านข่าว ๑ ทุ่ม ออกเสียง ส ก็ไม่ถูก นักสื่อข่าวสาว ของคุณสรยุทธ เวลาฉุกเฉินบนอากาศ นั่นก็ฟังแล้วเรียบเรียงภาษากับภาพ ไม่ค่อยจะตรงกับความเป็นจริงของฉาก หรือพิธีกรหญิงคนหนึ่งช่อง ๑๑ พูดภาษาไทยสำเนียงอังกฤษ ท ออกเสียงเป็น T และกลุ่มที่เจ้าของรายการทั้งหลายที่พูดแล้วลิ้นคับปากก็เยอะ ฯ สื่อเหล่านี้ จะเหมือนต้องการความตื่นเต้น จนเรียงภาษาผิดๆ ถูกๆ โดยเฉพาะเวลาข่าวประท้วง สงคราม เหตุการณ์ต่างๆ เรื่องนี้ ขอให้ท่านสังเกตดู แล้วจับเอามาวิเคราะห์เทียบเคียง วิจารณ์ดู มันสะท้อนว่า คนไทยหมดคนพูดภาษาถูกใช่หรือไม่?


ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิต ได้ชี้แจงอยู่เสมอในคำภาษาไทย ที่คนไทยไม่รู้ที่มาเช่นคำว่า สบาย มาจากคำว่า สัปปายะ แปลว่า ไม่มีโรค ไม่มีทุกข์ร้อน แต่คนไทยยุคนี้กลับเข้าใจว่า สบาย ไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ ในขณะเดียวกัน อ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ก็ได้พูดเรื่องนี้อยู่ประจำทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยมานานในรายการ "ภาษาไทย ๕ นาที" ท่านได้ชี้แจงคำต่างๆ มากมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มาของคำ เช่นคำว่า ให้กับ และคำว่า ให้แก่ คำไหนถูกต้อง ท่านก็อ้างจากกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ว่า ให้กับ ใช้กับการให้ไม่ตรง คือฝากคนอื่นให้ ส่วนคำว่า ให้แก่ ให้ตรงกับมือ เป็นต้น


สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตอีกอย่างคือ คนไทยมักไม่ค่อยรู้ทันคำพูดที่กล่าวซ้ำๆ ของตนเอง คือ ไม่เห็นปรากฏการณ์ของพฤิตกรรมตนเองว่า เราคิด เราพูด เราทำ สิ่งใดซ้ำๆ หรือไม่ เราคิดหาทางแก้ไขหรือไม่ น่าแปลกที่มันไม่เป็นเช่นนั้น กลับกลายเป็นเลียนแบบกันง่ายๆและไม่รู้ตัว เช่น พฤติกรรมทางกายภาพยกมือเวลาพูด จับปากกาหมุนเวลาฟัง กระดิกเท้า หาว มือลูบหรือเสยเส้นผมฯ เสียงพูด เราอาจส่งเสียงบ่น อุทาน คำหยาบ คำติดอ่าง เอ่อ อ้า อืม อ้อ อื้อ โอ้ย ตายแล้ว ฯ กระนั้น เราก็ไม่ค่อยเห็นสิ่งที่ปรากฏเลย


นี่คือ ที่มาคำว่า เวลาเราพูดซ้ำคำ เราจะใช้มันจนติดปาก หากท่านดูสื่อเวลาเขาสัมภาษณ์คนชนบท กับชนในเมืองภาษาจะต่างกัน หมายถึง คำพูด สำเนียง ที่แตกต่างกัน และถ้าไปสัมภาษณ์คนกรุงกับคนกรุง จะพบภาษาที่ถ่ายทอดกันได้ จึงเห็นภาษาที่กล่าวขึ้นต้น ท่ามกลาง และลงท้าย เยอะแยะไปหมด คำเหล่านี้มาจากไหน ส่วนหนึ่งมาจาก พฤติกรรมการสื่อสารจนเคยชิน มาจากการไม่ตระหนักในการสื่อคำ มาจากการเลียนแบบ มาจากพื้นฐานด้านภาษาและความคิดไม่สอดคล้องกัน และมาจากการขาดความเข้าใจภาษาของคำ คือ ไม่ร่ำรวยคำที่สื่อพอ จึงไปหยิบยืมคำพูดชุดรวมมาก่อน


ดังนั้น นี่คือ ปัญหาเหมือนที่ผู้เขียนมองว่า ขาดคุณภาพ และขาดทักษะในการใช้คำ สิ่งที่สะท้อนคือ เราจนทางภาษา เราใช้ภาษาฟุ่มเฟือยเกินความจริง เราใช้ภาษาที่ซ้ำซาก จนทำให้เสียเวลาสื่อสาร เราไม่คิดจินตนาการว่า ภาพภาษา เวลาออกสื่อจะเป็นอย่างไร ไม่นึกถึงคนดู คนฟัง คือ นึกแต่ว่าจะพูด จะสื่อก็สื่อตามอารมณ์ แต่ไม่ได้แฝงฝากไว้ด้วยข้อคิด ปรัชญา หลักการ คำเตือน ฯ


คำที่ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้คนในยุคนี้กำลังเลียนแบบคำพูดคือ-

๑) ก็.../ก๊อ

๒) คือแบบว่า...หรือ แบบว่า...

๓) จริงๆ แล้ว... (ใช่บ่อย)

๔) ค่อนข้าง... (ใช้บ่อย)

๕) แต่... (ใช้บ่อย)

๖) มากๆ ...

๗) เหรอ

๘) ถ้าเกิดว่า...

๙) ถูกไหม / ถูกมั๊ย

๑๐) ใช่ไหม

๑๑) ไม่/ ม่ายยยย

๑๒) นะฮะ

๑๓) OK

๑๔) เฮ้ย

๑๕) สมมติว่า...

๑๖) แม่ง...

๑๗) เหี้ย...

๑๘) สัตว์/ไอ้สัตว์ -อุท่านหรือด่า

๑๙) จริงเหรอ

๒๐) แล้วแต่

๒๑) อะไรงี้

๒๒) โน่น นี่ นั่น

๒๓) ใช่

๒๔) นิดนึง

๒๕) ค ว ย

๒๖) ล้อเล่น

๒๗) คือแต่ว่า...

๒๘) ครับผม

๒๙) นั่นสิ

๓๐) แล้วไง

๓๑) โอ๊ย

๓๒) แหม

๓๓) ประมาณนี้

๓๔) แน่นอน

๓๕) ดีกว่า

๓๖) อ่า

๓๗) ถามจริง

๓๘) นั่นไง

๓๙) โอ้โฮ

๔๐) เป็นอะไรที่

ฯลฯ


คำทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนเมือง กลุ่มดารา นักร้อง สื่อมวลชน เป็นกลุ่มที่ใช้ำคำเหล่านี้ในลักษณะที่เรียกว่า ซ้ำซากและจำเจ จึงสะท้อนให้เห็นว่า เราเป็นทาสของภาษา หรือภาษาเป็นทาสของเรากันแน่ แล้วสมองของเรามองเห็นพฤติกรรมในการใช้สื่อภาษาเหล่านี้ อย่างรอบคอบได้อย่างไรฝากให้เราคิดสร้างสรรค์ร่วมกันครับ


อย่างไรก็ตามพระธรรมกิตติวงศ์ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เพราะภาษาคือชาติเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เราควรอนุรักษ์ ป้องกันการใช้ภาษาไทย และต้องมีการพัฒนาภาษา เพราะว่าภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิต กล่าวคือต้องเจริญเติบโตและพัฒนาไปตลอด แต่ต้องอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม (https://www.gotoknow.org/posts/501909)


ดังนั้น ภาษานั้น เป็นสื่อกลางให้สมองไว้ใช้ ในการถ่ายทอด แต่ถ้าเราไม่รู้จักภาษา (คำ ความหมาย) ดีพอ ก็จักเกิดปัญหา ที่สะท้อนให้เห็นทักษะในการพูด การเขียน ที่เลียนแบบคนอื่นอยู่ประจำ จนไม่สามารถผลิตคำขึ้นมาเองได้ ทำอย่างไร เราจะสร้างคำให้โดดเด่นหรือสร้างวรรคทองเหมือนวาทกรรมของคนดัง จนทำให้ผู้คนจดจำไปขยายต่อได้ และยิ่งกว่านั้น เราใช้ภาษาต้องอยู่เหนือภาษาหมายถึง สามารถวิเคราะห์ ภาษา อารมณ์คนพูดได้ด้วย มิฉะนั้น เราก็จะกลายเป็นทาสของภาษา จนติดอยู่ในกรงของภาษาที่แพร่อยู่ในสังคมอยู่ทุกวันนี้ ดังที่กล่าวแล้วข้างบนนั้น


เป็นภาษา ที่ไทย ใช้ทั้งชาติ
ใช่ใดขาด หรือแบ่ง แห่งศักดิ์ศรี
สื่อถึงกัน เข้าใจ ได้ยินดี
ตามความที่ กำหนด จดประเด็น

เพียงอย่าหลง ลืมเลย เคยสรรสร้าง
ตามแบบอย่าง ที่ดี มีให้เห็น
จรรโลงคำ นำใช้ กันให้เป็น
ให้โดดเด่น เน้นเสียง สำเนียงไทย

"บ้านริมโขง"

------------------------------

จำนงค์ ทองประเสริฐ. วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย, กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗

๑) http://thairo501.tripod.com/information/characterO... อ่านเสริม

๒) http://www.thaihealth.or.th/Conten.html อ่านเสริม

๓) http://moofern510.blogspot.com/ อ่านเสริม

-----------------๒๙/๗/๕๘----------------

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาซ้ำซาก
หมายเลขบันทึก: 592945เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2015 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ แอบลอกเก็บไว้เป็นเอกสารอ้างอิง ;-)

I asked many times for permission to distribute (free 0f charge) the Royal Institute Thai(-Thai) Dictionary database for use on tablets, smart phones and computers. I did not even get a courtesy reply. Someone picked up the ball and ran with it without asking RI. So my work is done. (I claim no credit nor involvement in the release of RITD.)

However a RITD2542 copy is now available for free download for use with StarDict/GoldenDict/ColorDict/... programs/apps. Search the web with "Royal Institute Thai Dictionary" for it.

ได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาไทยมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท