ความฉลาดที่ไม่พอเพียง


ใช่หรือไม่ที่ความฉลาดทางความคิด เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากมี ใครที่ทีลูกก็อยากให้ลูกของตนมีด้วย ต่างสรรหาวิธีการต่างๆ มาเพื่อเพิ่มความเฉลียวฉลาดที่ว่านี้

หากเป็นผู้ใหญ่ก็จะต้องฝึกฝนคิดคำนวณฝึกใช้ความคิดที่ซับซ้อนบำรุงสมองด้วยอาหารเสริมต่างๆ ส่วนในเด็กปัจจุบันก็มีเทคนิคการกระตุ้นความฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทั้งกระตุ้นด้านประสาทสัมผัสต่างๆ ให้ฟังเสียงเพลง ใช้การสัมผัสผิวหนังร่วมไปกับการบริโภคสารอาหารที่เชื่อว่าสามารถเพิ่มการแตกแขนงของเซลล์ประสาท ด้วยความหวังว่าจะทำให้เด็กๆ เหล่านี้เติบใหญ่ด้วยความฉลาด ในยุคสมัยที่ผ่านมาก่อนนี้ จะพบว่าสังคมให้ความสำคัญกับบุคคล ๓ ประเภท คือ

๑.มีความฉลาด ๒.มีความสามารถ ๓.เป็นคนดี

ความฉลาดจะทำให้เรียนรู้ไวกว่าคนอื่น สอบได้คะแนนดีกว่าผู้อื่นส่วนคนมีความสามารถ จะมีทักษะหรือความถนัดที่เด่นในด้านใดด้านหนึ่งเช่น เก่งทางช่างไม้ ทางงานฝีมือ เป็นต้น คนเหล่านี้จะเลี้ยงตัวเองได้ อาจมีชื่อเสียงและความมั่งมีตามมา สำหรับประเภทสุดท้ายคือคนดีนั้น มักเป็นคนที่มีจิตใจเอื้ออารี เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ในบรรดาคนทั้งสามประเภทนี้ หากเรียงลำดับความน่าคบหาสมาคมด้วย คงเลือกคนดีเป็นอันดับแรก ส่วนคนฉลาดเอาไว้ตำแหน่งท้าย ๆ หน่อย แต่การเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันได้ทำให้ทัศนคตินี้แปรเลี่ยนไปค่านิยมกลับยกย่อง ความมีหน้าตา มีความสำคัญเหนือผู้อื่น มีเงินทองเหลือเฝือ เราจึงไม่ค่อยอยากเป็นคนดีกันเสียแล้ว เพราะคนดีก็แค่ถูกจัดอยู่ในสถานกลาง ๆ พอมีพอกิน เหลือเก็บเพียงเล็กน้อย ส่วนคนฉลาดที่สามารถดึงดูดทรัพยากรเงินทองมาเป็นของตนเองได้มากๆ ย่อมได้รับการยกย่องว่ามีสถานะที่ประเสริฐกว่าผู้อื่น การเป็นคนดีเพียงอย่างเดียวคงไม่เหมาะสมนักกับสังคมปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เท่าทันผู้อื่น แต่ถ้าหากมุ่งประเด็นที่จะเอาชนะผู้อื่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจอารมณ์และความรู้สึกใครทั้งสิ้นก็จะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นหุ่นยนต์ มีแต่ความหยาบกระด้าง ไม่เข้าใจเห็นใจผู้อื่น ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่ทำดีกับใคร ถ้าหากการกระทำนั้นไม่ได้รับผลตอบแทน ด้านความสัมพันธ์ของบุคคล ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สถิติอาชญากรรม การทะเลาะวิวาทเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนจนถึงสังคมใหญ่ ที่บอกว่าความฉลาดอย่างเดียวนั้นไม่พอจึงมีความหมาย ๒ ด้าน คือ ในแง่ของตนเอง และสังคมแวดล้อม นอกจากนี้ความฉลาดยังจำกัดความสำเร็จไว้ในระดับหนึ่งอีกด้วย

เรามีคำว่า "พอเพียง" ซึ่งหมายถึงความพอเหมาะ พอควรในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าด้านหนึ่งมีมาก อีกด้านกลับพร่องหรือมีน้อยเกินไป คำว่าความฉลาดที่ไม่พอเพียงจึงหมายถึงความฉลาดที่ไม่สมดุล ไม่อาจตอบสนองด้านต่าง ๆของมนุษย์ อันจะเป็นการพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด

ที่มา:หนังสือความฉลาดทางอารมณ์

ผู้แต่ง:นายแพทย์เทิดศักดิ์ เดชคง

คำสำคัญ (Tags): #kmanw2
หมายเลขบันทึก: 589564เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2015 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2015 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท