ค่ายอาสาพัฒนา : ๓ ทศวรรษชมรมอาสาพัฒนาในวาระปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


มุ่งสร้างการเรียนรู้ร่วมระหว่างชุมชนกับนักเรียนผ่านระบบและกลไกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ชุมชน (ปราชญ์ชาวบ้าน) มาเป็นแกนนำพาสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ (เล้าไก่) หรือการขุดบ่อเลี้ยงปลา –แปลงเกษตร เสมือนการยึดโยงภูมิปัญญาเกษตรกรรมสู่การเป็น "สาระการเรียนรู้" ในโรงเรียนไปในตัว

โครงการ ๓๐ ปีอาสาพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญารวมใจพัฒนาชุมชน เป็นค่ายอาสาพัฒนาเนื่องในวาระสามทศวรรษแห่งการก่อเกิดชมรมอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ควรค่าต่อการหยิบยกมากล่าวถึงไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ ที่หยัดยืนสู่การรับใช้สังคมผ่านระบบและกลไกบนฐานคิดของนิสิตผู้ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวในวัยแสวงหา



โครงการ ๓๐ ปีอาสาพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญารวมใจพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙-๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ โรงเรียนบ้านห้วยทรายทอง ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักคือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่โรงเรียนในชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นฐานการเรียนรู้และเพื่อการหนุนเสริมคุณภาพชีวิตของนักเรียนซึ่งมีกระบวนการขับเคลื่อนที่ชวนขบคิด ดังนี้


๑.เป็นค่ายอาสาพัฒนาตามแนวพระราชดำรัสปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : มุ่งสร้างกระบวนการและหลักคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผลและมีภุมิคุ้มกัน รวมถึงอีกสองเงื่อนไขคือ "ความรู้และคุณธรรม" โดยการซ่อมแซมต่อเติมฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ประกอบด้วยโรงเรือนเลี้ยงไก่ บ่อเลี้ยงปลา และแปลงเกษตรกรรม เพื่อการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการหนุนเสริมเรื่องโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน




รงเรือน (เล้าไก่) กระบวนการมีส่วนร่่วมของนิสิตกับชุมชน (แกนนำ-ปราชญ์ชาวบ้าน)



๒.เป็นค่ายบูรณาการภูมิปัญญาจากชุมชนสู่โรงเรียน :มุ่งสร้างการเรียนรู้ร่วมระหว่างชุมชนกับนักเรียนผ่านระบบและกลไกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ชุมชน (ปราชญ์ชาวบ้าน) มาเป็นแกนนำพาสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ (เล้าไก่) หรือการขุดบ่อเลี้ยงปลา –แปลงเกษตร เสมือนการยึดโยงภูมิปัญญาเกษตรกรรมสู่การเป็น "สาระการเรียนรู้" ในโรงเรียนไปในตัว

  • ซึ่งนิสิต ครู นักเรียน นักการภารโรงเองก็ได้เรียนรู้ระบบคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน และเมื่อถึงห้วงของการเปิดภาคเรียนอาจก่อให้เกิดสาระการเรียนรู้ที่แท้จริง ช่วยให้ชาวบ้านได้กลับเข้ามาในโรงเรียนอีกครั้งในฐานะ "ครูภูมิปัญญา" ในเรื่องเหล่านี้ หรือกระทั่งเรื่องอื่นๆ ด้วยก็เป็นได้



๓.เป็นค่ายสอนลูกสอนหลานผ่านงานช่าง : มุ่งให้เกิดการเรียนรู้คู่บริการร่วมกันระหว่าง "นิสิตกับชุมชน" ตอกย้ำหลักคิดการสร้างคุณค่าและมูลค่าต่อกันและกัน กล่าวคือลดความเหลื่อมล้ำในองค์ความรู้ได้อย่างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากค่ายนี้สมาชิกชาวค่ายมีความรู้ในเรื่องการก่อสร้างอาคาร/โรงเรือนเพียง ๑ คนที่กำลังศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ก็ได้ชุมชน (พ่อช่างแม่ช่าง) มาช่วยกำกับดูแล ให้คำแนะนำ หรือกระทั่งพาลงมือทำเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่

สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนการมีส่วนร่วม สื่อให้เห็นถึงการแบ่งปันความรู้ รวมถึงการยกระดับ หรือฟื้นศักยภาพชาวบ้าน (ปราชญ์ชาวบ้าน) ผ่านระบบและกลไกของการ "สอนลูกสอนหลาน" ซึ่งก็พลอยให้นิสิตคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันอีกต่างหาก ครั้นเมื่อต้องเดินทางสู่ค่ายใหม่ นิสิตชาวค่ายย่อมสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปขยายผล "ต่อยอด" สืบต่อกันได้อย่างไม่ยากเย็น



๔.เป็นค่ายบูรณาการภาครัฐและเอกชน :ได้รับงบประมาณสนับสนุนหลักจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ค่ายกฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม) และบริษัทสิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด (โครงการสิงห์สร้างค่าย ค่ายสร้างคนโครงการ) รวมถึงส่วนราชการในท้องถิ่น เช่น ปศุสัตว์อำเภอฯ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องเอกสารความรู้ วัคซีน อาหารเสริมที่เกี่ยวโยงกับกิจกรรมหลักในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือกระทั่งชุมชนเองก็เถอะก็ไม่ดูดายต่อกิจกรรมของนิสิต โดยเฉพาะกลุ่มพ่อฮักแม่ฮักนั้นได้เข้ามา "มีส่วนร่วม" อย่างเด่นชัด ทั้งการนำข้าวปลาอาหารมาสนับสนุน มาถามข่าวคราว มาช่วยเป็นแรงงานเป็นระยะๆ อย่างไม่ขาดสาย



๕.เป็นค่ายบูรณาการบันเทิงเริงปัญญา : นอกจากกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์บนฐานคิดปรัชญาของเศรษบกิจพอเพียงแล้ว ค่ายครั้งนี้ยังกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้หลากหลายไม่แพ้ค่ายอื่นๆ อาทิ

  • การสอนเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยสมาชิกค่ายในสาขาภาษาอังกฤษ
  • การจัดกิจกรมสันทนาการในรูปของเกม
  • การตีกลองร้องรำทั้งกลางวันและกลางคืน (รอบกองไฟ)
  • กิจกรรมการเล่นกีฬาและแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือนิสิตกับนักเรียน ซึ่งไม่เพียงเชื่อมความสัมพันธ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการผ่อนคลายและเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่คนทำค่าย หรือกระทั่งเป็นเวทีประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปยังชุมชนในอีกมิติหนึ่ง
  • รวมถึงการจัดกิจกรรมจับของขวัญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ก็ยึดโยงกลิ่นอายความเป็นบันเทิงเริงปัญญาและวิถีวัฒนธรรมไทยในกระแสโลกในบางประเด็นได้ด้วยเช่นกัน




ิจกรรมรอบกองไฟ : อีกหนึ่งอัตลักษณ์ชาวอาสาพัฒนา



๖.เป็นค่ายการเรียนรู้คู่บริการบนฐานวัฒนธรรมชุมชน : ถึงแม้จะไม่มีความเด่นชัดนักในประเด็นนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายนี้ได้มีระบบและกลไกการเรียนรู้ชุมชนผ่านกิจกรรม "พ่อฮักและแม่ฮัก" เฉกเช่นชมรม หรือองค์กรอื่นๆ แต่ที่ดูแปลกตาไปกว่าองค์กรอื่นๆ ก็คือการพยายามเรียนรู้ "วิถีวัฒนธรรมชุมชน" ผ่านนักเรียนในชุมชนได้อย่างเหลือเชื่อ

กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยตั้งใจ หรือไม่ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในห้วงของการจัดกิจกรรมกับนักเรียน นิสิตชาวค่ายฯ ได้กระตุ้นให้นักเรียนได้บอกเล่าเรื่องราวชุมชนให้กับนิสิตชาวค่ายฟังไปอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยให้ชาวค่ายได้รับรู้ว่าสถานที่สำคัญๆ ในชุมชนมีอยู่ ณ ที่ใดบ้าง สถานที่ตรงไหนห้ามเข้าออก (ขะลำ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่อันเป็นผืนป่าหลังโรงเรียนที่เป็นป่าสาธารณะซึ่งนักเรียนได้สื่อสารกับนิสิตว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่อันเป็นที่เคารพรักของชุมชน -

หรือกระทั่งการปักหมุดให้กิจกรรมภาคกลางคืนของทุกคืนต้องมี "รำวงชาวบ้าน" เพื่อกระตุกต่อมคิดเชิงวัฒนธรรมการละเล่น หรือการแสดงออกซึ่ง "วิถีไทย" ที่กำลังผกผัน สับสนอยู่ในสังคมปัจจุบัน

รวมถึงการไม่ละเลยที่จะจัดพิธีทำบุญตักบาตรตามครรลองชุมชน โดยไม่ละข้ามเพียงเพราะว่าชุมชนไม่มี "พระสงฆ์" แต่ชาวค่ายก็ได้ไปนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ มารับบิณฑบาตและฉันภัตตาหาร -




ำวงชาวบ้าน และภาพสะท้อนความสัมพันธ์นิสิตกับพ่อฮักแม่ฮัก



๗.เป็นค่ายเรียนรู้คู่บริการบนฐานความต้องการของชุมชน : ถึงแม้ค่ายครั้งนี้จะเกี่ยวโยงกับแหล่งทุนในการชี้เป้า (ประเด็นเชิงพื้นที่) ก็ตาม ทว่านับเป็นข้อดีและถือเป็นความท้าทายของนิสิตชาวค่ายเป็นที่สุดที่จะได้เข้าไป "เรียนรู้คู่บริการ" ในพื้นที่สำคัญๆ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อน

  • ซึ่งชมรมอาสาพัฒนาได้ลงพัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง จนทำให้รู้ว่าชุมชนอยากให้เกิดแหล่งเรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนของชุมชน
  • จากนั้นนิสิตก็นำข้อมูลอันเป็นสถานการณ์ หรือโจทย์ (ความต้องการชุมชน) กลับมากลั่นกรองในชมรมฯ อีกครั้ง
  • ก่อนจัดทำโครงการเพื่อนำเสนอต่อเจ้าของทุนฯ จนได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการในที่สุด

    จึงนับได้ว่าเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ในแบบเรียนรู้คู่บริการบนฐานความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง



๘.เป็นค่าย "ซ่อม-สร้าง" บนฐานทุนเดิมของชุมชน :อย่างน้อยค่ายครั้งนี้ก็สื่อให้เห็นว่ากิจกรรมหลักที่จัดขึ้น ไม่ใช่กิจกรรมใหม่ถอดด้ามจากสิ่งที่ชุมชนเคยมีอยู่ เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ บ่อปลาล้วนเป็นสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ผุพังทรุดโทรม ถูกละเลยไปในชั่วเวลาหนึ่ง ต่อเมื่อชุมชนเล็งเห็นว่าค่ายครั้งนี้น่าจะนำพากระบวนทัศน์เหล่านี้คืนกลับเข้าสู่โรงเรียนได้ จึงร่วมแรงแข็งขันผลักดันให้นิสิตได้มาทำค่ายที่โรงเรียน โดยปลูกสร้างโรงเรือนให้แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม เป็นต้นว่า เปลี่ยนโครงสร้างจากไม้ไผ่เป็นเหล็ก เปลี่ยนบ่อดินเป็นบ่อซีเมนต์ เป็นต้น



๙.เยี่ยมค่ายติดตามผลพวงของการเรียนรู้คู่บริการ : เป็นอีกค่ายที่เห็นความต่อเนื่องในระบบการทำงาน หรือกระทั่งสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชุมชน โดยชมรมอาสาพัฒนาได้จัดโครงการเยี่ยมค่ายฯ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘ เสมือนการกลับไปประเผินผลการใช้ประโยชน์จริงจากสิ่งที่นิสิตและชุมชนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น และการเยี่ยมค่ายที่ว่านั้นก็มีการร่วมปรับปรุงซ่อมแซมบางสิ่งบางอย่างร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง



การเยี่ยมค่ายเช่นนี้ เป็นกระบวนการการประเมินโครงการในอีกมิติหนึ่งที่หมายถึงประเมินศักยภาพที่นิสิตและชุมชนได้จัดทำขึ้นว่าได้มาตรฐาน คงทนถาวรแค่ไหน หรือในอีกมิติก็เป็นการประเมินผลว่าชุมชนมีการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จริงอย่างไร

นอกจากนี้การเยี่ยมค่ายยังถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการของการปลุกพลังสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่าที่กำลังหมดไฟทำกิจกรรมให้เกิดแรงใจในการที่จะเป็น "คนค่าย" ต่อไป โดยใช้ข้อเท็จจริงจากค่ายครั้งที่แล้วเป็นชุดบทเรียน หรือเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้เพื่อสร้างพลังชีวิต--



อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่นำมาสะท้อนโดยรวมข้างต้นนั้น ถึงจะยังไม่บ่งชี้สู่รายละเอียดเชิงลึกมากนัก แต่ก็คงพอให้ทำเห็นถึงกระบวนการเรียนรู้คู่บริการของชมรมอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่ย่อย เป็นเสมือนกระจกอีกบานที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด "การเรียนรู้สู่การรับใช่สังคม" ผ่านเวทีกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน) หรือที่รู้จักมักคุ้นในวาทกรรมง่ายงามว่า "ค่ายอาสา" หรือ "ค่ายอาสาพัฒนา" นั่นเอง

เป็นความสำเร็จเล็กๆ แต่เข้มข้นด้วยพลังอันมหาศาลของนิสิตที่เรียกตนเองว่า "อาสาพัฒนา" ที่ดุ่มเดิน
อย่างสง่ามาสู่วาระ ๓ ทศวรรษที่ควรค่าต่อการยกย่องมากกว่าการละเลยให้เวลากลบเหลื่อนลบทิ้งไปจากความทรงจำบนถนนสายกิจกรรม เนื่องเพราะสัมผัสได้ถึงมนต์เสน่ห์แห่งการเรียนรู้จากการลงมือทำ (Active Learning) ผ่านโครงการ (Project-based Learning) ที่มีชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-based Learning) อย่างน่าสนใจ



นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องราวในแบบฉบับคนอาสาฯ ที่ผมไม่ประสงค์หยั่งลึกลงในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในค่ำคืนของแต่ละคืนที่ยังจริงจังยาวนาน การเลือกประธานประจำวันในแต่ละวัน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เรียนรู้การเป็นผู้นำให้ได้มากที่สุด การทำบุญตักบาตรในวันสุดท้ายก่อนลาจาก (ปิดค่าย) การใช้ป้ายฉากโครงการเป็นฉาก/เวทีในกิจกรรมภาคกลางคืน การมาเยือนค่ายของรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว การตีกลองร้องเต้นปลุกเร้าและหยอกเอินกันไปพร้อมๆ กับการลงแรงกับงานค่ายฯ

หรือกระทั่งการ "เปิดใจ" อย่างถึงพริกถึงขิงในสไตล์ชาวอาสาฯ ที่ทะลุถึงเช้ารุ่ง

สิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ครบครัน --- ไม่มีได้ยังไงครับ, เพราะชมรมอาสาพัฒนาคืออีกหนึ่งต้นแบบของงานอาสาพัฒนาในรั้ว "มหาวิทยาลัยมหาสาคาม" ที่มุ่งสู่การบ่มเพราะนิสิตตามหลักปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) และอัตลักษณ์นิสิต (เป็นที่พึ่งพาของสังคมและชุมชน) รวมถึงค่านิยมนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้) อย่างแท้จริง



หมายเหตุ

ภาพ : ชมรมอาสารพัฒนา และกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต้นเรื่อง : นส.สายสุดา รินทร และผองเพื่อนชมรมอาสาพัฒนา


หมายเลขบันทึก: 590150เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2015 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท