เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง :๑๙. เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้หญิงในโบลิเวีย



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๑๙ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 18 Popular Education, Women’s Work, and Transforming Lives in Bolivia เขียนโดย Catherine A. Hansman (ศาสตราจารย์ด้าน Adult Learning and Development, Cleveland State University) & Judith Kollins Wright (ผู้เชี่ยวชาญด้าน cultural competency integration สังกัด Planned Parenthood of Northeast Ohio, Cleveland)

สรุปได้ว่า เทคนิค “การศึกษาเพื่อประชาชน” ที่ให้ความสำคัญแก่ tacit knowledge ภายในตัวผู้เรียน และภายในชุมชน นำเอามาไตร่ตรองสะท้อนคิด และนำมาใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ตามด้วยการไตร่ตรอง สะท้อนคิด สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน ให้กลายเป็นคนที่มั่นใจตัวเอง กล้าลุกขึ้นมา ทำสิ่งที่ถูกต้อง

เป็นเรื่อง "การศึกษาเพื่อประชาชน" (popular education) ซึ่งผมอยากเรียกว่า "การศึกษาเพื่อผู้ถูกกดขี่" มากกว่า เล่าเรื่องโปรแกรมฝึกอบรมภาวะผู้นำในท้องถิ่น ที่ใช้เทคนิค การศึกษาเพื่อประชาชน ให้แก่กลุ่มผู้หญิงในประเทศโบลิเวีย

เป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญต่อ ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่มาจากประสบการณ์ตรง และจากมิติเชิงวัฒนธรรม มากกว่าความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge) หรือความรู้ทฤษฎี แต่ก็ไม่ละเลย ความรู้ทฤษฎี

กิจกรรมที่เล่าในตอนนี้มาจากงานของหลักสูตร ฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่น ของ OJM (Oficina Juridica Para la Mujer) ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายช่วยเหลือสตรี (เป็น เอ็นจีโอ) สตรีที่มาเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรม เป็นคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือถูกกระทำในอดีต ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่

เป้าหมายของหลักสูตร เพื่อสร้างครูหรือนักการศึกษาในครอบครัว ที่ทำงาน และในชุมชน

บทความในหนังสือตอนนี้ มาจากการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ Judith Kollins Wright ไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ เก็บข้อมูลจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตร เพื่อทำความเข้าใจว่า กิจกรรมในหลักสูตร ช่วยให้ผู้เข้าร่วม เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือค่านิยมทางสังคมหรือไม่ เพียงใด


การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

เขาบอกว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อคนนำเอาประสบการณ์ในอดีต มาตีแผ่ด้วยทฤษฎี Critical Theory ของ Mezirow (2000) ซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างความตระหนักรู้บริบทของ เรื่องราวในอดีต กับความเป็นจริงในปัจจุบัน

เปาโล แฟร์ (Paolo Freire, 1970) บอกว่า กระบวนการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานบริบทของปัญหาชีวิตจริง และเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน จะทำให้นักเรียนเกิดความตระหนักรู้อย่างลึก ทำให้ความยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความล้มเหลวเดิมๆ ในชีวิตหมดไป เกิดความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจ ในสังคม ในสภาพเช่นนี้ การศึกษากลายเป็นการเมืองเรื่องอำนาจในสังคม

สภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อครูไม่ถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปให้แก่ศิษย์ แต่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ท้าทายศิษย์ เพื่อให้คนที่เคยถูกกีดกันออกไป ได้เข้ามามีส่วนแสดงความคิดเห็น และสร้างบรรยากาศ ที่ทุกเสียงได้รับการฟัง


หลักสูตรฝึกอบรม

หลักสูตรนี้จัดโดย OJM เรียกชื่อหลักสูตรว่า Legal Promotor’s Course OJM เป็น NGO ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1984 เพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ขจัดการกดขี่เพศหญิงในโบลิเวียและในโลก และเพื่อสร้างสังคม ประชาธิปไตยที่เคารพชีวิต สันติภาพ เสรีภาพ และความแตกต่าง

ผู้เข้ารับการอบรมเป็นวัยรุ่นทั้งสองเพศ ครู นักกิจกรรมชุมชน ผู้นำชุมชน และตำรวจ การอบรมใช้หลักการและวิธีการ Popular Education คือถือว่าความรู้ที่ไม่เป็นทางการ ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของผู้คน มีความสำคัญกว่าความรู้ที่เป็นทางการ ที่ได้รับมาจากภายนอก จึงรับคนเข้ารับการอบรมโดยไม่จำกัดพื้นความรู้ทางการศึกษา ซึ่งก็ช่วยลดความรู้สึกแบ่งแยกชนชั้นลงไป ได้ด้วย แต่ก็ทำให้เป็นกลุ่มที่มีพื้นความรู้ทางการศึกษาแตกต่างกัน ต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่พื้นความรู้ ทางการศึกษาไม่เป็นอุปสรรค

ภาษาที่ใช้ในประเทศโบลิเวียมี ๓ ภาษา คือภาษาสเปนเป็นภาษาทางการ และยังมีภาษาท้องถิ่นอีก ๒ ภาษา หลักสูตรของ OJM ในตอนต้นๆ ล้มเหลว เพราะใช้ภาษาสเปน แต่คนท้องถิ่นไม่เข้าใจ ในตอนหลังจึงใช้ภาษาที่พูดกันในท้องถิ่นที่ไปจัดหลักสูตร หากจัดในเมืองก็ใช้ภาษาสเปน หากจัดในชนบท ก็ใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ


หลักสูตรอาสาสมัครกฎหมาย (Legal Promotor) ที่เมือง Cochabamba, โบลิเวีย

หลักสูตรนี้เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 และดำเนินการเรื่อยมา มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะการสอน และความรู้ทางกฎหมาย และในเวลาเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความเป็น ธรรมในสังคม ผ่านวิธีการจัดเวทีเรียนรู้ เป้าหมายคือสิทธิสตรี ในวัฒนธรรมเพศชายเป็นใหญ่

ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง สมัครหรือได้รับการชักชวนมาจากหลายทาง รวมทั้งจากการบอกต่อหรือแนะนำจากคนที่เคยเข้ารับการอบรม ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะเป็นผู้นำชุมชนอยู่แล้ว จำนวนรุ่นละประมาณ ๔๐ คน เป้าหมายของผู้เข้ารับการอบรมคือ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และของคนในชุมชนโดยรอบ


หลักสูตร

หลักสูตรจัดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคมของแต่ละปี ประกอบด้วย การประชุมปฏิบัติการ ในห้องเรียน ๒๘ ครั้ง ไปดูงานที่สถาบัน ๓ ครั้ง การประชุมปฏิบัติการเพื่อประเมินและเสริมการเรียนรู้ (reinforcement) ๒ ครั้ง และกิจกรรมพิเศษ ตามสถานการณ์ เช่นการสัมมนา และการศึกษาดูงานภาคสนาม

การอบรมแต่ละรุ่น วางยุทธศาสตร์ตรงตามเงื่อนเวลาของเหตุการณ์สำคัญ เช่นหากจัดใกล้เวลาของ การเลือกตั้ง ก็จะจัดให้การประชุมปฏิบัติการด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นมาจัดช่วงต้นๆ ของหลักสูตร ก่อนการเลือกตั้ง

ในช่วงแรก การประชุมปฏิบัติการเรื่องความรุนแรงต่อสตรี และเรื่องกฎหมายต่อต้านความรุนแรง ในครอบครัว อยู่ในช่วงต้นของหลักสูตร แล้วปรับไปอยู่ช่วงกลาง เพื่อให้ช่วงของการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection/AAR) ร่วมกันมีพลังเพราะในช่วงกลางของหลักสูตร สมาชิกรู้จักกันและไว้วางใจกันแล้ว พลังของการไตร่ตรองสะท้อนคิดภายใต้ความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยบอกสมาชิก ว่าผู้หญิงต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้

หลักสูตรที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูล และนำมาเขียนในบทความ ดำเนินการที่สำนักงาน OJM แคว้น Cochabamba ภาคกลาง การเก็บข้อมูลเกิดขึ้นนานมาก หลายปี ก่อนเขียนบทความนี้

การประชุมปฏิบัติการจัดสัปดาห์ละครั้ง ใช้รูปแบบเดียวกันทุกครั้ง คือเริ่มด้วยการทบทวนสาระ ของสัปดาห์ที่แล้ว และการนำเหตุการณ์ในสังคมโดยรอบตัวมาอภิปราย และการจัดสถานที่ กิจกรรม ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกให้มากที่สุด


วิธีการ

วิธีการอบรม เรียกว่า “มีส่วนร่วมและมีชีวิต” (participatory and living) ซึ่งหมายถึงเป็นกระบวนการที่ มีชีวิตชีวา ใช้ role play, กระบวนการกลุ่มย่อย, เรื่องเล่าเร้าพลัง, การนำเสนอ, การดูงานภาคสนาม, และงานวิจัยการบ้าน

กลไกให้เกิดการเรียนรู้คือการใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) และการอภิปราย ที่ปรับให้ เหมาะกับวิถีการเรียนรู้ของผู้หญิง คือใช้ สุนทรียสนทนา (dialogue), การสื่อสาร(communication), และการแสดงออก (expression)

ผู้เรียนมีส่วนเสนอแนะ และมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งร่วมกันแต่งบทละครเพื่อแสดงในชุมชน รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นในชุมชน

ในเรื่องกฎหมายที่ซับซ้อน เช่นการหย่าร้าง การแยกกันอยู่ การเป็นผู้ดูแลเด็กตามกฎหมาย จะใช้วิธี แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า didactic workbook บันทึกคำถาม และความเข้าใจหลังการปรึกษา หารือกันในกลุ่ม แล้วนำมานำเสนอในกลุ่มใหญ่

อาจใช้วีดิทัศน์นำเสนอเรื่องจริง ตามด้วยการอภิปราย หรืออาจใช้การแสดงบทบาทจำลอง (role play) การวาดรูปแสดงเรื่องราว ที่ให้ความสนุกสนาน ขบขัน และได้สาระลึกๆ ในเรื่องการใช้อำนาจกฎหมายผิดๆ

เนื่องจากสมาชิกมาร่วมเรียนรู้สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น จึงมีการบ้านระหว่างสัปดาห์ เพื่อให้สมาชิก เตรียมตัว เตรียมทบทวนเรื่องราวในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะเรียนในสัปดาห์ถัดไป นั่นคือการเตรียมเอา “ความรู้” ในชีวิตจริง จากประสบการณ์ตรงของตนเอง (tacit knowledge) มาไตร่ตรองสะท้อนคิด เทียบเคียงกับหลักการหรือทฤษฎี (ความรู้จากภายนอก - explicit knowledge) การบ้านมักเป็นคำถาม ให้เตรียมทบทวนสะท้อนคิดมาก่อน จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

จะเห็นว่าวิธีการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจ คือ การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง (critical reflection) ทั้งที่ทำคนเดียว และที่ทำเป็นกลุ่ม เป็นการเรียนบนหลักการ action + reflection

การดูงานภาคสนาม จัดไปเยี่ยมและเรียนรู้กิจกรรมของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และคุ้มครองความยุติธรรม รวมทั้งไปดูละคร เรื่องเกี่ยวกับเพศสภาพและโรคเอดส์


บทบาทของ คุณอำนวย

ผู้ดำเนินการกิจกรรมในหลักสูตร ไม่เป็น “ผู้สอน” แต่เป็น “คุณอำนวย” (facilitator) และคาถาสำคัญ ของคุณอำนวยคือ มองสมาชิกผู้เข้าหลักสูตรในฐานะผู้เสมอกัน และให้คุณค่าแก่ประสบการณ์ชีวิตของเขา เพราะตามหลักการของ “การศึกษาของประชาชน” (popular education) ความรู้ในคนและในท้องถิ่น สำคัญกว่า หรืออย่างน้อยสำคัญพอๆ กันกับความรู้จากภายนอก หรือความรู้เชิงทฤษฎี คุณอำนวยต้องว่องไวต่อดุลยภาพ เชิงอำนาจระหว่างครูกับผู้เรียน

การให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางคนพูดเก่ง บางคนพูดไม่ออก เขาจึงใช้วิธี “อภิปรายด้วยภาพ” (visual discussion) คือให้วาดภาพ หรือแสดงบทบาทจำลอง (role play) เพื่อแสดงความคิดเห็น ในรูปแบบที่ทุกคนได้แสดงออก

มีตัวอย่าง ในการประชุมปฏิบัติการหนึ่ง วิทยากรเป็นนักกฎหมายที่ใช้ภาษากฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้ทุกคนงง ไม่กล้าพูด ในที่สุดทนายความท่านนั้นหันมาใช้ภาษาพื้นเมือง ทำให้บรรยากาศดีขึ้นทันที

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริง ที่หัวหน้างานข่มขืนลูกน้องจนตั้งครรภ์ เรื่องกำลังอยู่ในขั้น ไต่สวนในชั้นศาล พยานด้าน ดีเอ็นเอ บ่งชี้ชัดในด้านการเป็นพ่อ-ลูก แต่เนื่องจากฝ่ายชายเป็นคนมีหน้ามีตา ในสังคม และเป็นผู้มีอิทธิพล จึงเกรงกันว่าศาลจะตัดสินแบบเอียงข้าง คณะผู้เข้าหลัดสูตรจึงยกขบวนกันไป ฟังการตัดสิน เพื่อกดดันคณะลูกขุน ในที่สุดจำเลยถูกตัดสินจำคุก

หัวใจคือการนำเอาความรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์จริง แล้วนำมาใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกัน จะเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมหลักสูตร


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

แม้เหตุการณ์ตามข้อเขียนนี้ได้ผ่านไปนานมากแล้ว แต่เมื่อผู้เขียนกลับมาทบทวนเพื่อเขียนบทความนี้ ความทรงจำก็ยังสดใหม่อยู่ ว่าการศึกษาของประชาชน ผ่าน action + reflection มีพลังเปลี่ยนแปลงคนจริงๆ เขาได้ยกตัวอย่างคำพูดของผู้เข้าร่วมหลักสูตร ว่าตนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และความสัมพันธ์ระหว่างเขา กับสามีเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ต่างก็เคารพให้เกียรติแก่กันและกันอย่างไร

วิธีการเรียนรู้ที่ใช้ในหลักสูตรได้แก่ การเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน, การใช้ภาษาถิ่น, การปฏิบัติ ตามด้วย การไตร่ตรองสะท้อนคิด, การบูรณาการประสบการณ์การเรียนรู้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้เรียน, การใช้วิธีการ เรียนรู้ร่วมกัน, การอภิปราย, และการใช้ตัวอย่างจริง ทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับชีวิตของตนเอง และเข้ากับบริบทที่มีอยู่จริงในสังคม ได้

ผลลัพธ์คือ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรตระหนักว่า ตนเองคือผู้สร้าง และผู้ร่วมสร้าง ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา คนเหล่านี้กลายเป็นนักการศึกษาหรือนักเรียนรู้


วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 592704เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2015 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2015 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท