meditation กับ mindfulness และโรคซึมเศร้า


meditation หมายถึงการทำสมาธิแบบชักนำจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว โดยให้จิตเกาะกับบางสิ่งบางอย่างเช่น แสงสว่าง น้ำ สีต่างๆ หรือลมหายใจเป็นต้น โดยการเพ่งหรือชักนำ หรือประคอง ให้จิตอยู่กับสิ่งนั้นให้มากที่สุด หากเผลอไปก็จะต้องดึงจิตกลับมาใหม่

ผลของ meditation ก็คือในช่วงแรกๆของการฝึกจะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ ต้องใช้ความอดทนมากจึงจะผ่านช่วงแรกไปได้ ต่อมาเมื่อจิตคุ้นเคยต่อการเพ่งดีแล้วก็จะเริ่มสงบ และได้รับความสุขจากภายในมาก บางคนพอทำได้ก็สามารถนั่งสมาธิได้เป็นวันๆหรือหลายวันต่อเนื่อง

mindfulness หมายถึงการเจริญสติ คือการพัฒนาความรู้สึกตัว โดยมีหลักสามข้อคือ 1.รู้สึกที่ร่างกายหรือจิตใจ 2.รู้ลงปัจจุบัน 3.รู้เฉยๆโดยไม่บังคับควบคุม

ผลของ mindfulness จะได้สมาธิเหมือนกันแต่เป็นสมาธิระดับตื้นไม่ลึกนัก ซึ่งก็จะมีความสงบใจและความปลอดโปร่งใจผุดขึ้นมาเป็นระยะๆสั้นๆ แต่มีข้อดีคือทำได้เร็ว ไม่ต้องบังคับจิต และทำได้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่แปลกแยกกับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ

ในอดีตที่ผ่านมาชาวตะวันตกสนใจพุทธศาสนาในเรื่องของการทำสมาธิ (meditation) เป็นส่วนมาก แต่ในระยะหลังท่านดาไลลามะ และท่านติชนัทฮัน ได้นำเรื่องการเจริญสติ (mindfulness) ไปแนะนำ ทำให้เขาสนใจเรื่องการเจริญสติเป็นอย่างมาก

และด้วยความง่ายของการเจริญสติและเห็นผลเร็ว การเจริญสติจึงได้รับความสนใจมากจากชาวตะวันตก และทำให้เกิดการค้นคว้าอย่างจริงจังและมีงานวิจัยต่างๆออกมาแสดงถึงประโยชน์ที่ได้รับ ปรากฏว่าเรื่องการเจริญสตินี้สามารถรักษาคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ Prof. Mark Williams แห่ง มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้ทำการวิจัยผลว่าได้ผลดีในการบำบัดโรคซึมเศร้ากับคนที่เริ่มเป็น และช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยเรื้อรังได้ถึงร้อยละ50ทีเดียว

เหตุผลประการหนึ่งที่การเจริญสติหรือ mindfulness ช่วยเยียวยาคนป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ดีก็เพราะว่า โรคนี้เป็นโรคที่มีมูลฐานมาจากจิตที่คิดไม่หยุด เมื่อคิดไม่หยุด คิดซ้ำๆ คิดไปคิดมา ความสุขก็ไม่มี ความเครียดก็ตามมา หลายๆวัน หลายๆเดือน ก็แย่นะ การเอาจิตมารู้ลมหายใจหรือรู้ความรู้สึกใดๆในปัจจุบัน ความคิดก็ถูกเบรคเป็นระยะๆ ความสงบก็ตามมาเป็นช่วงๆ

มีผู้ที่มีชื่อเสียงมากอยู่ท่านหนึ่งชื่อ Eckhart Tolle ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Power of Now เข้าใจเรื่องการอยู่กับปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง พูดไว้ว่า “Presence is the place of no though , ปัจจุบัน คือสถานที่ที่ปลอดจากความคิด” ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างที่เขาพูดแต่ที่น่าแปลกก็คือว่าภูมิปัญญานี้ มีอยู่ในสติปัฏฐานสี่ที่ชาวพุทธรู้จักกันดี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าชาวตะวันตกจะสนใจและเข้าใจสภาวะเช่นนี้ได้ดี และอธิบายให้คนเป็นจำนวนมากได้เข้าใจตามได้ และทำให้หลายคนเห็นประโยชน์ของการอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไหลไปตามความคิดได้

หมายเลขบันทึก: 589331เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2015 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2015 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท