ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๓๐ : ฝึกอบรมครูอนุบาลบ้านวิทยาศาสตร์น้อย (๕) : การทดลองที่ ๔ "หมุดลอยน้ำ"


การทดลองเรื่อง "หมุดลอยน้ำ" ดูเหมือนจะง่าย แต่ความจริงแล้วยากและท้าทายมากสำหรับเด็กๆ ข้อดีคือเป็นการทดลองเดี่ยว เด็กๆ ทุกคนได้ลงมือ หาวิธีวางลวดหนีบกระดาษหรือหมุดตะปูอย่างไรไม่ให้จมน้ำ



วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หาซื้อได้ที่ร้านเครื่องเขียนเช่นกัน ได้แก่ ลวดหนีบกระ หมุดตะปู ส่วนกาละมังใหญ่ ใส่น้ำ (หรือเล็กก็ได้) หากมีอยู่แล้วก็ไม่ต้องซื้อ



การทดลองเรื่องหมุดลอยน้ำ มีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากหมุดตะปู ดังนั้นครูต้องดูแลเป็นพิเศษ ควรมีการ "พานับ" หมุดตะปูเพื่อให้นักเรียนตั้งตระหนักตอนที่จะรับหมุดตะปูจากครูไป

ความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่งคือ ความเสี่ยงที่นักเรียนจะทำไม่สำเร็จ "ความไม่สำเร็จ" หมายถึงความรู้สึก "ฉันทำไม่ได้" ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนค่อยๆ เสียความมั่นใจ แม้จะดีที่จะเพิ่ม "ความท้าทาย" แต่ถ้าตอนท้ายไม่ "แฮบปี้เอ็นดิ่ง" การเรียนนี้ก็ไม่สนุก เด็กอาจทุกข์กับการเรียน ดังนั้น ครูต้องทดลองดูก่อน หากทำสำเร็จได้ยากเกินไป สาเหตุอาจมาจากน้ำ น้ำในแต่ละแห่งอาจมีแรงตึงผิวแตกต่างกัน แนะนำให้ลองเปลี่ยนน้ำ


ต้องตั้งคำถาม

คำถามก่อนเริ่ม เช่น

  • นี่อะไร (ครูหยิบลวดหนีบกระดาษชูขึ้น) เอาไว้ทำอะไร ... ครูทดลองใช้ลวดหนีบกระดาษหนีบให้ดู
  • คิดว่าลวดหนีบกระดาษจะจมน้ำหรือลอยน้ำ .... ครูต้องไม่เฉลย แต่ท้าทายว่า วันนี้เราจะมีวัดระดับ "สมาธิ" (ไม่หวังถึงระดับเข้าใจ เพียงให้ได้ยินไว้บ่อยๆ) ใครจะมีมากน้อยกว่ากัน ใครวางได้มากกว่า แสดงว่ามีสมาธิดี

คำถามระหว่างการทดลอง เช่น

  • เห็นอะไร เกิดอะไรขึ้น ... ฝึกสังเกต และอธิบาย
  • ทำไมบางอันทำได้สำเร็จลอยได้ แต่บางอันจมไม่ลอย
  • ใครสามารถสอนเพื่อนได้ว่า ต้องทำอย่างไร ให้ลอย

คำถามหลังการทดลอง เช่น

  • สนุกไหม สนุกตรงไหน
  • ต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ .... หากเด็กๆ ตอบว่า "ต้องนิ่ง" หรือ "ตั้งใจ" ...ครูก็สามารถเชื่อมโยงสู่คำว่า "สมาธิ" แล้วเสริมแรงด้วยการเชื่อมโยงว่า สมาธิทำให้ ความจำดี ทำอะไรก็เก่ง

ความรู้ที่ครูไม่จำเป็นต้องสอนเด็กอนุบาล

การทดลองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ "แรงตึงผิว" ของน้ำโดยตรง แรงตึงผิวเกิดจากการยึดเกาะกันของโมเลกุลของสารที่บริเวณผิว โมเลกุลที่อยู่ลึกลงไปในสารนั้นจะมีแรงยึดเกาะทุกทิศทางทั้ง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง และบน แต่โมเลกุลที่ผิวบนสุด จะไม่มีแรงยึดเกาะจากด้านบน ทำให้แรงยึดเกาะด้านข้างมีแรงพลังห่อหุ้มไว้ไม่ให้กระจายไป ที่เราเห็นหยดน้ำก็เพราะน้ำมีแรงตึงผิวนั่นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนและเด็กๆ อาจรู้จักคือ การลอยของแมลงจิงโจ้น้ำ (อ่านที่นี่) ความจริงที่ใกล้ตัวกว่านั้นคือ สบู่ ผงซักฟอก แชมพู หรือสารทำความสะอาด ล้วนแล้วแต่เป็นสารลดแรงตึงผิว เพื่อที่จะทำลายแรงยึดเกาะของคาบสกปรกนั่นเอง

ขอจบฮ้วนๆ เพียงเท่านี้นะครับ .... อยากเห็นครูเทศบาลเมืองมหาสารคาม ถ่ายรูปกิจกรรมบ้านวิทยาศาสตร์น้อยมาโพทส์แลกเปลี่ยน เอาเรื่องเล่าแห่งความสุขของนักเรียนมาเขียนแลกกันอ่านครับ ...






หมายเลขบันทึก: 588971เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2015 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2015 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท