สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

“พลังพลเมืองเยาวชน” สร้างสรรค์สังคม เพียงผู้ใหญ่เปิดพื้นที่และโอกาส


สงขลาฟอรั่มได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคม โดยในปี 2555 ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดทำ "โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา" ขึ้นเพื่อเป็นกลไกการพัฒนาพลเมืองเยาวชน นำร่องในจังหวัดสงขลา ปัจจุบันจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 14 - 24 ปี รวมกลุ่มทีมละ 5 คนพร้อมที่ปรึกษาโครงการส่งข้อเสนอโครงการ "แก้ปัญหา พัฒนา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนภายในชุมชนของตน" ปีละ 20-25 โครงการเข้าขอรับการสนับสนุน พร้อมรับการเติมเต็มความรู้และเสริมทักษะการทำโครงการผ่านกระบวนการเวิร์คช็อปและการติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากพี่เลี้ยงโครงการ

มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่มสงขลาฟอรั่ม จัดเสวนาในหัวข้อ อาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมือง : “กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสู่สังคมพลเมือง” นำเสนอกรณีศึกษา “โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา” ขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ภายในงานการประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร (National Conference on Volunteerism) จัดโดยเครือข่ายจิตอาสา ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ

ป้าหนู นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า สงขลาฟอรั่มได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคม โดยในปี 2555 ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดทำ "โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา" ขึ้นเพื่อเป็นกลไกการพัฒนาพลเมืองเยาวชน นำร่องในจังหวัดสงขลา ปัจจุบันจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 14 - 24 ปี รวมกลุ่มทีมละ 5 คนพร้อมที่ปรึกษาโครงการส่งข้อเสนอโครงการ "แก้ปัญหา พัฒนา หรือยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนภายในชุมชนของตน" ปีละ 20-25 โครงการเข้าขอรับการสนับสนุน พร้อมรับการเติมเต็มความรู้และเสริมทักษะการทำโครงการผ่านกระบวนการเวิร์คช็อปและการติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากพี่เลี้ยงโครงการ

ประเด็นการทำโครงการของเยาวชนมีหลายด้านด้วยกัน อาทิ การดูแลรักษาชายหาด การเรียนรู้ภูมิปัญญาและฐานอาชีพ การจัดการขยะ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้แก่น้องๆ ในชุมชนแออัด หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวอย่างการประหยัดน้ำและไฟฟ้าในหอพัก ฯลฯ

ระหว่างที่เยาวชนทำโครงการ ทางโครงการยังได้ให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำโครงการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในตัวเยาวชน พบว่าเยาวชนที่ผ่านโครงการมีสำนึกความเป็นพลเมืองมากขึ้น ลด ละ เลิกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และมีพฤติกรรมที่ดีเพิ่มมากขึ้นทั้งเวลาที่อยู่บ้าน อยู่โรงเรียน และอยู่ในชุมชน เยาวชนรู้สึกร้อนหนาวกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ต้องการใช้ศักยภาพของตนเข้าเยียวยาแก้ไข ขณะเดียวกันก็รู้จักการบริหารจัดการตนเองให้สามารถทำโครงการจนสำเร็จได้โดยไม่เสียการเรียน

เป้าหมายปลายทางของโครงการเพื่อให้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นได้นำกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชนไปปรับใช้กับการสร้างพลเมืองเยาวชนในพื้นที่ของตนต่อไป

"การเร่งสร้างพลเมืองแห่งอนาคต หรือพลเมืองรุ่นใหม่ คือเรื่องที่สงขลาฟอรั่มให้ความสนใจ โดยมองกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีพลังกายและพลังใจแข็งแรง ถ้าหากเขาได้รับการหนุนเสริม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นพลัง เป็นพลเมืองของชาติจากการที่เขาได้ไปสัมผัสเรื่องจริง ชีวิตจริง และการลงมือปฏิบัติจริง" ป้าหนูกล่าว

มินี นางสาวนูรอามีนี สาและ พี่เลี้ยงโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา กล่าวว่าในฐานะพี่เลี้ยงหรือโค้ชเยาวชน กลุ่มสงขลาฟอรั่มมีความเชื่อว่าการสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องยากแต่สามารถสร้างได้ โดยการหนุนเสริมที่ถูกที่ถูกเวลาจากพี่เลี้ยงโครงการอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นเยาวชนจะไม่เกิดการเรียนรู้ พี่เลี้ยงโครงการจึงต้องเกาะติดกับเยาวชนตั้งแต่กระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการจนสิ้นสุดโครงการ เช่น ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการ พี่เลี้ยงต้องเรียนรู้โครงการของเยาวชนให้แจ่มชัด จับให้ได้ว่าหัวใจสำคัญของโครงการเยาวชนคืออะไร เขาอยากทำอะไร จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการเวิร์คช็อปเสริมศักยภาพในประเด็นต่างๆ เช่น การเพิ่มทักษะชีวิต การจัดการอารมณ์ การเข้าใจตนเอง การเข้าใจผู้อื่น การเสริมสร้างจิตสำนึกพลเมือง การสื่อสารสาธารณะ การบริหารจัดการงบประมาณ และการรับผิดชอบต่อสังคม ถัดจากนั้นเมื่อเยาวชนลงพื้นที่ดำเนินโครงการ พี่เลี้ยงต้องหมั่นลงพื้นที่ติดตามการทำโครงการของเยาวชนเพื่อให้คำแนะนำ ชวนคิด ชวนคุย ชวนตั้งคำถาม ชวนสะท้อนการเรียนรู้ และชี้ให้เห็นคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ รวมทั้งให้กำลังใจเยาวชนให้ทำงานจนสำเร็จ และกระตุ้นท้าทายต่อเพื่อให้เยาวชนมีใจอยากทำงานเพื่อชุมชนในระดับที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อชุมชนมากขึ้น

ทักษะการหนุนเสริมเยาวชน โค้ชต้องมีทักษะในการใช้พลังถ้อยคำ ใช้คำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ใช้คำที่สามารถไปกระตุ้น ไปปลุก ไปสร้างความเป็นพลเมือง ให้กระทบใจเขา โค้ชต้องมีการตั้งคำถามที่มีลูกล่อลูกชนให้เขาได้คิด ได้เชื่อมโยง และได้ต่อยอดความคิด โค้ชต้องมีทักษะในการฟัง เรื่องนี้เป็นทักษะที่สำคัญมาก เมื่อฟังแล้วไม่ปิดกั้นความคิดเห็นของน้อง แต่ฟังเพื่อเชื่อมโยงหรือต่อยอดความคิดเห็นของน้อง มองเห็นแนวทางการทำงานที่งอกขึ้นมาจากการฟัง และโค้ชต้องเท่าทันความรู้สึกตัวเองด้วยว่าเราเป็นผู้ที่ไปสร้างการเรียนรู้ ไม่ใช่ผู้สอน ไม่ไปบังคับหรือชี้แนะน้องว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นโครงการนั้นจะเป็นโครงการของพี่เลี้ยงทันที ไม่ใช่โครงการของน้อง โค้ชต้องเชื่อในพลังสร้างสรรค์ร่วมกัน เปิดใจรับความคิดเห็นที่หลากหลาย เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายจะทำให้ได้มุมมองหลายทาง ซึ่งโค้ชสามารถนำไปคิดต่อกับการทำงานให้เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันเพื่อตอบเป้าหมายเดียวกัน โค้ชต้องเชื่อมั่นในกระบวนการปฏิบัติจริง ไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงจะช่วยให้น้องแก้ปัญหาที่เขาไปเผชิญเมื่อดำเนินการจริงๆ ได้ สุดท้ายการบันทึกและการทำรายงานสรุปเป็นสิ่งสำคัญมาก ในแต่ละครั้งที่น้องทำกิจกรรม โค้ชต้องชวนน้องเขียนว่าสิ่งที่เขาทำ เขาทำอย่างไร เขาเกิดการเรียนรู้อะไร เขาได้พัฒนาตัวเองในด้านไหน โค้ชต้องชวนเขาคิดยกระดับสิ่งที่เขาทำ และเสริมพลังว่าสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่าต่อบ้านเกิด หรือต่อบ้านเมืองของตัวเองอย่างไร” มินีกล่าว

ด้านผลสำเร็จของโครงการสะท้อนผ่านการบอกเล่าของเยาวชน เริ่มจาก น้องมีน นางสาวศิริวรรณ มาแซ เยาวชนในโครงการจากภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา เล่าว่าจากต้นทุนเดิมที่เรียนในสาขาวิชาพัฒนาชุมชนจึงได้จัดทำโครงการ Smile by CD ขึ้นเพื่อใช้ศักยภาพที่มีไปสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชนบ่อนวัวเก่า ซึ่งเป็นชุมชนแออัด ให้น้องๆ ในชุมชนอายุ 4-12 ปีได้มีกิจกรรมทำยามว่าง พร้อมทั้งมีหลักคิด หลักการใช้ชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกัน รู้จักพาตนเองหลุดพ้นจากวงจรความเสี่ยงทั้งปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด และอาชญากรรมในชุมชน กิจกรรมที่ทำเช่น สอนน้องทำการบ้าน นำการบ้านมาทำด้วยกัน ชวนน้องทำงานศิลปะวาดภาพ - ระบายสีน้ำ เพื่อฝึกฝนทักษะการคิด การตัดสินใจ เล่านิทานสอดแทรกหลักคิดทางศาสนา พาน้องทำบุญที่วัด ชวนน้องปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้านเพื่อดึงการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นศักยภาพของลูกหลานตนเองว่าสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ สุดท้ายจึงชวนน้องทำความสะอาดชุมชนและศาสนสถานเพื่อให้ชุมชนมีทัศนคติต่อเยาวชนในทางที่ดีขึ้น

ส่วน น้องน้ำนิ่ง นายอภิศักดิ์ ทัศนี แกนนำเยาวชนในโครงการ Beach for Life ซึ่งเยาวชนได้ไปเรียนรู้และรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของชาวชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาการพังทลายของชายหาดสมิหลา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา โดยเยาวชนเริ่มจากการพาตนเองลงไปเรียนรู้และสืบค้นที่มาที่ไปของปัญหา ชวนเพื่อนในห้องจัดนิทรรศการ เดินรณรงค์และจัดทำหนังสือเล่มเล็กเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาให้แก่ชาวชุมชน รวมถึงการจัดเวทีเสวนาดึงการมีส่วนร่วมของเพื่อนต่างสถาบันตลอดทั้งชาวชุมชนเข้ามารับรู้ปัญหา ทำให้เกิดกระแสการปกป้องชายหาดในพื้นที่ จนในที่สุดทางเทศบาลนครสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำข้อตกลง (MOU) รับร่างข้อเสนอของเยาวชนและชาวชุมชนจัดทำเป็นธรรมนูญหาดเพื่อใช้เป็นแนวทางเยียวยา แก้ปัญหา และอนุรักษ์ชายหาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันทางกลุ่ม เครือข่ายเพื่อนต่างสถาบัน และชาวชุมชนได้ร่วมกันติดตามการขับเคลื่อนธรรมนูญหาด และร่วมกันติดตามเฝ้าระวังปัญหาการพังทลายของชายหาดทั้งระบบเพื่อจัดทำฐานข้อมูลการพังทลายของชายหาดสมิหลาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิง และเป็นเครื่องมือต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองภายหลังเข้าร่วมโครงการ น้องน้ำนิ่งบอกว่าที่เห็นได้ชัดคือการรู้จักจัดการอารมณ์ตนเอง และการทำเพื่อส่วนร่วมโดยไม่แข่งขันกับผู้อื่น “สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองานตรงนี้ไม่รู้จะแข่งแล้วอวดใคร ไม่รู้แข่งแล้วใครจะมาบอกเราว่าแข่งแล้วได้รางวัลอะไรอย่างไร สิ่งที่ผมคิดคือถ้าจะแข่ง เราแข่งกับตัวเอง แข่งกับการจัดการอารมณ์ เช่นวันนี้เรามีอารมณ์โกรธ แล้วเราก็ต้องแข่งกับมันว่าวันพรุ่งนี้เราจะต้องไม่โกรธนะ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการแข่งกับตัวเองมากกว่าแข่งกับคนอื่น สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ผมบอกกับน้องๆ ในชมรมทุกคน เราจะแข่งกับปัญหาภายในตัวเราเอง แข่งกับปัญหาในองค์กร แข่งกับงานของเรา ปีต่อไปเราต้องลบข้อบกพร่องของเราให้มากที่สุด กลุ่มอื่นจะเป็นอย่างไร เราไม่ไปมองเลย เรามุ่งมั่นทำของเราอย่างเดียว จนเมื่อเราทำเสร็จ เราก็รู้เองว่ามันโอเคแล้ว ดีกว่าไปแข่งว่าเราเด่นหรือเราดีกว่าเขา” น้องน้ำนิ่งกล่าวปิดท้าย

สำหรับโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม ในการสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายในจังหวัดสงขลาให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง เข้ามาร่วมคิดร่วมสร้างชุมชนสังคมของตนให้น่าอยู่สืบต่อไป #

รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเพิ่มเติม คลิก พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

หมายเลขบันทึก: 591392เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท