ภาสกร เตือประโคน : 25 ปี ลีลาชีวิตและการเดินทางตามแสงตะวัน


ผมไม่แน่ใจว่าผมเขียนบันทึก/ประวัติตัวเองตอนนี้ไว้เพื่ออะไร จำไม่ได้ แต่เปิดเจอในคอมพิวเตอร์ เวลามันล่วงมาหลายปี ก็ลองๆเอามาบันทึกออนไลน์ไว้ ...ก็น่าจะดีไม่น้อย มีหลายคน ไม่เคยมีโอกาสได้เขียนประวัติตนเองไว้ มีคนอื่นเขียนให้ แต่ก็อาจไม่เคยได้ฟังได้อ่านว่าเขาเขียนประวัติเราว่าอะไรบ้าง .....ครั้งนั้น ผมคงขยันเขียนบันทึก จึงมีเรื่องราวมากมายที่ถูกถ่ายทอดออกมา ก็รู้สึกเขินๆเล็กน้อยที่ต้องเอาประวัติตัวเองมาเสมือนอวดอ้างอะไรบางอย่าง แต่คิดอีกมุม ก็ขออนุญาตเอามาบันทึกไว้ ในความทรงจำก็แล้วกันครับ

ลิขิตไว้ในกระดาษ ดังนี้

25 ปี ถือว่าเป็นวัยกึ่งๆกลางๆคน หากคิดอายุเฉลี่ยมนุษย์ที่ 75 ปี เหลืออายุอีก 2 ส่วนก็คงสิ้นอายุขัย นี่ผมใช้ชีวิตไป 1 ส่วนแล้วหรือ? คำถามในใจที่ฉุกคิดขึ้นมาได้ ณ ขณะหนึ่งของชีวิต เลยต้องมาทบทวนชีวิตดูว่า เวลาที่ผ่านมา เราได้ใช้ชีวิตคุ้มค่าในแบบฉบับของเราหรือยัง

ย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ณ โรงพยาบาลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เสียงร้องของเด็กทารกแรกเกิดเพศชาย ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 00.42 น. ของกลางดึกหลังสองยาม เป็นเช้ามืดของวันที่ 14 มกราคม 2527 มีพ่อชื่อนายบุญเรือง เตือประโคน มีอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก อาชีพเดียว มีนางสาวพิมพิไล สิวประโคน ผู้เป็นแม่บังเกิดเกล้า หลังจากนั้นไม่กี่วันพ่อก็ไปแจ้งเกิด โดยให้นายทะเบียนลงในใบสูติบัตรว่า ภาสกร ซึ่งมีความหมายว่า ดวงอาทิตย์ ผู้ให้กำเนิดแสง หรือ ดวงตะวัน

เด็กชายภาสกร เตือประโคน มีชื่อเล่นมากมายหลายชื่อเรียก แต่ที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมที่สุดคือ ยอด(รัก) เกิดในครอบครัวชาวนาบ้านนอก(ไม่มาก) อีก 6 ปีต่อมามีน้องสาวและน้องชาย อย่างละคนพร้อมๆกับการจากไปของบิดาผู้เป็นกำลังหลักของครอบครัว ณ ขณะประกอบอาชีพอย่างสุจริตบนท้องนา นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อครั้งนั้น แม่กลายเป็นกำลังหลักในครอบครัว จำต้องย้ายกำลังกาย กำลังใจมุ่งหน้าสู่สถานถิ่นที่เรียกว่าโรงงานแถบภาคตะวันออกของประเทศ เพื่ออาบเหงื่อขายแรงแลกกับเงิน อันเป็นสิ่งมีค่าในการแลกเปลี่ยนกับปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีพของตนและครอบครัว ด้วยภาวะจำยอมต้องจากลูก 3 คน แต่สิ่งหนึ่งที่แม่ได้พร่ำบอกตลอดคือ “แม่ทำเพื่ออนาคตของลูกนะ”

จุดเปลี่ยนของชีวิตในวัยเด็กคือ การที่ครอบครัวไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ความรักความห่วงใยจากบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะญาติๆกลับมากขึ้น 3 พี่น้องผู้กำพร้าพ่อ อยู่ห่างจากแม่ ต้องอยู่ในการดูแลอย่างประคบประหงมจาก ตา และยาย ผู้เป็นแสงนำทางชีวิตในวัยเยาว์

ตา ผู้เป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับการเป็นผู้ให้ ให้อย่างไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน ให้สิ่งที่ไม่ใช่สิ่งของเงินทองแก่สังคม ตาจึงเป็นกำลังหลักของหมู่บ้านและชุมชน งานราษฎร์ งานหลวง มีตาเข้าไปเกี่ยวข้องเกือบทุกงาน เป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียน ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราชการตลอดมา จนเมื่อครั้งตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้น ตาได้รับฉันทามติจากชุมชนให้ทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านคนแรก ด้วยวัย 50 กว่าๆ

ยาย ผู้เป็นแม่ศรีเรือน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ที่แปลกตา แต่รสชาติน่าสนใจ หาที่ใดไม่มีกิน อีกทั้งเป็นผู้ใฝ่ในธรรมคำสอนแห่งพระบรมศาสดาเจ้า แม้วันอาทิตย์เช้าๆ ท่านก็จะนั่งฟังธรรมบรรยายผ่านโทรทัศน์ให้เห็นเป็นประจำ วันใดเป็นวันธรรมสวนะ ท่านจะตื่นเช้ากว่าปรกติเพื่อเตรียมหุงหาอาหารอันประณีตจัดใส่ปิ่นโตมุ่งหน้าสู่อารามราษฎร์ข้างๆบ้าน

ชีวิตจึงได้เรียนรู้ ถูกอบรม สั่งสอนตามครรลองแห่งธรรมและผู้นำที่มีแต่ให้ ผ่านวิถีแห่งชีวิตของตาและยาย ผู้เป็นพ่อและแม่ที่เมตตา ทะนุถนอม ผู้เป็นครูของชีวิต และเป็นพระประจำบ้าน

ด้านการศึกษา ตลอดระยะเวลา เด็กชายภาสกรและนายภาสกร ถูกบ่มเพาะให้รักการศึกษาเล่าเรียน และถูกพร่ำสอนคล้ายๆกับครอบครัวอื่นๆว่า “ตั้งใจเรียนนะลูก โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ได้เข้าฝึกวิทยายุทธ์ครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกกลาง กับเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นน้อง จนเมื่ออายุเข้าเกณฑ์ จึงเข้าเรียนชั้นอนุบาล (ป.เด็กเล็กที่เราๆสมัยนั้นเรียกกัน) ณ โรงเรียนบ้านโคกกลาง ที่มีนักเรียนประมาณ 480 คน และเลื่อนชั้นขึ้นเรื่อยๆจนถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียนคือชั้น ป.6 ได้รับทุนการศึกษา 1 ครั้ง จำนวน 1,200 บาท จากมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีตำแหน่งในคณะกรรมการนักเรียน ปีการศึกษา 2538 (จำไม่ได้ว่าเป็นกรรมการฝ่ายไหน) และเป็น 1 ในวงดุริยางค์โรงเรียนด้วยเครื่องดนตรีฝรั่งที่ชื่อว่า “เบลไลรา”

ปีการศึกษา 2539 เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีชื่อไม่ค่อยคุ้นหู มีนักเรียนเพียง 400 กว่าชีวิตในขณะนั้น แต่ที่เลือกเรียนที่นี่เพราะตามเพื่อนไป แต่ก็ปรึกษากับที่บ้านแล้วอีกทางหนึ่งในการตัดสินใจเลือกเรียนที่ “เมืองตลุงพิทยาสรรพ์” และการสอบเข้าศึกษาต่อครั้งนี้สอบได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ในบรรดาเพื่อนๆร่วมชั้น 170 คน โรงเรียนเจริญเติบโตเร็วมาก มีอัตรานักเรียน ครู งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษา หลายสิ่งประกอบกันทำให้ได้รับมอบหมายให้ทำงาน(กิจกรรม)คู่กับการเรียนโดยตลอด ประกอบกับเป็นคนชอบทำกิจกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะผู้นำที่สั่งสมมา หัวหน้าห้อง ประธานคณะสี ประธานชุมนุม ประธานกรรมการนักเรียน และเป็นผู้ขอจัดตั้งชมรมเพื่อนเตือนเพื่อน แต่เรื่องผลการเรียนจะอยู่ในระดับท้ายๆของห้อง (ม.6/1)

จุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งคือเมื่อคราวสอบเอนทรานซ์ (รอบแรก) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า รอบโควตา ให้เลือกได้เพียงสาขาเดียวและมหาวิทยาลัยเดียวในภาคอีสานอันประกอบด้วย มข. มมส. มทส. และ มอบ. ซึ่งความคาดหวังของชีวิตคือการเรียนสาขารัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ซึ่งที่สถาบันเหล่านี้ไม่มี(จริงๆก็สมัครโควตาสถาบันอื่นไว้ด้วย) จึงตัดสินใจซื้อใบสมัครของ มข. ซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกสาขาจนวันสุดท้ายของการรับสมัคร เลยลงสาขาที่ 11 เศรษฐศาสตร์เกษตร ผลสอบวัดความรู้คะแนนรวม 7 วิชาพื้นฐาน ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของระดับชั้น ม.6 พร้อมด้วยผลทดสอบความถนัดทางวิชาการระดับชาติก็ได้คะแนนเป็นที่ 1 ของระดับชั้น สร้างความประหลาดใจแก่ตนเอง คณะครูและเพื่อนๆอย่างยิ่ง และเมื่อประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อของ มข. ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกให้เข้าสัมภาษณ์ สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งต่อเพื่อน พี่ น้อง ครู ญาติสนิท มิตรสหายทั้งในโรงเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรพ์และโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม กลายเป็นนักเรียนเมืองตลุงพิทยาสรรพ์คนแรกที่ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

และแล้วชีวิตก็เริ่มมีสิ่งท้าทายให้ค้นหา หอพักที่จะต้องมาอยู่ร่วมกับใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่ญาติ ห้องและอาคารที่โอ่อ่า(น่านอน) เพื่อนร่วมรุ่นจำนวนมาก ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างนิสัย ยิ่งย้ายจากถิ่นอีสานใต้ที่มีภาษาวัฒนธรรมแบบเขมร มาอยู่ในวงล้อมของคนอีสานที่คนกรุงเทพและคนบุรีรัมย์เรียกว่า “ลาว” รูปแบบการใช้ชีวิต (lifestyle) จึงเริ่มเปลี่ยนไปและต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

การเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานอันกว้างขวางทั้งเนื้อที่และวิชาความรู้ ทำให้ตื่นเต้นในทุกช่วงขณะและท่วงทำนองชีวิต พยายามเรียนรู้ในสิ่งที่ใฝ่รู้ และเรียนรู้อย่างบังเอิญในบางเรื่องที่ไม่ใคร่รู้อย่างชนบ้านนอก

4 ปี ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานอันเด็ก มข. ขนานนามว่าเป็นเมืองหลวง และผมก็มีความเชื่ออย่างนั้น เพราะชีวิตผมต้องรอนแรมเข้ากรุงเทพมหานครเป็นประจำปีละหลายๆครั้งตั้งแต่เล็กจนโต กรุงเทพฯ ที่ใครๆก็ว่าเป็นเมืองแห่งความศิวิไลซ์ กรุงเทพเมืองฟ้าอมร แต่ผมไม่ใคร่ชอบบรรยากาศอย่างกรุงเทพฯ กลับชอบใจในมหานครขอนแก่น อันเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมที่ชวนให้หลงใหล

4 ปี ณ มอดินแดง สถาบันที่ขึ้นชื่อว่า “ขุมปัญญาแห่งอีสาน” ได้บ่มเพาะความรู้ ความคิด สติ ปัญญา และประสบการณ์หลากหลายมากมาย คงจะด้วยรักในการเรียนวิชาชีพ วิชาการ พร้อมๆกับวิชาชีวิต จึงได้เรียนรู้โลกกว้างกว่าใครเขา เป็นผู้นำนักศึกษาแนวหน้าในชั้นเรียน ชั้นปี และชั้นแนวหน้าของมหาวิทยาลัยตามลำดับ ที่เด่นๆเห็นจะเป็น ประธานชมรมประสานงานนักศึกษาเพื่อน้องผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา (ปนน.) พร้อมๆกับกรรมการฝ่ายกีฬาและนันทนาการ องค์การนักศึกษา (อน.มข.) ในปีการศึกษา 2547 จนขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง อุปนายกคนที่ 1 องค์การนักศึกษา ในปีการศึกษา 2548 พร้อมกับตำแหน่ง ประธานกลุ่มกระแสธรรม (คนสุดท้าย)

เสพติด มข. มากจนเมื่อสำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเกษตร) คณะเกษตรศาสตร์ ในปีการศึกษา 2548 เข้าศึกษาต่อในหลักสูตร บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การตลาด) คณะวิทยาการจัดการ และมีตำแหน่งเป็น นายกสโมสรนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในปีการศึกษา 2550 พร้อมๆกับการเป็นมหาบัณฑิตแห่งรั้วสีอิฐ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรนานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (JIRCAS) คณะเกษตรศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นเข้ารับหน้าที่ใหม่ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ในตำแหน่งนักบริหารงานอุดมศึกษา และ 23 ธันวาคม 2551 ถึงปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักกิจการนักศึกษา สังกัดกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การเปิดโลกทัศน์ในโลกกว้างเพื่อศึกษาดูงานในต่างประเทศ ประกอบด้วย 1) Hanoi University of Technology, Hanoi, Vietnam 2) Vietnam National University, Hanoi, Vietnam 3) Souphanouvong University, Luang Pra Bang, Lao PDR. 4) University of Macau, Macau, China 5) Ewha Womans University, Seoul, Korea 6) University of Danang, Danang City, Vietnam 7) Quangbinh University, Donghoi City, Vietnam และ 8) Tsinghua University, Beijing, China

ความภาคภูมิใจ 1) 18 มิ.ย. 2548 เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระสังฆราช ฯ ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อรับประทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำมาประดิษฐานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2) 30 มิ.ย. 48 ทูลเกล้าฯถวายรายงานกิจกรรมต้านยาเสพย์ติดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แก่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ คราวเสด็จฯ ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์ มข. 3) 20 ธ.ค. 48 เป็นตัวแทนนักศึกษา มข. ทูลเกล้าถวายของที่ระลึก แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2547

หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอื่นๆ ปีการศึกษา 2551 ที่ปรึกษาองค์การนักศึกษา ที่ปรึกษาชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ปีการศึกษา 2552 ที่ปรึกษาสภานักศึกษา ที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน และที่ปรึกษาชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้

เป้าหมายและหลักชีวิต

  • เรียนต่อปริญญาเอก
  • ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตนอย่างเป็นสุขและไม่เบียดเบียนใคร
  • ทำงานเพื่อส่วนรวมเมื่อมีโอกาส
  • โง่ มาก่อนฉลาด แต่อย่างโง่นาน (ศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย)
  • จงรักทุกคนในโลก แล้วเราก็จะเป็นสุข (รศ.ดร.สมจิต แดนสีแก้ว)
  • ทำผิดบ้างไม่เป็นไร แต่อย่าผิดซ้ำซาก (ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน)
หมายเลขบันทึก: 590928เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2015 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2015 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท