​ข้อสังเกตบางประการ  : ว่าด้วยค่ายอาสาพัฒนากับการเรียนรู้คู่บริการ


คือภาพสะท้อนเชิงประจักษ์ที่สื่อให้เห็นว่ากิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาขององค์กรนิสิตที่จัดขึ้น ไม่ใช่การจัดกิจกรรมเรียนรู้ในแบบเชิงเดี่ยว แต่เป็นกิจกรรมในลักษณะการบูรณาการเรียนรู้แทบทั้งหมด เสมือนการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วน เสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่าหนึ่งตัว ทำให้นิสิตได้รู้หลักของการเรียนรู้คู่บริการอย่างหลากรูปแบบ มองเห็นองค์ประกอบของการจัดกิจกรรมในแบบบูรณาการบนฐานของชุมชนเป็นหัวใจหลัก ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้นิสิตได้เรียนรู้ทั้งมิติการมองเชิงลึกและมุมกว้าง หรือบูรณาการควบคู่กันไป

ผมและคณะทำงาน ได้จัดทำหนังสืออ่านเล่นมาเล่มหนึ่ง ส่วนหนึ่งจัดทำเป็นรูปเล่มแจกจ่าย และแปลงไปสู่การเป็น E-book

เรียนนอกฤดู



เรื่องเล่า ๑๖ เรื่องที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยเรื่องเล่า ๒ ภาคส่วน-ส่วนแรกคือเรื่องเล่าในวิถีกิจกรรมนอกชั้นเรียน หรือนอกหลักสูตรที่ผูกโยงกับเรื่องการจัดกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยเสียส่วนใหญ่ หรือที่เรียกว่า “ค่ายอาสาพัฒนา” ซึ่งมีทั้งที่ระยะสั้น ๒-๓ วัน หรือมากกว่านั้น ส่วนที่สองนั้นเป็นเรื่องเล่าจากการเรียนรู้ในหลักสูตรของรายวิชาเรียนที่มีชื่อว่า “วิชาพัฒนานิสิต” แต่ทั้งสองภาคส่วนล้วนมีหมุดหมายเดียวกันคือการบ่มเพาะได้มีทักษะในการเรียนรู้และตระหนักในเรื่องจิตสาธารณะที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิต คือ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”



ค่ายอาสาพัฒนา : การบูรณาการกลไก ๕ In

เป็นที่รับรู้ว่าโดยปกติแล้วการจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียนในวิถีของการพัฒนานิสิตนั้น จะประกอบด้วยระบบและกลไกหลัก ๕ ด้าน คือ คุณธรรมจริยธรรม-บำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม-ศิลปวัฒนธรรม-วิชาการและนิสิตสัมพันธ์-กีฬาและนันทนาการ

แต่เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมการทำงานขององค์กรนิสิตผ่านโครงการต่างๆ กลับพบเด่นชัดว่า การจัดกิจกรรมหรือค่ายอาสาพัฒนาแต่ละโครงการ จะไม่ใช่การจัดกิจกรรม “เชิงเดี่ยว” แต่จะเน้นการ “บูรณาการ” กิจกรรมหลากหลาย กล่าวคือนอกจากกิจกรรมอันเป็นวัตถุประสงค์หลักแล้ว จะมีกิจกรรมอื่นๆ หนุนเสริมเป็นระยะๆ ทั้งที่วัดผลได้ในเชิงรูปธรรมและอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีชมรมอาสาพัฒนา (ค่าย ๓๐ ปีอาสาพัฒนาฯ) ถึงแม้จะมุ่งไปยังการจัดกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการซ่อมแซมอาคารเรียนและการซ่อมแซมอุปกรณ์สนามเด็กเล่น แต่ก็พบว่ามีกิจกรรมด้านอื่นๆ หนุนเข้าสู่การเรียนรู้อย่างหลากหลายในแบบฉบับของ “ค่ายบูรณาการ” เช่น

  • กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
  • การวาดภาพ
  • กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์
  • การทำบุญตักบาตร
  • การบายศรีสู่ขวัญ
  • กิจกรรมรอบกองไฟที่บูรณาการผ่านนิทานตำนานที่คนไทยคุ้นเคย



หรือกรณีชมรมสานฝันคนสร้างป่า (ค่ายสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่าฯ) กิจกรรมหลักคือการไปเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชมรม ซึ่งจัดอยู่ในกลไกด้านวิชาการและนิสิตสัมพันธ์ แต่ขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหลักในชุมชนคือการ “บวชป่า-ปลูกต้นไม้” ผสมผสานไปกับกิจกรรมอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ รื้อถอนวัชพืชตามแหล่งน้ำ กิจกรรมฐานการเรียนรู้ ๕ ฐาน

เช่นเดียวกับชมรมครูอาสา (ค่ายครูอาสาเปลวเทียนสู่ฝัน) ขับเคลื่อนในทำนองเดียวกันกับด้านวิชาการและนิสิตสัมพันธ์ ทว่ามีการบูรณาการกิจกรรมหลากรูปแบบ วัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรม คือ “แนะแนวการศึกษา” แต่มีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากรูปลักษณ์ เช่น การติวเตอร์ WalKrally งานวัด รอบกองไฟ พิธีเทียน

ส่วนกรณีสภานิสิต (สภาปันน้ำใจ) มุ่งกิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์เด่นชัด ทั้งการซ่อมแซมห้องสมุด จัดทำแปลงผัก จัดบอร์ด ให้ความรู้เรื่องอาเซียน Walkrally ซึ่งครบถ้วนการเรียนรู้ทั้ง ๕ กลไกอย่างเสร็จสรรพ รวมถึงชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ (ค่ายกู้ภัยร่วมใจสู่ชุมชน) กิจกรรมหลักๆ คือการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการ “กู้ชีพ-กู้ภัย” ต่อชุมชน แต่ก็พบว่ามีกิจกรรมหนุนเสริมหลากกลาย เช่น สร้างรั้วรอบขอบชิดศาลปู่ตา การทำแนวป้องกันไฟป่า ทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมรอบกองไฟ




หรือกระทั่งชมรมพรางเขียว (ค่ายพรางเขียวอาสาพาสร้างนำซ่อม) โดยวัตถุประสงค์หลักคือการซ่อมแซมสนามเด็กเล่น-ทาสีกำแพงโรงเรียน อันเป็นระบบและกลไกด้านบำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อม แต่ก็พบว่ามีกิจกรรมบูรณาการอื่นๆ อย่างน่าสนใจ อาทิ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย สุมนไพรในชุมชน กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ ทำบุญตักบาตร บายศรีสู่ขวัญ

ทั้งปวงนี้คือภาพสะท้อนเชิงประจักษ์ที่สื่อให้เห็นว่ากิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาขององค์กรนิสิตที่จัดขึ้น ไม่ใช่การจัดกิจกรรมเรียนรู้ในแบบเชิงเดี่ยว แต่เป็นกิจกรรมในลักษณะการบูรณาการเรียนรู้แทบทั้งหมด เสมือนการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วน เสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกมากกว่าหนึ่งตัว ทำให้นิสิตได้รู้หลักของการเรียนรู้คู่บริการอย่างหลากรูปแบบ มองเห็นองค์ประกอบของการจัดกิจกรรมในแบบบูรณาการบนฐานของชุมชนเป็นหัวใจหลัก ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้นิสิตได้เรียนรู้ทั้งมิติการมองเชิงลึกและมุมกว้าง หรือบูรณาการควบคู่กันไป




ค่ายอาสาพัฒนา : พ่อฮักแม่ฮัก (กิจกรรมเติมเต็มการเรียนรู้)

เห็นได้ชัดเจนว่าแทบทุกค่ายจะมีกิจกรรม “พ่อฮักแม่ฮัก” มาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ กิจกรรมดังกล่าวมิได้หมายถึงการเข้าไปกินอยู่หลับนอนเพื่อประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในค่ายอาสาพัฒนา หากแต่ใช้กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักเป็นกลไกเรียนรู้ชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้สัมผัสได้ลึกซึ้งกับวิถีชีวิตของชุมชน นับตั้งแต่การกินอยู่ อาชีพ ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี ฯลฯ จากนั้นจึงนำมาบอกเล่าสู่กันฟัง เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นโครงสร้างอันเป็น “วิถีวัฒนธรรมชุมชน” ในอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการแจกแบบสอบถาม สัมภาษณ์และจัดเวทีอย่างเป็นทางการ

จะเ็นได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวยังช่วยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ความเป็นค่ายของนิสิตไปสู่ครัวเรือนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในบางค่ายเกิดมรรคผลถึงขั้นพ่อฮักแม่ฮักมารับหน้าที่ “พ่อครัวแม่ครัว-พ่อช่างแม่ช่าง” เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าค่ายแต่ละค่ายจะวางหมุดหมายเรื่องนี้อย่างไร นิสิตจะมีเทคนิคในการเรียนรู้ชุมชนผ่านความเป็นพ่อฮักแม่ฮักแค่ไหน หรือมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถอดบทเรียนร่วมกันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง เพราะหากสามารถทำได้ ย่อมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หรือต้นแบบของการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนที่มองข้ามไม่ได้จริงๆ




ค่ายอาสาพัฒนา :เรียนรู้คู่บริการ

ค่ายทุกค่ายมีอัตลักษณ์เชิงปรัชญาแนวคิดที่เหมือนกัน นั่นก็คือ “เรียนรู้คู่บริการ” หมายถึงการจัดกิจกรรมในแบบฉบับ “การบริการสังคม” ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชน รวมถึงนิสิตกับชุมชนและภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่เน้นการบริการสังคมเชิงเดี่ยวที่หมายถึง “นิสิตเป็นผู้จัด” หรือ “ยัดเยียด” ให้กับชุมชน แต่ต้องเกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชน (โจทย์) และเมื่อลงมือปฏิบัติชุมชนที่อาจหมายถึงชาวบ้าน-พระสงฆ์-ครู-นักเรียน-และส่วนราชการตามหลัก “บวร” ต้องเข้ามามีส่วนร่วม จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกิจกรรมว่าแต่ละส่วนจะมีบทบาทและสถานะที่เกี่ยวโยงกับกิจกรรมอย่างไร


การขับเคลื่อนในทำนองนี้ จะทำให้ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนที่ดีงาม มีคุณค่าในตัวเอง ไม่มีใครเป็นผู้ให้ที่เสร็จสรรพ และไม่มีใครเป็นผู้รับที่เสร็จสรรพเสมอไป ต่างคนต่างเรียนรู้ แบ่งปัน เกื้อหนุนกันไปตามสภาพ เรียกได้ว่าการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่นิสิตและชุมชนต่างเป็นศูนย์กลางของกันและกัน

และการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ ยังคงเป็นสัญญะสำคัญของการทำให้นิสิตได้ตระหนักถึงความเป็น “คลังความรู้ของชุมชน” (ชุมชนคือห้องเรียน) และชุมชนเองก็ย่อมรู้สึกว่าตนเองก็มี “คุณค่าและมีมูลค่า” จึงนับเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่ยืนยันถึงหลักคิดของการเรียนรู้คู่บริการบนฐานคิดของการมีส่วนร่วม และการปักหมุดที่หนักแน่นผ่านการผสมผสานระหว่าง “เทคโนโลยีกับภูมิปัญญา” อย่างท้าทายและน่าสนใจ





ค่ายอาสาพัฒนา :การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

ค่ายในบางค่ายสะท้อนความโดดเด่นของการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในมิติความหมายของการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งที่เป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและภาคส่วนภายนอกมหาวิทยาลัย

ค่ายของชมรมพรางเขียว ดูเหมือนจะมีกลไกเชิงภาคีเครือข่ายที่เด่นชัดมาก เพราะค่ายครั้งนี้ได้ผนึกกำลังองค์กรหลายองค์กรเข้าไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน (เรียนรู้คู่บริการ : บริการสังคม) ทั้งที่เป็นกลุ่มนิสิตมอน้ำชี ชมรมศิลป์อีสาน สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ฯลฯ

หรือกระทั่งค่ายของชมรมครูอาสาก็ขบเคลื่อนเชิงเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการดึงทุกหลักสูตรในคณะศึกษาศาสตร์มาร่วมเป็นทีมงาน การประสานคณะต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อน (พยาบาล-วิทย์-วิศวะ-การเมืองการปกครอง-บัญชี) รวมถึงการผนึกกำลังกับสถาบันภายนอก เช่น สถาบันการพลศึกษามหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับการมอบหมายสู่ภารกิจหลักที่แต่ละส่วนชัดเจนและสันทัด

และอีกหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์ที่ทำงานร่วมกับภาคีได้อย่างน่าทึ่ง โดยการประสานใจให้ภาคีชุมชนมาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมบริการสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการกู้ชีพกู้ภัยต่อนักเรียนและชาวบ้าน เช่น มูลนิธิประชาธรรมพัฒนากุมภวาปี เทศบาลตำบลกงพานพนดอน สถานีควบคุมไฟป่าอุดรธานี

ด้วยเหตุนี้ การมีส่วนร่วมในลักษณะเช่นนี้ คืออีกหนึ่งหัวใจหลักของการรังสรรค์งานค่ายอาสาพัฒนาที่สมควรต้องตระหนัก เป็นการผนึกกำลังร่วมเรียนรู้และพัฒนาชุมชนร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมมิจำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่เฉพาะความเป็นพ่อฮักแม่ฮัก การลงขันงบประมาณ การสนับสนุนข้าวปลาอาหาร แต่การมีส่วนร่วมอันเป็นพลังความคิดก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่ เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในตัวตนของนิสิตและชุมชน




ค่ายอาสาพัฒนา :การจัดการความรู้ของชาวค่าย

อีกหนึ่งความท้าทายของชาวค่ายย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของการจัดการความรู้ภายในค่าย ซึ่งการจัดการความรู้อาจเป็นกลไกลองของการบริหารจัดการค่ายอาสาพัฒนาตามครรลองของ PDCA แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการความรู้ร่วมกัน ทั้งระหว่างชาวค่ายกับชาวค่าย (นิสิตกับนิสิต) หรือชาวค่ายกับชุมชน (นิสิตกับชุมชน) จะเป็นการจัดการความรักไปในตัว และก่อให้เกิดพลังของการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ก่อเกิดเป็นฐานความรู้ที่สามารถหยิบจับไป “ต่อยอด” หรือประยุกต์ใช้สืบต่อกันไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ภาพรวมของการจัดการความรู้ภายในค่ายอาจมองไม่เป็นรูปธรรมอย่างหลากหลาย เท่าที่พบอาจหมายถึงการประชุมในแต่ละวันที่ครอบคลุมวาระสำคัญๆ อันได้แก่สรุปงานประจำวัน การวางแผนงานในวันถัดไป การบันทึกการประชุม หรือการบันทึกเหตุการณ์ของชาวค่ายผ่านระบบต่างๆ ทั้งที่เป็นเอกสาร สมุดบันทึก ภาพวาด ภาพถ่าย จดหมายข่าว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการจัดการความรู้ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าชาวค่ายจะเข้าใจกระบวนการและถอดรหัสความรู้ออกมาได้หรือไม่

โดยเฉพาะในห้วงยามการประชุมสรุปงานประจำวันนั้น หากบูรณาการประชุมในแบบการ “เล่าเรื่อง” ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการความรู้ที่ผ่อนคลายได้ มีการเล่าเรื่อง จับประเด็น ฟังแบบฝังลึก แบ่งปันและสรุปถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ หรือระทั่งหลุมดำที่ต้องข้ามพ้นร่วมกันให้จงได้

เช่นเดียวกับการ “เปิดใจ” ผ่านวงสนทนา (โสเหล่) รวมถึงพิธีเทียนของแต่ละค่าย ก็ถือเป็นการจัดการความรู้และการจัดการความรักที่น่าสนใจ เพราะนั่นคือการเปิดใจ การทบทวนความรู้และชีวิตผ่าน “หน้างาน” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ

หรือแม้กระทั่งเมื่อกิจกรรมยุติลงอย่างสิ้นเชิง การถอดความรู้และแปลงสู่ความเป็นสื่อสร้างสรรค์ ที่หมายถึงคลิป วีดีโอ หนังสั้น สารคดี ภาพถ่าย งานเขียน (เรื่องเล่า) สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นการจัดการความรู้ที่น่าสนใจและสมควรต้องทำอย่างยิ่งยวด เพราะจะทำให้เกิดคลังความรู้สู่การสืบค้นและต่อยอดร่วมกันไปอย่างไม่รู้จบ เป็นการพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร (สังคม) ไปโดยปริยาย

มิใช่- ไม่มีมรดกความรู้ใดหลงเหลือให้แตะต้องและสัมผัสได้ เพราะทำแล้วไม่มีการสกัดชุดความรู้ หรือทำแล้วก็ติดตัวไปกับคนที่ทำ (ชะตากรรม!)



....

อ่านเพิ่มเติมฉบับเต็ม เรียนนอกฤดู

หมายเลขบันทึก: 592070เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2015 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2015 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท