เจ้าเมืองลพบุรี(ก่อนทำเนียบ)


เจ้าเมืองลพบุรี (ก่อนทำเนียบ)

เจ้าเมือง คือหัวหน้าผู้ปกครองสูงสุดของเมือง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ แล้วในปีพ.ศ.๒๔๗๖ จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกเจ้าเมืองเป็น ข้าหลวงประจำจังหวัด และต่อมาปีพ.ศ. ๒๔๙๕ ได้เปลี่ยนเป็นเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด มาจนถึงในปัจจุบัน ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัด จึงควรเรียกว่า ทำเนียบเจ้าเมือง ข้าหลวงประจำจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีดั่งเช่นจังหวัดกาฬสินธุ์

ตามทำเนียบเจ้าเมืองลพบุรี เริ่มมีเจ้าเมืองท่านแรก คือ พระยาพิสุทธิธรรมธาดา ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๕๕ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ช่วงเวลาที่ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) หลังจากที่ได้เริ่มมีการจัดรูปการปกครองส่วนภูมิภาคแบบยุโรป ในรูปมณฑลเทศาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมีหน่วยการปกครองเรียงลำดับจากใหญ่ไปหาเล็กดังนี้

มณฑล – เมือง(จังหวัด) – อำเภอ –ตำบล –หมู่บ้าน

มณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ปกครอง เมือง มีเจ้าเมืองมีอำนาจหน้าที่ปกครองเมือง และหน่วยการปกครองตามลำดับจากเมืองลงไปตามลำดับ

ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ดินแดนสยามมีมณฑลอยู่ ๑๙ มณฑล ครอบคลุมพื้นที่เมืองจำนวน ๗๒ เมือง(เมืองเปลี่ยนเป็น จังหวัดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้หลายมณฑลถูกยุบรวมกันตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๘ ภายหลังจึงคงเหลืออยู่เพียง ๑๔ มณฑล ได้แก่

๑. กรุงเทพมหานคร๖. มณฑลนครราชสีมา๑๑. มณฑลภูเก็ต

๒. มณฑลจันทบุรี๗. มณฑลปราจีนบุรี๑๒. มณฑลราชบุรี

๓. มณฑลนครชัยศรี๘. มณฑลปัตตานี๑๓. มณฑลกรุงเก่า

๔. มณฑลนครสวรรค์๙. มณฑลพายัพ๑๔. มณฑลอุดรธานี

๕. มณฑลนครศรีธรรมราช๑๐. มณฑลพิษณุโลก

มณฑลกรุงเก่า ปกครอง ๙ เมือง คือ ๑. กรุงเก่า ๒. เมืองอ่างทอง ๓. เมืองสิงห์บุรี ๔. เมืองอินทร์บุรี ๕. เมืองพรหมบุรี ๖. เมืองลพบุรี ๗. เมืองสระบุรี ๘. เมืองปทุมธานี ๙. เมืองธัญบุรี

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช ๒๔๗๖ รูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้ถูกยุบเลิกไปโดยพระราชบัญญัตินี้ จากนั้นจังหวัดได้กลายเป็นเขตการปกครองย่อยของประเทศไทยที่มีระดับสูงที่สุด

ประเด็นมีอยู่ว่า :เมืองลพบุรีมีเจ้าเมืองคนแรกในทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ แล้วก่อนปี พ.ศ.๒๔๔๒ เรามีเจ้าเมืองหรือไม่ จวน และ ที่ว่าราชการเมืองอยู่แห่งใด ?

เมื่อมีเจ้าเมืองท่านแรกใน ปี พ.ศ.๒๔๔๒ น่าจะได้รับบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ให้ใช้หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ปรับปรุงซ่อมแซมในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และต่อมาในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มาพัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองศูนย์การทหาร ได้ย้ายศูนย์ราชการอันมีศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี ไปไว้ทางตะวันออกของเมืองเก่าห่างไปประมาณ ๔ กม. ณ วงเวียนเทพสตรี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปัจจุบัน

เมืองลพบุรีเป็นเมืองที่เก่าแก่ก่อนสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสถาปนาเมืองลพบุรี เป็นราชธานีแห่งที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา หากมองภูมิประเทศของเมืองลพบุรีในอดีตแล้ว จะเห็นว่าภูมิประเทศด้านริมสองฝากฝั่งแม่น้ำลพบุรี และลำน้ำบางขามเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออก เป็นที่ราบสูง ป่าและเขา หากเราวิเคราะห์จากแนวคลอง ชัยนาท-ป่าสัก(คลองอนุศาสนนันท์) คลองส่งน้ำสายหลักฝั่งตะวันออกของเขื่อนเจ้าพระยา ที่ตัดผ่านพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่เขตอำเภอบ้านหมี่ ผ่านอำเภอเมืองลพบุรี ไปสุดเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี ที่ตำบลโคกลำพาน กรมชลประทานจะขุดคลองในแนวที่ลุ่มจรดกับที่ดอน เพื่อใช้ความลาดเอียงของพื้นดิน ให้ความโน้มถ่วงของโลกกระจายน้ำลงสู่พื้นที่ลุ่มโดยวิธีธรรมชาติ หากเรามองย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะมาพัฒนาเมืองลพบุรีเป็นเมืองทหาร การอยู่อาศัยของประชาชนจะอาศัยที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมถึง เหมาะแก่การประกอบอาชีพการเกษตรทำนาเท่านั้น หน้าแล้งก็ยังจับปลาในแม่น้ำ หนอง คลอง บึง เป็นอาหารกินได้ ดังนั้นในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ แม่ทัพไทยได้กวาดต้อนผู้คนลาวพวนมา ส่วนหนึ่งนำมาไว้ที่เมืองลพบุรี เพื่อมาเพิ่มจำนวนประชากรของเมืองลพบุรี เราคงไม่ให้มาแย่งพื้นที่อยู่อาศัยของคนไทยดั้งเดิมที่อยู่ในลุ่มน้ำลพบุรี และลำแม่น้ำบางขาม ได้แต่ให้อาศัยเกาะชายดอนตามแนวคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งคนไทยดั้งเดิมไม่ชอบอาศัยอยู่ ต่อมามีการเปิดใช้เขื่อนเจ้าพระยาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ และขุดคลองส่งน้ำสายหลักที่เรียกว่าคลองชัยนาท-ป่าสักนี้แล้ว คนไทยเชื้อสายลาวพวน มาปลูกบ้านอยู่อาศัยเกาะชายดอนด้วยความยากเข็ญ หาผักหาปลากินก็ต้องลงไปแย่งหากินตามห้วยหนองคลองบึงในที่คนไทยดั้งเดิมอาศัยอยู่ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๐๐ ถึงปัจจุบัน พื้นที่ขอบชายดอนมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและผักปลา ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ไม่ต้องไปอาศัยหากินในพื้นที่ลุ่มอีก

ในยุคที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ นั้น ในลุ่มแม่น้ำลพบุรีเป็นแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีวัดร้างที่พม่าเผาทำลายอยู่มากมายเป็นหลักฐานประจักษ์พยานให้เราเห็น ผู้คนบนฝั่งแม่น้ำลพบุรีคงถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย บ้างก็ต้องอพยพหลบหนีเข้าป่าดงไปก็รอดตัว เมื่อถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่๔ เมืองลพบุรีคงมีประชากรไม่มากนัก เมืองลพบุรีจัดรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ เมืองลพบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น ๔ อำเภอ คือ

๑.อำเภอเมืองลพบุรี๓.อำเภอสระโบสถ์ (อำเภอโคกสำโรง)

๒.อำเภอสนามแจง (อำเภอบ้านหมี่)๔.อำเภอโพหวี (อำเภอท่าวุ้ง)

อำเภอชัยบาดาล ยังเป็นเมืองชัยบาดาลหัวเมืองชั้นโท ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา ดังนั้นจะเห็นว่าเมืองลพบุรียังมีประชากรไม่มากนัก อำเภอก็มีเพียง ๔ อำเภอ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกหลังแนวขอบชายดอนของแนวคลองชัยนาท-ป่าสัก ในอดีตยังเป็นป่าเขาไม่มีคนอยู่อาศัย ผู้คนผ่านเข้าไปก็เป็นไข้ป่าผอมตัวเหลืองกลับมา

ที่ตั้งที่ว่าราชการเมืองลพบุรี และจวนเจ้าเมืองอยู่ที่ใดกันเล่า (บอกมาเสียทีอย่ายาวอยู่เลย)เอาละเข้าเรื่องแล้วครับ สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองลพบุรี เป็นแค่หัวเมืองจัตวา เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ที่ “พระนครพราหมณ์” ในสมัยตั้งมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ และต่อมาปี พ.ศ.๒๔๔๒ เมืองลพบุรีเริ่มจัดแบ่งการปกครองเป็น ๔ อำเภอ สำหรับอำเภอโพหวี นั้นตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการเมืองลพบุรีเพียง ๔ กิโลเมตร ขณะนั้นที่ว่าราชการเมืองตั้งเหนือต้นสะตือใหญ่เยื้องฝั่งวัดเทพกุญชร อำเภอโพหวีตั้งอยู่ที่ศาลาตาหลวง ข้างวัดโพธิ์แก้ว(ด้านใต้)ตำบลโพธิ์ตลาดแก้ว เป็นสาเหตุขออ้างที่จะต้องย้ายอำเภอโพหวีไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ที่ตำบลท่าวุ้ง ด้านเหนือปากคลองมะขามเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์ของตำบลต่างๆ ต่อจากนั้นเมื่อเมืองลพบุรียกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีแล้ว เจ้าเมืองตั้งใหม่มีบรรดาศักดิ์ที่ “พระยาสุจริตรักษาลพบุรานุรัก-พิทักษ์ทวีชาติภูมิ” ตำแหน่งเจ้าเมือง ส่วนปลัดเมืองเดิมนามว่า ”ขุนบุรีราชรักษา” ตั้งใหม่เป็น “พระนครพราหมณ์”

ในยุคก่อนปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล การปกครองเมืองส่วนใหญ่จะสืบทอดทางสายเลือด หากมีบุตรชายของเจ้าเมืองก็ฝึกหัดราชการกันไป จนมีประสบการณ์ เมื่อเจ้าเมืองชราภาพหรือชิ้นชีพตักษัยลง ผู้มีอาวุโสรองก็มักเป็นบุตร หลาน หรือบุตรเขย พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป ที่ว่าราชการเมืองก็คือบ้านของเจ้าเมือง หรือจวนของเจ้าเมืองนั่นเอง ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ทั้งที่ดินและบ้านช่อง

กรณีเมืองลพบุรี ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะย้ายศาลาที่ว่าการเมืองไปอยู่ ณ หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนารายณ์ราชนิเวศน์(ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน หรือสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่จำเป็นต้องใช้สมบัติที่ดินหรือจวนและที่ว่าราชการเมืองของเจ้าเมืองเดิมอีก ทรัพย์สมบัติที่ดินจึงตกทอดเป็นของทายาทที่ได้รับช่วงมรดกตกทอดกันไป

เชิงอรรถ : เมื่อสมัยผมยังเป็นเด็ก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๔ ถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๙ เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๑-๖ ที่โรงเรียนวินิตศึกษา พักอาศัยเป็นเด็กวัดกวิศราราม ยุคนั้นต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำโดยเรือยนต์ในฤดูน้ำหลาก ผมนั่งเรือยนต์ผ่านฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี เยื้องวัดเทพกุญชร จะเห็นบ้านหลังใหญ่ครึ่งตึกครึ่งไม้เป็นสง่า อยู่ในสวนป่ามะม่วงที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว ไม่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนธรรมดาสามัญ มีความสงสัยมาตลอด จนผ่านมาถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ โอกาสที่ไปเยี่ยมพื้นที่ดังกล่าวมานั้น ผมได้รับข้อมูลรายละเอียดจาก พ.อ.สมิต อุดมเดชาณัติ ว่า ณ พื้นที่ที่ผมเคยพบเห็นทางเรือเมื่อ ๖๐ ปี ก่อนนั้น คือจวนและที่ว่าราชการเมืองของเมืองลพบุรีในอดีตนั่นเอง ขณะนี้เป็นพื้นที่รกทึบ เต็มไปด้วยต้นกระถินใหญ่ และไม้นานาชนิด บ้านใหญ่ครึ่งตึกครึ่งไม้ถูกรื้อทิ้ง ท่าน พ.อ.สมิตเล่าให้ฟังว่า เมื่อ ประมาณ ๔๐ ปี ที่ผ่านมาท่านเคยรายงานกรมศิลปากร ขอสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมจวนและที่ว่าราชการเมืองลพบุรีหลังเก่านี้ ไม่ได้รับการสนับสนุน ต่อมาภายหลังทรุดโทรมมากเกินกำลังทรัพย์ที่จะซ่อมแซม ท่านจึงรื้อทิ้งไป เหลือแต่ซากแนวอิฐบนดินไว้ให้ดูและชมได้ ช่างน่าเสียดายเหลือเกิน..../

จวนและที่ว่าราชการเมืองลพบุรี ริมแม่น้ำลพบุรี หมู่ที่ ๖ ตำบลพรหมาสตร์



ศาลาว่าราชการเมืองลพบุรี ณ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ วังพระนารายณ์ราชนิเวศน์


ศาลากลางจังหวัดลพบุรี ณ วงเวียนเทพสตรี

พระนาม / นาม ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี

ลำดับ

ชื่อ - สกุล

เริ่มดำรงตำแหน่ง

สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง

1

พระยาพิสุทธิธรรมธาดา

พ.ศ.2442

พ.ศ.2455

2

พระยาสุนทรสงคราม

พ.ศ.2455

พ.ศ.2457

3

พระยานครพระราม

พ.ศ.2457

พ.ศ.2460

4

พระยาพิษณุโลกบุรี

พ.ศ.2460

พ.ศ.2464

5

อำมาตย์เอกพระยาวิเศษไชยชาญ

พ.ศ.2464

พ.ศ.2466

6

พ.ต.อ.พระยากำจัดโสณฑ์ทุจริต

พ.ศ.2466

พ.ศ.2469

7

พระยานายกนรชน

พ.ศ.2469

พ.ศ.2470

8

อำมาตย์โทพระบริหารเทพธานี

พ.ศ.2470

พ.ศ.2473

9

พระยาเพ็ชรอภิบาล

พ.ศ.2473

พ.ศ.2476

10

พระยาอาณาจักรบริบาล

พ.ศ.2476

พ.ศ........

11

หลวงทำนักนิกรชน

พ.ศ.2476

พ.ศ.2478

12

หลวงสฤษฎิ์สาราลักษณ์

พ.ศ.2478

พ.ศ.2479

13

พ.ต.ต.หลวงอัศวินศิริวิลาศ

พ.ศ.2479

พ.ศ.2480

14

พ.ต.หลวงยุทธสารประสิทธิ์

21 มิถุนายน พ.ศ.2480

พ.ศ.2481

15

พ.อ.พระพิชัยศรแผลง

พ.ศ.2481

18 เมษายน พ.ศ.2482

16

หลวงโยธีพิทักษ์

4 ธันวาคม พ.ศ.2482

พ.ศ.2483

17

ร.อ.ขุนชาญ ใช้จักร ร.น.

19 กรกฎาคม พ.ศ.2483

พ.ศ.2485

18

พ.ต.ขุนทอง สุนทรแสง

พ.ศ.2485

พ.ศ.......

19

นายศักดิ์ ไทยวัฒน์

1 พฤษภาคม พ.ศ.2485

พ.ศ.2488

20

นายชม ชาตินันท์

7 กรกฎาคม พ.ศ.2488

1 ตุลาคม พ.ศ.2489

21

ขุนบุรีภิรมย์กิจ

16 ตุลาคม พ.ศ.2489

18 สิงหาคม พ.ศ.2490

22

หลวงศรีนราศัย

22 สิงหาคม พ.ศ.2490

5 ธันวาคม พ.ศ.2491

23

นายศักดิ์ ไทยวัฒน์

7 ธันวาคม พ.ศ.2491

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2494

24

นายชลอ วนะภูติ

14 มกราคม พ.ศ.2494

3 เมษายน พ.ศ.2496

25

นายสวัสดิ์ พิบูลนครินทร์

3 เมษายน พ.ศ.2496

7 ธันวาคม พ.ศ.2500

26

นายสันต์ เอกมหาชัย

6 สิงหาคม พ.ศ.2500

30 สิงหาคม พ.ศ.2502

27

นายยุทธ หนุนภักดี

30 สิงหาคม พ.ศ.2502

30 กันยายน พ.ศ.2510

28

พล.ต.ต.สามารถ วายวานนท์

1 ตุลาคม พ.ศ.2510

30 กันยายน พ.ศ.2515

29

นายฉลอง วัชรากร

1 ตุลาคม พ.ศ.2515

30 กันยายน พ.ศ.2519

30

พล.ต.วิทย์ นิ่มนวล

1 ตุลาคม พ.ศ.2519

23 กรกฎาคม พ.ศ.2520

31

นายเชาวน์วัศ สุดลาภา

24 กรกฎาคม พ.ศ.2520

30 กรกฎาคม พ.ศ.2522

32

นายโชดก วีรธรรม พูลสวัสดิ์

1 กันยายน พ.ศ.2522

20 เมษายน พ.ศ.2524

33

นายวิธาน สุวรรณทัต

25 เมษายน พ.ศ.2524

30 กันยายน พ.ศ.2527

34

นายชิต นิลพานิช

1 ตุลาคม พ.ศ.2527

31 มีนาคม พ.ศ.2530

35

นายเอนก โรจนไพบูลย์

1 พฤศจิกายน พ.ศ.2530

31 ตุลาคม พ.ศ.2532

36

เรืออากาศตรีประกฤติ ร่วมวงศ์

1 พฤศจิกายน พ.ศ.2532

30 กันยายน พ.ศ.2534

37

นายวิเชียร เปาอินทร์

1 ตุลาคม พ.ศ.2534

30 กันยายน พ.ศ.2537

38

นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร

1 ตุลาคม พ.ศ.2537

30 กันยายน พ.ศ.2542

39

นายทวีศักดิ์ เวียงวิเศษ

1 ตุลาคม พ.ศ.2542

30 เมษายน พ.ศ.2545

40

นายชนินทร์ บัวประเสริฐ

1 พฤษภาคม พ.ศ.2545

30 กันยายน พ.ศ.2546

41

นายปริญญา อุดมทรัพย์

1 ตุลาคม พ.ศ.2546

30 กันยายน พ.ศ.2547

42

นายวิชัย ศรีขวัญ

1 ตุลาคม พ.ศ.2547

12 พฤศจิกายน 2549

43

นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์

13 พฤศจิกายน 2549

30 กันยายน 2550

44

นายจารุพงศ์ พลเดช

1 ตุลาคม 2550

30 กันยายน 2552

45

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ

1 ตุลาคม 2552

30 กันยายน 2555

46

นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ

8 ตุลาคม 2555

1 ตุลาคม 2556

47

นายธนาคม จงจิระ

2 ตุลาคม 2556

ปัจจุบัน

พระนครพราหมณ์ และ พระนครพระราม

ในกฎหมายตราสามดวงส่วนที่ว่าด้วย “พระไอยการนาทหารหัวเมือง” ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกล่าวว่า “ออกพระนครพราหม พระลบบุรีย ขึ้นประแดงเสนาฎขวา” แสดงว่าตำแหน่งเจ้าเมืองลพบุรีในเวลานั้นมีราชทินนามว่า “ออกพระนครพราหม” อย่างไรก็ตามราชทินนาม “ออกพระนครพราหม” น่าจะคัดลอกผิดจากราชทินนามว่า“ออกพระนครพระราม”ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
ส่วนพระไอยการเก่าตำแหน่งน่าหัวเมือง ฉบับอยุธยาใช้ว่า “ออกพระนครพราม ออกพระลพบุรี นา ๕๐๐ ( ๓๐๐๐ ) ขึ้นประแดงเสนาฏขวา” ( ๑๕ ) คำว่า “นครพราม” คำนี้น่าจะอ่านว่า “นครพระราม” ตามอักขรวิธีโบราณและเป็นราชทินนามของเจ้าเมืองลพบุรี
เมื่อ “ออกพระนครพระราม”เป็นเจ้าเมืองลพบุรี “นครพระราม” ก็น่าจะได้แก่ “เมืองลพบุรี” นั่นเอง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะก็น่าจะเป็นไปได้ที่ “เมืองนครพระราม” เป็นเมืองเดียวกับเมือง “ลพบุรี” เพราะที่ “เมืองลพบุรี” ก็เป็นเมืองที่ “พระศรีรัตนธาตุ” ( คือวัดพระศรีรัตนธาตุ ลพบุรี ) เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ และมีความเก่าแก่สอดคล้องกับที่ปรากฏในจารึกวัดส่องคบ
จากหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวมา “เมืองนครพระราม” จึงน่าจะได้แก่ “เมืองลพบุรี” นั่นเอง

เชิงอรรถ : เมืองลพบุรีเคยมีเจ้าเมืองในทำเนียบท่านที่ ๓ มีบรรดาศักดิ์ที่ พระยานครพระราม น่าคิดว่า บรรดาศักดิ์ที่ พระนครพระราม ก็น่าจะเป็นไปได้ส่วนบรรดาศักดิ์ที่ พระนครพราหมณ์ ฟังดูก็น่าจะขัดแย้งหรือขัดหูอยู่ ขอนำเสนอเป็นข้อคิด

-------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 592305เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2015 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2015 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท