KM วันละคำ : 645. ใช้ KM ทำ Reversed Strategic Management


ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงต้องเน้นที่การปฏิบัติ มากกว่าเน้นที่ความคิดหรือทฤษฎี หรือกล่าว ให้มีดุลยภาพ ต้องใช้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎีให้เสริมพลังกัน ตามแนวทางของวงจร SECI

KM วันละคำ : 645. ใช้ KM ทำ Reversed Strategic Management

ผมได้แนวคิดนี้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในการสัมมนาเรื่อง ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

เพราะทีมจัดการประชุมเสนอแนวทางอย่างเป็นระบบ คือคิดจากเป้าหมาย ไปสู่การดำเนินการ เชิงกลยุทธ ไปสู่ตัวชี้วัด เรียกว่า Strategic Management

แต่ในทางปฏิบัติ ผมเสนอให้ทำกลับทาง คือทำแบบ KM เอาเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ ตามเป้าหมาย มา ลปรร. กัน โดยวิธีการ SSS (Success Story Sharing) จะช่วยให้ ความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ว่าด้วยการ ดำเนินการเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ได้รับการยอมรับ และแพร่กระจายไปสู่ ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำเร็จเล็กๆ นี้ จะมีอยู่ทั่วไป ใน(เกือบ)ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เวที SSS จะช่วยสร้าง ความมั่นใจว่า(เกือบ)ทุกส่วนงานมีศักยภาพ และมีการดำเนินการสู่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก อยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ส่วนงาน

จะมีการพูดคุยในเวที SSS เพื่อไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection/ AAR) ว่าจะขยาย SS (Success Story) ที่มีอยู่แล้ว ให้ลงลึกขึ้น กว้างขวางขึ้น เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ได้อย่างไร เพื่อให้แต่ละส่วนงานเลือกหยิบไปดำเนินการ แล้วนำเอา SS มา ลปรร. ใน SSS ต่อไปอีก เพื่อค่อยๆ ขับเคลื่อนทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล สู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก

เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (change management) ด้วยความรู้ปฏิบัติ ที่ฝังลึกอยู่ใน เรื่องราวของความสำเร็จ เมื่อเอาเรื่องราวความสำเร็จมาเล่า ซักถาม และตีความ ก็จะเกิดการเคลื่อนย้าย ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) สู่ผู้ปฏิบัติในส่วนงานอื่น หรือทีมงานอื่น เปิดโอกาสให้มีการนำความรู้ฝังลึก ไปตีความ และใช้ในส่วนงานอื่น บริบทอื่น ก่อ SS สำหรับนำมาหมุนเกลียวความรู้ผ่านการปฏิบัติต่อเนื่อง ไม่จบสิ้น

ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงต้องเน้นที่การปฏิบัติ มากกว่าเน้นที่ความคิดหรือทฤษฎี หรือกล่าว ให้มีดุลยภาพ ต้องใช้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎีให้เสริมพลังกัน ตามแนวทางของวงจร SECI

เวที SSS เป็นเครื่องมือจับความรู้ปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้มีการขับเคลื่อนความรู้สู่การปฏิบัติ ยกระดับความรู้ และยกระดับผลงาน อย่างไม่มีวันจบสิ้น

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มิ.ย. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 591726เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2015 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2015 07:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท