ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_23 : ถอดบทเรียน "ครูตู้"


วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘ ผมในฐานะตัวแทน CADL ไปร่วมวง PLC กาฬสินธุ์ที่จัดขึ้นโดย ดร.นุชรัตน์ และเพื่อนศึกษานิเทศน์ ท่านประสงค์จะ "ถอดบทเรียน" กลุ่มตัวแทนครูจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระยะไกลผ่านดาวเทียม ด้วยระบบ DLTV ตามนโยบายของรัฐบาล (คลิกดูวัตถุประสงค์โครงการ ที่นี่) ที่สนับสนุนให้โรงเรียนขนาดเล็ก ๑๕,๓๖๙ โรงเรียนทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยใช้โทรทัศน์เชื่อมต่อสัญญาณทางไกลจากโรงเรียนไกลกังวล

หลังจากฟังการนำเสนอข้อสรุปผลการลงพื้นที่ติดตามเรื่องนี้ ๑๙ โรงเรียนของ ดร.นุชรัตน์และทีม รู้สึกได้ว่าดูเหมือนท่านจะกังวลมากว่าจะจัดอำนวยการในพื้นที่อย่างไร้ให้ได้ผล จึงได้นำตัวแทนของครูจากโรงเรียนที่ได้ผลจากครูคนที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) มาระดมสะมองกันว่า จะมีแนวปฎิบัติที่ดีอย่างไรเพื่อให้การเรียนการสอนทางไกลด้วย DLTV มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ผมมีความรู้เรื่อง DLTV น้อยมากจากครั้งหนึ่งซึ่งนานมากแล้ว เคยเรียนแบบนี้ด้วยตนเองตอน"ที่บ้าน"รู้จักจานดาวเทียมใหม่ๆ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่จะมาเรียนรู้ร่วมกับครูและศึกษานิเทศก์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้... และหลังจากกระบวนการถอดบทเรียน พลังการปฏิบัติของผู้มาแลกเปลี่ยน เหมือนได้เรียนรู้ด้วยตนเองหลายเดือนทีเดียว ขอสรุปความเข้าใจไว้ในบันทึกดังนี้ครับ

จากการสืบค้น .... ผมคิดว่าคนหรือครูที่ไม่คุ้นเคยกับการเรียนการสอนแบบนี้ น่าจะเปิดคลิปวีดีโอดีๆ ต่อไปนี้เพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมครับ

รู้จักโรงเรียนไกลกังวลก่อน

หลังจากตั้งโรงเรียนวังไกลกังวลในปี ๒๔๘๑ โดยในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงพระราชอาคารหลังหนึ่งให้ตั้งขึ้น ต่อมาในหลวง(รัชกาลปัจจุบัน) ทรงพัฒนาขยายครอบคลุมระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย โดยทรงมุ่งหมายให้ผู้เรียนจบการศึกษาทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองเต็มตามศักยภาพและความต้องการแล้ว ยังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนขาดแคลนเข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ต่อมาในปี ๒๕๓๘ กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งมูลนิธิสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนครู เริ่มถ่ายทอดการสอนผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวลไปยังโรงเรียนปลายทางในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทำให้นักเรียนที่ขาดแคลนในชนบท ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเดียวกัน

  • มาตรฐานอันเดียวกัน
  • อาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน
  • เวลาเดียวกัน
  • โดยจัดส่งคู่มือไปยังโรงเรียนปลายทางทั้งหมดก่อนเปิดภาคเรียน


หลังจากดูคลิปวีดีโอนี้แล้ว ผมมองเห็นแต่ความหวังดี โดยเฉพาะโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือครูอาจยังไม่เชี่ยวชาญในบางรายวิชา จึงน่าจะนำมาเลือกใช้อย่างยิ่ง

โรงเรียนต้นแบบในจังหวัดสุพรรณบุรี เขต ๑

โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี เขต ๑ คือกลุ่มโรงเรียนต้นแบบที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ DLTV ได้ผลดีมาก จนรัฐบาลยกเอาเป็น BP หรือต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีการจัดอบรมสัมมนาและศึกษาดูงานให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนปลายทางทุกคน สามารถดูคลิปการฝึกอบรมได้ (ที่นี่ ) แต่หากไม่มีเวลา ผมศึกษาจากคลิปต่อไปนี้ก็จะเห็นแนวทางอย่างชัดเจนแล้ว


คลิปวีดีทัศน์นี้บอกตั้งแต่เริ่มต้นว่า การศึกษาแบบนี้ เหมาะสำหรับโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นและครูไม่ตรงเอก ก่อนจะแนะนำ ขั้นตอนการดำเนินการของโรงเรียน ๗ ขั้นตอนต่อไปนี้

๑) เตรียมคน

ผอ.ปราโมทย์ สุวรรณแวก ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางใหญ่ จ.สุพรรณบุรี บอกว่า ผู้บริหารตั้งตัดสินใจให้ดี หากตกลงว่าจะทำแล้วต้องทำอย่างจริงจัง มีการเตรียมความพร้อม ทำอย่าสงต่อเนื่อง กำกับติดตามนิเทศอย่างสม่ำเสมอ... ผมคิดว่าหากผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แบบท่าน และเป็นคนจริง เพียงดูคลิปนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะลงมือทำ... ท่านบอกว่า

  • ต้องเตรียมตนเอง (ผอ.)
  • เตรียมคุณครู เรื่องการปฏิบ้ติตน บทบาทหน้าที่ ต้องอยู่กำกับข้องตลอด คอยเสริม คอยเติมความสุข กระตุ้นนักเรียนให้เร่วมกิจกรรมตลอดเวลา สิ้นชั่วโมงก็ต้องสรุป
  • เตรียมตัวนักเรียน เรื่องการปฏิบัติตน บทบาทหน้าที่ เพื่อให้ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้
  • เตรียมตัวกรรมการสถานศึกษา ให้รับรู้รับทราบ เพื่อขอรับการสนับสนุน
  • เตรียมตัวผู้ปกครองให้รับรู้รับทราบ เกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนแบบนี้ สื่อสารว่า ลูกหลานจะได้เรียนครบถ้วนตามหลักสูตร ได้เรียนกับครูที่เชี่ยวชาญ
  • ครูบอกว่า เราควรไปดูงานจากโรงเรียนต้นแบบ และตัวผู้บริหารเป็นคนสำคัญที่สุด ต้องพูดคุยกับทั้งนักเรียน ครู และกรรมการสถานศึกษา ให้เข้าใจ

๒) เตรียมครูตู้

หมายถึงการเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ให้พร้อม และมีคุณภาพ ได้แก่

  • มีโทรทัศน์ขนาด ๓๒ นิ้วขึ้นไป (สำหรับนักเรียน ๒๐ คน)
  • ความสูงของที่ตั้งทีวีต้องเหมาะสม ประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร วางห่างจากเด็กอย่างน้อย ๒ เมตร
  • อุปกรณ์รับสัญญาณ (Receiver)
  • เครื่องเล่น ดีวีดี สำหรับการเปิดสื่อต่างๆ เพิ่มเติม หรือศึกษาย้อนหลัง

ผมทราบว่า รัฐบาลที่มาจาก คสช. ได้ปรับเปลี่ยนงบประมาณงวดสุดท้ายของโครงการแจกแทปเล็ต มาให้การสนับสนุนกับทุกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ยื่นความประสงค์ โรงเรียนใดขอจำนวนทีวีเท่าใด รัฐบาลก็จัดให้เท่านั้น ... ข้อนี้จึงไม่มีปัญหาใดๆ

๓) เตรียมและศึกษาคู่มือครู และปรับโครงสร้างหลักสูตรให้สอดคล้อง ผอ.ปราโมทย์ บอกว่า โรงเรียนต้องปรับโครงสร้าง ตารางสอน

๔) จัดชั้นเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของตน ความจำเป็นที่ต้องใช้ DLTV สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก คือ จำนวนครูไม่ครบชั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดการให้สองชั้นอยูในห้องเดียวกัน หรือครูคนหนึ่งต้องดูแลนักเรียนสองชั้น

๕) วางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โรงเรียนต้องจัดตารางเรียนให้สอดคลอ้งตามตารางของโรงเรียนต้นทาง นักเรียนได้เรียนจากครูต้นทาง ส่วนครูผู้สอนเป็นคนกำกับ คอยบอก คอยเตือน พอหมดเวลาของการเรียนจากส่วนกลางในวเลา ๑๔.๐๐ น. จะเป็นเวลาของการซ่อมเสริม ดังนั้น ในหนึ่งวัน ครูบอกว่านักเรียนจะได้เรียนกับทั้งครูต้นทาง และครูปลายทาง

๖ นิเทศติดตาม และประเมินการสอนเป็นระยะ

ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า การเยี่ยมห้องเรียนเป็นสิ่งที่ทำบ่อยที่สุด โดยจะปรึกษาหารือกับครูว่า มีปัญหาอะไรไหม ได้ผลอย่างไร หรือเราจะช่วยกันอย่างไร และผู้เยี่ยมจะช่วยดูพฤติกรรมของเด็ก และช่วยเหลือสะท้อนผลร่วมกับครู ปัญหาที่พบบ่อย คือบางครั้งนักเรียนจะเรียนไม่ทัน ครูบอกว่า ต้องกระตุ้นเด้กตลอดเวลา

ถึงช่วงหนึ่ง เช่นสัปดาห์หนึ่ง หรือการประชุมประจำเดือน จะมีการนำเอาปัญหาวิชาการต่างๆ มาคุยกัน ปรึกษาหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

๗) สรุปผลและรายงานผล

สรุปผลตอนสิ้นภาคเรียน ทั้งด้านกายภาพและพฤติกรรม โดยมีการระดมปัญหาและวิเคราะห์ระดมปัญหา ให้ขวัญและกำลังใจซึ่งกันและกัน กำหนดแนวทางการพัฒนาให้ดีขึ้นในภาคเรียนถัดไป และรายงานให้ทุกฝ่ายทราบ ทั้ง กรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตฯ ที่รับผิดชอบ

ข้อที่ ๘) ในคลิบวีดีโอ ไม่น่าจะใช่ขั้นตอนของการดำเนินงาน ผมตีความว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของ สพป. สุพรรณบุรี เขต ๑ ซึ่งสรุปตอนนท้ายของคลิปว่า

  • โรงเรียนต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
  • ต้องศึกษาคู่มือของโรงเรียนไกลกังวล
  • ครูต้องอยู่กับนักเรียน กระตุ้น และเติมเต็มนักเรียนของเรา
  • ต้องมีการนิเทศกำกับติดตาม เกาะติด


แนวปฏิบัติที่ดี (BP) ของโรงเรียนต้นแบบที่ สพป. สุพรรณบุรี เขต ๑

จากการสืบค้น ผมพบวีดีทัศน์เกี่ยวกับ แนวทางการจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียนปลายทาง ของโรงเรียนต้นแบบ (จาก สพป.สุพรรณบุรี เขต ๑)


  • ศึกษาเนื้อหาและเรียนรู้เทคนเนิคให้เข้าใจ โดยศึกษาจากโรงเรียนต้นแบบ เข้ารับการอบรมจากโรงเรียนต้นแบบ
  • เตรียมการสอนล่วงหน้า วางแผนอย่างเป็นระบบ ครูต้องอ่านคู่มือครูว่า ก่อนเรียน ระหว่างเรียน หลังเรียน ควรต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องวางแผนว่าอยากให้นักเรียนได้อะไรในชั่วโมงนี้บ้าง
  • วางแผนจัดการชั้นเรียนก่อนการสอน โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องดูแลมากกว่า ๑ ห้อง การเข้าดูแลนักเรียนต้องสนใจโรงเรียนชั้นเล็กก่อน ครูต้องขยัน ต้องสอดแทรกให้เหมาะสม
  • การนำเข้าสู่บทเรียน กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน
  • กำกับ ดูแล สังเกต การเรียนของเด็ก ให้เด็กตอบสนองต่อการเรียนการสอนนั้น "ถ้าเด็กไม่ตอบสนองจะไม่ได้ผล"
  • ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนในแต่ละครั้ง
  • วัดผลและประเมินผลหลังการสอน บันทึกผลหลังการสอนว่าวันนี้เด็กเรียนเรื่องอะไร ใครบ้างที่ยังเรียนไม่ทันเพื่อน
  • ครูต้องฝึกฝนนักเรียนให้มีวินัย วางระเบียบและกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องเวลา หากมีปัญหาและอุปสรรคใดต้องนำไปปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนกันกับเพื่อนครู ผอ. หรือศึกษานิเทศก์และรอง ผอ.เขต

ผมตีความและถอดความกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วย "ครูตู้" ของครู สพป.สุพรรณบุรี เขต ๑ ได้ดังภาพด้านล่าง


ผมถอดความและตีควมโดยปรับปรุงขั้นตอนให้ "สมดุล" (ทำให้เป็นกระบวนการ) ได้ ๘ ขั้นตอน ผมคิดว่าหากครูได้ดู แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่าจะกลับไปทำอย่างไรบ้าง จะพบว่า สิ่งที่นำเสนอในคลิปนี้เป็นเพียงขั้นตอนหรือหลักการกว้างๆ ไม่ละเอียดเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ ...


แนวปฏิบัติที่ดีของครูดีจาก PLC กาฬสินธุ์

ปัจจัยที่่สำคัญที่สุดของการ "ถอดบทเรียน" คือ "ประสบการณ์" เพราะการถอดบทเรียนก็คือการถอดประสบการณ์ออกมาเป็น "บทเรียน" หากปราศจากประสบการณ์ที่สำเร็จจากการปฏิบัติแล้ว บทเรียนที่ได้จะเป็นเพียง "บทเขียน" แห่งการคิดหรือ "มโน" เท่านั้น... ผมสะท้อนกับตนเองว่า การถอดบทเรียนคราวนี้สำเร็จอย่างน่าพอใจยิ่ง เพราะที่นี่มีปัจจัยหลักอันสำคัญนี้

บทเรียนที่ได้จากการนำเสนอของครูและผู้อำนวยการ BP ที่ถูกเชิญมาร่วมในวันนี้ สรุปเป็นกระบวนการหลักได้ ๗ ขั้นตอน....ผมนำเสนอเพิ่มเติมอีก ๑ ขั้นตอนของการ "ถอดบทเรียน" รวมเป็น ๘ ขั้นตอน ตามแผนผังด้านล่าง



โดยมีรายละเอียดของแต่ละด้านดังนี้ โดยตัวอักษรสีน้ำเงินคือบทเรียนจากครู BP ส่วนตัวอักษรสีดำคือบทเรียนจากผู้อำนวยการ BP หลังจากการแบ่งกลุ่มย่อย

หลักในการเลือกใช้ DLTV

ผมจับความจากการฟังเรื่องเล่าของครู ได้ว่า รัฐบาลไม่ได้บังคับว่าต้องให้ใช้ "ครูตู้" สอนทุกวิชา ... แม้ว่า จะมีครูบางท่านที่เข้าใจว่าเป็นแบบนั้น ผมคิดว่าครูที่คิดแบบนั้น คิดเข้าข้างความสบายของตนเองมากกว่าคำนึงว่าเด็กจะได้อะไรในการเรียน

สาเหตุที่ต้องใช้ "ครูตู้" คือ ครูปลายทาง "ทำไม่ได้" หรือ "ไม่มั่นใจว่าทำได้"ดีกว่าครูตู้ ครูปลายทางทำไม่ได้ เช่น ครูไม่ครบชั้น ครูไม่มั่นใจว่าทำได้ เช่น ครูไม่ตรงวิชาเอก ครูไม่ถนัด ครูไม่มีเวลาพอเนื่องจากต้องทำภาระงานอย่างอื่น หลักในการพิจารณาเลือกใช้ มีดังนี้

  • ใช้กับโรงเรียนที่มีครูไม่เพียงพอ เลือกใช้กับวิชาที่ไม่มีครู
  • เลือกวิชาที่ครูไม่ถนัด ครูไม่เชี่ยวชาญ
  • เลือกใช้เมื่อครูปลายทางขาดแคลนอุปกรณ์การทดลอง ฯลฯ
  • ใช้เมื่อนักเรียนต้องการ นักเรียนชอบ ครูท่านหนึ่งบอกว่า นักเรียนชอบเรียนคณิตศาสตร์กับ "ครูตู้" โดยเฉพาะคณิตคิดเร็ว ชอบวิชาศิลปะเพราะนักเรียนจะได้เห็นภาพ ได้ฟัง ทำตามได้เลย ชอบวิชาสังคมเพราะมีนิทาน มีการ์ตูนให้ดู
  • เลือกใช้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียน ครูหลายท่านสะท้อนว่า ปัญหาสำคัญคือนักเรียนเรียนไม่ทันเพราะขาดความรู้หรือทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การอ่านออกเขียนได้หรือการคิดเลขพื้นฐานที่ต้องใช้ในบทเรียนนั้น การเลือกใช้ต้องพิจารณาส่วนนี้ด้วย เพราะต้องพิจารณาเด็กเป็นศูนย์กลาง
  • พิจารณาถึงธรรมชาติของรายวิชา รายวิชาที่ต้องฝึกทักษะด้วยตนเอง ครูปลายทางจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนบรรลุตามตัวชี้วัด
  • ฯลฯ


เริ่มที่การศึกษาคู่มือครู

ก่อนเปิดภาคการศึกษา โรงเรียนวังไกลกังวล จะส่งคู่มือการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับภาคการศึกษานั้นให้ (ดาวน์โหลดสำหรับภาคการศึกษา ๒๕๕๘ ได้ ที่นี่) ครู BP เกือบทุกท่านบอกว่า เริ่มจากการศึกษาคู่มือ โดยมีหลักการดังนี้

  • วิเคราะห์ตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลาง ว่า ในหัวเรื่องหรือชั่วโมงนั้นๆ นักเรียนต้องได้อะไรบ้าง
  • พิจารณาว่าครูต้องจัดเตรียมสื่ออะไรบ้าง เช่น ใบงาน สื่อวีดีทัศน์ ฯลฯ
  • ดูโครงสร้างและตารางเวลาอย่างละเอียดเพื่อจัดวางแผนการสอน โดยพิจารณาว่า จะต้องไม่เกิดเสียงรบกวนกันระหว่างชั้นเรียนเกินไป
  • ศึกษาว่าต้องเตรียมการสังเกต หรือบันทึกหลังสอนอย่างไร



บทบาทครูปลายทาง



ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปถึงบทบาทครู ที่ครู BP นำเสนอ

  • ควบคุม ดูแล อยู่กับนักเรียนตลอดการเรียน ครูเน้นว่า ต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังกับ "ครูตู้"
  • กระตุ้นให้นักเรียนสนใจ และร่วมกิจกรรมกับ "ครูตู้" และ "นักเรียนตู้" ตลอดการเรียน
  • บันทึกสรุปเนื้อหาที่สำคัญ เพื่อช่วยในการตั้งคำถามเพื่อประเมินผลและสรุปเนื้อหาตอนท้าย
  • เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียน
  • มอบหมายงานตามความเหมาะสม
  • ฯลฯ ... ความจริงยังมีรายละเอียดในการปฏิบัติมาก หากครู BP เป็นผู้เขียนเรื่องเล่ามาแลกกันจะดีมากๆ

ประเมินผลและถอดบทเรียน

ขั้นตอนหลังเรียนของครู BP แต่ละคนแตกต่างกัน ทุกคนจะเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน และใช้คำถามเป็นเครื่องมือ สรุปเป็นวิธีปฏบัติหลังเรียนได้ดังนี้

  1. ตั้งคำถาม ๔ คำถาม เพื่อนำสู่การสรุปให้เกิดองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้แก่
    • ความหมาย เช่น คืออะไร?..
    • องค์ประกอบ เช่น ประกอบด้วยอะไรบ้าง?..
    • ควมเข้าใจ เช่น จงยกตัวอย่าง....
    • การนำไปใช้ เช่น มีประโยชน์อย่างไร?...
  2. ทำแผนผังความคิด (Mind mapping)
  3. ประเมินผลด้วยเครื่องต่างๆ เช่น แบบทดสอบ แบบวัดความพึงพอใจ ฯลฯ
  4. สรุปเนื้อหาอีกครั้ง โดยนำสิ่งที่ครูสรุปไว้มาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์
  5. เขียนบันทึกหลักสอน

ใครจำเป็นต้องช่วยครู

ผมตีความว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จคือ "ความต่อเนื่อง" และ "การสะท้อนการเรียนรู้ของครูและนักเรียน" ผู้ที่จะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และศึกษานิเทศก์หรือรองผู้อำนวยการเขตฯ ที่ได้รับมอบหมาย คือจำเป็นต้องจัดให้มีกิจกรรมดังนี้เป็นระยะ

  1. การเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อนิเทศ ติดตาม สะท้อนผล
  2. การ "ถอดบทเรียน" ความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผลอย่างเป็นกัลยาณมิตรอื่นๆ
  3. การจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความเข้าใจ

โดยพิจารณาเป็นระยะว่า นักเรียนนั้น "มีความสุข สนุกที่ได้เรียนหรือไม่" ตามที่ ผอ.ปราโมทย์ ผู้อำนวยการต้นแบบที่ท่านทำสำเร็จแล้ว เน้นย้ำเหลือเกินในวีดีทัศน์

ข้อสังเกต

ก่อนจบบันทึกนี้ ผมมีข้อสังกตที่อยากแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน ดังนี้ครับ

  • โครงการนี้น่าจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาการศึกษาระยะสั้นในโรงเรียนขนาดเล็กกว่า ๑๕,๐๐๐ แห่ง ที่ไม่สามารถยุบรวมได้เนื่องจากการต่อต้านของชุมชนหรือคนในโรงเรียน
  • หากทำสำเร็จ....โครงการนี้น่าจะเป็นการปูพื้นฐานของการศึกษาในศตวรรษใหม่ของไทย ที่ครูเปลี่ยนบทบาทจาก "ผู้ถ่ายทอดความรู้" มาเป็นครูผู้อำนวยการเรียนรู้ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
  • หากทำสำเร็จ โรงเรียนขนาดเล็ก จะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าโรงเรียนในเมือง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ชุมชนและคนในโรงเรียน ว่าจะก้าวไปถึง "โรงเรียนของชุมชน" เหมือน "คนที่ฟินแลนด์" หรือไม่
  • กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู BP จาก PLC กาฬสินธุ์ เกือบจะไม่ต่างกันเลยกับครูต้นแบบจากสุพรรณบุรี ทั้งๆ ที่ ไม่มีการฝึกอบรมครู เพียงแต่เอาผู้อำนวยการโรงเรียนไปอบรมครั้งเดียว .... ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องอบรมสิ่งใดให้ครู เพราะครูทำได้ เพียงแต่ว่า ครูและผู้อำนวยการจะมีใจเอาจริงหรือไม่
  • กระบวนการทั้งจากโรงเรียนต้นแบบจากสุพรรณบุรี และ PLC กาฬสินธุ์ ยังขาดขั้นตอนสำคัญของการเรียนรู้ คือ "การถอดบทเรียน" ... ที่จริงคงมีอยู่แล้วทั้งสองแห่ง แต่อาจยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง หรือท่านอาจจะยังไม่ได้เสนอให้ผมฟังก็เป็นได้

ขอบขอบคุณ ดร.นุชรัตน์ ที่ให้โอกาสได้มาเรียนรู้และมีส่วนร่วมในชุมชนเรียนรู้นี้ ผมคิดว่าตอนนี้ ครู สพป. กาฬสินธุ์ เขต ๑ มีที่พึ่งด้านการขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ PLC นี้แล้ว ผู้สนใจติดตามผลงานของท่านได้ ที่นี่





ดูรูปทั้งหมด ที่นี่ครับ



หมายเลขบันทึก: 589720เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ทำงานด้วยหัวใจ เป็นอย่างนี้ เอง ค่ะ ..
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท