ชนชั้นทางการศึกษา จากทรรศนะของ ศ. ดร.สมภาร พรมทา


ช่วงนี้กรณีของมหาวิทยาลัยฮอตมาก ๆ จึงมีทรรศนะต่าง ๆ มากมาย
รวมทั้งทัศนะของศาสตราจารย์จากจุฬา ดร. สมภาร พรหมทา แห่งภาควิชาปรัชญา
ได้โพสต์ในกรณีนี้ในเฟสบุ้ค ผมชอบที่แกเขียนว่า

"ผมเห็นกรรมการที่ตั้งไปจากมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาไปไล่บี้ราชภัฏเวลาตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาแล้วเศร้าใจ เหมือนอาจารย์ที่จบจากเมืองนอกพูดฝรั่งคล่องไปตรวจเด็กประถมที่โรงเรียนบ้านโนนหินแห่แล้วตกใจจะเป็นลมเมื่อลองให้เด็กพูดอังกฤษให้ฟัง เด็กมันจะพูดได้อย่างไรครับ และที่พูดไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของใครด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราควรเห็นใจ เข้าใจ พยายามคิดหาทางช่วย ไม่ใช่ไปไล่บี้เขา" และผมอยากเขียนเพิ่มเติมอีกว่า ทรรศนะการมองโรงเรียนบ้านนอก โรงเรียนดอย เป็นโรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน ต่ำกว่ามหิดลวิทยานุสรณ์ มันเป็นเพราะกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่ไม่เห็นความแตกต่างตามธรรมชาตินั่นเอง หรือ ตาบอดทางวิชาการ"

ดังฉบับเต็ม ๆ ได้ต่อไปนี้


อยากพูดเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏสักหน่อยครับ และที่จะพูดต่อไปนี้ผมประสงค์จะพูดกับผู้บริหารการศึกษาที่ดูแลการศึกษาของชาติเป็นหลัก

หลายปีมานี้ ผมมีโอกาสไปช่วยสอนในราชภัฏหลายแห่ง (ขอเรียกสั้นๆนะครับ) ที่ไปสอนนี้ไปสอนพิเศษในหลักสูตรที่สูงกว่าปริญญาตรี การได้ไปรู้จักครูบาอาจารย์ตลอดจนนักศึกษาราชภัฏให้ภาพบางอย่างในใจของผมที่นับวันก็รุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ภาพแรกคือความดิ้นรนของชาวราชภัฏที่จะพัฒนาตนให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ราชภัฏ ความดิ้นรนของคนที่ถูกมองว่าอยู่ต่ำกว่าเขานี้ผมรักมาก นี่คือเหตุผลที่ผมได้ปวารณาตัวแก่ราชภัฏเท่าที่ผมรู้จักว่าผมยินดีมาช่วยเต็มกำลังหากสุขภาพยังแข็งแรง เวลานี้มีนักศึกษาปริญญาเอกของราชภัฏหลายคนติดต่อเขียนจดหมายมาปรึกษาผมในการทำวิทยานิพนธ์อยู่ต่อเนื่อง อันเป็นเรื่องที่ผมยินดีช่วยเหลือตามที่ปวารณา

ราชภัฏเกิดตามธรรมชาติ เหมือนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนบ้านนอกที่เกิดตามธรรมชาติ สังคมนั้นจัดการแยกชั้นของผู้คนเอง คนมีเงินก็มีโอกาสมากกว่า นักศึกษาราชภัฏนั้นคือเด็กที่ด้อยโอกาสเพราะเกิดนอกเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ หรือหากเกิดในเมืองก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แม้หัวพอไปได้ก็ย่อมสู้ลูกหลานคนมีเงินที่สติปัญญาพอๆกันไม่ได้ ผมสอนจุฬา ผมไม่เคยภูมิใจว่าได้สอนมหาวิทยาลัยชั้นนำเลย ตรงข้าม กลับรู้สึกว่าตนผิด ผมควรไปสมัครเป็นอาจารย์ราชภัฏ แต่ผมก็ไม่ทำ

ที่พูดมานี้ผมต้องการให้ผู้บริหารการศึกษามองราชภัฏอย่างคนมีความรู้ทางสังคมวิทยาบ้าง ผมเห็นกรรมการที่ตั้งไปจากมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาไปไล่บี้ราชภัฏเวลาตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาแล้วเศร้าใจ เหมือนอาจารย์ที่จบจากเมืองนอกพูดฝรั่งคล่องไปตรวจเด็กประถมที่โรงเรียนบ้านโนนหินแห่แล้วตกใจจะเป็นลมเมื่อลองให้เด็กพูดอังกฤษให้ฟัง เด็กมันจะพูดได้อย่างไรครับ และที่พูดไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของใครด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราควรเห็นใจ เข้าใจ พยายามคิดหาทางช่วย ไม่ใช่ไปไล่บี้เขา

แค่เห็นใจแล้วคิดช่วยอะไรก็คงพอไปได้ และดีวันดีคืน เพื่อให้เห็นตัวอย่างว่าผมไม่ใช่สักแต่พูด ผมขอเสนอให้ สกอ. ออกระเบียบต่อไปนี้

1. อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐถือเป็นสมบัติชาติ ดังนั้นต้องย้ายที่ทำงานได้ เช่นย้ายผมจากจุฬาไปราชภัฏบุรีรัมย์ได้ แล้วย้ายอาจารย์จากบุรีรัมย์มาที่จุฬาได้เช่นกัน
2. การย้ายอาจมีผลต่อการพัฒนาวิชาการโดยรวมได้ ดังนั้นการย้ายควรทำหลังจากที่อาจารย์ได้รับการประเมินตำแหน่งทางวิชาการแล้ว เช่นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่จุฬาแล้วอยู่จุฬาเกินสามปีไม่ได้ ต้องย้าย
3. ทำได้อย่างนี้จะเกิดความเสมอภาคทางการศึกษา พ่อแม่เด็กก็จะเลิกกลุ้มใจหาที่เรียนให้ลูก เรียนที่ไหนไม่ต่างกัน

ลองดูไหมครับ ไม่ต้องกลัวว่าการศึกษาขาติจะตกต่ำ ผมไปอยู่ราชภัฏแล้วสติปัญญาผมจะด้อยลงหรือ อยู่ไหนผมก็คิดและทำงานวิชาการได้

หมายเลขบันทึก: 591904เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2015 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2015 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับอาจารย์ แต่ผมมีความคิดเห็นว่าสังคมไทยเราบ้าปริญญา เด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ครึ่งหนึ่งไม่ควรเรียนอุดมศึกษา ควรหันเหไปเรียนอาชีวะ การช่าง เทคนิค เพื่อการมีงานทำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท