(ตัวอย่าง) การเขียนบทนำสำหรับการทำผลงานทางวิชาการสำหรับครูเชี่ยวชาญ


แนวทางการเขียนบทนำสำหรับการทำผลงานทางวิชาการของครู

(ตัวอย่าง) สำหรับการเขียนบทนำหรือบทที่ 1 ซึ่งครูหลายท่านมักจะมีปัญหาในการเขียนและมักจะถูกตัดคะแนนหรือถูกที่ปรึกษาดุเอาบ่อยๆ ผมจึงอยากจะเผยแพร่การเขียนบทนำเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนครูนะครับ ซึ่งผลงานที่่ทำเป็นสาขาครูผู้สอน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน หลักสูตรท้องถิ่นวิชาเกษตรอินทรีย์ ท่านที่สนใจลองนำไปดัดแปลงดู แต่ผู้เขียนขอเอาหน้าหน่อย(อ้างอิงด้วย) เช่น

ในยุคที่โลกกำลังก้าวสู่สังคมฐานความรู้ นานาประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มกลยุทธ์ การแข่งขันในทุกด้าน เตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552-2559) ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 3 ข้อคือ เพื่อพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุลเป็นฐานหลักของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้คนไทยเป็นคนดี เก่ง มีความสุข เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพ ภูมิปัญญาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานให้มีการพัฒนา นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษา การพัฒนาความเป็นสากลของการศึกษา รองรับการเป็นประชาคมอาเซียน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อการอยู่ร่วมกันกับพลโลกอย่างมีสันติสุข มีการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน ซึ่งหลายประเทศต่างเร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพอันเป็นสากล มีคุณภาพให้สามารถยืนหยัดได้ในเวทีโลก การศึกษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันกับสถานการณ์โลกและกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2553) แต่จากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่สามารถพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ทักษะวุฒิทางอารมณ์ของผู้เรียนยังไม่มีคุณภาพ จากรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของ World Economic Forum ปี 2011/2012 พบว่าไทยมีดัชนีการแข่งขันลำดับที่ 39 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับประเทศ จากผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2550-2554 ในแต่ละปีพบว่าคะแนนเฉลี่ย 5 วิชาหลักต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกวิชา (นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2555) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ให้ความสำคัญต่อการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน กำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพของคนในทุกมิติทั้งด้านร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีสติปัญญาที่รอบรู้ นำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ด้วยความรอบคอบสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทย รวมทั้งเสริมสร้างศีลธรรมและสานึกในคุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม มีจิตสาธารณะ พร้อมทั้งมีสมรรถนะ ทักษะและความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต มีทักษะพื้นฐานที่ดีในการประกอบอาชีพในเชิงแข่งขัน มีสำนึกในความเป็นพลเมือง ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มุ่งสร้างคนไทยยุคใหม่ให้มีความรู้ ความดีและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการศึกษาให้คนไทยมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งการศึกษามีหน้าที่โดยตรงที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อน

โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาไทยมี 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยที่หนึ่งเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งในด้านที่เป็นภัยคุกคามและด้านที่เป็นโอกาส ปัจจัยที่สองคือ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ก่อให้เกิดค่านิยมสากล 3 ประการคือ ค่านิยมประชาธิปไตย ค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน และค่านิยมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้สังคมโลกในอนาคตต้องมีการพึ่งพากันในรูปแบบเครือข่ายกันมากขึ้นและมีการแข่งขันกันสูง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีความพร้อม 4 ประการคือ ประชากรมีคุณภาพสูง มีความสามารถในการจัดการ มีระบบสารสนเทศที่เพียงพอและมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยใช้การศึกษานำการพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพ เน้นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ด้านวิชาชีพต้องเน้นที่คุณภาพ รูปแบบการจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลาย เน้นการสร้างเครือข่ายและประสานกันระหว่างสถาบันให้มากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เชื่อมโยงข้อมูล ครูที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ต้องนำเครือข่ายการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนให้มากขึ้น มีทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศและใช้คอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ปรับเปลี่ยนให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้การศึกษาเป็นระบบและกระบวนการที่พัฒนาคนให้ออกไปเผชิญกับโลกภายนอก นำพาประเทศไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม (วิจิตร ศรีสะอ้าน, 2539)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ รู้จักพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมายสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อใช้เป็นทิศทางในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละระดับ นอกจากนั้นได้กำหนดโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีไว้ในหลักสูตรแกนกลาง และเปิดโอกาสให้สถานศึกษาเพิ่มเติมเวลาเรียนได้ตามความพร้อมและจุดเน้นอีกทั้งได้ปรับกระบวนการวัดและประเมินผลผู้เรียน เกณฑ์การจบการศึกษาแต่ละระดับ เอกสารแสดงหลักฐานทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ มีความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปการศึกษา ด้วยเป็นภารกิจที่ครูผู้สอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถือปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน มีการปฏิรูปการเรียนการสอนโดยให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้มีการจัดกลุ่มนักเรียนได้ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นักเรียนที่เรียนเก่งช่วยนักเรียนที่เรียนอ่อน รู้จักบทบาทผู้นำและผู้ตามหรือการเป็นสมาชิกของกลุ่ม และนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคมประเทศชาติโดยหัวใจสำคัญคือ ความรักของครู ความเอาใจใส่ เข้าใจนักเรียน ซึ่งหัวใจของการสอนคือ การที่นักเรียนได้สัมผัสกับสรรพสิ่งที่อยู่ภายในตนและอยู่รอบตัวได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกวัดและประเมิน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้รับการฝึกหัดขัดเกลาทั้งกาย วาจา ใจและได้เรียนในบรรยากาศที่ปลุกเร้าจินตนาการ สร้างเสริมสุนทรียภาพ (สุมน อมรวิวัฒน์, 2545)

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นระยะ 5 ปี (พ.ศ.2551-2555) มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีความรอบรู้ มีคุณธรรม มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตเป้าหมายคือ นักเรียนในสังกัดที่ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นร้อยละ 75 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร

ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลัก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นประสิทธิภาพการผลิตที่ใช้สารเคมี ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอันเกิดจากพิษภัยของสารเคมีในรูปแบบต่างๆ มีมากขึ้นซึ่งประภาพร ขอไพบูลย์ และคณะ (2551) กล่าวว่าปัญหาการผลิตอาหารของประเทศไทยมาจากมิติของอาหารศึกษา คือ ผู้บริโภคขาดความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย เกษตรกรและผู้ประกอบการอาหารขาดความรู้เกี่ยวกับระบบการผลิตที่ดี และรัฐบาลได้กำหนดแนวนโยบายมุ่งเน้นให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจากแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษปนเปื้อน ตลาดสด ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารทุกแห่งได้มาตรฐาน สุขอนามัย สถานที่ผลิตอาหารทุกแห่งผ่านหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) ฟื้นฟูความสมดุลและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเป็นทางเลือกไปสู่วิธีการผลิตแบบพออยู่พอกิน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้ประเทศไทยและท้องถิ่นได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การทำการเกษตรตามพระราชดำรัสเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะการเกษตรมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรภายในประเทศ เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปัจจัยสี่ เป็นอาชีพหลักและแหล่งแรงงานเพื่อพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นแหล่งวัตถุดิบและปัจจัยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออก จากการสำรวจของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ในปี 2553 พบว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยโดยภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงปี 2552 จาก 0.106 และ 0.192 ล้านไร่ ส่วนปริมาณและมูลค่าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลก (วิฑูรย์ ปัญญากุล, 2553)

             จังหวัดขอนแก่น ได้สร้างต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนาและได้เลือกอำเภอซำสูง เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะมีความพร้อมและมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์และเพียงพอให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้มาตรฐานปลอดภัยรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายเกษตรกร 1 พันครัวเรือน/ปี หวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ประกอบกับอำเภอซำสูง เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยภายใต้โครงการผลิตพืชอินทรีย์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในระดับประเทศภายใต้ชื่อ "ซำสูง" จากการศึกษาสภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกรและการจัดการเรียนการสอนในระดับพื้นที่พบว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ไม่ค่อยสนใจงานทางด้านเกษตรกรรม ไม่มีนิสัยรักการทำงาน วัสดุ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จึงจัดทำนวัตกรรมหลักสูตรท้องถิ่น วิชาเกษตรอินทรีย์ โดยจัดเป็นวิชาเพิ่มเติม ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยใช้สอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น มีพฤติกรรมการปฏิบัติงาน การทำงานเป็นกลุ่มและปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
หมายเลขบันทึก: 590677เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท