ภาวนาภาคปฏิบัติ สร้างสุขได้ ในทุกการงาน


หากเคยคิดว่าการภาวนาคือเรื่องของศาสนาเพียงอย่างเดียวเห็นจะเป็นความคิดที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว “การภาวนา” นั้นไร้ข้อจำกัด และสามารถนำไปเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตรอบๆตัวได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามการภาวนาซึ่งมีความหมายหนึ่งคือการมีสติและรู้เท่าทันตนเองได้ ต้องมีการเอาใจใส่ ลงมือปฏิบัติ เพราะการพัฒนาสติเป็นการบ่มเพาะ ฝึกฝนจิตของตนเองอยู่เสมอ

ตัวอย่างจากกิจกรรม “การเขียน ศิลปะ ภาวนา” ณ สวนราตรี หมู่บ้านสำโรง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเวทีฝึกปฏิบัติตามโครงการ “ภาวนาคือชีวิต วิถีชีวิตที่เกื้อกูลต่อชุมชนและสังคม” ที่สถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นพี่เลี้ยง ซึ่ง ดร.ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล ผู้อำนวยการสถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคม ในฐานะผู้จัดการโครงการ ย้ำว่า การภาวนาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในวัดเพียงอย่างเดียว เพราะความหมายหนึ่งของการภาวนาการใส่ใจการเคลื่อนไหวกาย และ รับรู้อารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้น และการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก สามารถปฏิบัติได้ผ่านการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ด้านศิลปะ การเคลื่อนไหว การทำงานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นหลักสร้างปัญญาผ่านงานภาวนา จึงมีการกระจายไปในหลากหลายรูปแบบกิจกรรม แตกต่างกันไป

เกษตรกรเท่าทันความเครียด

ทรงเดช ก้อนวิมล เกษตรกร ต.หนองตอกแป้ง จ.กาฬสินธุ์ นิยามการภาวนากับอาชีพของตนว่า เมื่อการภาวนาคือการเท่าทันอารมณ์ ลดความฟุ้งซ่าน สับสน และดำรงชีวิตอย่างมีสติ ดังนั้นเมื่อความเครียดของอาชีพเกษตรกรคือเรื่องดิน ฟ้า อากาศ จึงพยายามตั้งสติและมองให้เป็นเรื่องปัจจัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ พร้อมกับค้นหาวิธีการแก้ไขอย่างมีเหตุผล “แรกๆมันไม่ง่ายเลย คนทำงานมีความเครียดทุกคน แต่ก็พยายามฝึกไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะฝึกตั้งสติระหว่างตักน้ำ การใส่ปุ๋ย ทำสติให้เท่าทันกับความรู้สึกตัวเองอยู่ตลอดเวลา สำหรับผมการภาวนาเหมือนการคุยกับตัวเอง สื่อสารกับอารมณ์ตัวเอง เช่น เคยหงุดหงิดเพราะอากาศร้อน ก็พยายามคิดว่าเราคงไปบังคับพระอาทิตย์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการมาทำงานเช้าขึ้น พอเริ่มสายแดดแรงก็กลับไปทำงานที่สามารถทำได้ในที่ร่มแทน งานก็ยังได้เท่าเดิมและไม่รู้สึกหงุดหงิดเหมือนเก่า”

ลดหงุดหงิด ทำศิษย์รักครู

การภาวนาในมุมมองของอาชีพครู“สายฝน จันบุตราช” อาจารย์โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง อ.สิริธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าการภาวนาได้สร้างกำลังใจให้กับการทำงาน เพราะครั้งหนึ่งเคยรู้สึกหงุดหงิดกับนักเรียนที่ไม่ได้ดั่งใจ กลายเป็นคนขี้บ่นอารมณ์ร้อน จนไม่มีเด็กนักเรียนอยากเข้าใกล้ จึงเริ่มพยายามฝึกสติแบบง่ายๆ ด้วยการเดินภาวนาในทุกๆเช้า พยายามคิดถึงอารมณ์ของตัวเอง จับความรู้สึก และแก้ไขตัวเองด้วยสื่อสารกับเด็กนักเรียนด้วยน้ำเสียงน่าฟังมากขึ้น ใช้เหตุผลอธิบายแทนอารมณ์ในขณะนั้น และแม้แรกๆจะใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ทั้งหมดก็มีผลลัพธ์ในทางที่ดีขึ้น

“เมื่อก่อนตอนที่เราชอบดุ ชอบด่า เด็กก็จะกลัวเรา ไม่อยากเข้าใกล้ เขาก็จะไปพูดกับเพื่อนว่ารำคาญจังเลยครูคนนี้ แต่พอเราเอากระบวนการภาวนามาอยู่กับเรา มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเรา ซึ่งส่งผลกับเด็กด้วย พยายามปรับตัวเองให้มีเหตุผลและพูดเพราะขึ้น พยายามใช้จิตวิทยาให้เขาคิดเอง เด็กก็เข้าห้องเพราะเกรงใจเรา มันเป็นสิ่งที่มันมหัศจรรย์สำหรับตัวเอง ทำให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น”

รู้ใจเขาและเรา สร้างสัมพันธ์พยาบาล-ผู้ป่วย

ด้าน "พนิดา สารกอง" พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลโนนคูณ เล่าว่า ได้ผสานการภาวนา กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ในโรงพยาบาล โดยมี จุดมุ่งหมายให้บุคลากรนำ แนวทางปฏิบัติภาวนา มาพัฒนาตนเองรู้ถึงจิตใจ อารมณ์ และความคิด โดยเฉพาะการรับมือกับสิ่งที่ไม่เป็น ไปตามความคาดหวัง เช่น การสื่อสารกับ ผู้เข้ารับการรักษาที่อาจมีมุมมองต่างกัน ซึ่งบ่อยครั้งอาจกลายเป็นความไม่พอใจระหว่างกัน เป็นต้น "ผลที่ได้จากกิจกรรมนี้ได้สร้างบรรยากาศการทำงาน ที่มีความสุข ที่สำคัญคือการพูดคุยกันด้วยสติระหว่างบุคลากร ด้วยกัน ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น เช่น บางคนอาจรู้สึกเหนื่อย ผิดหวัง ท้อใจ แต่เมื่อนิ่ง ทบทวน ทำให้รู้ว่านั่นเป็นความรู้สึกชั่วครู่ และเกิดจากความต้องการที่จะให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าและยอมรับในสิ่งที่ทำนำไปสู่การให้กำลังใจกัน การทำงานร่วมกันจึงดียิ่งขึ้น" พนิดา อธิบายถึงผลลัพธ์ที่ได้

วัชราภรณ์ ประภาสะสุทธิ์” พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ สะท้อนว่า พยาบาลมักมีปัญหากับคนไข้เนื่องจากคนไข้บางรายไม่ยอมทำตามที่แพทย์สั่ง เช่น บางรายไม่มาตามนัด ไม่รับประทานยา จึงทำให้อาการของโรคไม่ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้จึงไม่ค่อยดีนักเพราะต่างกล่าวโทษกันไปมาว่าใครคือต้นเหตุ แต่การฝึกสติได้ทำให้มองไปที่เหตุผลและวิธีการแก้ไขมากกว่าจะกล่าวโทษกันเอง ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงทำให้ความเครียดของตัวเองลดน้อยลง เกิดการสื่อสารกับคนไข้มากขึ้น มีพูดคุยในเรื่องราวที่มากไปกว่าอาการเจ็บป่วย จนกลายเป็นสัมพันธ์ เกิดความร่วมมือระหว่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้มาใช้บริการ

สำหรับโครงการภาวนาคือชีวิตคือการสร้างปัญญาผ่านงานภาวนาในรูปแบบเน้นการเจริญสติตามแนวทาง หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งใส่ใจการเคลื่อนไหวกาย และรับรู้อารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้น โดยสสส.และสถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคมได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันในระยะเวลากว่า1ปี จนเกิดเครือข่ายชุมชนกลุ่มคนทำงานอาชีพต่างๆ ที่สนใจเชื่อมโยงหลักการภาวนากับชีวิตประจำวัน เข้าร่วมกว่า15 โครงการในพื้นที่ทั่วประเทศ

หมายเลขบันทึก: 592792เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2015 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2015 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท