ปัญหาชนกลุ่มน้อย (Minority group) ในสังคมไทย


1. ที่มาของเรื่อง

ประเทศไทยได้ให้ความสนใจในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ อันเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนทั้งโดยอ้อมหรือโดยตรงหลายฉบับ อาทิเช่น
1.1 ด้านสิทธิมนุษยชนโดยอ้อม ได้แก่ข้อตกลงระหว่างประเทศทางด้านมนุษยธรรมคือ อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ค.ศ. 1949 อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บป่วยไข้ และเรือต้องอับปางมีสภาวะดีขึ้น ค.ศ. 1949 อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ค.ศ. 1949 อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเมืองในเวลาสงคราม ค.ศ. 1949
1.2 ด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองของสตรี ค.ศ. 1952 อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1985 อนุสัญญาภายใต้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ 11 ฉบับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ซึ่งเข้าเป็นภาคีมีผลทางกฎหมายเมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2540 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966 ของสหประชาชาติซึ่งมีผลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ด้วยแล้ว
แต่ก็ยังมีข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับ ที่ประเทศไทย ยังมิได้เข้าเป็นภาคี อาทิ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่ไร้มนุษยธรรมอย่างป่าเถื่อน หรือการลงโทษที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degarding Treatment or Punishment - CAT) เป็นต้น ฯลฯ
1.3 แนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศอันเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา (รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2529) ปฏิญญาแห่งเวียนนาและแผนปฏิบัติการ (รับรองเมื่อ วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1993) ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาแห่งโลกว่าด้วยการอยู่รอดของเด็ก การปกป้องและการพัฒนาเด็ก (World Declaration on the Survival Protection and Development of Children) ฯลฯ

ดังนั้นฝ่ายบริหาร ตุลาการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐ หรือองค์กรต่างๆ ของรัฐขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอยู่นั้น ควรมีจิตสำนึกซื่อสัตย์สุจริต มีศีลธรรม มีจริยธรรม จรรยาบาล และมีมารยาทในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด

2. กระบวนการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน


ปัจจุบันมีความคิดว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หากจะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็จำต้องจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทระดับชาติขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังมีลักษณะต่างคนต่างทำโดยยังมิได้มีการประสานงานกันเท่าที่ควร อาทิ การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี มีองค์กรภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม มีองค์กรภาครัฐหลายแห่งเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ฯลฯ สิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา มีหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร องค์การปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีความอิสระ ในการดำเนินการตามกฎหมาย ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นการกำหนดขึ้นโดยภาครัฐเป็นผู้จัดทำแต่ฝ่ายเดียว ทำให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยังมีวิสัยทัศน์ที่ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เพราะเป็นไปตามกระบวนการของทางราชการโดยแท้ว่าจะเห็นสมควรอย่างใด และอำนวยความสะดวกแก่ภาครัฐมากน้อยเพียงใด จึงทำให้ขาดความสมบูรณ์ในหลายกรณี การดำเนินงานที่มีลักษณะต่างคนต่างทำดังกล่าวนี้ ทำให้การกำหนดนโยบาย แผนปฏิบัติการ การกำหนดเป้าหมาย การติดตามประเมินผล ฯลฯ ขาดความชัดเจน ไม่มีเอกภาพและอาจเกิดความขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกันได้เสมอ การดำเนินงานจึงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้น ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการฉลองครบรอบ 50 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติให้มีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนด้าน และต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้าน สิทธิมนุษยชน โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นสองคณะคือ คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และคณะอนุกรรมการรวบ รวมข้อมูลและเอกสารต่างๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อ รายงานข้อมูลต่างๆ ประกอบการ จัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บท คณะอนุกรรมการทั้งสองคณะได้ดำเนินการ ตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และเสนอรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาแล้วได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป คณะอนุกรรมการร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนได้ ดำเนินการยกร่างโดยนำข้อมูลจากคณะอนุกรรมการทั้งสองคณะดังกล่าวข้างต้นมา พิจารณาประกอบกับข้อมูลด้านอื่นๆ จากนั้นจะจัดให้มีการจัดประชาพิจารณ์โดยคณะ อนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยเฉพาะเพิ่มเติม และได้จัดทำแล้วเสร็จตามที่ปรากฏ ในเอกสารฉบับนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญของประชาชน จึงควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย อันเป็นการสอดคล้องกับมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ) เมื่อได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ก็จะทำการแก้ไข ปรับปรุงเพิ่มเติมให้ครบสมบูรณ์มากที่สุด จากนั้นจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อ พิจารณา อนึ่ง การจะนำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทนี้ไปใช้ปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบาย และแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป อันจะทำให้การ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีระบบมีเอกภาพประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ในการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้คือ การกำหนดเป้าหมายว่าสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่พึงปรารถนาควรมีลักษณะอย่างใด และการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการให้รองรับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งแยกพิจารณาตามลำดับได้ดังนี้
2.1 ฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องศึกษาวิจัยสำรวจบรรดากฎหมายต่างๆ หากพบว่ามีการ ขัดหรือแย้ง กับข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ก็ต้องดำเนินการยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าวให้มาก ที่สุดและโดยไม่ชักช้า และต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอยู่ตลอดเวลาว่าควรมีการตรา กฎหมายฉบับใดเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากเกิดความจำเป็นก็ควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้มีตรา กฎหมายดังกล่าว ฝ่ายนิติบัญญัติควรใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญและบรรดากฎหมายที่ เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ เร่งรัดฝ่ายบริหารให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในอันจะส่ง เสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องจัดให้มีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แต่สมาชิกรัฐสภาและบุคลากรขององค์กรต่างๆ ที่สังกัดฝ่าย นิติบัญญัติ

2.1.1 ฝ่ายตุลาการ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก และได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมประเทศไทย มีมาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากลและการอำนวย ความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตุลาการครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยแยก องค์กรตุลาการออกจากระทรวงยุติธรรมและได้จัดตั้งศาลเพิ่มขึ้นอีก 2 ศาลแยกออกจาก ศาลยุติธรรมคือ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ได้กำหนดกลไกการคุ้มครอง การใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไว้ว่า การใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กำหนดกลไกให้ประชาชนสามารถขอรับการคุ้มครอง จากศาลไว้ในมาตรา 28 วรรคสองว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ คดีในศาลได้" คำว่า "ศาล" ตามมาตรา 28 วรรคสองหมายถึงศาลทุกประเภทคือ ศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ
2.2 ฝ่ายบริหาร จะต้องมีความจริงใจและให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมและ คุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งด้านนโยบายและด้านปฏิบัติการ เพื่อให้สอดคล้องกับ หลักการแห่งปฏิญญา สากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศด้าน สิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทย เป็นภาคีโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาทิ ควรกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีว่านโยบายของรัฐบาลและของหน่วยงานของรัฐ ทุกแห่งต้อง ให้เคารพและต้องส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังสนับสนุนทาง ด้านงบประมาณ และอัตรากำลังบุคลากรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ควรให้ความรู้การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้นเพื่อให้มี การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ยอมรับในหลักการที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องส่งเสริมและคุ้ม ครองสิทธิ มนุษยชนให้แก่ประชาชน ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามอำเภอใจ มีทัศนคติ ที่ดีต่อการ เรียกร้องสิทธิของ ประชาชน ฯลฯ และกำหนดในประมวลจรรยาบรรณของ เจ้าหน้าที่รัฐ ทุกองค์กรให้มีหน้าที่ต้องเคารพและส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย เสมอ กำหนดกลไกและมาตรการในการตรวจสอบ ทั้งทางด้านกฎหมาย ด้านการ บริหาร การปกครองเพื่อตรวจสอบป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และหากมีการละเมิดจะต้องมีการดำเนินการ ทางวินัยและดำเนินคดีตามขั้นตอนของ กระบวนการ ยุติธรรมอย่างเข้มงวดและรวดเร็ว ฝ่ายบริหารซึ่งมีบทบาทตามรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องสำรวจ อยู่ตลอดเวลาว่า มีกฎหมาย กฎหรือระเบียบข้อบังคับใดที่ขัดหรือแย้ง กับปฏิญญาสากล ว่าสิทธิมนุษยชน บรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคี หากพบว่ามีก็ต้องดำเนินการยกเลิกแก้ไขหรือปรับปรุงให้สอด คล้องกันโดยมิชักช้า ในฐานะที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้มีบทบาทเสนอร่างกฎหมายส่วนใหญ่ของ ประเทศ ก็ต้องสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัยสำรวจว่ามีความจำเป็นจะต้องตรากฎหมาย หรือกฎ ระเบียบ ข้อบังคับใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญก็ควรดำเนินการโดยไม่ชักช้า ฝ่ายบริหารจะต้องส่งเสริมการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ประชาชนได้เรียนรู้การ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง รักและห่วงแหน ปกป้องสิทธิ รวมทั้งเปิด โอกาสให้ประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจมากที่สุด ทั้งในระดับรัฐบาล และในระดับท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่ดีได้ผู้แทนที่มีคุณภาพเพื่อ พัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพมากเพียงใด ก็จะช่วยให้การ ส่งเสริมและคุ้มครองมีประสิทธิภาพมาก ขึ้นด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ในวันนี้ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ปัญหาชนกลุ่มน้อยก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ เช่นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนเขาจะไม่สนใจว่าแผ่นดินไหนพูดได้หลายภาษา การที่เขาไปมาหาสู่กันนี้เขาก็แค่คิดว่าได้ไปเที่ยวต่างหมู่บ้านเท่านั้นเอง และเป็นประตูให้ชนกลุ่มน้อยที่หนีภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยอย่างดี (ลักษณะนี้ไม่เหมือน โรฮินญา ที่เข้ามาเป็นกลุ่ม) แต่เป็นทยอยกันเข้ามาแบบมาตั้งรกรากปักฐานอยู่ตามตะเข็บชายแดนก่อนแล้วค่อยๆขยับขยายเข้ามาในเมืองแล้วกลายเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อยในที่สุด

3. สิทธิของชาวชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย

โดยปรากฏการณ์ที่พบเห็นกันโดยทั่วไปไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย หากแต่เป็นเช่นนั้นในประชาคมโลกโดยทั่วไปอีกด้วย ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ของบุคคลในรัฐใดรัฐหนึ่งมักจะทำให้บุคคลนั้นๆ ตกเป็นผู้ด้อยสิทธิในรัฐนั้นๆ ทั้งที่ในยุคปัจจุบัน “สิทธิมนุษยชน” มิใช่เพียง “สิทธิทางศีลธรรม” (Moral Right) อีกต่อไป หากแต่ได้รับการยอมรับในสถานะของ “สิทธิทางกฎหมาย” (Legal Right) มากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ความเป็นมนุษย์ย่อมทำให้บุคคลมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ต้นกำเนิด ศาสนา หรือภาษา จึงเป็นสิ่งที่คาดคิดไม่ได้ว่า กฎหมายของรัฐสมัยใหม่ซึ่งยอมรับในความศักดิ์สิทธิของแนวความคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะกำหนดโดยชัดแจ้งเพื่อขจัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยเหตุที่มีเชื้อชาติ ต้นกำเนิด ศาสนา หรือภาษา แตกต่างไปจากชน กลุ่มใหญ่ของสังคม

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยในอีกมุมหนึ่งของความเป็นจริง ก็คือ ถึงแม้ว่ารัฐสมัยใหม่จะไม่อาจจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลธรรมดาในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่รัฐอาจจะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวได้ในเรื่องที่มิใช่สิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รัฐสมัยใหม่จะเลือกปฏิบัติต่อบุคคลธรรมดานี้โดยคำนึงถึงความแตกต่างในสถานภาพในทางกฎหมาย(Legal Status) ที่บุคคลหนึ่งมีอยู่ การถกเถียงกันถึงผลของความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ในลักษณะดังกล่าวจึงเกิดขึ้นใน ๒ ประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ

ในประเด็นแรก นักวิชาการได้ถกเถียงกันอย่างมากมายว่า สิทธิของมนุษย์ใดเป็นสิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อย่างใดมิใช่ และเมื่อได้คำตอบในแต่ละกรณีว่า สิทธิใดมิใช่สิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รัฐก็อาจเลือกที่จะให้สิ่งนั้นแก่ชนกลุ่มหนึ่งแต่มิให้แก่ชนอีกกลุ่มหนึ่งได้ อาทิ หากยอมรับว่า สิทธิในการทำงาน (right to work) มิใช่ “สิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” การไม่ยอมรับให้สิทธินี้แก่ชนกลุ่มน้อยจึงทำได้

ในประเด็นที่สอง นักวิชาการได้ถกเถียงกันต่อไปว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อันเป็นสิทธิที่รัฐจะต้องรับรองให้แก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น รัฐไม่อาจเลือกที่จะให้สิ่งนั้นแก่ชนกลุ่มหนึ่งแต่มิให้แก่ชนอีกกลุ่มหนึ่งมิได้เลย แต่ปัญหาก็เกิดอีกว่า รัฐจะต้องให้แก่มนุษย์ทุกคนใน “ปริมาณ” (quantity) หรือ “คุณภาพ” (quality) ที่เท่าเทียมกันหรือไม่ อาทิ หากยอมรับว่า สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองการทำงาน (right to labour protection) เป็น “สิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสิทธินี้ให้แก่บุคคลทุกคน รัฐไม่อาจเลือกปฏิบัติ แต่รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้มนุษย์ทุกคนได้รับค่าจ้างแรงงานเท่ากันหรือไม่ หรือรัฐมีหน้าที่เพียงการคุ้มครองให้ได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเท่านั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตว่า โดยหลักกฎหมาย แม้ความด้อยสิทธิอาจจะเกิดในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิทางธรรมชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์นี้ได้ แต่สถานการณ์นี้ก็มิได้เกิดเพราะว่า บุคคลเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในสังคม แต่เกิดจากการที่บุคคลเป็น “ต่างด้าว” ในสังคมนั้นต่างหาก หรือเกิดจากการที่รัฐไม่ยอมรับว่า บุคคลไม่มี “ภูมิลำเนา” อยู่ในสังคมนั้นต่างหาก

3.1 คำถามที่น่าสนใจในท้ายที่สุดก็คือ ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” อาจทำให้บุคคลไม่อาจได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดน หรือภูมิลำเนาในดินแดนนั้นโดยง่ายจริงหรือไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิข้างต้น รัฐเจ้าของดินแดนก็มักจะกำหนดอุปสรรคในทางกฎหมายอันจะทำให้ชนกลุ่มน้อยไม่อาจมีสัญชาติของตนหรือมีภูมิลำเนาในประเทศของตน และผลต่อมาในท้ายที่สุด ชนกลุ่มน้อยก็จะตกเป็น “ผู้ด้อยสิทธิในทางกฎหมาย” ในรัฐนั้น จึงต้องมาตรวจสอบว่า ประเทศไทยในฐานะของรัฐเจ้าของดินแดนกำหนดสถานภาพในทางกฎหมายของบุคคลอย่างไร และประเทศไทยได้สร้างอุปสรรคในการให้สัญชาติหรือภูมิลำเนาแก่ “ชนกลุ่มน้อย” หรือไม่

หากพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ก็อาจสรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ชนกลุ่มน้อยจะได้สัญชาติไทยย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล โดยหลัก กฎหมายไทยยอมรับให้สัญชาติไทยแก่บุคคลในลักษณะเดียวกับนานาประเทศ กล่าวคือ บุคคลย่อมมีสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติหากบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับประเทศไทย หรือกล่าวในอีกแง่ก็คือ หากบุคคลนั้นมีความกลมกลืนกับสังคมไทย และบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอสัญชาติไทยหากบุคคลนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับประเทศไทย หรือกล่าวในอีกแง่ก็คือ หากบุคคลนั้นมีศักยภาพที่จะกลมกลืนกับสังคมไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏมีชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการยอมรับว่า เป็นไทยในความเป็นจริงทั้งที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ปัญหานี้มีสาเหตุหลายประการ ในหลายกรณีมาจากความไม่รู้กฎหมายของชนกลุ่มน้อยเอง และในอีกหลายกรณีที่มีที่มาจากแนวนโยบายของรัฐที่ไม่รักษาจุดสมดุลย์ระหว่างหลักความมั่นคงแห่งรัฐและสิทธิมนุษยชน รัฐจึงปฏิเสธความเป็นไทยของชนกลุ่มน้อย แม้บทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้สัญชาติไทยแก่บุคคลแล้วก็ตาม ชน กลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มต้องเผชิญกับอุปสรรคในลักษณะที่แตกต่างกัน และอุปสรรคนั้นยังมีลักษณะที่แตกต่างกันในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รัฐมักจะใช้เหตุผลทางความมั่นคงมาใช้พิจารณาการให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย และในหลายโอกาส นโยบายของรัฐในเรื่องดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลังมิได้เกิดแก่คนต่างด้าวหรือแม้ชนกลุ่มน้อยโดยทั่วไป หากแต่จะเกิดแต่เพียงในสถานการณ์หรือช่วงเวลาที่รัฐมีความไม่ไว้วางใจชนกลุ่มน้อยนั้นเท่านั้น ดังจะเห็นจากนโยบายของรัฐไทยที่เกี่ยวกับญวนอพยพ ซึ่งวิวัฒนาการจาก “ลบที่สุด” กล่าวคือ ปฏิเสธที่จะยอมรับให้ญวนอพยพมีสัญชาติไทยในทุกรุ่นของบุคคล มาสู่ “บวก” ได้เช่นกัน กล่าวคือ ยอมรับให้ญวนอพยพรุ่นที่สองและสามมีสัญชาติไทยโดยการเกิดในขณะที่ผ่อนผันเงื่อนไขในการยอมรับให้ญวนรุ่นแรกแปลงสัญชาติเป็นไทย

3.2 ในกรณีที่ชนกลุ่มน้อยนั้นไม่มีข้อเท็จจริงที่อาจนำไปสู่การได้สัญชาติไทย ก็ยังปรากฏความสัมพันธ์ในทางข้อเท็จจริงระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและชนกลุ่มน้อยอยู่ดี เพราะการเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยหมายถึงการที่ชนกลุ่มนี้ได้รวมกลุ่มกันในประเทศไทย บุคคลในลักษณะนี้มีเจตนาชัดเจนที่จะอาศัยอยู่ในประเทศ พวกเขาจึงมิใช่เพียง “คนต่างด้าวในประเทศไทย” หากแต่มีเจตนาที่จะเป็น “ประชาชนในประเทศไทย” ปัญหาก็คือ รัฐเจ้าของดินแดนจะยอมรับรองเจตนาของชนกลุ่มนี้ให้เป็นผลสำเร็จหรือไม่

เป็นไปได้ที่ชนกลุ่มน้อยหนึ่งจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานมนาน จนถือได้ตามกฎหมายแพ่งว่า ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแห่งสำคัญอยู่ในประเทศไทย กล่าวคือ มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย แต่เนื่องจากชนกลุ่มน้อยดังกล่าวไม่เคยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่อาจถือว่า บุคคลดังกล่าวมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทย กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนยิ่ง เหตุผลที่อธิบายได้ในวิชานิติศาสตร์ก็คือ ภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนเป็นเรื่องที่ว่าตามข้อเท็จจริงในขณะที่ภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนเป็นเรื่องในทางการเมืองซึ่งเป็นไปตามนโยบายแห่งรัฐเจ้าของดินแดน

แต่อย่างไรก็ตาม อาจยืนยันได้ว่า ความแตกต่างในทางศาสนาและภาษาของบุคคลเป็นสิ่งที่ขจัดออกไปได้ง่ายกว่าความแตกต่างในทางเชื้อชาติและต้นกำเนิดของบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีกฎหมายฉบับใดที่กำหนดข้อจำกัดสิทธิของบุคคลอันเนื่องมาจากศาสนาและภาษา แม้จะมีบทกฎหมายจำนวนเล็กน้อยที่ระบุว่า บุคคลถูกจำกัดสิทธิด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและต้นกำเนิด อาทิ กฎหมายที่ดินของไทยรับรองสิทธิในการถือครองของคนต่างด้าวภายใต้เงื่อนไข หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยกำหนดเงื่อนไขหลายประการสำหรับคนไทยโดยการเกิดที่มีบิดาเป็นต่างด้าวในการใช้สิทธิรับเลือกตั้ง แต่ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศไทยไม่มีผลโดยตรงให้ตกเป็นผู้ด้อยสิทธิ เพราะไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดเลยที่ขจัดหรือจำกัดสิทธิของบุคคลโดยเหตุที่ว่า บุคคลนั้นเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ความด้อยสิทธิของบุคคลในประเทศไทยในทางกฎหมายอาจเกิดได้ใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ

ในประการแรก ความด้อยสิทธิของบุคคลในประเทศไทยอาจเกิดเพราะความเป็นต่างด้าวของบุคคลนั้น หรือในประการที่สอง ความด้อยสิทธินี้อาจเกิดจากความไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือในท้ายที่สุด ความด้อยสิทธินี้อาจเกิดจากความไม่ถาวรของสิทธิที่จะเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวนโยบายของรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” อาจนำมาซึ่งความไม่เป็นไทยหรือความไม่มีภูมิลำเนาไทยหรือความไม่ถาวรของลักษณะการเข้าเมืองของบุคคล

3.3 คำถามสุดท้าย ก็คือ เมื่อชนกลุ่มน้อยได้สัญชาติไทย ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ยังคงอยู่กับบุคคลนั้นหรือไม่ และความ “ด้อยสิทธิ” ของบุคคลหมดไปเลยหรือไม่ ในทางกฎหมาย คำตอบคงจะง่าย กล่าวคือ ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในเรื่องของกฎหมายจึงน่าจะสิ้นสุดลง แต่ในมุมอื่นของเรื่องก็อาจจะดำเนินต่อไป จนกระทั่งชนกลุ่มน้อยนั้นยอมละทิ้งความแตกต่างที่ตนมีจากชนกลุ่มใหญ่ หรือกลับเข้าไปอยู่ในสังคมของรัฐที่มีลักษณะเหมือนตน ซึ่งกรณีหลังจะเกิดขึ้นได้ยากมากหากได้มีการย้ายถิ่นข้ามชาติออกมาแล้ว เพราะการย้ายถิ่นข้ามชาติจะทำให้ชนกลุ่มดังกล่าวซึมซับรับเอาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่ในรัฐที่ตนมาอาศัยอยู่เข้าไปผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั่งเดิมของตน จนทำให้ชนกลุ่มนี้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมของรัฐต้นกำเนิดอีกด้วย ดังที่มักกล่าวกันว่า “เมื่อวันวาน คนจีนในประเทศไทยย้ายถิ่นมาจากแผ่นดินใหญ่ของจีนก็จริง แต่ในวันนี้ คนจีนในประเทศไทยซึ่งไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนคนไทย ก็ไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายกับคนในแผ่นดินใหญ่ของจีนอีกด้วย” ปรากฏการณ์ก็เป็นเช่นเดียวกันในชนที่ย้ายถิ่นข้ามชาติอื่นๆ ชนกลุ่มน้อยจึงมักจะเลือกที่จะยังคงอยู่ในรัฐปลายทางการย้ายถิ่นและพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับชนกลุ่มใหญ่ในสังคมของรัฐนั้น หรือเข้าแบ่งแยกดินแดนของรัฐนั้นมาก่อตั้งรัฐของตนเองขึ้นใหม่ซึ่งทางเลือกอย่างหลังนี้เองที่ทำให้รัฐปลายทางการย้ายถิ่นมีมุมมองในเบื้องแรกที่พยายามจะควบคุมมิให้ชนกลุ่มน้อยในดินแดนของตนมีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้น

ฉะนั้นยากนักที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ให้สิ้นได้เพราะกฎหมายไทยได้ตรากฎ ข้อบังคับตามสิทธิมนุษย์ชนของ สหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ร่วมภาคีอยู่คือคุ้มครองประกฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และลักษณะพฤติกรรมของชนกลุ่มน้อยก็เป็นลักษณะประกฎการณ์ทางสังคมแบบธรรมชาติเช่นกัน

ดังนั้น จุดวนกลับของปัญหาก็คือ เมื่อรัฐปลายทางการย้ายถิ่นตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ไม่อาจส่งกลับคนต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศตนได้อย่างแน่แท้แล้ว ทางแก้ปัญหาที่เหลือ ก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องกลืนชนกลุ่มน้อยดังกล่าวเข้าในสังคมของตนให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วัฎจักรของการกลืนชนกลุ่มน้อยในสังคมใดสังคมหนึ่งย่อมยาวนาน และความไม่ราบรื่นหรือความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างเวลาดังกล่าว ความชาญฉลาดของรัฐที่จะชิงมีนโยบายที่จะกลืนชนกลุ่มน้อยในเวลาที่เหมาะสมไม่ว่าจะโดยการให้สัญชาติของตนหรือการให้ถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศของตนจึงเป็นเหตุปัจจัยที่หลีกเลี่ยงความไม่ราบรื่นหรือความรุนแรงนั้นได้

4. ธรรมชาติปัญหาสถานะบุคคลของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย

โดยข้อเท็จจริง บุคคลมักมีปัญหาในการใช้สิทธิในรัฐที่ตนปรากฏตัวอยู่ เนื่องจากสิทธิหลายประการของบุคคลในสมัยปัจจุบันมักยึดโยงอยู่กับความเป็นคนสัญชาติของรัฐที่มีการกล่าวอ้างสิทธิ หรือความเป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐที่มีการกล่าวอ้างสิทธิ ปัญหาจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในการพิจารณาของรัฐเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลว่า บุคคลมีสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดนหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐเจ้าของดินแดนแล้วหรือยัง ปัญหาในลักษณะนี้มักเกิดแก่ชนกลุ่มน้อย เพราะอะไร ?

ความยากลำบากที่จะรับรองสิทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากปัญหาความไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อยกับประเทศไทย ทั้งนี้ ปรากฏการณ์อันเป็นปัญหาเกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ปรากฏมีชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งรัฐไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ชาวเขาในป่า” หรือ “บุคคลบนพื้นที่สูง” นั้นไม่ได้รับการทำทะเบียนราษฎรมาอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น ความไม่สมบูรณ์และความขัดแย้งในข้อมูลประชากรจึงปรากฏมีอย่างมากมาย อันทำให้ไม่อาจมีพยานหลักฐานที่ออกโดยรัฐในการพิสูจน์ทราบสถานะบุคคลได้ดัง

บุคคลในพื้นราบที่เป็นเขตเมือง รัฐไม่มีความลังเลที่จะยอมรับความเป็นไทยโดยสัญชาติของบุคคลดังกล่าว เนื่องจากโดยความเป็นมาของตัวบุคคลย่อมมีความเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยเพียงเท่านั้น การไม่ยอมรับให้สัญชาติไทย ย่อมจะทำให้บุคคลดังกล่าวตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” โดยพลัน ดังนั้น จะเห็นว่า รัฐย่อมยอมรับความมีอยู่ของปัญหานี้สำหรับชนกลุ่มน้อยดังกล่าว และมีมาตรการเพื่อพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสมอมา

จริงๆแล้วบุคคลดั้งเดิมปัจจุบันได้หมดสิ้นไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่คงไม่ถึง 1% อยู่ตามป่าเขาที่ยังเหลือยู่ก็คือย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น อย่างเช่นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามพื้นที่สูงตามชายแดนไม่ได้เป็นสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเขาก็อยู่กินกันสร้างครอบครัวมีลูกมีหลานต่อๆ กันไปเจ้าหน้าที่ทางรัฐครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็รู้ดีจะไปจับหรือมันก็ทำไม่ได้รู้ๆเห็นๆอยู่เป็นลูกหลานก็อยู่กันไปตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้เอาจริงเอาจังอย่างประเทศไทยมันก็จะต้องเกิดต่อไป

5.ปัญหาระหว่างบุคคลที่เป็นชนกลุ่มน้อย “อพยพ” กับประเทศไทย

เนื่องจากชนกลุ่มน้อยโดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นบุคคลที่อพยพมาจากต่างประเทศโดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนของรัฐเจ้าของดินแดนต้นทางของการอพยพ ซึ่งโดยความเป็นมาของตัวบุคคลย่อมมีความเกาะเกี่ยวกับหลายรัฐ เมื่อบุคคลดังกล่าวอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ก็มักจะอพยพมาอาศัยอยู่ปะปนกับชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมของประเทศไทยในพื้นที่ป่าเขา นอกจากนั้น การอพยพเข้ามาของแต่ละกลุ่มยังมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน บางกลุ่มเข้ามานานจนมีความเป็นไทยในทางความรู้สึกทางสังคมแล้ว กล่าวคือ มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ในขณะที่บางกลุ่ม ยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแต่อย่างใดเลย โดยทั่วไป หากจะมีพยานหลักฐานที่แสดงความเกี่ยวพันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับประเทศไทย หลักฐานนั้นก็อาจจะไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นเอกสารที่มิได้จัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่จะเป็นเอกสารมหาชนที่เกิดจากการจัดทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เอกสารดังกล่าวมีความขัดแย้งกัน ตลอดจนมีการปลอมเอกสารและสวมตัวบุคคล จนแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่อาจที่จะเชื่ออย่างสนิทใจในเอกสารมหาชนของตนเอง ปัญหาในทางข้อเท็จจริงอาจเกิดขึ้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

ในประการแรก ก็คือ กรณีที่ชนกลุ่มน้อยนั้นไม่มีพยานหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ใดระหว่างตนและประเทศไทยเลย ชนกลุ่มน้อยบางคนไม่อาจมีพยานหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเชื่อถือได้ว่า ตนมีความเกี่ยวพันกับประเทศไทยอย่างแท้จริง กล่าวคือ ตนเกิดในประเทศไทย หรือตนเกิดจากบิดามารดาซึ่งเกิดในประเทศไทย หรือตนเกิดจากบิดามารดาที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

ในประการที่สอง ก็คือ กรณีที่ชนกลุ่มน้อยนั้นมีพยานหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตนและประเทศไทย แต่พยานหลักฐานขัดแย้งหรือไม่เพียงพอ

ในประการที่สาม ก็คือ กรณีที่ชนกลุ่มน้อยนั้นมีพยานหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตนและประเทศไทยอย่างเพียงพอและชัดเจน แต่ตนเองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่มีความรู้ในกฎหมายหรือไม่เอาใจใส่ในการทำงานหรือทุจริต

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีการติดตามเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับพยานหลักฐาน ผลก็คือ ชนกลุ่มน้อยนั้นจึงตกอยู่ในปัญหา “บุคคลที่ไม่อาจพิสูจน์ทราบสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย” แล้วผลกระทบอะไรล่ะที่จะเกิดขึ้นต่อชนกลุ่มน้อยจากปัญหานี้ ?

6.ปัญหาความเป็นต่างด้าวโดยข้อสันนิษฐานของกฎหมายในประเทศไทย

ปัญหาดังกล่าวมาจึงก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงแก่ชนกลุ่มน้อย ก็คือ บุคคลดังกล่าวจะถูกถือว่า “เป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย” อันจะทำให้ชนกลุ่มน้อยดังกล่าวย่อมมีสิทธิจำกัดในหลายเรื่องหรือไม่มีสิทธิเลยในหลายเรื่องในระหว่างที่ชนกลุ่มน้อยนั้นยังไม่อาจพิสูจน์ความเป็นไทยโดยสัญชาติ หรือในระหว่างที่ชนกลุ่มน้อยนั้นยังไม่มีเอกสารยืนยันสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทย

6.1 ความเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยคือสาเหตุแห่งการด้อยสิทธิในประเทศไทยหรือไม่ ?

ภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ความเป็นมนุษย์ย่อมทำให้บุคคลมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ต้นกำเนิด ศาสนา หรือภาษา จึงเป็นสิ่งที่คาดคิดไม่ได้ว่า กฎหมายของรัฐสมัยใหม่ซึ่งยอมรับในความศักดิ์สิทธิของแนวความคิดว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะกำหนดโดยชัดแจ้งเพื่อขจัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยเหตุที่มีเชื้อชาติ ต้นกำเนิด ศาสนา หรือภาษา แตกต่างไปจากชนกลุ่มใหญ่ของสังคม ดังนั้น จะเห็นว่า ความด้อยสิทธิของชนกลุ่มน้อยจึงเกิดจากการที่บุคคลเป็น “ต่างด้าว” ในสังคมนั้นต่างหาก หรือเกิดจากการที่บุคคลไม่มี “ภูมิลำเนา” อยู่ในสังคมนั้นต่างหาก มิได้เกิดจากความที่บุคคลเป็นชนกลุ่มน้อยความแตกต่างในทางศาสนาและภาษาของบุคคลเป็นสิ่งที่ขจัดออกไปได้ง่ายกว่าความแตกต่างในทางเชื้อชาติและต้นกำเนิดของบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีกฎหมายฉบับใดที่กำหนดข้อจำกัดสิทธิของบุคคลอันเนื่องมาจากศาสนาและภาษา แต่ยังปรากฏมีโดยทั่วไป แม้จะเป็นส่วนน้อยว่า บุคคลถูก “จำกัดสิทธิด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและต้นกำเนิด” อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยกำหนดเงื่อนไขหลายประการสำหรับคนไทยโดยการเกิดที่มีบิดาเป็นต่างด้าวในการใช้สิทธิรับเลือกตั้งแต่ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศไทยไม่มีผลโดยตรงให้ตกเป็นผู้ด้อยสิทธิ เพราะไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดเลยที่ขจัดหรือจำกัดสิทธิของบุคคลโดยเหตุที่ว่า บุคคลนั้นเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศไทย

6.2 การบริหารเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

เมื่อได้มีการก่อตั้งองค์กรสหประชาชาติขึ้นแล้ว กฎบัตรสหประชาชาติก็ได้ย้ำถึง เจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติ ที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ 7 แห่ง ๆ แรกปรากฏในคำปรารภ อีก 6 แห่งปรากฏในมาตรา 1, 13, 55, 56, 62, 68 ต่อมาสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 เพื่อแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ของบรรดาประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ ที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลอย่างจริงตาม เจตนารมณ์ ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และเพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับบรรดาประเทศสมาชิกที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลภายในประเทศของตน อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความแน่นอน ในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร ดังจะเห็นได้จากกฎบัตรสหประชาชาติ อันเป็นที่มาของการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็มิได้ให้คำจำกัดความของคำว่า สิทธิมนุษยชน ไว้แต่อย่างใด ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ทั้งในระดับภูมิภาค อาทิของสภายุโรป (ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป) ในระดับนานาชาติที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติสตรีทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 ฯลฯ ก็มิได้ ให้คำจำกัดความของคำว่า สิทธิมนุษยชนไว้ เช่นกัน
ดังนั้น คำว่าสิทธิมนุษยชนจึงมีความหมายในทางทฤษฎีหรือทางปรัชญา ปัจจุบันในทางปฏิบัติ จึงยังอยู่กับสถานการณ์ภายในประเทศ อาทิ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจการเมือง การปกครอง ฯลฯ ที่จะนำไปสู่ขึ้นอยู่กับการตีความ ความเข้าใจ การยอมรับความจริงใจของแต่ละประเทศที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตน และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง สหประชาชาติจึงมิได้ให้คำจำกัดความคำว่าสิทธิมนุษยชนไว้ เพราะเป็นการยากยิ่งที่จะกระทำเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป คำจำกัดความคำว่าสิทธิมนุษยชน อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อให้สอดคล้องกัน ดังเช่นในอดีตมีความคิดเพียงว่าสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สิทธิของพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้ยอมรับว่า สิทธิมนุษยชน หมายความถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Economic, Social and Cultural Rights) ด้วยเป็นต้น การให้คำจำกัดความจึงน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะในทางปฏิบัติที่แล้วมา สหประชาชาติได้เคยประสบปัญหาในการใช้มาตรการด้านกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางประเทศก็ได้ถูกโต้แย้งว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในขอบข่ายของสิทธิมนุษยชนมาแล้ว ฉะนั้นสหประชาชาติจึงได้ใช้มาตรการส่งเสริมมนุษยชนในประเทศของตน ตามมาตรฐานกลางที่กำหนดขึ้นในรูปแบบของข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น โดยไม่จำต้องให้คำจำกัดความคำว่าสิทธิมนุษยชนไว้แต่อย่างใด
6.3 อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับกันในทางทฤษฎีว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนนั้น มีที่มาจากแนวความคิดอุดมคติเก่าแก่ของทางตะวันตกในเรื่องกฎหมายตามธรรมชาติ (Natural law) ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ เป็นกฎหมาย ที่ใช้ได้ไม่จำกัดเวลา ใช้ได้ทุกหนแห่งไม่จำกัดว่าต้องใช้ในรัฐใดรัฐหนึ่ง และอยู่เหนือกฎหมายของรัฐ คือ รัฐจะออกกฎหมายมาให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายตามธรรมชาติมิได้ ทฤษฎีกฎหมายตามธรรมชาติจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักแห่งธรรม ความยุติธรรมและความถูกต้องนั่นเอง อนึ่ง สิทธิมนุษยชนก็ได้มีที่มาจากแนวความคิดอุดมคติเก่าแก่ของทางตะวันตกในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติด้วย ซึ่งหมายถึงความคิดที่ว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน และพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์มาได้ให้สิทธิบางอย่างแก่มนุษย์ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และไม่มีใครจะล่วงละเมิดได้ เช่น สิทธิในชีวิตเสรีภาพ และสิทธิที่จะหาความสุข และรัฐทั้งหลายจะต้องกระทำทุกอย่างเพื่อให้มนุษย์มีสิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่ วิธีการเช่นนี้ทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่ใช้เหตุผลยอมรับว่าเป็นหลักการที่ดี และเชื่อว่าจะทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมอย่างสันติ และมีความสุข
จากความคิดในเรื่องกฎหมายธรรมชาติและสิทธิทางธรรมชาตินี้เอง ได้วิวัฒนาการมาสู่การจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในที่สุด และการให้คำอธิบายถึงคำว่าสิทธิมนุษยชนก็คงต้องอธิบายจากความคิดในเรื่องกฎหมายตามธรรมชาติและสิทธิตามธรรมชาตินี้เอง เมื่อได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ได้มีความร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อพัฒนาบรรดามาตรการและกลไกทั้งในประเทศ และกลไกระดับนานาชาติให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดำเนินไปอย่างมีไปอย่างมีระบบในมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ ผิว ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม หรือสิทธิทางการเมืองการปกครอง ฯลฯ
6.4 สำหรับทางด้านองค์กรสหประชาชาตินั้น ก็ได้ดำเนินการให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการที่บัญญัติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน เช่น การจัดทำอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อนำหลักการของปฏิญญาฯ มาดำเนินการให้สิทธิมนุษยชนได้มีผลเป็นสิทธิตามกฎหมายอย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำอนุสัญญาว่า ด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 อนุสัญญาด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights) ซึ่งถือเป็นผลงานที่สำคัญยิ่งและวางรากฐานที่มั่นคง สำหรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระยะไกล การจัดประชุมหรือสัมมนาระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านสิทธิจากนานาชาติในอันที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกำหนดนโยบาย และแผนปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีระบบและสอดคล้องกัน แล้วจัดทำเป็นปฏิญญาหรือการแถลงการณ์ร่วมกัน เช่น การประชุมระดับโลก เรื่องที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย หรือการประชุมที่กรุงปักกิ่ง เป็นต้น ฯลฯ นอกจากนั้น สหประชาชาติยังได้เข้าไปมีบทบาทโดยตรงและต่อเนื่องเพื่อดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการยุติเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปยุโรป เอเซีย กลุ่มลาตินอเมริกาและในอาฟริกา เช่น เหตุการณ์รุนแรงที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนียเฮอร์เซโกวีน่า โดยใช้มาตรการทางการทูต ทางเศรษฐกิจหรือทางทหาร เพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรงดังกล่าว รวมทั้งการจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่นเหตุการณ์ในบอสเนีย เฮอร์เซโกวีน่า ในประเทศรวันดา รวมทั้งผู้นำกลุ่มเขมรแดงที่ได้ถูกกล่าวหาว่าทำการทารุณกรรฆ่าประชาชนเขมรเป็นจำนวนนับล้านคนในสมัยที่มีอำนาจปกครองประเทศ เป็นต้น ฯลฯ
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ได้ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกที และหลายครั้งได้ถูกนำมาเป็นประเด็นสำคัญเพื่อต่อรองทางการเมือง ในการพิจารณาติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตหรือทางการค้ากับประเทศที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน ดังเช่น กรณีของสหภาพยุโรป ไม่ยอมให้ผู้นำพม่าเดิมเข้าประเทศตน หรือไม่ซื้อหาสินค้าจากประเทศหลายประเทศในเอเซียที่ถูกกล่าวหาว่าใช้แรงงานเด็กขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น ฯลฯ
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้น ในปัจจุบันรัฐใดรัฐหนึ่งไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า เป็นเรื่องที่ตกอยู่เขตอำนาจภายในของรัฐของตนโดยเด็ดขาดเหมือนแต่ก่อนแต่ได้วิวัฒนาการมาเป็นสิทธิระหว่างประเทศ (International Rights) ซึ่งรัฐที่เป็นภาคีแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน อาจอ้างข้อตกลงนั้น ๆ เข้ามาตรวจสอบ หรือมีมติให้ใช้มาตรา การอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนอันเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

7. ประเทศไทยกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ร่วมลงมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ต้น แม้ปฏิญญาสากลดังกล่าวจะมิได้มีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ อันจะก่อให้เกิดพันธะกรณีตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม ประเทศไทยก็ได้พยายามปฏิบัติการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาดังกล่าวด้วยดีตลอดมา เช่น
7.1 การพัฒนากลไกภายในประเทศไทยได้พยายามพัฒนากลไก เช่น กฎหมายในประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น อาทิ

- เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครั้งสำคัญเพื่อรับรองสิทธิของหญิงให้เท่าเทียมกับชาย

- การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติการค้าเด็กและสตรี พ.ศ. 2540

- การประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

- การยกเลิกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ห้ามสตรีดำรงตำแหน่งข้าราชการบางตำแหน่ง

- การแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษให้มีสภาวะดีขึ้น

- การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ฯลฯ

7.2โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการร่างอย่างเป็นประชาธิปไตย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่คุ้มครองในหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และในหมวดที่ 8 ว่าด้วยศาลไว้อย่างก้าวหน้าทันสมัย มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนั้น มีหลายเรื่องไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนมาของไทย เช่น
การกำหนดแนวทางในการใช้อำนาจรัฐ เช่น การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (มาตรา 26) หรือสิทธิและเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยการวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดย ตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง (มาตรา 27) หรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ต้องกระทำโดยกฎหมาย แต่จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นไม่ได้ (มาตรา 29 วรรคแรก) ฯลฯ
7.3 การกำหนดขั้นตอนและวิธีการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่น บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้ (มาตรา 28 วรรคสอง) สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองสิทธิและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ (มาตรา 56) สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการปกครอง อันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน (มาตรา 60) สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร (มาตรา 61) สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเมิดการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานนั้น (มาตรา 62)
7.4 การจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อสอดส่อง ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีที่มีหรือ อาจมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐ (มาตรา 196 - 198) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา 199 - 200) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 297 - 311) ศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 255 - 270) ศาลปกครอง (มาตรา 276 - 280) เป็นต้น ฯลฯ
จากข้อเท็จจริงดังได้กล่าวจะเห็นได้ว่าการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้มีความสำคัญมากขึ้นตลอดเวลา และประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทด้านนี้ โดยดำเนินการได้ผลเป็นที่น่าพอใจตามสมควร และภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมมือกัน ในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา องค์กรตุลาการทุกประเภทดังกล่าวจึงควรดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ สอดคล้อง กับรัฐธรรมนูญ อาทิ
การนำบทบัญญัติและเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาพิจารณา ประกอบและปรับให้เข้ากับกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เช่น มาตรา 241วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลย ย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวน หรือ การพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม"
ผู้พิพากษาหรือตุลาการควรให้ความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ ทั้งที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับรอง เช่น ประมวลกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติฯลฯ และที่เป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทย เป็นภาคี รวมทั้งแนวคำพิพากษาของศาลต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อจะได้นำมาใช้ เป็นแนวคิดในการดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาให้ทันสมัย และมีวิสัยทัศน์ ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การดำเนินการตามข้อ 2 ควรกระทำโดยการจัดให้มีการฝึกอบรม การจัด สัมมนา การศึกษาดูงาน และการจัดให้มีห้องสมุดที่ทันสมัยไว้ให้ด้วย
องค์กรตุลาการทุกประเภท ควรมอบหมายให้นักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเป็นอิสระเป็นกลางอย่างแท้จริง ทำการวิเคราะห์วิจัยและประเมินผล การดำเนินงานรวมทั้งการพิจารณา พิพากษาของศาลทุกประเภท ทั้งด้านบทบัญญัติ ของกฎหมาย กระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาลว่า มีความเหมาะสม สะดวกรวด เร็วมากน้อยเพียงใด วิเคราะห์แนวคำพิพากษาของศาลในทางวิชาการว่า มีแนวโน้มไป ในทางใดสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญมากน้อย เพียงใด รวม ทั้งบุคลาการคือผู้พิพากษาตุลาการว่า มีทัศนะมีความสนใจในความสำคัญต่อกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศ และตามมาตรฐานสากลมากน้อย เพียงใด ฯลฯ เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้รับมาทำการแก้ไขปรับปรุงระบบการคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนโดยองค์กร ตุลาการให้มีประสิทธิภาพการวิจัยดังกล่าวการกระทำในทุกระยะ 3-5 ปี เพื่อจะได้ข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอ
อนึ่ง ในกรณีที่เป็นไปได้ควรทำการวิจัยหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติ ธรรมทางอาญาด้วย คือ ตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อให้ ครบวงจร และจะเกิดประโยชน์อย่างสูงต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ดังนั้น ศาลจะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาในคดีอาญาด้วยความ รวดเร็ว ไม่ให้เกิดความล่าช้า อันจะทำให้จำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวต้องถูกขังใน เรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลานานเกินควรกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพ ของ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และมีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการ คุ้มครองตามกฎหมาย


8. ยุทธศาสตร์การจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชน


เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าวข้างต้น ในการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ดังต่อไปนี้คือ
8.1 กำหนดนโยบายสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเพื่อจะได้นำไปใช้ในการ กำหนดแผนปฏิบัติการสอดคล้องกัน อาทิ ส่งเสริมให้มีการเคารพและคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ บูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนในการพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศทุกด้าน สนับสนุนการดำเนินงาน การอนุสัญญาและ ข้อตกลงระหว่างประเทศตามที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับองค์การต่าง ๆ เป็นต้น ฯลฯ
8.2 กำหนดแผนปฏิบัติการด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ อย่างเป็นระบบ และครอบคลุมถึงสิทธิมนุษยชนประเภทต่างๆ และกลุ่มประชากร เป้าหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอันควรได้รับการส่งเสริม และคุ้มครองให้มากที่สุด เท่าที่สามารถจะกระทำ ได้คือ
8.2.1 แผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้าน โดยพิจารณาว่า สิทธิมนุษยชนประเภทใดบ้างที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายอันควรได้รับการกำหนดไว้ในแผน ปฏิบัติการ อาทิ สิทธิมนุษยชนด้านการศึกษา สิทธิมนุษยชน ด้านวัฒนธรรม สิทธิ มนุษยชนด้านอาชีพ ด้านการสาธารณสุข เป็นต้น ฯลฯ

8.2.2 แผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนตามประชากรกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เด็กและเยาวชน , สตรี , ผู้สูงอายุ , ผู้พิการ , ผู้ป่วย ฯลฯ
8.3 กำหนดแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายและแผน ปฏิบัติการให้เป็นไปตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจำแนกออกเป็น 3 มาตรการ คือ
8.3.1 การส่งเสริมการดำเนินงานสิทธิมนุษยชนด้านการส่งเสริม สิทธิมนุษยชนศึกษา และการพัฒนาการวิจัยการรณรงค์ และประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิ มนุษยชน

8.3.2 การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาและ เอกสารระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการ เลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ เป็นต้น ฯลฯ

8.3.3 การบริหารนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทสิทธิ มนุษยชน เช่น การจัดตั้งองค์กร บริหารนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทสิทธิ มนุษยชน การประสานแผนปฏิบัติการและ งบประมาณการติดตาม และประเมินผล การตรวจสอบและการแก้ไขเยียวยากรณีมีการละเมิด สิทธิมนุษยชน ฯลฯ
ดังนั้น นโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนนี้ เมื่อใช้บังคับไปได้ ระยะหนึ่ง ก็อาจมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการณ์ ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และกระแสความคิดสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อันจะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพียงแต่อยากให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้สอนผู้บรรยายทั้งหลายให้ติดตามสิ่งทีปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาแล้วค่อยสอนค่อยบรรยายและค่อยปฏิบัติไม่อย่างนั้น อาจจะเป็นต้นตอของความขัดแย้งก็อาจเป็นไปได้

นายสม จะเปา

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 591023เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2015 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2015 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท