การประเมินโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนประชานิคม 4 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1


ทิศทางการพัฒนาประเทศ ในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ผันผวน ซับซ้อน และคาดการณ์ผลกระทบได้ยาก ส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความเสี่ยงจากการบริหารภาครัฐ และ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สามารถรองรับการเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งความเสี่ยงจากด้านความเสื่อมถอยของค่านิยมที่ดีงามในสังคมไทย ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็งขึ้นภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเสริมสร้างทุนที่มีอยู่ของประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน จากแนวคิดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8-10 โดยยังคงยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา รวมทั้งสร้างความสมดุลการพัฒนาในทุกมิติ และขับเคลื่อนให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกระดับ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปบนทางสายกลาง พัฒนาไปด้วยกัน ทั้งคน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง โดยมีขั้นตอน มีเหตุผล และใช้หลักความพอประมาณ ให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจ ความสมดุลระหว่างการพึ่งตนเองกับการแข่งขันในระดับเวทีโลก ความสมดุลระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง บริหารความเสี่ยงโดยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ใช้ความรอบรู้ ในการพัฒนาด้านต่างๆ ด้วยความรอบคอบ เป็นไปตามลำดับขั้นตอน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทย จากการที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ พึ่งเงินลงทุนจากภายนอกประเทศ โดยไม่ได้สร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมตามมา ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นปฏิรูปการศึกษา โดยการเสริมสร้างความตระหนักในคุณค่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการ ศึกษาทุกระดับ พัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือของสถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันทางศาสนา และสถาบันการศึกษา และมีการกระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อให้การศึกษาพัฒนาคน และสร้างองค์ความรู้สู่สังคม

จากกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ความตอนหนึ่งว่า “แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับการจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่ พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่อย่างพอมีพอกิน” เป็นกระแสพระราชดำรัส ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจในสภาวะวิกฤติอันทรงคุณค่ายิ่ง รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา โดยการประสานความร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ และที่สำคัญคือการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา โดยการประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนเพื่อให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนหลัก และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อน ได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง 4 ปี ในช่วงปี พ.ศ.2547-พ.ศ.2550 โดยปีแรกเน้นการจุดประกายความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เศรษฐกิจพอเพียงมิได้จำกัดเฉพาะเกษตรกร หรือชาวไร่ ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุกคน ทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมือง และที่อยู่ในชนบท และจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกในปัจจุบัน อีกทั้งการแข่งขันในระบบทุนนิยม ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากรอบด้าน เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมโลกได้อย่างเข้มแข็ง

กระทรวงศึกษาธิการมีความตระหนักในภารกิจที่สำคัญดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาประเทศ เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่าง ๆ ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนสู่วิถีชีวิตประชาชน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ตามแนวพระราชดำรัส และนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ประเทศชาติโดยรวมพัฒนาต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้รูปแบบการจัดการศึกษาบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้นำนโยบายหลาย ๆ ส่วน นับแต่แผนบริหารราชการแผ่นดินปีงบประมาณ 2551-2554 แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554 ) กำหนดเป็นกลยุทธ์ คือ ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มี เป้าหมายให้แก่นักเรียนทุกคน ผ่านการประเมินคุณธรรม มีสำนึกในความเป็นชาติไทย สามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีประชาธิปไตย และโรงเรียนทุกแห่งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดค่ายการแสดง ลูกเสือ ดนตรี กีฬา เพื่อเป็นแนวทางในการปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย วิถีประชาธิปไตย และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรมนำความรู้ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยนำมากำหนดเป็นทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธุ์ ตัวชี้วัดและเป้าหมาย ผลการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน ในกลยุทธ์ที่ 2 ปลูกฝังคุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Moral and Ethics) ได้มีการกำหนดเส้นทางการประเมินสถานศึกษาทั่วไปสู่สถานศึกษาพอเพียง แบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (สถานศึกษาพอเพียง) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อน นโยบายสู่การปฏิบัติ และการกำกับดูแล แก่สถานศึกษาในสังกัด ส่งผลทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกทิศทางและประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งบุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงผู้เกี่ยวของมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นได้ สถานศึกษาจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญเพราะเป็นเป้าหมายปลายทางในการพัฒนาผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตหลักให้เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

โรงเรียนประชานิคม 4 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 ได้รับการพิจารณาให้ผ่านเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาพอเพียง จากวิสัยทัศน์การจัดการศึกษาให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้ อยู่เป็นสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้ดำเนินโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและพัฒนาผู้เรียน ประกอบกับโรงเรียนประชานิคม 4 มีสวนป่าภูมิรักษ์ เป็นพื้นที่ปลูกป่าที่มีพันธุ์พืชในท้องถิ่นอย่างหลากหลาย และมีความอุดมสมบูรณ์ มีสวนปาล์มน้ำมัน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตร จึงเหมาะที่จะทำโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน เพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ มีการจัดแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน และเพื่อให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรู้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ในการประเมินโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ผู้ประเมินใช้รูปแบบซีโป (CPO’S evaluation model) ประเมินโครงการ 3 ด้าน คือ 1) ด้านปัจจัยพื้นฐานสภาพแวดล้อมของโครงการ (context) ได้แก่ การประเมินจุดมุ่งหมาย สภาพความต้องการ สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก และความจำเป็นในการดำเนินโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน 2) ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ (process) ได้แก่ การประเมินการวางแผนการจัดการและกิจกรรม ปัญหาและอุปสรรค และข้อดีของกิจกรรม การประเมินผลในการดำเนินโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน และ 3) ด้านผลผลิตของโครงการ (outcome) ได้แก่ การประเมินผลงานหรือการบรรลุเป้าหมายตามวัดจุดมุ่งหมายของโครงการ เพื่อ มุ่งหวังนำผลการประเมินมาวิเคราะห์ หาข้อดี ข้อเสีย เพื่อวางแผนแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ ตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ โดยศึกษาจากโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ของโรงเรียนประชานิคม 4 ซึ่งประกอบด้วยครู คณะกรรมการส่งเสริมโครงการสถานศึกษาพอเพียง นักเรียน และผู้ปกครอง

ผลการประเมิน

1. ด้านปัจจัยพื้นฐานสภาพแวดล้อมของโครงการ ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการส่งเสริมโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ วัตถุประสงค์โครงการ มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน รองลงมา ได้แก่ วัตถุประสงค์มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และวัตถุประสงค์มีความชัดเจนจำเพาะ เจาะจง ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ มีความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการดำเนินโครงการ ส่วนข้ออื่น ๆ อยู่ในระดับมาก

2. ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการส่งเสริมโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ โรงเรียนมีการขยายผลการปฏิบัติกิจกรรมลงสู่ชุมชน รองลงมา ได้แก่ มีการประชุมชี้แจงวิธีดำเนินการและการแต่งตั้งคณะกรรมการ และมีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการดำเนินโครงการในกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ กำหนดขั้นตอนการจัดทำแผน/โครงการไว้อย่างชัดเจน ส่วนข้ออื่น ๆ อยู่ในระดับมาก

3. ด้านผลผลิต

3.1 ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการส่งเสริมโครงการสถานศึกษาพอเพียงอย่างยั่งยืน ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ผู้เรียนปฏิบัติตนให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม รองลงมา ได้แก่ บุคลากรและนักเรียนปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนเพื่อส่วนรวมและสาธารณประโยชน์ และบุคลากรและนักเรียนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ สถานศึกษามีคุณลักษณะแห่งความพอเพียง ส่วนข้ออื่น ๆ อยู่ในระดับมาก

3.2 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ไม่ฟุ้งเฟ้อ และประหยัดในแนวทางที่ถูกต้อง รองลงมาได้แก่ นักเรียนหมั่นแสวงหาความรู้ เพื่อให้เกิดความรู้รอบในด้านต่างๆ และนักเรียนสามารถทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายได้ ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีความสามัคคี ส่วนข้ออื่น ๆ อยู่ในระดับมาก

3.3 ตามความคิดเห็นผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ในภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ บุตรหลานของท่านมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย รองลงมา ได้แก่ บุตรหลานของท่านมีน้ำใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น และบุตรหลานของท่านมีความระมัดระวังในการทำงานที่ได้รับมอบหมายมากยิ่งขึ้น ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ บุตรหลานของท่าน รู้จักวางแผนทางด้านการใช้จ่าย มากขึ้น ส่วนข้ออื่น ๆ อยู่ในระดับมากและปานกลาง

หมายเลขบันทึก: 590926เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2015 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2015 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท